โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชมดอกไม้ อาบลมหนาว กินอาหารชาวเขา ในงาน ‘สีสันดอยตุง’ ที่เชียงราย

The Momentum

อัพเดต 15 ธ.ค. 2562 เวลา 08.39 น. • เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2562 เวลา 07.56 น. • สันติชัย อาภรณ์ศรี

In focus

  • งานสีสันดอยตุง จัดขึ้นทุกปีและปีนี้ก็เป็นครั้งที่ 6 แล้ว ณโครงการพัฒนาดอยตุงฯอำเภอแม่ฟ้าหลวงจังหวัดเชียงราย โดยในปีนี้จัดถึงวันที่ 12 มกราคม 2563 ภายในงานเต็มไปด้วยพรรณไม้ ดอกไม้นานา อาหารพื้นเมืองชาวเขา ผลิตภัณฑ์และการละเล่นของชาวเขามากมาย
  • งานสีสันดอยตุงยังเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ลดขยะที่จะนำไปสู่บ่อฝังกลบให้เป็นศูนย์ให้ได้ ด้วยการใช้วัสดุจากธรรมชาติ (เกือบ) ทั้งหมดแล้ว รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ของ SCG ที่ย่อยสลายได้ พร้อมติดตั้งถังแยกขยะไว้ถึง 8 ประเภท นอกจากนี้ยังมีโรงแยกขยะและการนำขยะไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
  • อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจก็คือ โครงการ ‘ศูนย์เด็กใฝ่ดี’ ที่สร้างกิจกรรมให้เด็กๆ ที่มีความสนใจด้านต่างๆ ให้มีกิจกรรมทำและต่อยอดไปได้ ทั้ง จูเนียร์ เชฟ ดอยตุง ที่มาออกร้านเบอร์เกอร์หมูซาจ๊อย ไกด์เด็กชาวเขาที่ดอยช้างมูบ หรือบาริสต้าที่ร้าน FAIDEE Café

แม้ในหลายๆ พื้นที่อากาศหนาวกำลังจะจากไป แต่เชื่อแน่ว่าช่วงวันหยุดท้ายปีไปจนถึงต้นปี 2563 ภาคเหนือยังคงเป็นจุดมุ่งหมายการเดินทางท่องเที่ยวที่หลายคนเลือกไว้แล้ว และยังคงมีอากาศเย็นสบายกว่าพื้นที่อื่นๆ แน่ และถ้าใครมีแพลน (หรือยังไม่มีแพลน) ไปเที่ยวภาคเหนือ ขอแนะนำว่าอย่าลืมไปแวะไปงาน ‘สีสันดอยตุง’ ที่ อ.แม่ฟ้าหลวงจ.เชียงราย ซึ่งจัดลากยาวตั้งแต่เดือนธันวาคมไปจนถึงงานวันเด็กในเดือนมกราคม 2563 บอกได้เลยว่างานนี้ฟินแน่นอน! ทั้งอาหาร ถ่ายรูปดอกไม้สวยๆ และที่สำคัญอากาศเย็นได้ใจ

งานสีสันดอยตุง จัดขึ้นทุกปีและปีนี้ก็เป็นครั้งที่ 6 แล้ว สิ่งที่น่าสนใจในการจัดงาน ที่หลายคนคงจะเคยไป หรือเห็นรูป อ่านเรื่อง ผ่านหูผ่านตามาบ้างแล้วก็คือ ความพยายามพัฒนาการจัดงานในทุกๆ ปี ไม่ใช่แค่ต้องสวยขึ้น ใหญ่ขึ้น แต่มีมิสชั่นที่มากไปกว่านั้น ตั้งแต่เรื่องอาหาร ที่นำเอาเชฟหรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำอาหารมาช่วยพัฒนาเมนูอาหารชาวเขาให้เป็นที่ถูกปากมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงเชิดชูทั้งวัตถุดิบพื้นเมืองและวัฒนธรรมชาวเขาให้โดดเด่นและเป็นจุดขายหลักอยู่เช่นเดิม

