โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชวนเช็ก หลังคา ก่อนหน้าฝนจะมาเยี่ยม

MThai.com

เผยแพร่ 26 เม.ย. 2562 เวลา 08.05 น.
ชวนเช็ก หลังคา ก่อนหน้าฝนจะมาเยี่ยม
แต่อย่าลืมคิดเผื่อไปถึงอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าว่าหน้ามรสุมกำลังจะพาประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอีกครั้ง

แม้ตอนนี้อากาศสุดร้อนเกินจะทน แต่อย่าลืมคิดเผื่อไปถึงอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าว่าหน้ามรสุมกำลังจะพาประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอีกครั้ง แม้กระทั่งตอนนี้เองที่หลายภาคของประเทศไทยเผชิญกับปัญหาพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนักจนสร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือนจำนวนมาก ถือโอกาสช่วงที่ฝนยังไม่มาตอนนี้ ชวนคุณมาเช็ก หลังคา บ้านให้อุ่นใจปลอดภัยก่อนหน้าฝนของจริงจะมาเยี่ยมเยือน

คลิกที่ลิงค์ด้านล่างเพื่อดูวีดีโอ
คลิกที่ลิงค์ด้านล่างเพื่อดูวีดีโอ

ดูวีดีโอ

1. สังเกตจากนอกบ้าน
ขั้นพื้นฐานที่สุดคือการสังเกตหลังคาด้วยสายตาจากนอกบ้าน ซึ่งจุดที่จำเป็นต้องสังเกตคือ กระเบื้องที่เผยอหรือแตกหักจนไม่ทาบพอดีกับกระเบื้องชิ้นข้างๆ, เช็กครอบสันหลังคาว่าแนบสนิทกับกระเบื้องหลังคาทุกแผ่นที่อยู่ข้างใต้, รางน้ำฝนแนบสนิทแน่นพอดีกับแนวขอบหลังคา, ครอบข้าง เชิงชาย ฝ้าหลังคา และวัสดุประกอบหลังคาประกบติดกันแน่นสนิทดี ไม่มีความเสียหายหรือรอยแตกใดๆ และรอยร้าวของกระเบื้องหลังคาที่นำมาสู่ความเสียหายได้ในอนาคต

หากตรวจพบความผิดปกติในส่วนใดส่วนหนึ่ง ต้องรีบทำการซ่อมแซมโดยทันที กันไว้ก่อนดีกว่าก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ หากกระเบื้องหลังคาแตกหัก ควรเปลี่ยนชิ้นใหม่ หรือหากหลังคาดูเก่าโทรมเสื่อมสภาพแล้ว แก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนยกแผงเลยก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดี เพื่อความมั่นใจเต็มร้อย หรือหากรอยร้าว รอยแตก หรือการประกบกันไม่สนิทเกิดขึ้นไม่มาก อาจแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ซิลิโคนหรือปูนยาแนวอุดรอยแยกระหว่างหลังคา

2. วัสดุหลังคาเสื่อมสภาพ
เป็นเรื่องปกติที่พบเจอได้ เพราะหลังคาคือเกราะป้องกันสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าบ้านอายุ 3 ปี ควรตรวจสอบปูนยาแนวบริเวณรอยต่อกระเบื้องว่า รั่วซึมหรือเสื่อมสภาพลงหรือไม่ เพื่อจะได้รีบอุดบริเวณรอยต่อได้อย่างสมบูรณ์ และควรตรวจสภาพเป็นประจำทุก 3-5 ปี เพื่อความมั่นใจในการอยู่อาศัยในบ้าน

พอบ้านอายุย่างเข้าปีที่ 15 ก็ถึงเวลาที่ต้องเริ่มตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนได้แล้วว่าวัสดุหลังคาโดยรวมเสื่อมสภาพแล้วหรือยัง ทั้งตัวกระเบื้องเองว่าดูผุกร่อนหรือไม่ สีของหลังคาที่ด่างดำขึ้นจากการสะสมของเชื้อรา ปูนยาแนวตามรอยต่อต่างๆ รวมทั้งสังเกตตัวหลังคาที่แอ่นลง ไม่เป็นระนาบเรียบเหมือนกับหลังคาทั่วไป ถ้ามีมูลเหตุเหล่านี้ก็สามารถตัดสินใจเปลี่ยนหลังคาทั้งแผงได้ทันที แต่การเปลี่ยนหลังคาจำเป็นต้องปรึกษาช่างที่เชี่ยวชาญ เพราะต้องคำนวณเรื่องการรับน้ำหนักของโครงสร้างบ้านเดิมเข้าไปด้วย

3. คราบน้ำบนฝ้า สัญญาณหลังคารั่ว
เริ่มจากสังเกตฝ้าเพดานของบ้านก่อน โดยเฉพาะชั้นบนสุดที่ติดกับใต้หลังคา ถ้าบ้านไหนเจอคราบน้ำเป็นปื้นบนฝ้าเพดาน แสดงว่าน้ำรั่วเข้าให้แล้ว ซึ่งสาเหตุที่น้ำรั่วจนสามารถซึมเข้ามาถึงฝ้าเพดานได้ก็มีมากมาย ตั้งแต่ปัจจัยภายนอกอย่างหลังคารั่ว ไปจนถึงปัจจัยภายในบ้านอย่างการรั่วจากจุดอื่นแล้วมารวมกันเป็นแอ่งในบริเวณนั้นพอดี

การแก้ไขปัญหาทำได้โดยเริ่มจากการเจาะช่องฝ้าเพดานในจุดที่มีการรั่วซึม เพื่อสืบหาต้นตอที่แท้จริงของคราบน้ำ สังเกตจากฝ้าเพดานสู่ตัวหลังคาว่ามีแสงสว่างลอดเข้ามาในจุดใดบ้าง เพราะนั่นหมายความว่าจุดนั้นเป็นช่องว่างที่เปิดให้น้ำเล็ดลอดเข้ามาได้ หรือหากไม่ได้เกิดจากหลังคารั่วในจุดนั้น ให้สังเกตคราบของทางน้ำไหลว่ามีที่มาจากจุดไหน เพื่อที่จะอุดรอยรั่วได้ทันท่วงที

งานหลังคาบ้านอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะลงมือทำได้เอง หากเกิดปัญหาแนะนำให้ปรึกษาช่างหลังคาผู้เชี่ยวชาญ จะเป็นผู้แก้ไขปัญหาได้อย่างว่องไวและปลอดภัยแบบมืออาชีพ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0