โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชีวิตของท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี คือชีวิตของลูกชาวสวนผู้สนใจใฝ่เรียนรู้

แนวหน้า

เผยแพร่ 10 ก.ค. 2563 เวลา 23.00 น.

แนวหน้าวาไรตี้สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ได้รับเกียรติอย่างสูงจากบุตรชายคนสุดท้องของท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี คือ คุณกังสดาร เทพหัสดิน ณ อยุธยา และยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณดร.วัลลภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ภรรยาของคุณกังสดาร)โดยทั้งสองท่านได้กรุณาบอกเล่าถึงเกียรติประวัติของท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับทราบ

กราบขอบพระคุณทั้งสองท่านเป็นอย่างสูงที่ให้ความกรุณากับรายการแนวหน้าวาไรตี้ครับ ขอกราบเรียนถามคุณกังสดารในฐานะบุตรคนสุดท้องของท่านเจ้าพระยาฯ ว่า ท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ท่านมีคุณลักษณะอย่างไรบ้างครับ เพราะท่านเป็นผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างมาก

คุณกังสดาร ขอขอบคุณแนวหน้าวาไรตี้ที่ให้โอกาสมาเล่าสู่เรื่องราวของท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พูดกันตามตรงคือท่านเจ้าพระยาฯ เป็นผู้ที่มีชีวิตเหมือนเทพนิยายท่านเป็นผู้ที่มีความอุตสาหะมากจนได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระเจ้าอยู่หัว ท่านเป็นบุตรคนที่ 18 คุณพ่อของท่านเจ้าพระยาฯ คือพระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวงเจียมเทพหัสดิน) เป็นเสนาบดีในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้คุณพ่อท่านจะเป็นพระยา แต่ท่านเจ้าพระยาฯ ในสมัยเด็กๆ ก็คือลูกชาวสวนผลไม้ คุณแม่ผมเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ท่านเจ้าพระยาฯยังเป็นเด็ก ท่านรักการเรียนหนังสือมาก เมื่อกลับมาจากโรงเรียน ท่านก็จะนำความรู้ที่ได้มาไปถ่ายทอดให้น้องของท่าน (พระยาอนุกิจวิธูร) แต่ที่น่ารักมากคือ สมัยก่อนเมื่อท่านกลับมาจากโรงเรียนท่านหิว เมื่อมาถึงบ้านก็เด็ดกล้วยสุกที่คุณแม่ของท่าน (คุณหญิงทองอยู่) แขวนไว้เป็นเครือ ท่านหิวท่านก็รับประทานกล้วยสุก เสร็จแล้วก็สอนหนังสือน้องชาย พี่น้องคู่นี้สอนและเรียนหนังสือกันไปก็กินกล้วยสุกไป ชีวิตในวัยเด็กของท่านเจ้าพระยาฯ นั้นท่านอยู่กับสวน ซึ่งการที่ลูกชาวสวนมีความอุตสาหะเรียนหนังสือจนได้ทุนพระราชทานไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ แล้วกลับมารับราชการสนองใต้เบื้องพระยุคลบาท จนกระทั่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา และได้เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ และยังรับราชการเรื่อยมาจนกระทั่งได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรถึงสองสมัย นี่คือเรื่องที่เปรียบได้กับเทพนิยาย ท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เกิดในรัชกาลที่ 5 เติบโตในรัชกาลที่ 6 จนรับราชการและได้รับทุนพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ไปเรียนต่อที่อังกฤษ ท่านไปเรียนวิชาครูโดยตรง ชีวิตราชการส่วนใหญ่ของท่านจึงเกี่ยวกับการศึกษา ท่านแต่งหนังสือ แต่งเพลง และเขียนเรื่องต่างๆ ท่านก็ใช้นามปากกาว่าครูเทพ ชีวิตของท่านเน้นเรื่องความเป็นครู ท่านคือผู้หนึ่งที่มีส่วนริเริ่มด้านการศึกษาของไทย ท่านบอกกับคนในบ้านว่าท่านคือคนธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องการทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศเจริญก้าวหน้า นอกจากท่านจะแต่งหนังสือแล้วท่านยังแต่งเพลงกราวกีฬาด้วย ท่านคือผู้นำกีฬาฟุตบอลเข้ามาในบ้านเมืองของเรา แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้วท่านเจ้าพระยาฯ คือนักปรัชญาการศึกษาของไทย

