โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ชีวิตนี้ขาดผู้ชายไม่ได้! อาจเข้าข่ายโรค 'นิมโฟมาเนีย'

TNN ช่อง16

อัพเดต 21 ส.ค. 2562 เวลา 23.37 น. • เผยแพร่ 21 ส.ค. 2562 เวลา 23.37 น. • TNN Thailand
ชีวิตนี้ขาดผู้ชายไม่ได้! อาจเข้าข่ายโรค 'นิมโฟมาเนีย'
ทำความรู้จัก “โรคขาดผู้ชายไม่ได้” หรือ “โรคนิมโฟมาเนีย” (Nymphomania) ไม่ใช่ “โรคฮิสทีเรีย” อย่างที่เข้าใจผิดๆ ซึ่งเป็นอาการป่วยทางจิตประเภทหนึ่งที่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมทางเพศได้

หลายคนอาจจะคุ้นเคยหรือได้ยินคำว่า "โรคฮิสทีเรีย" และเข้าใจว่าเป็น "โรคขาดผู้ชายไม่ได้" แต่แท้จริงแล้วนั้น เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะฮิสทีเรีย ลักษณะจะมีอาการชอบทำตัวเด่น เรียกร้องความสนใจ เมื่อแสดงอาการแบบนี้ออกไปให้เพศตรงข้ามเห็น จึงทำให้ดูเหมือนคนยั่วยวน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด

แต่โรคที่มีความต้องการทางเพศสูงที่จริงแล้วเรียกว่า "โรคนิมโฟมาเนีย" (Nymphomania) ซึ่งเป็นอาการป่วยทางจิตประเภทหนึ่ง ที่ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติในการควบคุมพฤติกรรมในเรื่องเพศ ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดความต้องการทางเพศมากกว่าปกติ หรือเรียกอีกอย่างว่า "เสพติดการมีเพศสัมพันธ์" (sexual addiction) แต่นิมโฟมาเนียเป็นชื่อโรคที่เอาไว้เรียกสำหรับเพศหญิงหรือผู้ที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ หากเป็นเพศชายจะเรียกว่า โรคสไตเรียซิส (satyriasis) 

ภาพโดย Pexels จาก Pixabay

"โรคนิมโฟมาเนีย" มี 4 ประเภท

1.แบบใคร่ไม่รู้อิ่ม (Hypersexuality) ซึ่งเป็นอาการหลักๆ ของผู้ป่วยนิมโฟมาเนีย

2.แบบมโน (Erotomania) เป็นความผิดปกติที่คิดคิดว่า อีกฝ่ายหลงชอบตัวเองเอามากๆ

3.แบบกามวิปริต (Paraphilia-related disorder) เป็นรูปแบบความต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์แบบซาดิสต์ หรือบางรายอาจจะมีปัญหาในการตอบสนองทางเพศที่รุนแรงกว่าปกติ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากจินตนาการ หรือบางรายอาจจะมีการจำลองสถานการณ์ และบางรายอาจจะชื่นชอบการใช้อุปกรณ์

4.แบบยับยั้งไม่ได้ (Sexual disinhibition) เป็นรูปแบบที่คล้ายกับแบบแรก โดยจะเกิดการมีเพศสัมพันธ์แบบที่ไม่ได้คิดถึงความเหมาะสมหรือความถูกต้อง

ภาพจาก rawpixel.com

สาเหตุของอาการ "คลั่งไคล้ทางเพศ"

สำหรับสาเหตุของ "โรคนิมโฟมาเรีย" นั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีการคาดการณ์ว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับสาเหตุต่อไปนี้

1.ความผิดปกติของสมอง : เกิดจากความผิดปกติทางสมองซึ่งสามารถที่จะเกิดขึ้นได้จากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นสารสื่อประสาทที่อาจจะหลั่งเกินปริมาณความต้องการของร่างกาย ทำให้การสื่อสารเกี่ยวกับระบบควบคุมฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ขณะเดียวกัน อาจจะเกิดความผิดปกติที่สมองส่วนกลาง (Midbrain) ซึ่งเป็นส่วนช่วยร่างกายในการรับสื่อประสาทที่ทำให้รู้สึกดีให้เกิดความผิดปกติไปด้วยได้

2.ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) : เป็นฮอร์โมนที่จะส่งผลต่อความต้องการทางเพศ ซึ่งหากร่างกายมีฮอร์โมนชนิดนี้มากเกินไปก็จะส่งผลทำให้มีความต้องการทางเพศสูง

3.เหตุการณ์ : ผู้ป่วยบางรายอาจจะเคยพบเจอกับประสบการณ์ที่สร้างบาดแผล เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง หรือการถูกข่มขืน โดยเฉพาะปมเรื่องเพศในวัยเด็ก

4.โรคย้ำคิดย้ำทำ : เป็นโรคที่ผู้ป่วยมักจะทำพฤติกรรมซ้ำๆ โดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งจากการวิจัยผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ ผู้ป่วยจะมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 30 ครั้ง ในเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งก็จะทำให้เป็นโรคนิมโฟมาเนียได้