นอกจากนี้ก็คือเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำมาหลายปีแล้ว โดยปีที่แล้วสำเร็จเป็นอย่างมากสามารถลดขยะที่จะนำไปสู่บ่อฝังกลบให้เป็นศูนย์ได้ อย่างที่รู้กันก็คือทุกๆ การจัดงานนั้นเต็มไปด้วยการใช้ทรัพยากรและสิ่งที่หลงเหลือก็คือขยะ ซึ่งจะอยู่บนดอยนั่นแหละ สิ่งที่ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งใจก็คือทำอย่างไรให้การจัดงานที่แม้จะสร้างขยะ แต่เป็นขยะที่สุดท้ายแล้วจัดการได้ทั้งหมด และไม่หลงเหลือกลายเป็นมลพิษบนดอย

ในงานนอกจากวัสดุที่ใช้จะมาจากธรรมชาติ (เกือบ) ทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาชนะใส่อาหารที่นำมาจากธรรมชาติ จานใบไม้ กระบอกน้ำไม้ไผ่ ฯลฯ ในส่วนอื่นๆ ที่ไม่สามารถใช้ของธรรมชาติได้ก็นำเอาผลิตภัณฑ์ของ SCG ที่ย่อยสลายได้มาใช้เป็นหลัก พร้อมติดตั้งถังแยกขยะไว้ถึง 8 ประเภท ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่แยกเอง มีทั้งโรงแยกขยะ หน่วยที่นำเอาขยะจากอาหารไปทำเป็นปุ๋ย หน่วยที่นำเอาขยะรีไซเคิลไปจัดการต่อ และด้วยการตั้งต้นไม่ใช้ขยะที่จะนำไปจัดการต่อไม่ได้ ทำให้สุดท้ายแล้วก็จะไม่มีขยะหลงเหลือไปสู่บ่อฝังกลบให้กลายเป็นมลพิษบนเขา

กล้องพร้อม แบตพร้อม ท่าโพสพร้อม!

ถ้าคุณเป็นคนชอบดอกไม้ ชอบถ่ายรูป บอกเลยว่านี่คือสวรรค์ชัดๆ อย่างที่รู้กันว่าดอยตุงนั้นเต็มไปด้วยดอกไม้เมืองหนาว ซึ่งเป็นดำริของสมเด็จย่า ที่ต้องการพัฒนาดอยตุงให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สร้างกุศโลบายเพื่อไม่ให้กลายเป็นพื้นที่ขนส่งยาเสพติด ที่นี่จึงมีดอกไม้เมืองหนาวละลานตา เรียกได้ว่ามาเมื่อไร ก็ยังคงบานสวยพร้อมให้ถ่ายรูปเมื่อนั้น

นั่นก็เพราะที่นี่ใช้ระบบเปลี่ยนดอกไม้ที่เป็นไม้ดอกแบบล้มลุกทุกๆ 14 วัน (แล้วแต่อายุของดอกไม้) และดอกไม้แต่ละพันธุ์ก็ได้รับการวิจัยมาแล้วว่าสามารถปลูกที่นี่ได้ หลายคนอาจจะมีคำถามว่าทำไมต้องเปลี่ยนดอกไม้ตลอด ทำไมไม่ใช้ไม้ดอกยืนต้น อย่างแรกก็คือ นี่คือวิธีการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวเขาในพื้นที่นั้น ทางมูลนิธิใช้วิธีการเพาะพันธุ์ดอกไม้และให้ชาวเขาไปปลูกดูแลต่อ และรับซื้อกลับมาอีกครั้ง เพื่อนำมาประดับตกแต่งดอยตุง ซึ่งทำให้ชาวเขามีรายได้ มีงานทั้งปี โดยปัจจุบันมีชาวเขา 22 ราย ที่ทำโรงเพาะดอกไม้ส่งให้กับดอยตุงแห่งนี้ และหากมองในแง่การเพาะปลูกไม้ดอกยืนต้น สภาพภูมิอากาศ หรือแม้แต่การดูแลรักษาในพื้นที่ขนาดใหญ่เช่นนั้น ที่จริงก็สามารถทำได้ แต่ก็จะไม่ได้สวนดอกไม้ละลานตาเช่นนี้