ขอกราบเรียนถามอาจารย์วัลลภาครับ ผมขออนุญาตเรียกอาจารย์ เพราะท่านเคยเป็นอาจารย์ ในคณะครุศาสตร์จุฬาฯ ผมทราบว่าอาจารย์ทำงานวิจัยผลงานของท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีไว้หลายชิ้น ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยเล่าผลงานสำคัญของท่านเจ้าพระยาฯ ให้คนรุ่นหลังได้ทราบด้วยครับ

อาจารย์วัลลภา ท่านเจ้าพระยาฯ คือนักการศึกษาคนสำคัญของไทย ท่านมีความคิดก้าวไกลด้านการศึกษาอย่างมาก ท่านให้ความสำคัญกับการศึกษามาตั้งแต่สมัยที่สยามยังมีการศึกษาไม่เป็นระบบ เมื่อท่านสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ท่านนำแนวคิดการศึกษาของตะวันตกมาปรับให้เข้ากับสภาพของสยามในยุคนั้น ในสมัยก่อนบ้านเราก็ยังไม่มีการศึกษาภาคบังคับ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเล่าเรียน ท่านนำเสนอแนวคิดจัดการศึกษาของสยามโดยต้องการเห็นคนทำคนมีโอกาสเรียนหนังสือ ซึ่งต่อมาคือการศึกษาภาคบังคับ ท่านเจ้าพระยาฯ เน้นหลักการศึกษาสี่ประการคือ พุทธิศึกษา คำว่า พุทธิ แปลว่า ความรู้ เพราะฉะนั้นคนทุกคนควรจะต้องมีความรู้เป็นอันดับแรก ประการต่อมาคือ จริยศึกษา คนทุกคนจะต้องมีคุณธรรมเป็นเครื่องกำกับจิตใจ ประการที่สามคือ หัตถศึกษา คือการใช้มือในการทำงานได้ ซึ่งก็หมายความถึงการประกอบสัมมาชีพทั้งหลาย ซึ่งนี้คือต้นเค้าของอาชีวศึกษาในปัจจุบัน และประการสุดท้ายท่านเน้นเรื่องสุขภาพ ซึ่งการคือการพลศึกษา ท่านเห็นว่าคนไทยต้องมีพื้นฐานสี่ประการนี้ในการศึกษา นอกจากนี้ท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย จึงเห็นได้ชัดว่าท่านให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษามาตั้งแต่แรกเริ่ม ส่วนอาชีวศึกษาอีกแห่งที่เกี่ยวกับการเกษตรของไทยคือโรงเรียนประถมเกษตร ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านยังมีส่วนร่วมวางแนวทางการศึกษาระดับสูงด้วย โดยถวายงานด้านการศึกษาแด่รัชกาลที่ 6 แล้วในที่สุดก็กำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในขณะนั้นท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ท่านนำแนวคิดการศึกษามาจากอังกฤษ โดยเห็นว่าผู้เรียนในมหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้ที่เล่าเรียนประจำ ดังนั้นจุฬาฯ จึงมีหอพักให้นิสิตได้อาศัย คำว่า นิสิต แปลว่าผู้มานั่งประจำ คือจุฬาฯ เน้นให้ผู้เรียนต้องมาเรียนประจำและต้องมีที่พักในมหาวิทยาลัย ดังนั้นจุฬาฯ จึงใช้คำเรียกผู้ศึกษาว่า นิสิต ในยุคแรกๆ ของจุฬาฯ มีอธิการบดีเป็นชาวตะวันตกแต่อธิการบดีของจุฬาฯ คนแรกที่เป็นคนไทยคือพระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) น้องชายของท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี มีเรื่องในบ้านของท่านว่าท่านเจ้าพระยาฯ มีความเป็นครูมาตั้งแต่วัยเยาว์คือเมื่อท่านเรียนรู้สิ่งใดมาแล้ว ท่านจะสอนน้องชายของท่านเพื่อถ่ายทอดความรู้ ท่านมีความคิดเรื่องการพัฒนาคน เพื่อให้คนพัฒนาประเทศ ท่านเห็นว่าสังคมต้องพัฒนาด้วยการศึกษา ท่านมองว่าเครื่องมือการพัฒนาสังคมที่ดีที่สุดคือการศึกษา

