โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ชิมลางแจ้งเกิด ATM สีขาว แก้ปมแบงก์ใหญ่ยื้อร่วมวง

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 13 พ.ย. 2562 เวลา 02.59 น. • เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 03.54 น.
fin02111162p1

ความพยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือ “เอทีเอ็มสีขาว” (white label ATM) เกิดขึ้นหลายปีก่อน โดยสมาคมธนาคารไทยได้ให้ทางบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (ITMX) ศึกษาเรื่องดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2560 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็สนับสนุนเต็มที่ เพราะมองว่าจะช่วยธนาคารพาณิชย์ลดต้นทุนจากการดำเนินงานลงได้ เพราะไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน อันจะนำไปสู่การลดต้นทุนทางการเงินให้กับประชาชนผู้ใช้บริการต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผลศึกษาจาก ITMX ออกมาว่า white label ATM จะทำให้ต้นทุนของธนาคารลดลง 20% ทว่า ความร่วมมือกันก็ยังไม่เกิดขึ้นสักทีต้นปี 2562 ที่ผ่านมามีข่าวว่าความร่วมมือเรื่องนี้อาจจะ“ถึงทางตัน” แต่สุดท้าย “ปรีดี ดาวฉาย” กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย (KBank) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ก็พยายามหาทางออกที่ลงตัวให้กับทุกฝ่าย พร้อมแสดงความมั่นใจว่าจะเริ่มทยอยเห็น white label ATM ได้ในปี 2562 นี้

ฟาก “ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) บอกว่า ล่าสุดเท่าที่ทราบการพูดคุยความร่วมมือกันระหว่างแบงก์พาณิชย์ ในเรื่อง white label ATM ก็มีความคืบหน้าอยู่ โดยมีโมเดลต่าง ๆ ออกมาว่าจะทำร่วมกันกี่ตู้ หรือในจุดใดบ้าง อย่างเช่น ในห้างสรรพสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องวางตู้ของทุกแบงก์ เป็นต้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าแต่ละแบงก์ก็มองว่าจุดไหนที่แบงก์มีกำไร ก็ไม่อยากนำไปรวมเป็น white label ATM ส่วนตู้ที่ตั้งหน้าสาขาแบงก์ไหนแบงก์นั้นก็จะบริหารเองอยู่แล้ว

แจ้งเกิด “เอทีเอ็มสีขาว”

ล่าสุด ปรากฏภาพการจับมือกันระหว่างธนาคารกสิกรไทยกับธนาคารออมสิน ที่ได้ลงนามความร่วมมือการให้บริการ ATM ระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจกับธนาคารพาณิชย์ครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อการบริหารจัดการเครื่อง ATM ในอนาคตร่วมกัน และเป็นการสานต่อนโยบาย white label ATM ของ ธปท.และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งจะดำเนินการระหว่างวันที่ 8 พ.ย. 2562-30 เม.ย. 2563 นำร่องเฉพาะใน 5 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่มี ATM รวมกันเกือบ 400 เครื่อง

“ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ KBank กล่าวว่า ลูกค้าของ 2 แบงก์ จะสามารถใช้บริการเครื่อง ATM ของทั้ง 2 ธนาคาร โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมต่างธนาคารและทำธุรกรรมได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สำหรับการทำธุรกรรมในจังหวัดเดียวกัน จากเดิมที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเมื่อใช้บริการตั้งแต่รายการที่ 5 ในเดือนเดียวกัน ส่วนการทำธุรกรรมข้ามจังหวัดจะลดค่าธรรมเนียมถอนเงินสดลงเหลือ 15 บาท/รายการ จากเดิม 25-35 บาท/รายการ

ความต้องการใช้ ATM ยังมีมาก

“ขัตติยา” บอกว่า แม้ภาพรวมธุรกรรมผ่าน ATM จะลดลง โดยปริมาณธุรกรรมลดลง 2% และมูลค่าลดลง 4% ตามแนวโน้มที่ประเทศไทยจะมุ่งเข้าสู่สังคมไร้เงินสด และธุรกรรมโมบายแบงกิ้งที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็ตาม แต่ก็พบว่า ยังมีความต้องการใช้ ATM อยู่ เห็นจากปริมาณธุรกรรมผ่าน ATM ของกสิกรฯยังเพิ่มขึ้น 7% แม้ว่าด้านมูลค่าจะลดลง 8% สะท้อนว่าลูกค้าถอนเงินบ่อยขึ้น แต่มียอดการถอนที่ลดลง

