โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชมผลสำรวจชิมช้อปใช้คนไทยชอบใจแค่ไหน? เปิดความคิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี

BLT BANGKOK

อัพเดต 15 ธ.ค. 2562 เวลา 23.22 น. • เผยแพร่ 13 ธ.ค. 2562 เวลา 08.49 น.
3ed1eab8db8572055069aeecc06b73f4.jpg

ปรากฏการณ์ โครงการ “ชิมช้อปใช้” ที่มีผู้ลงทะเบียน 10 ล้านคน นับเป็นการส่งผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลหวังการใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเวลาสั้นๆ โดยผลสำรวจภาพรวมของโครงการพบว่าได้กระแสตอบรับที่ดี โดยคนเลือกชอปสูงสุด และส่วนมากใช้จ่ายเต็มวงเงิน
ส่วนใหญ่ร่วมชิมช้อปใช้เฟสแรก   
สำหรับผลสำรวจโครงการชิมช้อปใช้จากอิปซอสส์ (ประเทศไทย)พบว่าภาพรวมได้กระแสการตอบรับที่ดี จากการสำรวจพบว่า สัดส่วนของผู้ที่เข้าร่วมโครงการ เทียบกับคนที่ไม่ร่วม อยู่ในอัตรา 59% ต่อ 41%  
โดยกว่า 97% ของคนลงทะเบียนรับสิทธิ มีความรู้ความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ และอีก 95% ยังยินดีที่จะแนะนำให้ ครอบครัว ญาติ และเพื่อนฝูง ร่วมรับเงินสนับสนุนส่วนนี้จากรัฐบาลอีกด้วย
เมื่อศึกษาถึงเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการ และไม่เข้าร่วม พบว่า 62% ของกลุ่มคนที่เข้าร่วมนโยบายและลงทะเบียนรับสิทธิ์ชิมช้อปใช้ มีความคิดที่ว่าเป็นนโยบายที่ดีในการกระตุ้นการใช้จ่าย ขณะที่อีก 44 % เข้าร่วมเพราะคิดว่าเงินจำนวนนี้มาจากภาษีของพวกตน นอก-จากนั้น 41% มองว่าเป็นสิทธิ์ที่ควรจะได้รับจากรัฐบาล โดยหากแบ่งตามกลุ่มอายุจะเห็นได้ชัดว่า กลุ่มผู้สูงวัยและวัยทำงานมีความคิดเห็นต่อเหตุผลที่ลงทะเบียนในการรับเงินจากรัฐบาลที่แตก-ต่างกัน โดย 73% ของคนที่มีอายุระหว่าง 50-59 ปี มองว่าชิมช้อปใช้เป็นนโยบายที่ดีซึ่งช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย แต่กลุ่มผู้รับสิทธิ์ที่มีอายุ 18-29 ปี  มองว่าเป็นสิ่งที่ควรจะได้รับ เนื่องจากเงินสนับสนุนจำนวนนี้เป็นเงินส่วนหนึ่งที่มาจากภาษี
ในทางกลับกัน ผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ให้เหตุผลที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วม ด้วยเหตุผลที่ว่ามีขั้นตอนเยอะและมองว่าเป็นเรื่องยาก 44%, กดรับสิทธิ์ไม่ทัน 42%, ระบบไม่เสถียร 22%, ไม่เข้าใจการใช้แอปฯ​ เป๋าตัง - G Wallet 13%, ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ 7%, ไม่มีสมาร์ทโฟน 2%, และไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ 1%
ในส่วนของความเชื่อมั่นต่อโครง- การชิมช้อปใช้ที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจขนาดเล็กได้หรือไม่นั้น ปรากฏว่า 72% เชื่อว่าเศรษฐกิจและร้านค้าขนาดเล็กได้รับผลประโยชน์ มีเพียง 28% เท่านั้นที่คิดว่านโยบายนี้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ร้านค้าขนาดเล็กได้
โดยกลุ่มคนที่คิดว่ารายได้สามารถกระจายไปสู่ร้านค้าขนาดเล็กได้นั้น เนื่องจาก 71% ระบุว่าวางแผนและมีความตั้งใจที่จะไปใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กหรือร้านค้ารายย่อยเท่านั้น นอกจากนั้นอีก 56% ยังมองว่าการรณรงค์ให้ใช้จ่ายนับเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี ถึงอย่างนั้นกลุ่มคนที่มีแนวคิดเห็นตรงกันข้าม กว่า 63% ยังฝังใจว่าร้านค้าขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ และอีก 49% ไม่เชื่อว่ามาตรการนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงในระยะยาว 

