โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

ชำแหละ ปรสิต แบบเคลียร์ๆ กับจุดเปลี่ยนหนังเกาหลี

ไทยรัฐออนไลน์ - บันเทิง

อัพเดต 19 ก.พ. 2563 เวลา 09.04 น. • เผยแพร่ 19 ก.พ. 2563 เวลา 09.01 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

กลับถึงกรุงโซล เกาหลีใต้ ไปเปิดใจอย่างเป็นทางการกันแล้ว ทีมนักแสดงสุดเยี่ยมยอด และผู้กำกับเก่งกาจ บงจุนโฮ จากหนังออสการ์ ปรสิต Parasite พอได้ออสการ์ ก็เลยกลับมาโกยรายได้พุ่งไปอีก ทางไทยหลายโรงหนัง เช่น เอสเอฟ SF ก็นำปรสิต กลับมาฉายใหม่ ให้แฟนหนังที่เคยพลาดไป ได้ดูชัดๆ กันอีกครั้ง ว่าทำไมปรสิตถึงเจ๋งจริงจนกวาดออสการ์มาได้ 

น่าเรียนรู้มากๆ ว่าอะไร ทำไม ที่ทำให้ปรสิตได้ใจมหาชน ได้ใจกรรมการจนคว้ารางวัลมาเยอะแยะ น่าเรียนรู้มากๆ เพื่อที่เราจะกลับมาพัฒนาปรับปรุงหนังไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านหนัง, ผู้กำกับหนัง ภาณุ อารี ได้ชำแหละถึงความสำเร็จสูงสุดของปรสิต เอาไว้ได้น่าสนใจมากๆ "หลังจากลองคิด ถึงปัจจัยความสำเร็จของ Parasite เลยอยากนำเสนอ มุมมองความสำเร็จ ในแง่มุมธุรกิจของหนังเกาหลี ที่ได้มีโอกาสสัมผัสมาดูบ้าง ขอไม่พูดถึงมุมของภาครัฐเพราะ เป็นเรื่องที่พูดกันบ่อยอยู่แล้ว เลยขอสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้ 

1. ความสำเร็จของ Parasite ไม่ได้เป็นสิ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์ โอเค การที่หนังได้รับรางวัลออสการ์ ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญของภาพยนตร์โลก แต่การที่หนังเรื่อง Parasite ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้นั้น ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็ประสบความสำเร็จเลย ทุกอย่างมันผ่านกระบวนการคิด โดยมีผู้กำกับเป็นผู้กำหนดแนวทางการสร้างสรรค์ ส่วนฝ่ายอื่นๆ ก็ทำหน้าที่ support โดยมีจุดหมายเดียวกันคือ ทำให้หนังประสบความสำเร็จมากที่สุด ทั้งในแง่การเงิน และชื่อเสียง จำได้ว่า ตอนที่เซลส์ขายโชว์ฟุตเตจหนังเรื่องนี้ให้ดูครั้งแรก เมื่อปลายปีที่แล้ว ยังเดาไม่ออกเลยว่าหนังจะออกมายังไง ยังคิดอยู่เลย ว่ามันจะมีสัตว์ประหลาดออกมาไหม แต่ที่แน่ๆ ทุกคนที่ได้ดู ต่างรู้สึกว่ามันต้องมีความพิเศษแน่ๆ หลังจากนั้นพอได้มาดูหนังที่เสร็จแล้ว รู้สึกทึ่งมาก

2. อุตสาหกรรมหนังเกาหลี ไม่เคยแบ่งแยกหนังอาร์ต หรือหนังคอมเมอร์เชียล ทุกเรื่องถูกวางเป้าหมายเดียวกันคือ ทำยังไงให้ได้เงิน เพียงแต่กระบวนการทางการตลาด อาจต่างกันตามแนวทางของหนัง สังเกตจากอะไร หนังอาร์ตดังๆ ที่ได้ฉายตามเทศกาลต่างๆ นั้น ต่างผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัทใหญ่ๆ ทั้งนั้น เช่นหนังของ ปาร์ค ชานวุค บองจุนโฮ ล้วนแต่ดูแลโดย บริษัทซีเจ, หนังของ ลีชางดอง ฮองซางซู ดูแลโดยบริษัทไฟน์คัท หรือ หนังของคิมคีดุค มักขายโดยบริษัท ซีเนคลิกเอเซีย ซึ่งบริษัทเหล่านี้ ก็ผลิตหนังตลาดหลายเรื่อง บางเรื่องก็ดี บางเรื่องก็แย่ แตกต่างกันไป

