โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ชวนซื้อผักเมืองหนาว ที่ “ตลาดซาวไฮ่”

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 15 ก.พ. 2562 เวลา 21.32 น.
ตลาดชาวไฮ่ 16กพ

ปีที่แล้ว ผมจำได้ว่าเพิ่งไปร่วมงานรื่นเริงเล็กๆ ที่ผู้ดำเนินการ “ตลาดซาวไฮ่” ชุมชนตลาดพื้นบ้านของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในเขตอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี จัดในช่วงวันเด็ก เผลออีกที เวลาก็ผ่านไปแล้วหนึ่งปีเต็ม ครั้งเมื่อได้แวะเวียนไปอีกครั้ง ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอันชวนให้ร่วมยินดีด้วย

ตลาดนี้ตั้งอยู่ริมถนน เยื้องสถานีขนส่งทางบกของอำเภอบ้านไร่ เดิมมีเพิงร้านค้าไม่มาก แต่วันเด็กปี 2562 นี้ จำนวนร้านค้าเพิ่มเป็นร่วมหนึ่งร้อยร้านแล้ว

เพิงติดริมถนนยังคงขายผักเมืองหนาว เพราะพื้นที่แถบนี้นับว่าอากาศค่อนข้างหนาวเย็น โดยเฉพาะตำบลแก่นมะกรูด ห่างไปทางตะวันตกราว 30 กิโลเมตร ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมไปค้างแรม สัมผัสอากาศหนาว ที่บางครั้งบางวันอาจลดลงถึง 9 องศาเซลเซียส เลยทีเดียว และเป็นแหล่งปลูกพืชผักเมืองหนาวที่สำคัญ ผักที่ผมเห็นมีขาย ก็เช่น ฟักทองลูกรี ฟักพันธุ์พื้นเมือง ที่ลูกยาวถึงหนึ่งวาเศษๆ ฟักหอมลูกกลม ซึ่งทั้งหมดนี้ขายราคาถูกมากๆ แล้วก็มีสตรอเบอรี่ เคปกูซเบอรี่ เสาวรสด้วย

ผักพื้นๆ ที่กินกันเป็นอาหารประจำวันของคนเมืองกรุง แต่พอได้ปลูกในที่เหมาะสม มันอร่อยมากครับ เช่น กะหล่ำปลีรูปหัวใจ มีรสกะหล่ำหอมแรงทีเดียว ต้มกับหมูบะช่อแล้วจะแปลกใจเลยว่า เราทนกินกะหล่ำปลีตามตลาดสดทั่วไปมานานได้ยังไง

ยังมีกล้วยป่าพันธุ์แปลกๆ ดอกแคหางค่าง สีเหลืองดอกใหญ่ๆ ที่ชาวบ้านเอามา “อั่ว” คือปรุงสุกโดยยัดไส้หมูสับให้ชิมด้วย มีมะเขือส้ม คือมะเขือเทศลูกเล็กหลากสี รสเปรี้ยว อร่อย ส่วนเพิงสมุนไพรดูจะขยายมากขึ้นจนสังเกตได้ มีฝักดีปลีสด ขมิ้นชัน หัวไพล เม็ดมะรุม สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม เม็ดมะค่าโมง แก่นฝาง เถาบอระเพ็ด เถาเอ็นอ่อน รางแดง ฯลฯ

ของที่ผมชอบกินอีกอย่าง คือ “กลอย” ครับ มีทั้งที่ตากแห้ง และหุงกับข้าวเหนียวมะพร้าวขูดพร้อมกินได้ทันที ใครชอบกินกลอยย่อมจะถูกใจที่ไม่ต้องเหนื่อยแรง เอามาแช่น้ำ เหยียบย่ำซ้ำไปซ้ำมาหลายวัน กว่าหัวกลอยจะหมดพิษจนเอามาปรุงเป็นอาหารได้

แผงด้านในเข้าไปมีที่น่าสนใจคือกล้าไม้แปลกๆ เช่น ต้นต้าง ซึ่งก็มีดอกอ่อนขายคู่กันไปด้วย การมาพบดอกต้างวางขายที่อุทัยธานีก็เป็นการทำลายมายาคติที่ว่า ต้างนั้นมีเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ แถบเชียงใหม่ และคนเหนือเท่านั้นที่รู้จักกินแกงต้าง เพราะคนบ้านไร่เขาก็กินเช่นกันครับ

นอกจากต้างแล้ว ก็ยังมีดอกสะแลด้วย เลยดูเหมือนไปเดินกาดพื้นเมืองล้านนา แถมร้านเดียวกันนี้ยังมีหัวและหน่อกะทืออ่อนขายด้วย หน่ออ่อนแบบนี้แกงคั่วกะทิใส่เนื้อวัวอร่อยมากๆ เลยครับ

ผมเกือบลืมเล่าถึงของอร่อยอีกอย่างที่ขึ้นชื่อของบ้านไร่ นั่นก็คือ “หมูร้า” หรือ “หมูปลาร้า”