ภายในพื้นที่จัดงานสิ่งแรกที่เราจะเห็นโดดเด่นมาแต่ไกลก็คือ ‘ตัวโต’ สัตว์ในตำนานของชาวไทยภูเขา ออกแบบโดยโลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี สูงกว่า 9 เมตร ซึ่งเป็นมาสคอตในงานครั้งนี้ โดยชาวเขาเชื่อกันว่าหากใครพบเห็นเจ้าตัวโตก็จะมีโชค รายล้อมเจ้าตัวโตก็คือสวนดอกไม้ที่มีทั้งกุหลาบหิน กุหลาบพันปี กล้วยไม้ ฯลฯ มากมาย ทั้งที่เป็นแปลงดอกไม้หรือจัดเป็นซุ้มแนวตั้งเพื่อให้สะดวกสวยงามในการถ่ายรูป โดยเฉพาะซุ้มทางลอดดอกฟาร์แลนด์สีขาว บอกเลยว่าสวยจับใจ

และยังมีเรือนเพาะพันธุ์กล้วยไม้ ‘รองเท้านารี’ ซึ่งเป็นไม้พันธุ์หายากให้เราได้เข้าไปชมอีกด้วย พร้อมเจ้าหน้าที่คอยอธิบาย คอยเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของกล้วยไม้พันธุ์นี้ ความสวยงาม การเพาะพันธุ์ ประเภท อ้อ…อยากจะบอกว่าในงานมีขายด้วยนะ ใครอยากจะซื้อไปปลูกที่บ้าน ราคาดีมากกก…

ถ่ายรูปจนเหนื่อยจากสวนแห่งแรกแล้ว บอกเลยว่านั่นแค่ส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนเล็กๆ เพราะถัดจากนั้นยังมีลานดอกไม้ที่กว้างใหญ่และสวยงามรอเราไปเช็กอินอยู่ ชื่อ ‘ลานห่มหนาว’ (ตอนที่ไปก็หนาวสมชื่อเลย) อันเป็นที่ตั้งของประติมากรรม ‘ความต่อเนื่อง’ ที่ตั้งอยู่ในกลางลานดอกไม้ ที่นี่เต็มไปสีสันของดอกไม้ละลานตาเกือบจะเท่าสนามฟุตบอล เป็นสวนที่เป็นแอ่งตรงกลาง มีแปลงดอกไม้หลากสีนานาชนิด ที่สำคัญหากเราขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดมองลงมา เราจะเห็นว่ารูปแบบของแปลงดอกไม้นั้นเป็นลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากลายผ้าของชาวเขา

เตรียมท้องให้ดี เพราะที่นี่ของกินอร่อยมาก

ให้เวลาเดินถ่ายรูปสักสองชั่วโมงแล้วกัน หลังจากนั้นก็ถึงเวลาเดินอีกรอบ แต่คราวนี้เป็นการเดินกิน (และเชื่อว่าต้องถ่ายรูปด้วย) กับ ‘กาดชนเผ่า’ ซึ่งปิดถนนทางขึ้นดอยตุงทำเป็นซุ้มร้านอาหารแนวยาวตลอดทางเดินกว่า 800 เมตร และอย่างที่บอกไปว่าอาหารในงานนี้ นอกจากจะเป็นอาหารชนเผ่า ที่เป็นทั้งอาหารดั้งเดิม ใช้วัตถุดิบที่ชนเผ่าทั้งลาหู่  อาข่า ไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยลัวะ และจีนยูนนานแล้ว อาหารแต่ละเมนูยังได้รับการสร้างสรรค์ออกแบบปรับปรุงทั้งรสชาติหน้าตา หรือวิธีการปรุงใหม่เพื่อให้ถูกปากคนทั่วไปได้ง่ายอีกด้วย

