โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชวนสังเกตฉลาก ‘ทางเลือกสุขภาพ’ อีกตัวเลือกของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ

The Momentum

อัพเดต 06 ธ.ค. 2562 เวลา 06.32 น. • เผยแพร่ 06 ธ.ค. 2562 เวลา 06.28 น. • ชนาธิป ไชยเหล็ก

In focus

  • ฉลากโภชนาการสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือตาราง 'ข้อมูลโภชนาการ' ที่ด้านหลังบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยบริโภคและจำนวนหน่วยฯ ที่ควรแบ่งกิน และคุณค่าทางโภชนาการว่าประกอบด้วยสารอาหารอะไรบ้างให้เราได้อ่านก่อนตัดสินใจซื้อ
  • ต่อมา เริ่มมีการใช้ฉลากแบบจีดีเอ (GDA: Guideline Daily Amount) สำหรับติดไว้ที่ด้านหน้าซอง โดยจะแสดงตัวเลขคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบรรจุภัณฑ์ เช่น ต่อ 1 ซอง ในขณะที่ฉลากด้านหลังจะเป็นตัวเลขต่อ 1 หน่วยบริโภค เช่น 1 ซอง แบ่งได้ 3 หน่วยบริโภค
  • ล่าสุด มีฉลาก 'ทางเลือกสุขภาพ' (Healthier choice) ที่ย่อฉลากโภชนาการในอดีตให้ง่ายขึ้นอีก เหลือเพียงแค่ตราวงกลมเล็กๆ วงเดียว แต่เห็นแวบเดียวก็รู้ว่ามีสารอาหารอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่

“เปิดให้หน่อยสิ” ผมรับขวดน้ำอัดลมสีน้ำตาลเข้มขนาด 1 ลิตรกว่ามาจากเพื่อน ทั้งที่มองว่าน้ำอัดลมเป็นศัตรูกับสุขภาพ จับตัวขวดให้แน่นก่อนจะบิดฝาพลาสติกเปิดออกได้ไม่ยาก (แค่เพื่อนเป็นโรคเอ็นข้อมืออักเสบเท่านั้น) จังหวะนั้นเองที่ผมเหลือบไปเห็นสัญลักษณ์หนึ่งบนฉลากข้างขวด

“อ้าว! นี่ไง Healthier Logo ที่พูดถึงเมื่อวันก่อน” 

ผมชี้ให้เพื่อนดูตราวงกลมสีน้ำเงินขนาดหัวแม่มือบังมิด ตรงกลางเป็นใบไม้สีเขียววางทับกันคล้ายรูปคนยกมือ เขียนกำกับด้านล่างว่า ‘ทางเลือกสุขภาพ’ —ผมเพิ่งนำเสนอคำถามงานวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์โซเดียมต่ำแล้วเล่าให้เพื่อนฟังถึงตราสัญลักษณ์นี้เมื่อวันก่อน ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่หลายคนก็ยังไม่เคยรู้จักมาก่อน

ก่อนจะมี ‘ทางเลือกสุขภาพ’

เรามักจะคุ้นเคยกับฉลากโภชนาการสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือตาราง ‘ข้อมูลโภชนาการ’ ด้านหลังซองขนมขบเคี้ยว บะหมี่สำเร็จรูป หรือข้างกล่องนมที่ผู้ผลิตแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยบริโภคและจำนวนหน่วยฯ ที่ควรแบ่งกิน และคุณค่าทางโภชนาการว่าประกอบด้วยสารอาหารอะไรบ้างให้เราได้อ่านก่อนตัดสินใจซื้อ

ฉลากโภชนาการแบบนี้ ผู้ผลิตถูกบังคับให้ต้องแสดงตามกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2541 จำได้ว่าสมัยเรียนอยู่ชั้นประถมฯ (หลังจากประกาศ 4-5 ปีอยู่) คุณครูเคยสั่งให้ตัดฉลากนี้แปะลงสมุดส่งเป็นการบ้านด้วย

ว่าแต่ท่านผู้อ่านได้อ่านฉลากนี้กันบ้างไหมครับ? อีก 10 ปีถัดมา ในปี 2554 จึงมีการริเริ่มใช้ฉลากแบบจีดีเอ(GDA: Guideline Daily Amount) สำหรับติดไว้ที่ด้านหน้าซอง (ไม่ยอมพลิกอ่านด้านหลังใช่ไหม ได้! ติดไว้ด้านหน้าเพิ่มเลยก็แล้วกัน) ซึ่งหลายท่านก็น่าจะเคยสะดุดตากับทรงกระบอก 4 แท่งเรียงกันอยู่คล้ายห่วงโอลิมปิก

ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (ที่มา: อย.)

