โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชีวิตคุณเป็นหนังแบบไหน? - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 27 พ.ค. 2562 เวลา 10.02 น.

ในปี 1994 หนังเรื่องหนึ่งออกฉายทั่วโลก หนังขึ้นแท่นอันดับ 1 ในอาทิตย์แรก ครองอันดับ 1 มาตลอดในช่วงสิบสัปดาห์แรก

ด้วยความฮิต หนังฉายในโรงนานถึง 42 อาทิตย์

ทำรายได้ในสหรัฐฯและแคนาดา 329.7 ล้าน และทำเงินในต่างประเทศ 347 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก 677 ล้าน

มันกลายเป็นหนังที่ทำรายได้สูงอันดับ 4 ตลอดกาล ตามหลัง E.T. the Extra-Terrestrial, Star Wars IV: A New Hope และ Jurassic Park

ภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Forrest Gump

ลงทุน 55 ล้านเหรียญ ทำรายได้ 677 ล้าน ก็ย่อมกำไรมหาศาล ผู้ลงทุนน่าจะดีใจและเปิดแชมเปญสักร้อยขวดฉลองเจ็ดวันเจ็ดคืน

แต่ตรงกันข้าม พวกเขากุมหัว เพราะหนังขาดทุน!

เป็นไปได้อย่างไร?

ฝ่ายการตลาดเสียค่าลงทุนไปกับ P&A (Prints and Advertising - ค่าพิมพ์ก๊อบปี้ฟิล์มและโฆษณา) เป็นสองเท่า ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเสียค่าจัดจำหน่ายและค่าอื่นๆ มาก ทำให้ในภาพรวมขาดทุนอย่างไม่น่าเชื่อ

Forrest Gump กลายเป็นหนังที่ได้รับฉายาว่า successful failure (ความล้มเหลวที่สำเร็จ)

ภาพยนตร์หลายเรื่องดูเหมือนเป็นความสำเร็จ แต่เมื่อวัดกันตอนจบเกม กลายเป็นความล้มเหลว

หนังแย่ๆ หลายเรื่องถูกนักวิจารณ์ถล่มยับเยิน เนื้อเรื่องซ้ำซาก แต่ท้ายที่สุดกำไร

มันบอกว่าคุณภาพเป็นคนละเรื่องกับกำไร

……………

ชีวิตคนเราก็เช่นภาพยนตร์ เราไม่อาจวัดความสำเร็จที่รายได้มากเสมอไป

สังคมมักสร้างภาพและค่านิยมว่า คนที่ประสบความสำเร็จคือคนมีเงิน เราไม่เคยใช้วลี ‘ประสบความสำเร็จ’ ยกย่องคนที่ทำความดี

เพราะ ‘ประสบความสำเร็จ’ มีนัยของเงินทองเสมอ

เราก็ไม่วัดค่า ‘ประสบความสำเร็จ’ ที่ความสุข

แต่เราจะบอกว่า ใครคนหนึ่ง ‘ประสบความสำเร็จ’ ในชีวิตได้อย่างไร หากเขาไม่มีความสุข?

ใจไม่สงบอย่างเดียว มีเงินเท่าไร ก็ไร้ประโยชน์

หากไม่มีความสุข สถานะทางสังคมสูงเพียงใด ก็ช่วยไม่ได้

คนมีเงินเดือนสูง มีบ้านแพง รถแพง มีสถานะทางสังคมสูง จึงไม่ได้หมายความว่าประสบความสำเร็จในชีวิต

มาตรวัดความสำเร็จของชีวิตจึงอาจไม่ใช่เงินทองอย่างเดียว ที่สำคัญกว่าคือความสามารถยิ้มได้ หัวเราะได้ และนอนหลับสนิทในตอนกลางคืน

บางคนมีต้นทุนชีวิตสูง บางคนมีทุนชีวิตต่ำ แต่มันไม่ใช่สิ่งกำหนดผลลัพธ์ปลายทางของชีวิตเสมอไป มันมิได้ตัดสินว่าคนคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จในชีวิตหรือไม่

บางครั้งการกล้าทดลองสร้างหนังใหม่ที่แปลกต่าง ก็อาจจะสนุกและสำเร็จ

สนุกกับการใช้ชีวิต มีความสุขในเวลาส่วนใหญ่ที่อยู่บนโลก

……………

นักสร้างหนังมีสองแบบ แบบแรกทำหนังเพื่อกำไรสูงสุด ถ้าตลาดชอบอะไร ก็ป้อนสิ่งนั้น อะไรก็ได้ขอให้หนังทำเงิน

แบบที่สองคือทำหนังศิลปะที่สื่อสารสาระ โดยหวังว่าถ้ามันดีพอ จะทำเงินด้วย

ชีวิตก็เช่นกัน เราอาจตั้งเป้าตามแบบที่หนึ่งหรือแบบที่สอง

เรามีทางเลือกว่าจะใช้ชีวิตแบบ ‘หนังทำเงิน’ หรือ ‘หนังดี’ หรือเป็นทั้งหนังดีและหนังทำเงิน แต่อย่างน้อยเราก็ควรรู้ลำดับความสำคัญ เงินมาก่อนหรือสาระมาก่อน

การใช้ชีวิตตามเป้าหมายเงินหรือสาระไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก เป็นเพียงทางเลือก

ความจริงคือไม่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตแบบได้ทั้งเงินและสาระ

เดินหน้าไปตามทางที่ตนเลือก ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร

เพราะบางครั้ง successful failure อาจดีกว่า failed success

โก้วเล้งเคยเขียนไว้เมื่อทดลองทำงานสายใหม่ๆ ว่า “บางครั้งประสบความสำเร็จ บางครั้งก็ล้มเหลว ล้มเหลวแล้วจะเป็นไร…” 

เพราะชีวิตมีทั้งด้านสำเร็จและด้านล้มเหลว

แต่ไม่ว่า ‘สำเร็จ’ หรือ ‘ล้มเหลว’ ในมาตรฐานของสังคม เราก็ควรมีความสุข 

……………

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0