อย่างแรกที่แนะนำก็คือ ‘ข้าวฟืนทอด’ หรือเฟรนช์ฟรายดอย อาหารของชาวไทยใหญ่ ทำจากข้าวจ้าวและถั่วเหลืองเอามาบดหรือตำและเคี่ยวต่อ จากนั้นทิ้งไว้จนได้สิ่งที่คล้ายๆ กับเต้าหู้หรือเยลลี่ แต่เหนียวหนึบมากกว่า และหากจะทำเป็นเฟรนช์ฟรายก็เอาไปทอด หรือไม่ก็หั่นเป็นเส้นแล้วเอาไปยำ ซึ่งบอกเลยว่าแซบมาก โดยเฉพาะน้ำจิ้มที่เอาฟองตอนเคี่ยวมาใช้ผสมกับถั่วเน่า หอมมม…อย่าบอกใคร และไม่เหมือนใคร ใครชอบกินยำ เมนูนี้เด็ดไม่แพ้ยำใดๆ ที่กรุงเทพฯ

ต่อมาคือ ‘ซาจ๊อย’ เมนูประจำชนเผ่าลาหู่ ทำจากหมูหมักกับสมุนไพรในท้องถิ่นเอาไปห่อใบตองแล้วนึ่ง หอมเป็นที่สุด อีกอย่างคือ ‘ข้าวกั๊นจิ้น’ อาหารของชาวไทยใหญ่ ใช้ข้าวหอมมะลิ หมูบด เลือดหมู เกลือป่นนิดหน่อย ปั้นเป็นก้อนๆ เอาไปนึ่ง กินร้อนๆ รำขนาด

และที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงก็คือ เบอร์เกอร์ซาจ๊อย ซึ่งเอาหมูซาจ๊อยมาทำเป็นเบอร์เกอร์นั่นเอง อันเป็นการต่อยอดปรับปรุงอาหารชาวเขาให้แปลกใหม่ อร่อยถูกปาก เบอร์เกอร์ซาจ๊อยเป็นผลงานของจูเนียร์ เชฟ ดอยตุง อันเป็นหนึ่งในโครงการ ‘ศูนย์เด็กใฝ่ดี’ ที่สร้างกิจกรรมให้เด็กๆ ที่มีความสนใจด้านต่างๆ ให้มีกิจกรรมทำและต่อยอดไปได้ (ได้ข่าวว่าเดี๋ยวปีหน้าจะลงแข่งมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ด้วย)

ความโดดเด่นของหมูซาจ๊อยอยู่ที่การใช้ ‘รากชู’ พืชท้องถิ่นของชาวเขา ที่เหมือนรากผักชีบ้านเรานี่แหละ เบอร์เกอร์ซาจ๊อยกินกับอโวคาโดบด (Mashed Avocado) และไทยซัลซ่า ที่ทำจากมะเขือเทศส้มและสมุนไพร

ส่วนใครที่ยังไม่อิ่ม ต้องไปกินขันโตกชาวเขาต่อ บอกเลยว่าแหนมนึ่งอร่อยมากกก…และที่สำคัญห้ามดื่มน้ำเปล่านะ มาถึงที่นี่ต้องดื่มอโวคาโดปั่นเท่านั้น ราคาก็ถูกแสนถูกอีกด้วย ส่วนของหวานก็ต้องยกให้ผลไม้สด หรือสตรอว์เบอร์รี่เคลือบถั่วและช็อกโกแลต เฟรชและฟินที่สุด!