ในแง่ของการขาย หนังอาร์ตหรือจะเรียกว่าหนังพิเศษของผู้กำกับ auteur เหล่านี้ จะอยู่ในไลน์อัพ รวมอยู่กับหนังตลาด และเซลส์ก็จะพยายามขายแบบให้ความสำคัญเท่าๆ กัน เซลส์ขายหนังบริษัทเกาหลี จึงรู้วิธีการขายหนังแต่ละประเภทเป็นอย่างดี นอกจากนี้ บริษัทใหญ่ๆ อย่างซีเจ หรือไฟน์คัท ล้วนแต่ให้ความสำคัญกับฝ่ายการตลาด การตลาดจึงมีส่วนสำคัญในการทำให้ หนังเป็นที่สนใจของผู้คนในวงกว้าง

3. อุตสาหกรรมหนังเกาหลี ไม่เคยถูกผูกขาดโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่า แต่ละบริษัทต่างแข่งขันเพื่อดึงผู้ชมให้มาดูหนังที่จัดจำหน่ายให้มากที่สุด ผ่านการผลิตภาพยนตร์ที่เน้นคุณภาพการสร้างสูงที่สุด หากลองมองย้อนไปในปีก่อนๆ หนังเกาหลีที่ได้แชมป์หนังทำเงิน มาจากบริษัทที่ไม่ซ้ำเดิมเลย เช่น ปี 2016 หนังที่ได้แชมป์ทำเงินคือ Train to Busan ของ บริษัท Content Panda ปี 2017 หนังทำเงินสูงสุด คือ Taxi Driver ซึ่งเป็นของบริษัท Showbox ปี 2018 หนังทำเงินสูงสุดคือ Along With the Gods ภาค 2 ของบริษัท Lotte และปี 2019 เจ้าของแชมป์หนังทำเงินคือ Extreme Job ของบริษัท cj

ในขณะที่ปีนี้ Peninsular ซึ่งเป็นภาคต่อของ Train to Busan ถูกคาดหมายว่า จะทำให้ content panda กลับมาทวงบัลลังก์อีกครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงถึงอะไร มันแสดงให้เห็นว่า บริษัทต่างๆ ต่างสร้าง brand loyalty ของตัวเอง ผ่านการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ชม การแข่งขันทางด้านการสร้างสรรค์ และด้านการตลาดจึงเกิดขึ้น

4. วัฒนธรรมการดูหนังของเกาหลี ยังแข็งแรงมาก แม้ว่าเกาหลีจะเป็นประเทศแรกๆ ในโลกนี้ ที่ digital disruption ทำลายช่องทางการจัดจำหน่ายแบบเดิมๆ ลง โดยเฉพาะ ธุรกิจวิดีโอ และระบบ IPTV กำลังมาแรง แต่คนยังคงดูหนังอยู่ จนทำให้เกาหลีกลายเป็นประเทศที่คนซื้อตั๋วเข้าชมหนัง ในโรงมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และที่สำคัญจำนวนคนดูยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ดูจากลิงก์ (คลิกอ่าน) โอเค ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของภาครัฐ ในการขอความร่วมมือให้โรงภาพยนตร์ฉายหนังเกาหลี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าคนไม่อยากดู เขาก็ไม่อยากดู แต่อะไรที่ทำให้คนอยากดู ก็เพราะหนังมันน่าดูหรือเปล่า

สรุปแล้ว ความสำเร็จของ parasite คนที่ควรให้เครดิตนอกจากตัวผู้กำกับ จนไปถึงบริษัทสร้างและจัดจำหน่ายแล้ว ยังควรรวมถึงทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมเกาหลี ทุกคนต่างทำงานหนัก ในการทำให้หนังเกาหลีเป็นที่ยอมรับ ไม่เพียงแค่ ผู้ชมในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงต่างประเทศด้วย ภายใต้กลไกธรรมชาติของธุรกิจล้วนๆ เพียงแต่ความสำเร็จบนเวทีออสการ์เมื่อวาน จะสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญ ให้กับวงการหนังเกาหลีอย่างแน่นอน.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0