พลังงาน, น้ำตาล, ไขมัน, และโซเดียม สารอาหารเหล่านี้ต่างก็มีอยู่ในตารางด้านหลังเหมือนกัน แต่ถ้าพลิกไปพลิกมาดูต้องร้อง “อ๋อ!” เพราะตัวเลขไม่เหมือนกัน โดยฉลากจีดีเอแสดงตัวเลขคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบรรจุภัณฑ์ เช่น ต่อ 1 ซอง ในขณะที่ฉลากด้านหลังจะเป็นตัวเลขต่อ 1 หน่วยบริโภค เช่น 1 ซอง แบ่งได้ 3 หน่วยบริโภค

พูดอีกอย่างก็คือฉลากจีดีเอได้คูณตัวเลขไว้ให้แล้ว เหลือแค่เราอ่าน (เห็นได้ตั้งแต่ยังอยู่บนชั้นวาง) และหยิบอาหารประเภทเดียวกันขึ้นมาเปรียบเทียบเท่านั้น 

แต่ก็…เดากันถูกใช่ไหมครับ มีการศึกษาของแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (FHP) และ อย. เมื่อปี 2558 ว่าคนส่วนใหญ่เคยเห็นฉลากแบบจีดีเอ แต่เกือบครึ่งหนึ่งที่อ่านนานๆ ครั้ง ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้อ่านฉลากก็เพราะว่าไม่เข้าใจ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการ 

ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าช่วงแรกฉลากแบบจีดีเอ บังคับใช้กับขนมขบเคี้ยว 5 ชนิดเท่านั้น โดยทั้งเด็กและผู้ใหญ่มักกินเป็นอาหารว่างหรือไม่ได้กินเพื่อให้ได้รับสารอาหารอยู่แล้ว ต่อมาในปี 2559 จึงมีการขยายถึงอาหารกึ่งสำเร็จรูปและอาหารแช่แข็ง และในปีนี้ก็ครอบคลุมอาหารเกือบทุกประเภทแล้ว

‘ทางเลือกสุขภาพ’ ที่ต่างออกไป

ทั้งฉลากโภชนาการแบบเก่าและฉลากจีดีเอเป็นฉลากที่มีการให้ข้อมูล แต่ไม่บอกความหมาย (information scheme) ความจริงก็บอก แต่บอกเป็นเปอร์เซ็นต์ของสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวัน ในขณะที่ถ้ามีการบอกระดับความเหมาะสมของสารอาหาร (interpretive scheme) เช่น การใช้สีตามไฟจราจรด้วยจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจมากขึ้น

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังซับซ้อนอยู่ดี

เป็นที่มาของฉลาก ‘ทางเลือกสุขภาพ’ (Healthier choice)ที่ย่อฉลากโภชนาการในอดีตให้ง่ายขึ้นอีก เหลือเพียงแค่ตราวงกลมเล็กๆ วงเดียว แต่เห็นแวบเดียวก็รู้ว่ามีสารอาหารอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ทำให้เราตัดสินใจซื้อได้รวดเร็วมากขึ้น ถ้าเปรียบเทียบกับยุคนี้ก็เหมือนฟัง ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ในสังคมออนไลน์รีวิวมาแล้วว่า ‘ดี’

โดยมีสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้กำหนดเกณฑ์สารอาหารขึ้นมา เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน และโรคอื่น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน จากการกินอาหารเป็นหลัก เน้นว่า ‘ลดความเสี่ยง’ ไม่ใช่อาหารเสริมหรือมีสารอาหารที่มีประโยชน์สูงกว่าอาหารอื่นนะครับ ซึ่งเกณฑ์ส่วนใหญ่ก็คือพลังงาน, น้ำตาล, ไขมัน, และโซเดียมเหมือนฉลากแบบจีดีเอนั่นเอง

*ฉลากทางเลือกสุขภาพ ก. แบบเก่าที่ติดอยู่บนฉลากอาหารตอนนี้/  ข. แบบใหม่ที่เพิ่งประกาศเมื่อ ส.ค. 2562 (ที่มา: Healthier Logo) *

ฉลากนี้ได้รับการประกาศเป็นกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันครอบคลุมอาหารทั้งหมด 11 กลุ่มได้แก่ 1.อาหารมื้อหลัก 2.เครื่องดื่ม 3.เครื่องปรุงรส 4.นม 5.อาหารกึ่งสำเร็จรูป 6.ขนมขบเคี้ยว 7.ไอศกรีม 8.น้ำมันและไขมัน 9.ขนมปัง 10.อาหารเช้าธัญพืช และ 11.ขนมอบ (2 กลุ่มหลังสุดเพิ่งประกาศเกณฑ์ออกมาเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา)

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์ทางเลือกสุขภาพยังมี ‘ตัวเลือก’ บนชั้นวางให้เราเลือกซื้อไม่มากนักข้อมูลจากปี 2561 มีทั้งหมด 633 รายการ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องดื่ม ในขณะที่อาหารมื้อหลักและอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่เราซื้อบริโภคเป็นประจำยังคิดเป็น 5% เท่านั้น หรือถ้าเทียบกับภายในกลุ่มอาหารเองแล้วก็คงน้อยมากเลยทีเดียว

ผมจึงอยากให้ผู้บริโภครู้จักและให้ความสนใจกับสัญลักษณ์นี้ก่อนจะหยิบอาหารลงตะกร้า (เริ่มจากอาหารแช่แข็งในร้านสะดวกซื้อที่เราเข้าประจำก่อนก็ได้ครับ) ซึ่งจะชักจูงให้บริษัทผู้ผลิตเห็นความสำคัญกับการคิดค้นผลิตภัณฑ์ให้ผ่านเกณฑ์ทางเลือกสุขภาพเช่นกัน สุดท้ายเราก็จะมีตัวเลือกอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น

“อ้าว! นี่ไง Healthier Logo ที่พูดถึงเมื่อวันก่อน” ผมชี้ให้เพื่อดูตราสัญลักษณ์ที่ติดอยู่ ซึ่งถึงแม้ว่าจะใหม่และไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่ก็อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด “น้ำอัดลมก็ผ่านเกณฑ์นี้เหมือนกันแฮะ” (คนที่ชอบดื่มน้ำอัดลมมี ‘ทางเลือก’ แล้วนะครับ)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0