โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชุน Saint Seiya เป็นผู้หญิง? เมื่อการเปลี่ยนเพศให้ตัวการ์ตูนต้นฉบับไม่ใช่เรื่องง่าย

The MATTER

เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2561 เวลา 03.45 น. • Thinkers

สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ไฮป์กันมานานกับการที่ Netflix บริการสตรีมสื่อเจ้าใหญ่จะเอาอนิเมะชื่อดัง Saint Seiya (จริงๆ อยากจะบอกว่า มังงะ เพราะออริจินัลกว่า แต่เขาคงเน้นภาคอนิเมะมากกว่า) มารีเมคเป็น 3D animation และฉายทางบน Netflix ไปทั่วโลก

แต่พอเปิดตัวเทรลเลอร์มา แวดวงแฟนด้อมก็แทบระเบิด เพราะว่าไม่ว่าการทำกราฟิกแบบ 3D จะดีแค่ไหน ออกมาสวยอย่างไร แต่ความสนใจก็ไปอยู่ที่ตัวละคร แอนโดรเมด้า ชุน ที่พอมาเป็นเวอร์ชั่นนี้แล้ว ดูสาวขึ้นกว่าเดิม ในออริจินัลก็ว่าดูเป็นหนุ่มสวยแล้ว มารอบนี้เหมือนเป็นผู้หญิงไปเลย หลังจากฮือฮากันไปพักใหญ่ พอทีมงานคนเขียนบทออกมาบอกว่า Saint Seiya ภาคนี้เปลี่ยนชื่อตัวละครให้เป็นตะวันตกมากขึ้น และได้เปลี่ยนชื่อจาก Shun เป็น Shaun และกำหนดให้เป็นตัวละครหญิง เพราะในความเห็นของยูจีน ซอน คนเขียนบทบอกว่า ยุคนี้ไม่เหมือนเมื่อ 30 ปีก่อนแล้ว ที่จะมีแค่เด็กผู้ชายออกไปกู้โลก แต่ตอนนี้ผู้หญิงก็มีบทบาทในสังคมมากขึ้น เลยอยากจะเพิ่มบทตัวละครหญิงเข้าไป และหลังจากคิดไปมา ก็คิดว่าการเปลี่ยนเพศของชุนน่าจะเหมาะที่สุดแล้ว เท่านั้นล่ะครับ แฟนด้อมก็ระเบิดจริงๆ

ที่ผ่านมา Netflix ก็ได้จัดทำคอนเทนต์ออริจินอลจากการรีเมค หรือเอาเรื่องเดิมมาเปลี่ยนเป็นภาพยนตร์คนแสดงอยู่เรื่อยๆ และก็มีผลงานดีๆ หลายต่อหลายครั้งเช่นกัน ที่โดดเด่นมากๆ แบบที่ขึ้นมาในหัวผมทันทีเลยคงต้องยกให้ Devilman Cry Baby ที่เป็นการตีความเดวิลแมนยุคใหม่ได้อย่างน่าสนใจ มีการสอดแทรกเกร็ดของเก่าเข้าไปได้อย่างลงตัว แม้ตอนจบออกจะหลุดโลกไปหน่อย แต่รวมๆ แล้ว งานอาร์ตที่จัดจ้านและการเดินเรื่องที่น่าสนใจ แถมยัดความรุนแรงเข้ามาแบบไม่ต้องห่วงอะไรก็ทำให้มันกลายเป็นงานการรีเมคชิ้นที่น่าสนใจเอามากๆ

ส่วนผลงานที่แย่ ผมก็คงพูดไม่ได้เต็มปากว่าแย่ เพราะไม่ได้ดูเอง แต่ดูทรงแล้วคงทนดูไม่ไหวนั่นคือเรื่อง Death Note ที่นักวิจารณ์ทั้งหลายพร้อมใจกันสับแบบเละไม่เหลือซาก ผมดูแค่ฉากไลท์เจอยมทูตลุคครั้งแรกก็ได้แต่เอามือกุมหัว นึกว่าดูหอแต๋วแตก เป็นการเปลี่ยนคาแรคเตอร์ตัวละครไปแบบไม่เหลือซาก จนไม่กล้าดูต่อ และสุดท้ายก็กลายเป็นงานที่ไม่มีใครรักเพราะเหมือนทุบลงกลางใจแฟนด้อมเละเทะ ขนาดแฟนออริจินัลยังเบือนหน้า แล้วจะหวังให้ใครเอาใจช่วยละครับ (แต่ในโลกนี้มันก็มีงานที่ยอมหักแฟนด้อมแล้วได้ผลดีอยู่เหมือนกันนะครับ แต่ไม่ใช่เรื่องนี้) หลังจากนั้นก็กลายเป็น meme ที่คนเอามาเล่นต่อๆ กันว่า ถ้าให้ Netflix เอามาทำใหม่แล้วจะเละแค่ไหน