แม้อะไรจะไม่พร้อม แต่กระเป๋าตังค์ต้องพร้อม

หลังจากอิ่มได้ที่แล้ว ใครอยากจะนั่งพักเหนื่อยจิบกาแฟดูวิวก็ได้ แต่ภายในงานยังมีกิจกรรมอีกหลากหลายให้ทำให้ดู ทั้งเข้าไปดูสาระดีๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่  Eco House หรือใครอยากจะขึ้นไปตำหนักสมเด็จย่าก็ได้ ส่วนสายแอดเวนเจอร์หน่อยก็อาจจะไปเดินTree Top Walk ท่ามกลางต้นไม้ ด้วยทางเดินที่สูงเหนือพื้นดินเกือบ30 เมตร ก่อนจะโหนซิปไลน์ลงมา หรืออยากจะแอดเวนเจอร์แบบดอยๆ ก็ต้องลองเล่น ฟอร์มูล่าดอย, ไม้ต่อขา สะบ้าดอย ลองดูก็ได้

สำหรับสายดีไอวาย ขอเชิญที่ซุ้มเวิร์กช็อป ที่นี่นอกจากจะมีบริการนวดแบบยืดเส้นให้ได้ผ่อนคลายเส้นจากการปวดตึงแบบเร่งด่วนแล้ว ยังมีกิจกรรมเวิร์กช็อปมากมายให้ได้ลองทำ แถมยังได้ของกลับบ้านอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำเอากลีบดอกไม้ต่างๆ (ซึ่งมาจากสวนดอกไม้บนดอยตุงนี่แหละ) มาทำเป็นสมุดหรือโปสการ์ด หรือจะลองปั้นหม้อ ไห แจกันเป็นเดมี่ มัวร์ ในหนังเรื่อง Ghost ดูก็ได้ แต่ว่าถ้าอยากจะได้สิ่งที่ปั้นกลับบ้านด้วยอาจจะยากหน่อย เพราะเขาต้องส่งไปเผาก่อน และนอกจากนี้ยังมีการทำพรม ซึ่งพรมที่ทำเป็นพรมอีโคด้วยนะ เส้นใยพลาสติกที่นำมาทำพรมก็มาจากบรรดาขยะพลาสติกทั้งหลายจากในงานที่นำไปแปรรูปนั่นเอง

สำหรับขาช้อป นอกจากต้นไม้ดอกไม้ ที่มีมาให้ช้อปในราคาดีงามมากมายแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ของชาวเขามากมายมาให้ได้เลือกช้อป จะบอกว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีทั้งรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบที่ได้รับการแนะนำจากทีมออกแบบของมูลนิธิฯ เพื่อปรับปรุงงานหัตถกรรมแบบชาวเขาให้ทันสมัยและใช้ได้จริงกับทุกไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าลวดลายกราฟิกสีสันสดใส กระเป๋าผ้าปักลายด้วยเส้นด้าย เครื่องประดับ และของกระจุกกระจิกอีกมากมายที่น่ารักและน่าควักสตางค์ซื้อไปเสียทุกอย่าง

ขึ้นดอยช้างมูบ จิบกาแฟดูดอกกุหลาบพันปี

หากใครมีเวลา อยู่หลายวันหน่อย เราขอแนะนำให้ขึ้นดอยช้างมูบ จุดสูงสุดของดอยตุง ที่คุณสามารถขึ้นไปเหยียบพุงเขานางนอน (จุดที่ขึ้นไปพุงของเจ้าแม่นางนอน) อันเลื่องชื่อได้ มากไปกว่านั้นสำหรับคนรักดอกไม้ ที่นี่สวยไม่แพ้ดอยตุงเลยล่ะ

ดอยช้างมูบหรือ ‘สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวงดอยช้างมูบ’ คือแหล่งปลูกและเพาะพันธุ์ดอกกุหลาบพันปีหลากหลายพันธุ์ที่สวยจนแทบลืมหายใจ นอกจากนี้ยังมีดอกไม้นานาชนิด และป่าสนที่แม้ระยทางการเดินชมไปจนถึงจุดสูงสุดจะไกลสักหน่อย แต่คุณจะเพลิดเพลินจนไม่รู้สึกเหนื่อยเลย