เลือกช้อปเป็นส่วนมาก
ในส่วนของหมวดของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนประเภทร้านค้าที่ผู้ รับสิทธิ์ส่วนมากเลือกที่จะใช้จ่ายด้วยนั้น ปรากฏว่า หมวด ช้อป ถูกเลือกในสัดส่วนที่สูงสุด 61% ตามด้วย ชิม 35% และ ใช้ 4% โดยร้านที่ผู้มีสิทธิ์เลือกเป็นจุดซื้อมากที่สุดคือ ร้านธงฟ้า 47% รองลงมาเป็น ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ท็อป มาร์เก็ต เทสโก้ โลตัส 39% และ ร้านค้า OTOP ท้องถิ่น 36% 
ขณะที่พฤติกรรมการใช้จ่าย ด้วยวงเงินที่ได้รับมาจำนวน 1,000 บาทนั้น ปรากฏว่ากว่า 70% ของผู้เข้าร่วมโครงการมีความเห็นว่าเป็นวงเงินที่มากพอ มีเพียง 30% เท่านั้นที่เห็นว่ารัฐบาลควรเพิ่มวงเงิน  โดยในการใช้จ่ายเงินนั้น ส่วนใหญ่มีการใช้ในครั้งเดียว 75%  ขณะที่คนที่ทยอยจ่ายหลายครั้งมี 25%
สำหรับเหตุผลที่ว่าทำไมบางคนถึงมีการใช้จ่ายผ่านแอปฯ เป๋าตัง น้อยกว่าจำนวนเงินที่ได้รับ พบว่า 21% เป็นผลมาจากการที่ผู้ใช้พบปัญหาระหว่างการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านทางตัวแอปฯ ซึ่ง 16% ต้องสำรองเงินจ่ายค่าสินค้าและบริการเอง ส่วนอีก 5% ตัดสินใจยกเลิกการซื้อโดยสิ้นเชิง ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ใช้เกือบครึ่งยังไม่คุ้นชินกับการใช้ E-Wallet โดยพบว่า 43% มีการใช้จ่ายผ่าน E-Wallet เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามอีก 57% ของผู้เข้าร่วมโครงการมีความคุ้นเคยในการใช้ E-Wallet อยู่แล้ว และ 78% ไม่มีปัญหาระหว่างการชำระเงิน 
อย่างไรก็ตาม 74% อยากให้รัฐบาลดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องหลังจบมาตรการแล้ว มีเพียงแค่ 12% รู้สึกอยากให้รัฐบาลยกเลิกโครงการนี้ไปเลย
ชิมช้อปใช้เฟส 2 ผ่านหรือไม่?
ขณะที่ นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ชิมช้อปใช้เฟส 2 ถูกใจหรือไม่ โดยพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 39.97% ระบุว่าจะไม่ลงทะเบียน เพราะระบบและขั้นตอนการลงทะเบียนที่ยุ่งยากซับซ้อน โทรศัพท์ที่ใช้ไม่รองรับแอปฯ เป๋าตัง ขณะที่บางส่วนยังบอกว่าไม่มีเวลา ไม่สะดวกเดินทางไปใช้จังหวัดอื่น และไม่สนใจ รวมถึงไม่ชอบโครงการนี้ ขณะที่มีผู้ลงทะเบียนเฟส 2 เพียง 5.29%
ส่วนผู้ที่ระบุว่าลงทะเบียนไม่ทัน ไม่สำเร็จ มีกว่า 32.54% เนื่องจากการเข้าลงทะเบียนมีระยะเวลานาน ยุ่งยาก บางส่วนยังระบุว่าขั้นตอนการลงทะเบียนผ่านแอปฯ เป๋าตัง ไม่ค่อยเสถียร ถ่ายรูปไม่ผ่านทำให้ลงทะเบียนไม่สำเร็จ และเป็นผู้ที่ได้ลงทะเบียนเฟส 1 แล้วกว่า 22.20%
สำหรับแผนการใช้จ่ายโครงการ “ชิมช้อปใช้” ของผู้ที่ได้ลงทะเบียนเฟส 2 พบว่าส่วนใหญ่ 35.82% มีแผนจะใช้จ่ายที่ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์สโตร์ รองลงมา 32.84% ร้านค้าทั่วไปที่เข้าโครงการ และ 22.39% ร้านอาหารและเครื่องดื่ม
ในส่วนของความคิดเห็นต่อโครงการชิมช้อปใช้ เฟส 2 ค่อนข้างเป็นในทิศทางที่หลากหลาย โดยระบุว่าระบบและกติกาการใช้จ่ายยุ่งยากซับซ้อนเกินไป 26.70% อีกทั้งชี้ว่าเปลืองงบประมาณ ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง 26.62% เป็นมาตรการเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม 19.43% ระบุว่าพ่อค้า นายทุนได้ประโยชน์จากโครงการนี้ 15.32% เป็นโครงการประชานิยม หาเสียงกับชนชั้นกลาง 4.19% ระบบของร้านค้า/ห้าง ยังไม่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดปัญหาการใช้เงินจากโครงการ 1.42% รวมถึงระบบของธนาคารกรุงไทยยังไม่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดปัญหาการใช้เงินจากโครงการ 0.39%
ถึงอย่างนั้นก็มีความคิดเห็นอีกส่วนที่ระบุว่า ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการนี้ 26.15% อีกทั้งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี 24.33% เป็นโครงการทำให้คนได้ออกไปเที่ยว ชิมช้อปใช้ กับครอบครัว 8.85% สร้างความเท่าเทียมกัน เมื่อคนจนได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนชั้นกลางก็ได้ “ชิมช้อปใช้” 2.92 และระบบและกติกาการใช้จ่ายทำให้สามารถควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ 0.71%
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อภาพรวมโครงการ ส่วนใหญ่ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย มากถึง 30.97% และไม่ค่อยเห็นด้วย 19.67 อย่างไรก็ดีก็มีผู้เห็นด้วยอยู่ไม่น้อยด้วยสัดส่วน 22.43% และค่อนข้างเห็นด้วย 25.51% ขณะเดียวกัน ส่วนใหญ่ 40.36% ระบุว่าต้องการให้ปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้น เช่น ปรับปรุงระบบและขั้นตอนการลงทะเบียนให้ง่ายขึ้น ผู้สูงอายุก็สามารถทำเองได้ด้วยตนเอง หรือมีการลงทะเบียนที่ธนาคารกรุงไทย มีช่วงเวลาในการลงทะเบียนที่ชัดเจน ให้สิทธิกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ใช้สิทธิได้ทุกที่ ทุกจังหวัด และอยากให้เพิ่มวงเงินเพิ่มร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ แต่ก็มีกว่า 33.65% ที่ระบุว่ายกเลิกโครงการ ถึงอย่างนั้น 20.62% ยังคงต้องการให้ดำเนินโครงการต่อไป