ภาพจาก Snapwire

5.ยารักษาพาร์กินสัน : เป็นยาที่มีส่วนผสมของสารเอนโดพามิน ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทโดยตรงที่จะควบคุมให้สามารถทำงานได้ปกติ และมีผลต่อการควบคุมระดับฮอร์โมนในร่างกาย อีกทั้งประมาณ 25% ของผู้ใช้ยา ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคนิมโฟมาเนียตามมาได้อีกด้วย

6.การได้รับยาบางชนิดมากเกินไป : เช่น แอมเฟตามีน หรือติดสารเสพติด จนส่งผลกระทบต่อระบบประสาท การควบคุมตัวเอง

7.กรรมพันธ์ : คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้อยู่แล้ว

8.ปัญหาครอบครัว : การขาดความรักความอบอุ่นจากคนในครอบครัว ทำให้ต้องออกไปหาความรักนอกบ้าน ยิ่งถ้าได้คบเพื่อนไม่ดี ก็จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้สูงขึ้น

9.สภาพแวดล้อม : สังคมที่อยู่อาศัยแออัด เต็มไปด้วยความเครียด จะยิ่งเป็นตัวเร่งอาการ

ภาพโดย Pexels จาก Pixabay2

เช็กเบื้องต้นอาการป่วย "โรคนิมโฟมาเนีย"

- หมกหมุ่นคิดแต่เรื่องของการมีเพศสัมพันธ์

- ดูสื่อลามกอนาจารเป็นประจำ

- มักจะสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง 

- มีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์กับใครก็ได้

- ใช้บริการการค้าประเวณีตลอด

- พูดจาลามก หรือแสดงท่าทางในลักษณะว่ามีความต้องการทางเพศตลอดเวลา

- ใช้บริการทางเพศจากการแชท ภาพลามก หรือใช้บริการทางเพศออนไลน์

- ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ได้ เช่น การเลี้ยงฉลอง การทำงาน เพราะมัวแต่หมกหมุ่นกิจกรรมทางเพศ

- มีรูปแบบการมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง และไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ 

- มักมีเพศสัมพันธ์ในอารมณ์ที่โกรธ หงุดหงิด เครียด หรือกังวล

- ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก หรือคู่แต่งงานได้

ภาพโดย Adina Voicu จาก Pixabay

"โรคนิมโฟมาเนีย" รักษาได้แต่ต้องใช้เวลา!

การรักษาโรคนิมโฟมาเนียเป็นเรื่องยาก เพราะคล้ายกับการติดสารเสพติดจึงจะต้องใช้ระยะเวลาและการเอาใจใส่ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้

1.การบำบัดแบบ CBT (Cognitive behavioral therapy) นิยมใช้สำหรับผู้ป่วยปัญหาทางสุขภาพจิตเพื่อที่จะให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ หรือเป็นวิธีการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมตัวเองได้หากว่าเจอสิ่งเร้า แต่จะต้องอยู่ในความดูแลของจิตแพทย์

2.การใช้ยา แพทย์จะมีการจ่ายยาเพื่อช่วยลดความต้องการทางเพศ เช่น ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท แต่นอกเหนือจากนี้ผู้ป่วยแต่ละรายอาจจะต้องการยาที่แตกต่างกัน ดังนั้น อาจจะต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัย

3.การออกกำลังกาย การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคนิมโฟมาเนีย สามารถที่จะเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่หลากหลายได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเลือกการเล่นโยคะ หรือการออกกำลังกายที่จะต้องมีสมาธิอยู่กับตัวเอง เพราะการออกกำลังกายรูปแบบนี้ จะทำให้ผ่อนคลายและไม่ฟุ้งซ่าน อีกทั้งยังช่วยให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายมีความสมดุลยิ่งขึ้น

4.รักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประกอบด้วย ความเข้าใจ ความมุ่งมั่น และจัดการความเครียดและความวิตกกังวล

ไม่อยากเป็น "คลั่งไคล้ทางเพศ" ต้องทำอย่างไร

ในทางการแพทย์นั้น โรคนิมโฟมาเนียยังไม่มีวิธีป้องกันที่ระบุไว้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยสามารถเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้ ก็ย่อมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนิมโฟมาเนียลงได้ โดยเฉพาะการควบคุมระดับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุล เพราะระดับฮอร์โมนสามารถส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์และความคิดได้

นอกจากนี้ การดูแลตัวเองทานอาหารที่มีประโยชน์และสมดุล ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและนอนหลับอย่างเพียงพอ รวมทั้ง การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมอื่น ๆ ที่สร้างความสุขให้แก่ตัวเอง ยังช่วยให้ห่างไกลและไม่หมกมุ่นกับเรื่องเพศได้ด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก hiclasssociety และ mahosot

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0