ขอกราบเรียนถามทั้งสองท่านว่า ท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี วางรากฐานการศึกษาอย่างไรในยุคนั้น เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา ท่านทำอย่างไรให้คนหันมาใส่ใจในการศึกษาครับ

คุณกังสดาร เรื่องนี้สำคัญมาก คือท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ท่านอยู่ในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของบ้านเมืองด้วย ท่านได้เขียนโคลงไว้บทหนึ่ง
ท่านกล่าวไว้ว่า ยิ่งเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาในบ้านเรามากขึ้นยิ่งบ้านเรามีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้นคนของเราโดยเฉพาะชาวไร่ชาวนาจะยิ่งล้าหลังมากขึ้น เพราะท่านมองเห็นว่า ในตอนนั้นคนส่วนใหญ่ของประเทศเราคือเกษตรกร คนตั้ง 80-90 เปอร์เซ็นต์ ทำเกษตร แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา ประเทศดูเสมือนก้าวหน้าไปไกลมาก แต่คน 80-90 เปอร์เซ็นต์ ยังตามไม่ทัน ยังมีช่องว่างอีกมาก ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวไร่ ชาวนาชาวสวน สามารถตามความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ทัน นั่นก็คือต้องใช้การเรียนเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดการพัฒนา

ขอกราบเรียนถามเรื่องกีฬากับท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เพราะกีฬาคือเครื่องช่วยให้คนพัฒนาร่างกาย และจิตใจ ชาวตะวันตกให้ความสำคัญกับกีฬามาก เพราะช่วยสอนให้คนรู้แพ้ รู้ชนะ รู้กฎกติกา รู้การอยู่ร่วมกันรู้จักให้อภัยกัน ได้เกิดการกระทบกระทั่ง ขอความกรุณาท่านช่วยเล่าเรื่องนี้ด้วยครับ

คุณกังสดาร เรื่องการกีฬานี้ ถ้าท่านดูเนื้อเพลงกราวกีฬา ท่านจะเข้าใจได้ดีว่า คือ การสอนคน การพัฒนาคนทำคนให้เป็นคน รู้แพ้ รู้ชนะ ท่านเจ้าพระยาฯ กำหนดไว้พร้อมทุกอย่างในบทเพลง ท่านเป็นคนแรกที่นำเกมฟุตบอลมาในบ้านเรา เดี๋ยวนี้ฟุตบอลกลายเป็นธุรกิจใหญ่โตทั่วโลกแต่ท่านเจ้าพระยาฯ มองเห็นว่า กีฬาช่วยให้ประเทศพัฒนาได้เพราะคนที่มีใจเป็นนักกีฬาจะรู้จักกฎระเบียบเป็นอย่างดี

กราบเรียนถามอาจารย์วัลลภา ในมุมมองของนักการศึกษา อาจารย์ช่วยอธิบายภารกิจของท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกับการศึกษาไทยด้วยครับ ผมเห็นว่า ท่านเจ้าพระยาฯ ได้วางรากฐานการศึกษาที่ดีไว้ให้บ้านเมืองของเรา แต่ทำไมระยะหลังๆ นี้ หลายคนถอนหายใจเมื่อพูดถึงการศึกษาไทย