แต่กับเรื่องของชุนรอบนี้ แค่ตัวอย่างออกมาก็โดนสับซะเละ ชนิดที่ตายูจีนคนเขียนบทต้องปิดทวิตเตอร์ไปเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่ทำงานที่พัฒนาจากแฟรนไชส์ดังๆ มาก็เยอะ ไม่เคยมีปัญหา มารอบนี้ทีเดียวเกมเลยครับ ซึ่งเอาจริงๆ ตอนเห็นทีแรกผมก็เล่นมุขฮาๆ ไปตามประสานะครับ แต่ในฐานะแฟนแล้ว พอมาคิดเยอะขึ้น อ่านความเห็นนั่นนี่เพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งเห็นว่ามีปัญหามากกว่าที่คิด

เรื่องแรกที่ผมคิดคือ มันเป็นการไปทำลายตำนานของตัวละคร ‘หนุ่มสวย’ ที่ดังแบบแมสๆ ตัวแรกไปแบบน่าเสียดาย แน่นอนว่าใน Jump ก็เคยมีตัวละครหนุ่มสวยรุ่นบุกเบิกมาก่อน และยังส่งอิทธิพลมาถึงตัวชุนด้วย นั่นคือ อิชูอิง จากเรื่อง Astro Kyudan นั่นเป็นครั้งแรกที่มีตัวละครเอกที่เป็นหนุ่มสะโอดสะองขวัญใจสาวๆ และยังมีเทคนิคลับแบบพ่นดอกกุหลาบที่คาบไว้ก็จะหยุดบอลได้ แถมเป็นคนใจดีมีเมตตา ไม่ชอบทำร้ายคน แต่มีพี่ชายซาดิสม์ที่ขัดแย้งกัน นี่มันแม่พิมพ์ของชุนชัดๆ แถมจริงๆ แล้ว ชุนก็ไม่ใช่ตัวละครหนุ่มสวยตัวแรกของอาจารย์คุรุมาดะ มาซามิ คนเขียนเรื่อง Saint Seiya เพราะว่าก็เคยมีตัวละครหนุ่มสวยในผลงานของอาจารย์มาแล้วทั้งใน Ring ni Kakero! และ Fuuma no Koujirou จริงๆ แล้วสไตล์ของอาจารย์คือ ใช้ตัวละครหน้าเดิม ชุดเดิม เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนคาแรคเตอร์หน่อย แล้วเอาไปใช้กับเรื่องใหม่ (ใครตามอ่านหลายๆ เรื่องคงชิน) แต่มี Saint Seiya นี่ละครับที่ประสบความสำเร็จแบบวงกว้างด้วยการนำเอาไปทำอนิเมะในยุครุ่งเรืองของ Jump ที่เล่นเอาหลายคนติดกันงอมแงม และชุนก็เป็นตัวละครหนุ่มสวยคนแรกๆ ที่เป็นตัวเอกในอนิเมะสายต่อสู้ลูกผู้ชาย เรียกได้ว่าตัวละครแบบนี้ไม่เคยได้รับการโฟกัสขนาดนี้มาก่อนก็ว่าได้ (แม้ก่อนนั้นจะมีอนิเมะ Stop! Hibari Kun จาก Jump เหมือนกัน ที่ตัวเอกเป็นหนุ่มแต่งสาว แต่นั่นก็ไปทางสายตลกเสียมากกว่า)