แทนที่จะหมักปลากับเกลือจนเป็นปลาร้า คนบ้านไร่กลับใช้หมูแทน เดิมทีคงเป็นการถนอมอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า เช่น หมูป่า ต่อมาก็เปลี่ยนมาใช้หมูบ้านแทน มีวางขายทั้งที่เป็นหมูร้าดิบๆ และที่เอาไปทำสุกแบบปลาร้าสับคั่ว หรือผัดน้ำมันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะกินในฐานะน้ำพริกคลุกข้าวร้อนๆ หรือเอาไปใช้ต่างเครื่องแกงก็ได้

ปีที่แล้ว ผมลองใช้หมูร้าสับผัดน้ำมันใส่ลูกชิ้นปลากราย เป็นทำนองผัดเผ็ด แล้วใส่ใบแมงลักตบท้าย ส่วนปีนี้ ผมลองละลายหมูร้าสับในหม้อน้ำ ต้มจนเดือด ใส่ดอกต้าง ดอกสะแล มะเขือส้ม แหนมท่อนอ้อเปรี้ยวๆ สุกแล้วก็กลายเป็นแกงน้ำใสที่หน้าตาเหมือนแกงเมืองเหนือ ทว่าที่จริงนี่คือรสชาติของชาวบ้านไร่ล้วนๆ ครับ

ใช่แต่สูตรพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อ คนที่นี่เองริเริ่มสร้างสูตรอาหารใหม่ๆ ร่วมสมัยขึ้นมาด้วย ผมเลยได้กิน “ข้าวมันปลา”  ของซุ้มด้านในสุด ใช้เนื้อปลานิลลวกสุก กินกับข้าวมันที่หุงไม่มันมาก เคียงน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวแบบข้าวมันไก่ กินแนมผักกะหล่ำม่วง ถั่วฝักยาว และมะม่วงดิบซอยละเอียด รสชาติดีครับ แต่พอเป็นปลา ผมนึกถึงกลิ่นข่าที่น่าจะเข้ากับน้ำจิ้มสำรับนี้ได้ดีกว่าขิง ก็เลยได้บอกคนขายไปแล้ว ถ้าต่อไปเขาผสมเข้าไปสักหน่อยต้องอร่อยแน่ๆ เลย

นอกจากของสด ของกิน ตลาดซาวไฮ่มีงานฝีมืออย่างเครื่องเหล็ก เครื่องนวดตัว ผ้าทอ ผ้าปัก และที่น่าจะสวยถูกใจคนรุ่นใหม่มากๆ ก็คือผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติหลากสีสัน ที่ขายทั้งผ้าผืน และตัดเย็บเป็นเสื้อ กางเกงลำลองใส่สบายๆ นะครับ

จากตลาดซาวไฮ่ ผมลองขับรถต่อไปนอนพักค้างคืนที่ตำบลแก่นมะกรูด ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ นอกจากลานกางเต๊นท์ของโครงการฯ แล้ว ก็มีรีสอร์ตเล็กๆ ให้พักหลายแห่ง  หน้านี้อากาศเย็นสบายดีครับ และผมพบว่า สองข้างทางนั้นแม้ส่วนใหญ่เป็นไร่ปลูกพืชผลเกษตรที่สูง แต่ก็ไม่มีตลาดจำหน่ายที่คัดกรองข้าวของมาก และเดินจับจ่ายสะดวกเท่าที่ตลาดซาวไฮ่

ยิ่งตอนนี้ ตลาดซาวไฮ่ใช้ระบบกำจัดขยะแบบเดียวกับป่าไผ่สร้างสุข ตำบลควนขนุน จังหวัดพัทลุง คือไม่มีถังขยะตั้งในตลาดเลย หากใช้วิธีให้ลูกค้านำขยะกลับไปส่งคืนร้านที่ซื้อสินค้ามา ก็ทำให้ภาพรวมด้านความสะอาดดูดีกว่าตลาดทั่วไปมาก

นี่จึงอาจคือเหตุผลที่ว่าทำไมตลาดซาวไฮ่จึงเติบโตขยายขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมา ก็เพราะเป็นจุดแวะพักสำคัญที่น่าแวะเพียงจุดเดียวของนักท่องเที่ยวย่านนี้นั่นเอง

แต่จุดแข็งนี้ก็แฝงจุดอ่อนอยู่ด้วย เพราะดูเหมือนว่า “กำลังซื้อ” ส่วนใหญ่จะมาจากที่อื่นจริงๆ ไม่ค่อยมีประชากรชาวอำเภอบ้านไร่มาซื้อของที่ตลาดซาวไฮ่กันมากนัก อย่างไรก็ดี การที่ตลาดนี้ดำเนินไปบนพื้นที่และการจัดการของเจ้าของที่เอง ไม่ต้องเสียค่าเช่า ก็ย่อมเบาภาระในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวไปได้มาก

คราวนี้ ดูเหมือนผมมาชวนจับจ่ายซื้อของอย่างเดียวจริงๆ ก็ยอมรับแหละครับ เพราะว่าสำหรับใครที่ชอบของคุณภาพดี ผักหญ้าแปลกๆ หายาก รับรองว่ามาแล้วไม่ผิดหวังแน่นอน

วันเสาร์อาทิตย์ไหนผ่านมาเที่ยวแถวย่านนี้ ลองแวะ “ตลาดซาวไฮ่” กันดูนะครับ

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0