โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ชมวิถีชีวิตชาวบ้านแพรกตะคร้อที่จะได้เจอทั้งชาวกะหร่าง หมูป่า ผ้ากี่เอว และปัญหาไร้สัญชาติ

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 02 เม.ย. 2563 เวลา 12.29 น. • BLT Bangkok
ชมวิถีชีวิตชาวบ้านแพรกตะคร้อที่จะได้เจอทั้งชาวกะหร่าง หมูป่า ผ้ากี่เอว และปัญหาไร้สัญชาติ

ห่างออกมาจากจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาหัวหินประมาณ 100 กิโลเมตร โดยผ่านทั้งทางที่ขรุขระของดินลูกรัง เส้นทางลาดชัน เคล้าไปกับทัศนียภาพของพื้นที่สีเขียวโดยรอบ ท่ามกลางความโคลงแคลงของรถตู้ที่ต้องขับผ่านเขตพื้นที่ทุรกันดาร ก่อนที่จะมาหยุดบริเวณทิวแถวของต้นยางพาราซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนางลิเดอะ แก้วช่วยชุบ และนายธเนศ แก้วช่วยชุบ สองชาวกะหร่างที่รอต้อนรับคณะสื่อมวลชนที่มาจากโครงการตามพระราชดำริในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอย่างยิ้มแย้ม ก่อนจะพาเราเข้าไปยังพื้นที่ซึ่งขยายมาจากโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของ รร.ตชด.บ้านแพรกตะคร้อ อย่างกิจกรรมเลี้ยงสุกร รุ่นที่2 อย่างยินดีต้อนรับ

(อ่านบทความโครงการศึกษาดูงานตามพระราชดำริที่รร.ตชด.บ้านแพรกตะคร้อ ได้ที่

https://www.bltbangkok.com/lifestyle/work-wellness/18626/ )

ให้อาหารหมูป่า

หมูป่าถือเป็นสัตว์ในระบบนิเวศชนิดหนึ่งที่ได้รับการขยายจากโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของ รร.ตชด.บ้านแพรกตะคร้อ มาสู่ชุมชนของชาวบ้าน โดยนางลิเดอะ แก้วช่วยชุบ และนายธเนศ แก้วช่วยชุบ สองชาวกะหร่างนิสัยน่ารักก็ได้แสดงวิธีการเตรียมอาหารให้หมูป่า แก่สื่อมวลชนที่เข้ามาเยี่ยมชมตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเริ่มจากการที่นางลิเดอะ แก้วช่วยชุบฝานต้นกล้วยให้เป็นแว่นบางๆ แล้วจึงนำไปให้นายธเนศ แก้วช่วยชุบตำให้ละเอียด ก่อนจะเอาเนื้อต้นกล้วยที่บดละเอียดไปใส่ตามรางอาหารที่สร้างไว้อย่างเป็นระบบในคอกหมู และยังได้มีการนำกล้วยที่มาจากการปลูกเองในพื้นที่ส่งให้หมูป่าในคอกได้กินเป็นอาหารเพิ่มเติมด้วย

สัมผัสผ้าทอพื้นเมืองกี่เอว

หลังจากดูนางลิเดอะ แก้วช่วยชุบ และนายธเนศ แก้วช่วยชุบสองปศุสัตว์ชาวกะหร่างสอนวิธีเลี้ยงหมูป่ากันจนจุใจ ทางคณะก็ได้ทำการย้ายไปยังบ้านของชาวกะหร่างอีกหลังที่มีการทอผ้าพื้นเมืองกี่เอว ซึ่งเป็นโครงการเศรษฐกิจพอเพียงที่ขยายมาจาก รร.ตชด.บ้านแพรกตะคร้อ เช่นกัน โดยที่นี่คุณป้าชาวกะหร่างก็ได้พาเราไปดูเครื่องมือที่ใช้ทอผ้าพื้นเมืองกี่เอว รวมถึงผลิตภัณฑ์ผ้าทอสารพัดรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า, กระเป๋า, ย่าม ฯลฯ ซึ่งพี่ๆ สื่อมวลชนหลายคนที่มาด้วยกันก็อุดหนุนกันไปหลายชิ้น ก่อนที่จะเสร็จสิ้นภารกิจเยี่ยมชมโครงการเศรษฐกิจพอเพียงขยายสู่ชุมชน