“สำหรับกสิกรฯ เครื่อง ATM ยังคงมีความสำคัญ” นางสาวขัตติยาย้ำ พร้อมให้มุมมองว่า “การให้บริการเงินสดไม่ใช่จุดที่จะต้องสร้างความแตกต่างในระบบการเงินของประเทศ โดยหากธนาคารอยากจะแข่งขันกัน น่าจะไปแข่งขันกันตอบโจทย์ลูกค้าในมุมอื่น โดยความร่วมมือครั้งนี้ ก็เพื่อให้การให้บริการการเงินของประเทศ สามารถแข่งขันได้ เพราะวันนี้ธนาคารไม่ได้แข่งขันกันเอง แต่กำลังแข่งขันกับธุรกิจอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมการเงิน จึงต้องลดต้นทุน”

“ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า แนวโน้มจำนวนเครื่อง ATM ในภาพรวมทยอยลดลง จากปี 2560 มีเครื่องทั้งระบบรวม 59,000 เครื่อง, ปี 2561 ลดลงมาอยู่ที่ 58,800 เครื่อง และปี 2562 ถึงปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 57,000 เครื่อง

“แนวโน้มเครื่อง ATM ลดลงก็จริง แต่ลดลงเพียงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดสาขาที่ส่งผลให้เครื่อง ATM ที่อยู่ติดกับสาขาต้องปิดตัวลงไปด้วย”

โดยปัจจุบันออมสินมีเครื่อง ATM ทั่วประเทศอยู่มากกว่า 7,300 เครื่อง และยังมีแผนเพิ่มอีกราว 6,000 เครื่อง ทยอยติดตั้งในปีนี้ เมื่อรวมกับกสิกรฯที่มีกว่า 10,000 เครื่อง จะทำให้มีจุดบริการมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย จึงเป็นโอกาสที่ทั้ง 2 ธนาคาร ในการพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ร่วมกัน เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการให้บริการที่ครอบคลุมและอำนวยความสะดวกสบายแก่ลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคารได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหากผลตอบรับออกมาดี ระยะต่อไปก็จะขยายพื้นที่ในกรุงเทพฯ รวมถึงทั่วประเทศต่อไป

โมเดลต้นแบบดึงแบงก์อื่นร่วม

นอกจากนี้ “ชาติชาย” มองว่า ความร่วมมือกันครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมแบงก์ เพราะลดค่าใช้จ่ายการสั่งซื้อเครื่อง ATM จากต่างประเทศ สามารถเป็นต้นแบบให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือแบงก์พาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ไม่ต้องการลงทุนเครื่อง ATM หรือแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ต้องการลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อนได้ในอนาคต

แหล่งข่าวจากนายแบงก์รายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า การหารือเรื่อง white label ATM ในสมาคมธนาคารไทย ยังหา “จุดลงตัว” ไม่ได้ โดยแบงก์ขนาดใหญ่บางแห่งไม่อยากเข้าร่วม รวมถึงยังมีประเด็นที่ยังถกกันอยู่ ก็คือเรื่องศูนย์บริหารเงินสด (Cash Center) ซึ่งปัญหาคือ ไม่มีใครอยากเป็นคนบริหารจัดการ Cash Center แต่ก็มีโมเดลว่า อาจจะให้บุคคลที่ 3 เข้ามารับจ้างบริหารจัดการ ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นประเด็นท้าย ๆ หากได้ข้อสรุป ก็น่าจะเดินหน้าขยายความร่วมมือได้กว้างขวางขึ้น

คงต้องติดตามกันต่อไปว่าข้อสรุปเรื่องนี้ จะจบแค่ความร่วมมือกันเพียง 2 แบงก์ หรือจะสามารถขยายไปสู่แบงก์อื่น ๆ ได้ต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0