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้มากๆ ก็คือ ถ้าเราดูในเรื่องที่เป็นแนวทางแมนๆ อย่างเต็มที่แล้ว ก็มีชุนนี่ละครับที่เป็นตัวละครในสายนิยมสันติภาพ เน้นการประนีประนอม ไม่อยากต่อสู้โดยไม่จำเป็น เพราะตัว อันโดรเมด้า ชุดคลอธของชุนเองก็คือหญิงที่เสียสละตนเองเป็นเครื่องสังเวยเพื่อความสงบของชาวเมือง ในเรื่องแม้ดูเหมือนว่าชุนจะเริ่มต้นจากการเป็นเด็กขี้แย แต่จริงๆ แล้วกลับเป็นเพราะจิตใจที่งดงามของเขา เขามักจะเลี่ยงการต่อสู้ถ้าเลี่ยงได้ และจะต่อสู้ก็เพื่อปกป้องมิตรสหาย จริงๆ ชุนก็เป็นคนที่เข้มแข็งมากเกินใครอยู่แล้ว ทำให้ตัวชุนกลายเป็นตัวละครที่มีมิติเอามากๆ (จริงๆ แล้วตัวชุนเองก็เปลี่ยนไปเมื่อเรื่องเดินไปข้างหน้า เพราะช่วงเปิดตัวใหม่ๆ จะสังเกตได้ว่าชุนดูเป็นคนที่เยือกเย็นมากกว่าที่จะเป็นตัวละครที่ดูอ่อนแอภายนอกแบบช่วงกลางเรื่อง)

และยิ่งน่าสนใจคือ การให้ตัวละครชายใส่ชุดสีชมพูชัดเจน แถมในเรื่องยังมีผมสีเขียวดูแปลกตา ชุดลำลองก็บูติกกว่าชาวบ้านเขา (แต่อีคนที่เหลือนี่ก็หลุดโลกจากคนในสังคมเยอะไปนะครับ) แถมด้วยคาแรคเตอร์ที่เป็นหนุ่มสวยอย่างเต็มตัว ทำให้ชุนกลายมาเป็นขวัญใจชาว LGBTQ ที่โตมาโดยรู้สึกว่ามีตัวละครที่สามารถยึดโยงกับตัวเองได้ จะว่าคล้ายกับ Sailor Moon ที่กลายเป็นขวัญใจของสาวๆ และ LGBTQ ก็ได้ คือคุณไม่ต้องแมนสมชายก็สามารถที่จะออกไปสู้เพื่อปกป้องโลกได้เช่นกัน แถมในเรื่องยังเล่นประเด็นที่ทำให้เด็กยุคนั้นต้องอึ้งเหมือนกัน เช่นการที่ชุนยอมถอดชุดคลอธออกเพื่อนอนกอดให้ร่างกายเฮียวงะอบอุ่น แต่ในขณะเดียวกันก็มีตัวละครหญิงอย่างคาเมเลอน จูน มาชื่นชอบ ทำให้เรื่องเพศของชุนดูไหลลื่นล้ำหน้าชาวบ้านไปเยอะ และกลายเป็นการเบิกทางให้กับตัวละครที่มีความไหลลื่นทางเพศในแวดวงอนิเมะได้ต่อไปอีก

แต่ Netflx มาอ้างแบบทื่อๆ ว่า เปลี่ยนเพื่ออยากให้มีตัวละครหญิงเพื่อเป็นการเสริมอำนาจ (empowering) ให้กับเพศหญิง นี่ก็เล่นเอาชวนให้เบ้ปากมากกว่าเดิม เพราะเท่าที่ดูในตัวอย่าง (ย้ำว่าตัวอย่าง เพราะมีให้ดูเท่านี้) กลายเป็นว่า จากชายหนุ่มมาดใจเย็น เรากลับได้ตัวละครหญิงที่ทำตัวเป็นหญิงห้าวมาแทน มันก็ยิ่งชวนสับสนเข้าไปใหญ่ว่านี่เป็นการส่งเสริมหญิงจริงรึเปล่า เพราะเหมือนกับบอกเป็นนัยว่า ถ้าเป็นหญิงจะให้เสมอชายมันก็ต้องออกไปสู้ทำตัวห้าวๆ สิ แทนที่จากเดิมคือ ต่อให้ไม่ได้เป็นไปตาม sterotype ก็สามารถออกไปสู้ได้ ปกป้องโลกได้ แต่พออยากใส่ตัวละครหญิงมา กลับบอกว่า เป็นหญิงก็ต้องห้าวนะถึงจะสู้กับเขาได้ ถ้าให้พูดตรงๆ ก็ดูเป็นไอเดียในการ empowering ที่ล้าหลังและสุดท้ายก็มาจากมุมมองของผู้ชายอยู่ดี ยังไม่นับว่าต่อจากนี้จะเขียนเรื่องอย่างไร ถ้าชุนกลายเป็นตัวละครหญิงที่เวลาคับขันแล้วต้องให้ อิคคิ ออกมาช่วยพร้อมวลีดัง “พี่ฮะ” นี่ก็จะกลายเป็นว่าไปเน้นย้ำว่าผู้หญิงก็ต้องการผู้ชายมาช่วยอยู่ดี หรือเปล่า