ปัญหาเรื่องการไร้สัญชาติ

แม้ชาวบ้านในพื้นที่ของหมู่บ้านแพรกตะคร้อจะได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ที่ทุ่มเททำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างความเป็นอยู่แบบกินอิ่ม นอนอุ่นในกับทุกคน แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่ยังคงรอการแก้ไขต่อไปคือเรื่องการไร้สัญชาติของชาวกะหร่างในหมู่บ้าน โดยเฉพาะเด็กๆ ในพื้นที่ซึ่งการไม่มีสัญชาติทำให้พวกเขาขาดโอกาสทั้งในเรื่องของการศึกษาต่อในระดับสูง, บริการของรัฐ อาทิเช่น เวลาที่มีเด็กไร้สัญชาติในรร.ตชด.บ้านแพรกตะคร้อเจ็บป่วย ทางโรงเรียนก็จะต้องทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปยังโรงพยาบาลเพื่อขอรักษาฟรี แต่ถ้าไม่มีหนังสือรับรองจากโรงเรียนจะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองเป็นต้น แต่ถึงอย่างนั้น ปัจจุบันก็มีเด็กที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยในหมู่บ้านแพรกตะคร้ออยู่เพียง 22 คน แถมผู้ใหญ่บ้านอย่างนายมนตรี วชิระ ยังได้ยืนยันว่าจะดำเนินการให้เด็กๆ ได้รับสัญชาติไทยทั้งหมดภายในปี 2564 และหากมองไปยังภาพใหญ่จะพบว่าสถานการณ์ของกลุ่มคนชายขอบทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้พลัดถิ่น ผู้ลี้ภัย และบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทยก็ยังคงอยู่ในภาวะที่ดีขึ้นตามลำดับอีกด้วย

โดยทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย ซึ่งได้ทำงานร่วมกับรัฐบาล หน่วยงานนานาชาติ องค์การนอกภาครัฐ และผู้บริจาคทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยเหลือผู้พลัดถิ่น ผู้ลี้ภัย และบุคคลไร้สัญชาติ ที่อพยพมาจากเขตแดนของประเทศต่างๆ ที่ติดกับไทย รวมถึงประเทศอื่นโดยรอบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 นั้น ได้เผยรายงานที่มีตัวเลขซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ในการแก้ปัญหาผู้พลัดถิ่น ผู้ลี้ภัย และบุคคลไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยดังนี้

- 570,000 คน คือจำนวนผู้พลัดถิ่น ผู้ลี้ภัย และบุคคลไร้สัญชาติที่มีอยู่ในประเทศไทยตอนนี้

- 479,000 คน คือจำนวนผู้พลัดถิ่น ผู้ลี้ภัย และบุคคลไร้สัญชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับทางไทยว่าเป็นบุคคลไร้สัญชาติ

- 100,000 คน คือจำนวนบุคคลไร้สัญชาติที่ได้รับสัญชาติไทยไปแล้ว

- 100,000 คน คือจำนวนผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในไทยที่ได้รับที่พักพิงซึ่งปลอดภัยจากรัฐบาลไทยและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

- 180 คน คือจำนวนเจ้าหน้าที่ UNHCR ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ทำงานช่วยเหลือผู้พลัดถิ่น ผู้ลี้ภัย และบุคคลไร้สัญชาติอยู่ในประเทศไทย

โดยประเทศไทยยังได้เข้าร่วมโครงการ #IBelong ของ UNHCR เพื่อรณรงค์ยุติความไร้รัฐ ไร้สัญชาติภายในปีพ.ศ. 2567 และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของกลุ่ม “Friends of the Campaign” ของโครงการนี้ อันเป็นการเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการทำงานระดับประเทศ และบทบาทผู้นำในการแก้ปัญหาไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และปัญหาผู้ลี้ภัยในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับความขัดแย้ง และการประหัตประหารในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งทำให้จำนวนผู้ผลัดถิ่น และผู้ลี้ภัยทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0