สิ่งที่น่ารักที่ที่สุดของการมาดอยช้างมูบก็คือ ไกด์ตัวเล็กของเรา เป็นเด็กชาวเขาในโครงการ ‘ศูนย์เด็กใฝ่ดี’ นั่นเอง น้องๆ (ไกด์ของเราวันนั้นคือน้องแมนยู) ส่วนหนึ่งที่อยากเป็นไกด์ก็จะมาฝึกฝนการเป็นไกด์ที่นี่ ตลอดระยะเวลาการเดินชมดอกไม้ น้องจะเล่าถึงประวัติของต้นไม้ ดอกไม้ ชื่อ สายพันธุ์ ได้ตรงเป๊ะ ท่องได้อย่างขึ้นใจไม่มีผิด แอบถามว่าจำได้ยังไง น้องบอกว่าพี่ที่ดูแลจะส่งโพยให้ดูและท่องและต้องมาฝึกในสถานที่จริงกว่าสองเดือนเลยถึงจะจำได้ขึ้นใจแบบนี้

นอกจากไกด์ตัวน้อยแล้ว ยังมีน้องชาวเขาอีกกลุ่มหนึ่งที่อยากเป็นบาริสต้า กับ FAIDEE Café จะเรียกได้ว่าเป็นร้านกาแฟที่มีกาแฟและชาหอมๆ เล็กๆ ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในโลกก็กว่าได้ เพราะคุณจะได้นั่งจิบชาหรือกาแฟท่ามกลางสวนที่เต็มไปด้วยแมกไม้นานาพรรณที่ราวกับอยู่ในภาพวาดของเรอนัวร์ และที่สำคัญยังมีวงดนตรีจากน้องชาวเขาในโครงการเดียวกันนี้คอยเล่นเพลงขับกล่อมอีกด้วย และเพลงฮิตในช่วงนี้ก็คือ ‘แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร’  ของเขียนไขและวานิช

ใครอยากจะเดินขึ้นไปถ่ายรูปที่จุดสูงสุดของดอย ที่เราสามารถมองเห็นเขานางนอนทั้งลูก ชายแดนไทยพม่าอยู่แค่เอื้อม และยังมองเห็นฝั่งลาวอยู่ลิบๆ ก็ได้ ส่วนใครอยากจะนั่งท่ามกลางสวนสวยทำเวิร์กช็อปสนุกๆ ก็ได้ มีทั้งการทำกระเป๋าผ้าพิมพ์ลายดอกไม้สด การทำโปสการ์ดจากดอกไม้ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดใช้วัสดุธรรมชาติจากในสวนนั่นเอง

ข้อเสียของการมาเที่ยวครั้งนี้ก็คือ มันสวยราวกับอยูในความฝัน จนคุณจะไม่อยากลุกไปไหนเลยเท่านั้นเอง

Fact Box

งานสีสันดอยตุง ครั้งที่ 6 จัดขึ้นจนถึงวันที่ 12 มกราคม 2563 เวลา 08.00 –18.00 . ณโครงการพัฒนาดอยตุงฯอำเภอแม่ฟ้าหลวงจังหวัดเชียงราย(แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ วันที่ 4 – 10 ธ.ค 62, วันที่ 14 – 15 ธ.ค 62, วันที่ 21 ธ.ค 62 – 5 ม.ค 63 และ วันที่ 11 – 12 ม.ค 63)

ติดตามข่าวสาร หรือสำรองห้องพักได้ที่ www.facebook.com/DoiTungClub โทร. 02-252-7114 ต่อ 212, 213 เชียงราย โทร. 053-767-015 (เวลาทำการ จันทร์-ศุกร์)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0