และที่เล่นเอาแฟนคลับอย่างผมงงมากๆ คือการที่บอกว่าซีรีส์นี้ไม่มีตัวละครหญิงแกร่งที่โดดเด่น ก็ทำเอางงอีก เพราะจริงๆ แล้ว ตัวคุณซาโอรินี่โคตรจะเป็นหญิงแกร่งเลยนะครับ จากคุณหนูถูกสปอยลด์ พอรู้ชาติกำเนิดและชะตากรรมที่แท้จริงของตัวเองก็กล้าออกไปสู้เพื่อปกป้องโลกนี้ แม้บางทีจะดูเหมือนหญิงสาวที่ต้องการให้ผู้ชายมาช่วย แต่หลายครั้งเธอก็เป็นคนช่วยเซนต์ของเธอเอง ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ยกโทษให้ซากะที่เคยทรยศเธอ หรือตอนที่ลุกขึ้นสู้กับฮาเดส ถ้าอยากให้ผู้หญิงเด่นก็เพิ่มบทบาทให้เธอมากขึ้นก็ได้ เพราะอาธีน่าในเทพปกรนัมกรีกก็เป็นเทพหญิงที่แกร่งไม่แพ้ชายอยู่แล้ว ยังไม่นับตัวละครอื่นในภาคนี้ เช่น มารินหรือไชน่า หรือถ้าจะนับทั้งซีรีส์ ในภาค Lost Canvas ก็มียูซึริฮะที่สู้ได้ไม่แพ้ผู้ชาย หรือในภาค Omega ก็มีอากิล่า ยูนะเป็นตัวเอกของภาคอีกคน เล่นเอาสงสัยว่า คนเขียนบทเขาได้ดูรายละเอียดของจักรวาล Saint Seiya แค่ไหนถึงได้อ้างอิงแบบนี้

จริงๆ แล้วก็ยอมรับว่า การที่แฟนด้อมโวยวายเวลามีการดัดแปลงไปฉบับอื่นๆ มันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย และส่วนใหญ่การดัดแปลงงานที่มีแฟนคลับตามติดเยอะก็มักจะมาพร้อมความเสี่ยงเสมอ แต่มองอีกมุม สำหรับคนภายนอกที่ไม่ได้ติดตามแต่แรกและอยากจะดูโดยไม่ได้สนเรื่องออริจินัลก็อาจจะงงว่า พวกนี้ทำไมขี้โวยวายจัง แต่ ถ้าทีมงานรักและเข้าใจของออริจินัลจริงๆ ทำออกมาก็ได้คำชมละครับ ตัวอย่างง่ายๆ ก็ทีมงาน David Studio ที่ทำอนิเมะจากมังงะที่แฟนคลับเยอะและจุกจิกอย่าง Jojo’s Bizarre Adventure ได้ดีจนแฟนคลับรัก แถมเพิ่มเนื้อเรื่องออริจินัลเข้าไปให้ดูสมบูรณ์มากขึ้นได้ พอเทียบกับฉบับคนแสดงที่ทำออกมา ก็ได้แต่ เฮ้อ…

แต่ต้องยอมรับว่าอาจจะกระต่ายตื่นตูมไปหน่อยเพราะยังเป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น ถ้าได้ดูในเนื้อเรื่องอาจจะเหมาะก็ได้ ถึงอย่างนั้น บทสัมภาษณ์ของคนเขียนบทเองก็ถึงกับทำให้เราหวั่นใจจนไม่รู้จะเอายังไงกับการรีเมคครั้งนี้ดี

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0