โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ชีวิตบนเส้นด้ายของนักการเมืองติดคดี ปัจจัยชี้ขาดตั้ง-ล้มรัฐบาล

The Momentum

อัพเดต 22 ม.ค. 2562 เวลา 05.42 น. • เผยแพร่ 22 ม.ค. 2562 เวลา 05.42 น. • ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน

In focus

  • คดีต่างๆ ของนักการเมือง โดยเฉพาะคดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร เช่น การฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. หากศาลตัดสินว่ามีความผิดให้จำคุก ก็จะทำให้ผู้นั้นต้องขาดคุณสมบัติจากการเป็น ส.ส. ไป
  • การรื้อคดีนี้ของ ป.ป.ช. ถูกมองว่าเป็นเกมการเมืองที่อาจเอาไว้ใช้เตะตัดขาดิสเครดิตอดีตรัฐมนตรี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่อาจมาแรงเพื่อจะชิงตำแหน่งนายกฯ แข่งขันกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • การเอาคดีมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ยังมีอีกข้อสันนิษฐานว่า ในช่วงของการเดินสายดูดนักการเมืองเข้าพรรคพลังประชารัฐนั้น ที่นักการเมืองจำนวนหนึ่งยอมย้ายค่าย อาจเพราะมีการใช้คดีความมาต่อรองว่าหากยอมเข้าร่วมก็อาจจะช่วยยุติคดีได้

“ปล่อยประวิตร เอาผิดชัชชาติ” ประโยคนี้น่าจะอธิบายกระบวนการตรวจสอบทางการเมืองของประเทศไทยได้อย่างดี เพราะไม่เพียงพี่ใหญ่ของคสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลุดคดีจากการไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิ้นจากการ “ยืมแหวนแม่-นาฬิกาเพื่อน” อย่างคาใจคนทั้งสังคม

ขณะเดียวกัน ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ก็เตรียมรื้อสองคดีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยหนึ่งในผู้ที่ถูกกล่าวหายังรวมถึง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำลังได้รับความนิยมหลังจากถูกเปิดชื่อว่า อาจจะได้เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคเพื่อไทย การรื้อคดีนี้ของ ป.ป.ช. ถูกมองว่าเป็นเกมการเมืองของ คสช. ที่ต้องการจะเตะตัดขาดิสเครดิตอดีตรัฐมนตรีคมนาคมดาวรุ่งพุ่งแรงที่จะชิงตำแหน่งนายกฯ แข่งขันกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ ป.ป.ช. เกินครึ่งก็ถูกแต่งตั้งเข้ามาโดยคนของคสช. หรืออาจเตรียมการไว้เพื่อเป็นไม้ตายต่อรองกับพรรคเพื่อไทยในสถานการณ์จำเป็น

ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งที่น่าจะเกิดขึ้นปีนี้ มีนักการเมืองจำนวนมากที่ต้องพกคดีติดตัวในระหว่างเลือกตั้ง

อดีตนักการเมืองเพื่อไทยครองแชมป์คดีเยอะสุด

กรณีของชัชชาติไม่ใช่ครั้งแรกที่ คสช. ถูกกล่าวว่าเอาคดีมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะระหว่างที่พรรคพลังประชารัฐเดินสายดูดอดีต ส.ส. จากพรรคการเมืองต่างๆ ก็มีข้อสังเกตว่า นักการเมืองจำนวนหนึ่งที่ยอมย้ายค่าย อาจเพราะมีการใช้คดีความมาต่อรองว่า หากยอมเข้าร่วมก็อาจจะช่วยยุติคดีได้

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นนักการเมืองที่มีคดีติดตัว แต่ก็มีภาษีที่มีฐานเสียงจำนวนหนึ่ง ถูกดูดให้ย้ายค่ายไป แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยมีคนถูกดำเนินคดีมากที่สุด เพราะเป็นอดีตรัฐบาล ซึ่งหากกวาดตาดูเร็วๆ จะพบว่า มีอดีตรัฐมนตรีที่จะลงเลือกตั้งครั้งนี้ถูกดำเนินคดีอยู่ เช่น เฉลิม อยู่บำรุง, กิตติรัตน์ ณ ระนอง, อนุดิษฐ์ นาครทรรพ, และ ปลอดประสพ สุรัสวดี