อาจารย์วัลลภา ด้วยความที่ท่านเจ้าพระยาฯ เป็นผู้นำทางด้านการศึกษาที่แท้จริงนะคะ ท่านเห็นว่าวิชาครูเป็นวิชาชีพ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นวิชาชีพก็ต้องมีสมาคมวิชาชีพเป็นเครื่องสนับสนุน เพราะอย่างน้อยที่สุดการศึกษาไทยต้องเป็นไปตามแนวมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนดไว้ตั้งแต่อดีตเพื่อให้สืบทอดไปถึงปัจจุบัน ท่านเจ้าพระยาฯ ได้ริเริ่มตั้งสามัคยาจารย์ โดยสามัคยาจารย์ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการรวบรวมผู้คนเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์เพื่อตนเองแต่มีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อการพัฒนา และจัดการศึกษาของประเทศให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสามัคยาจารย์ก็คือรากฐานของคุรุสภาในปัจจุบัน และท่านเจ้าพระยาฯได้ก่อตั้งสมาคมวิชาชีพครูขึ้นมา เพราะเห็นว่าวิชาครูเป็นวิชาชีพที่ต้องมีมาตรฐานสูง ท่านยังส่งเสริมให้มีสื่อการเรียนที่ทันสมัยด้วย เพราะในสมัยก่อนบ้านเมืองของเราไม่มีโทรทัศน์ การถ่ายทอดความรู้ทางไกลก็ยังลำบาก อีกทั้งการเขียนก็เพิ่งเริ่มต้น ท่านเจ้าพระยาฯ จึงตั้งใจทำวารสารด้านวิชาชีพครูขึ้นมา คือ สามัคยาจารยสาร เป็นหนังสือที่ช่วยให้ครูทั่วประเทศได้สื่อสารด้านวิชาการถึงกัน นับว่าท่านเจ้าพระยาฯ คือผู้หนึ่งที่วางรากฐานของวิชาชีพครูให้มีมาตรฐานไว้ในสังคมไทยของเรา ท่านเจ้าพระยาฯ คือนักปรัชญาการศึกษาที่ทำให้คนทุกคนเห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องจำเป็นและใกล้ตัว ท่านทำให้ทุกคนสามารถเข้าใจได้ชัดเจน และมีตัวอย่างให้ดูด้วย ตัวอย่างเช่นในสมัยก่อน คนบ่นกันว่าทำไมเด็กไทยจำนวนไม่น้อยอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ ท่านแก้ปัญหาด้วยการแต่งตำราขึ้นมาสองเล่มคือ แบบเรียนเร็ว เล่ม 1 และ 2 ท่านทำเพื่อเป็นวิทยาทานให้นำต้นฉบับไปพิมพ์เผยแพร่โดยไม่มีลิขสิทธิ์ท่านใช้หลักการอ่านออกเสียงที่เด็กเข้าใจง่าย และทำตามได้ง่ายและใช้หลักให้เด็กเข้าใจการเขียนพื้นฐานก่อน โดยเริ่มจากคำง่ายๆ เช่น กอ อา กา, ขอ อา ขา, กอ อา นอ กาน, คือมีการทำให้เห็นชัดว่าการผสมตัวอักษรกับสระและใส่ตัวสะกดเข้าไป แล้วให้อ่านออกเสียง พร้อมกับฝึกเขียน ปรากฏว่าเมื่อเด็กได้ใช้ตำรานี้แล้วสามารถเขียนและอ่านออกเสียงได้ดีขึ้น หนังสือนั้นได้ถูกใช้อยู่หลายสิบปี แต่สุดท้ายก็ถูกยกเลิกไปตามกาลเวลา แต่อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีคือผู้ที่ตั้งใจเพื่อให้การศึกษาไทยพัฒนาอย่างแท้จริง

คุณสามารถพบรายการดีที่ครบครันด้วยสาระและความบันเทิง รายการแนวหน้าวาไรตี้ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์เวลา 16.00-16.25 น. ทางโทรทัศน์ TNN 2 ช่อง 784ดิจิทัลทีวี หรือ True Visions 8 และชมรายการ ย้อนหลังได้ที่ YouTube ผู้หญิงแนวหน้า by คุณแหน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0