โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชุมชนบ้านลาว แหล่งผลิตขลุ่ยที่สุดท้ายใน กทม.

BLT BANGKOK

อัพเดต 22 ต.ค. 2562 เวลา 08.13 น. • เผยแพร่ 22 ต.ค. 2562 เวลา 08.12 น.
cb48d63fc97693fdb5eee449052cfad4.jpg

ภายในซอยอิสรภาพ 15 ย่านฝั่งธนบุรี เป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านลาว มีโลเกชั่นอยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นแหล่งผลิตขลุ่ยอันเลื่องชื่อของกรุงเทพ มหานคร ที่มีเรื่องราวมาตั้งแต่ยุคต้น  กรุงรัตนโกสินทร์
เดิมบรรพบุรุษของชุมชนบ้านลาวอพยพมาจากประเทศลาว เป็นชาวลาวเวียงจันทร์ ชื่อเสียงของชุมชนนี้รู้จักกันอย่างแพร่หลายในกลุ่มคนเล่นดนตรีไทย โดยแต่เดิมทำขลุ่ยเพื่อเล่นกันในหมู่บ้านเท่านั้น เพิ่งจะมายึดเป็นอาชีพกันจริงจังในราว 60 ปีก่อน ช่างทำขลุ่ยที่มีชื่อเสียงสมัยนั้นคือ นายหร่อง (นายผัน) ซึ่งเป็นบิดาของนายจรินทร์ กลิ่นบุปผา เจ้าของบ้านขลุ่ยลุงจรินทร์ โดยปัจจุบันผู้สืบทอดคือ ช้าง-สุนัย กลิ่นบุปผา ทายาทรุ่นที่ 4 ของขลุ่ยบ้านลาว
การผลิตขลุ่ยขึ้นมา 1 เลานั้น สามารถทำขึ้นมาจากไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็งได้ทุกชนิด ขอเพียงแค่เป็นไม้ที่ไม่มียาง ไม่ว่าจะเป็นไม้มะขาม ไม้มะพร้าว ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง ไม้มะเกลือ ไม้งิ้วดำ ฯลฯ โดยไม้แต่ละชนิดจะให้เสียงที่แตกต่างกันไป ให้ความกังวาน หวาน ใส ไม่เท่ากัน
“ยุคแรกของการทำขลุ่ยนั้นยังไม่ได้มาตรฐาน กระทั่งมีนักวิชาการด้านดนตรีเข้ามาให้ความรู้เรื่องเสียง จึงมีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ มาถึงรุ่นพ่อผม ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 (นายจรินทร์ กลิ่นบุปผา) มีการนำไม้เนื้อแข็งมาใช้ ต่างจากสมัยก่อนที่ใช้ไม้รวกเพียงอย่างเดียว สำหรับลวดลายบนตัวขลุ่ย ก็ใช้ตะกั่วหลอมให้เหลว แล้วใช้กระบวยตักมารดบนตัวขลุ่ยให้เกิดลายที่งดงาม แต่ปัจจุบันการทำลวดลายจากตะกั่วก็หมดไป เพราะการสูดดมเข้าไปเป็นเวลานานนั้นอันตรายมาก ทำให้ร่างกายเจ็บป่วย” ช้าง ทายาทรุ่นที่ 4 อธิบายถึงขั้นตอนการทำขลุ่ย
โดยปัจจุบันช่างช้างไม่เพียงรับทำขลุ่ยเท่านั้น แต่เขายังใช้เวลาที่เหลืออยู่สอนทำขลุ่ยแบบไม่คิด  ค่าเรียน เพื่อเป็นวิทยาทานในชีวิต “ผมไม่ค่อยห่วงอนาคตของช่างขลุ่ย เพราะที่ผ่านมาผมก็ได้ถ่ายทอดวิชาให้ผู้สนใจได้เรียนรู้เรื่องการผลิตขลุ่ยอยู่แล้ว ใครสนใจเรียนผมก็สอนให้ฟรี เพื่อให้เขานำไปประกอบอาชีพได้”
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ายุคปัจจบุันอาชีพทำขลุ่ยไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนสมัยก่อน ความรู้ในการทำขลุ่ยก็ค่อยๆ เลือนหายไป จากที่แทบทุกบ้านในชุมชนบ้านลาวเคยมีอาชีพทำขลุ่ย
ปัจจุบันเหลือบ้านที่ผลิตขลุ่ยเพียง 5-6 หลังเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงทำขลุ่ยไม้คุณภาพดีเท่านั้น เพราะมีต้นทุนสูง แต่ต้องผลิตขลุ่ย PVC หรือขลุ่ยพลาสติกด้วย เพื่อตอบรับกับความต้องการขลุ่ยจำนวนมากที่ราคาไม่แพง เพื่อใช้สำหรับการเรียนเป่าขลุ่ยตามหลักสูตรของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งนับเป็นรายได้หลักที่สำคัญของช่างทำขลุ่ยในปัจจุบัน
โดยผู้สนใจในศาสตร์ดนตรีไทยสามารถติดต่อเข้าไปชมการผลิต หรือสั่งทำได้ที่บ้านขลุ่ยลุงจรินทร์ โทร. 086 772 2204 

ช้าง สุนัย กลิ่นบุปผา - ทายาทรุ่นที่ 4 ขลุ่ยบ้านลาว
“อาชีพที่ผมทำไม่ใช่ความรักอย่างเดียว แต่เป็นความผูกพัน เพราะผมอยู่กับสิ่งนี้มาตั้งแต่เกิด วันไหนไม่ทำไม่ได้เลย ถ้าเมื่อไหร่ไปไหนไกลๆ จะคิดถึง กลับบ้านทำขลุ่ยดีกว่า ผมสอนทำขลุ่ย เพื่อเป็นวิทยาทานในชีวิต ให้มีผู้สืบทอดอาชีพนี้กันต่อไป ผมสอนทุกอย่าง ไม่มีปิดเคล็ดลับ มี 10 สอน 10 ถ้าเก็บไว้ตายไปจะเอาไปไว้ไหน ส่วนเรื่องเป่าผมสอนได้เพียงพื้นฐาน เพราะผมไม่ใช่มืออาชีพ แต่เรื่องการทำผมสอนได้หมดทุกกระบวนท่า”

ปฏิภาณ ธนาฟู - นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยการดนตรี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา
“ผมเริ่มมาจากชอบเป่าปี่ก่อน แล้วถึงได้มาเป่าขลุ่ย โดยช่วงที่เรียนปี 3 ผมได้มาเรียนวิชาทำขลุ่ยกับพี่ช้าง เพราะเป็นหนึ่งในวิชาซ่อมสร้างเครื่องดนตรี ทำให้เราได้รู้จักที่นี่และเริ่มสนใจทำขลุ่ย พี่ช้างก็จะสอนทำขลุ่ยพลาสติกก่อนแล้วถึงจะสอนทำขลุ่ยไม้ ก็จะเริ่มตั้งแต่กลึง เจาะ ส่วนปากนกแก้วเป็นส่วนที่ยากสุด เพราะถ้าทำผิดก็จะพังทั้งเลาและอันตรายด้วย มีดที่ใช้ทำคมมาก ต้องมีประสบการณ์มากกว่านี้ถึงจะทำได้”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0