ส่วน วัฒนา เมืองสุข ถูก ป.ป.ช. กล่าวหาในคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทรสมัยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

นอกจากนี้ ยังมีจากพรรคไทยรักษาชาติ คือ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล และณัฐวุฒิ ใสยเกื้ย จากพรรคเพื่อธรรม คือ นลินี ทวีสิน และพรรคภูมิใจไทย คือ ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการเหตุการณ์สมัยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์เช่นกัน

คดีการเมืองยุค คสช. ไร้ฝั่งหนุน คสช

นอกจากคดีในกำมือของ ป.ป.ช. ตลอด 4 ปีภายใต้การปกครองของ คสช. แม้จะไม่มีนักการเมืองบริหารประเทศ แต่ก็มีบรรดานักการเมืองจำนวนมากทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่เป็นจำเลยและผู้ต้องหา ซึ่งทั้งหมดเป็นคดีการเมือง

จากการรวบรวมของบีบีซีไทยพบว่า มีนักการเมืองอย่างน้อย 29 คน จาก 5 พรรคการเมืองที่มีคดีติดตัว โดยมาจาก

  • พรรคเพื่อไทย 9 คน เช่น วัฒนา เมืองสุข กับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งทั้งสองคนยังมีคดีใน ป.ป.ช. ด้วย

  • พรรคเพื่อชาติ 8 คน เช่น สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรค

  • พรรคไทยรักษาชาติ 6 คน เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง และพิชัย นริพทะพันธุ์

  • พรรคอนาคตใหม่ 5 คน เช่น ธนาธร จึงรุ่งเรือง หัวหน้าพรรค

  • พรรคเกียน 1 คน คือ สมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรค

ทั้งนี้ หากไม่นับนักการเมืองที่ถูกดูดไปแล้ว ยังไม่พบว่ามีนักการเมืองจากพรรคพลังประชารัฐหรือฝั่งที่สนับสนุน คสช. ถูกดำเนินคดีทางการเมือง

รัฐธรรมนูญ คสช. เปิดทางเขี่ยนักการเมืองง่าย

คดีของนักการเมืองต่างๆ อยู่ในวิสัยที่ คสช. จะสามารถเข้าไปแทรกแซงได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีที่อยู่ในมือ ป.ป.ช. หรือหรือในคดีที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการศาล (ยกเว้นศาลทหาร)

คดีเหล่านี้อาจถูกหยิบยกมาเมื่อใดก็ได้เมื่อถึงสถานการณ์ที่ผู้มีอำนาจ ต้องการสร้างความได้เปรียบ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญที่ คสช. ออกแบบมาก็กำหนดให้ผู้ที่จะเป็น ส.ส. ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกคุมขังโดยหมายศาล ต้องไม่ถูกคําพิพากษาให้จําคุก หรือต้องไม่ถูกคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกแม้จะมีการรอการลงโทษ ฯลฯ

นั่นหมายความว่า คดีต่างๆ ของนักการเมือง โดยเฉพาะคดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร เช่น การฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. หากศาลตัดสินว่ามีความผิดให้จำคุก ก็จะทำให้ผู้นั้นต้องขาดคุณสมบัติจากการเป็น ส.ส. ไป นอกจากนี้คดีความต่างๆ ที่อยู่ในมือ ป.ป.ช. หากถูกไต่สวนว่ากระทำความผิด และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง ก็จะทำให้นักการเมืองที่จะเข้าไปเป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งจะต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ทันที่ และหากศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิด นักการเมืองผู้นั้นก็จะต้องออกจากตำแหน่งและจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งใม่เกิน 10 ปี

ที่ร้ายไปกว่านั้น จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้ไม่สามารถสมัครหรือมีตำแหน่งทางการเมืองได้ตลอดชีวิต

กติกาเหล่านี้ ที่เกิดบนสถานการณ์ที่ฝ่ายที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบก็เป็นฝ่ายเดียวกับผู้มีอำนาจ จึงทำให้นักการเมืองจากการเลือกตั้งเดินอยู่บนทางเสี่ยงว่าอาจจะถูกเขี่ยออกจากสนามการเมืองได้โดยง่าย

และที่สำคัญ คดีความเหล่านี้ อาจเป็นไม้ตายสำคัญในการเลือกตั้งนายกฯ การตั้งรัฐบาล หรือการล้มรัฐบาลได้ในอนาคต

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0