คาด GDP Q4 น่าจะเติบโตดีขึ้น
เมื่อมองมาที่ภาพเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี 2562 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง จากการเปิดเผยรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนยังสามารถรักษาระดับการเติบโตในภาพรวมและเป็นตัวหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไว้ได้ ที่น่าสังเกตคือแม้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในไตรมาสที่ 3 ที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส แต่ก็ถูกชดเชยจากการใช้จ่ายสินค้าในหมวดอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงสินค้าในหมวดที่พัก โรงแรม และร้านอาหาร ซึ่งสอดคล้องไปกับทิศทางการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
อย่างไรก็ดีการใช้จ่ายครัวเรือนในไตรมาสที่ 4 น่าจะยังรักษาระดับการเติบโตจากไตรมาสที่ 3 ไว้ได้ต่อนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ช่วยประคองภาพรวมการใช้จ่ายครัวเรือน ตลอดจนความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ถึงอย่างนั้นคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ภาพรวมทั้งปี 2562 ขยายตัวได้ตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ที่ร้อยละ 2.8  (ณ เดือนตุลาคม 2562) ในขณะที่ยังมองกรอบล่างไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5
ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังเผชิญปัจจัยความไม่แน่นอน!
เมื่อมองไปข้างหน้า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ยังคงเผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกทั้งเรื่องสงครามการค้า และ Brexit ที่ยังไม่มีจุดลงตัว ประกอบกับทิศทางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจหลักของโลก เมื่อประกอบกับทิศทางค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า จากโครงสร้างการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ส่งผลให้ภาพการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในปีหน้ายังเป็นความท้าทายและต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดังนั้น นโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนคลายยังคงมีความจำเป็นในการดูแลโจทย์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าให้ประคองการขยายตัวได้ในกรอบการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในเบื้องต้นที่ร้อยละ 2.5-3  

คุณอุษณา จันทร์กล่ำ - กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด 
“จะเห็นได้ว่าคนเริ่มตัวตื่นในเฟส 2 มากขึ้น ซึ่งเราอยากจะให้มองไปถึงแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงในแอปพลิเคชั่นหรือโครงการให้ดีขึ้น เพราะจากผลสำรวจว่าคนมีความคิดเชิงบวกมากกว่า แม้ว่าตอนนี้เรื่องของระบบก็มีความเสถียรมากขึ้น แต่ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องของการบออกต่อว่าของผู้ใช้มากกว่าว่าทำอย่างไร ซึ่งเป็นการเรียนรู้ของคนเฟสแรก”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0