โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ชุมชนจี้ทบทวนผังเมืองอีอีซี

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 20 ก.ค. 2562 เวลา 02.00 น.

นายกัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก เปิดเผยว่า เครือข่ายเพื่อนตะวันออกฯ ได้ส่งหนังสือถึงนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ลงวันที่ 8 ก.ค.2562 เพื่อส่งคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียกับแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินอีอีซี โดยกำหนดให้ทั้ง 2 หน่วยงานพิจารณา โดยขอรับทราบผลการพิจารณาภายใน 15 วัน หรือภายในวันที่ 23 ก.ค.2562

ทั้งนี้ หากรัฐบาลและ สกพอ.ไม่ปรับปรุงแก้ไขผังเมืองตามข้อเสนอทั้ง 8 ข้อนี้แล้ว จะสร้างปัญหาความขัดแย้งกับประชาชนในระยะยาว ดังนั้นควรจะพิจารณาแก้ไขผังเมืองอีอีซี ให้รอบคอบตามความต้องการของคนในพื้นที่ โดยอย่ายึดกรอบเวลาที่ต้องเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ เพราะ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไม่ได้กำหนดบทลงโทษหากเกินเวลา เพราะถ้ายังมีปัญหาควรชะลอพิจารณาอย่างรอบคอบก่อน เพราะหากดึงดันประกาศเป็นผังเมืองจะแก้ไขได้ยาก เพราะกฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลัง

แนะตั้ง กมธ.ตรวจสอบ

"ขณะนี้นิคมฯในอีอีซี รวมทั้ง 21 เขตส่งเสริมพิเศษก็มีพื้นที่เพียงพอต่อการรองรับภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้ว โดยทั้งหมดมองว่ากว่า 80% ไม่มีปัญหา มีเพียงโครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะโครงการ 2 จ.ระยอง มีพื้นที่ 6,000 ไร่ ที่อาจจะมีปัญหา เพราะมีเส้นทางน้ำตามธรรมชาติไหลผ่านพื้นที่ หากมีการบริหารจัดการไม่เหมาะสมอาจกระทบชาวบ้านทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบนิคมฯได้ ดังนั้นจึงต้องมีแผนปรับปรุงที่ชัดเจนให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ โดยมองว่าผังเมืองยังพอแก้ไขใหม่ได้"

ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ยอมปรับปรุงผังเมือง อีอีซี ก็เตรียมที่จะยกระดับการเคลื่อนไหวรวมตัวทั้ง 3 จังหวัด เพื่อแสดงออกถึงความต้องการของคนในพื้นที่ และชุมนุมตามสิทธิของระบอบประชาธิปไตย โดยที่ผ่านมาได้เสนอปัญหาให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ไปแล้ว และมองว่าควรจะตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบ และจะยื่นญัตติต่อสภาตรวจสอบรัฐบาลในเรื่องนี้

สำหรับรายละเอียดข้อเสนอที่ส่งให้ สกพอ.ระบุว่า ปัจจุบัน สกพอ.ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกำลังทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในอีอีซี ซึ่งมีกระบวนการที่เร่งรัดและไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง รวมทั้งไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดต่อสาธารณะ โดยมีเพียงร่างแผนผังฯ (ฉบับปรับปรุง) และข้อกำหนดที่นำมาประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา เท่านั้นที่ได้รับรู้จากเวที

แนะใช้พื้นที่ให้เหมาะสม

เครือข่ายเพื่อนตะวันออกฯ มีความเห็น 8 ประเด็น คือ 1.พื้นที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ที่ถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม ขอให้กำหนดที่ดินริมแม่น้ำบางปะกงและคลองอ้อมเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์นิเวศ

2.พื้นที่บริเวณรอยต่อ จ.ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี ที่กำหนดเป็นที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ (นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร โครงการ 2) โดยขอให้บริเวณนี้เป็นที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม เพราะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี ในขณะที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครโครงการ 1 มีคันดินเมื่อฝนตกมากน้ำจะท่วมชุมชน และโครงการ 2 เชื่อมกับโครงการ 1 มีทางขวางทางน้ำธรรมชาติ

3.พื้นที่บริเวณต้นน้ำคลองระบม ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ที่กำหนดเป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม จึงขอให้กำหนดเป็นที่ดินประเภทเกษตรกรรมและชุมชนชนบท เพราะเป็นต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกง มีอ่างเก็บน้ำที่จัดสรรเพื่อประโยชน์อุปโภคบริโภค ดูแลรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาแย่งใช้น้ำอยู่แล้ว

อนุรักษ์พื้นที่ริมฯบางปะกง

4.พื้นที่ริมแม่น้ำนครนายก บริเวณ ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ที่ไม่ถูกกำหนดประเภทที่ดิน (สีขาว) ขอให้กำหนดที่ดินริมแม่น้ำบางปะกงเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์นิเวศ และถัดเข้ามาเป็นที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำหลากจากต้นน้ำ ชาวบ้านใช้ประโยชน์พื้นที่ในการทำนามาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี

5.พื้นที่นอกเขตชลประทานใกล้แม่น้ำบางปะกงบริเวณ อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา ที่กำหนดเป็นที่ดินประเภทเกษตรกรรมและชุมชนชนบท จึงขอให้กำหนดเป็นที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม เพราะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี เช่น มะม่วง มะพร้าว

6.พื้นที่พัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับอีอีซี ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำหนดหลายบริเวณใน อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งขอให้ใช้ประโยชน์โครงสร้างที่มีอยู่ก่อน และหากจำเป็นขอให้ศึกษาใหม่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เพราะพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี

7.ขอให้มีบัญชีท้ายกำหนดประเภทโรงงานอุตสาหกรรมที่ให้ทำได้ หรือเป็นข้อกำหนดที่เขียนไว้ชัดเจน สำหรับที่ดินประเภทเกษตรกรรมและชุมชนชนบท และที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม เพราะหากปล่อยให้โรงงานอุตสาหกรรมตั้งในที่ดินประเภทเกษตรกรรมและชุมชนชนบท จะทำให้โรงงานรุกมาในพื้นที่เกษตรกรรมและชนบท

8.ขอให้มีข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเกี่ยวกับที่ว่างของแปลงที่ดินที่ยื่นขออนุญาตในการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่นในที่ดินประเภทเกษตรกรรมและชุมชนชนบท ที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม เพื่อการให้ใช้ที่ดินได้ตามอัธยาศัยจะทำให้มีแรงจูงใจรุกพื้นที่เกษตรเพื่อกิจการอื่นมากขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0