โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชมจันทร์ ไม้ดอกที่น่าชิมและน่าปลูก

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 08 มิ.ย. 2565 เวลา 09.04 น. • เผยแพร่ 08 มิ.ย. 2565 เวลา 21.00 น.
Ipomoea Macrantha

มองดูเดือน เหมือนเตือนให้ใจคิดถึง ที่รักจ๋าหนุ่มนารำพึง คิดถึงนงคราญบ้านนา พอไกลลืมกัน สาบานก็ลืมสัญญา ปล่อยให้หลงคอยท่า ลับลาไม่กลับแม้เงา เคยเคลียคลอ พะนอเดินเล่นกับน้อง ครั้งเมื่องานเดือนเพ็ญสิบสอง เมื่อตอนลมร่มข้าวเบา เพื่อนฮาเราเฮ สรวลเสรักกันหนุ่มสาว อุ่นไอรักรวงข้าว โถเจ้าไม่น่าหน่ายหนี…

ขึ้นต้นบทความด้วยคำร้องของเพลง ร้องไห้กับเดือน ซึ่งเป็นคำร้องและทำนองของคัมภีร์ แสงทอง ก็เพราะเห็นว่า เป็นเพลงที่พูดถึงเดือนหรือพระจันทร์ อะไรที่เกี่ยวกับพระจันทร์นั้น น่าจะเป็นเรื่องของความรัก ความรื่นรมย์ ความสดชื่น แต่เนื้อเพลงที่ยกมาค่อนข้างจะเศร้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพราะเหตุที่ผู้รำพึงรำพันได้เห็นแสงของดวงจันทร์นั่นเอง จึงหวนไปนึกถึงสาวคนรักที่จากไปครับ

ผู้เขียนกำลังจะนำท่านไปรู้จักกับผักชนิดหนึ่ง เป็นผักจากต่างประเทศ เป็นพืชจากเขตร้อนแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ซึ่งกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง พบได้ตามเขตที่อบอุ่นและเขตร้อนทั่วไป และในประเทศไทยของเรา ณ พ.ศ. นี้

เราพบผักชนิดนี้ได้ตามตลาดสดบางแห่ง ผักที่ว่านี้เป็นส่วนของดอกตูมของพรรณไม้ชนิดหนึ่ง ใครก็ไม่ทราบตั้งชื่อให้อย่างไพเราะว่า “ดอกชมจันทร์” อาจจะมีบางถิ่นเรียกชื่อต่างออกไปว่า ดอกพระจันทร์ และดอกบานดึก

กล่าวว่า ที่ได้ชื่อหลังนี้ ก็เพราะว่า ดอกไม้ชนิดนี้มักจะบานในตอนกลางคืน คือ ช่วงเวลา 1-2 ทุ่ม ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ดอกบานค่ำ จะเหมาะสมกว่า เพราะเป็นเวลาหัวค่ำ ไม่ใช่ตอนดึก แต่เอาเถอะ ใครจะเรียกชื่อไหนก็แล้วแต่ความถนัดและความพอใจ แต่ในบทความชิ้นนี้ เราจะเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า ดอกชมจันทร์ เพราะเป็นชื่อฟังไพเราะหูดี

ดอกชมจันทร์ เป็นต้นไม้วงศ์เดียวกับผักบุ้ง คือ วงศ์ CONVOLVULACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ipomoea alba L. ส่วนผักบุ้งนั้น เป็นไม้ชนิดที่มีชื่อว่า Ipomoea aquatica Forssk. ต่างกันตรงที่ว่า ผักบุ้งเป็นไม้ล้มลุก สามารถเลื้อยทอดยอดไปตามพื้นดินหรือในน้ำได้ ส่วนชมจันทร์เป็นไม้เถาเลื้อย ผักบุ้งมีใบเป็นรูปหอกหรือรูปหัวลูกศร ปลายแหลม แต่ชมจันทร์มีใบเป็นรูปหัวใจ

พืชที่ถูกจัดให้อยู่ในวงศ์เดียวกับผักบุ้งนั้น มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น เครือเถาเมื่อย (เถาเอ็น) ขยุ้มตีนหมา (ผักบุ้งเล-พังงา) คอนสวรรค์ (สนก้างปลา) จิงจ้อขาว จิงจ้อเหลือง จิงจ้อแดง และมันเทศ เป็นต้น

ในส่วนของผักบุ้งนั้น ก็มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ได้แก่ ผักบุ้ง (หรือผักบุ้งไทย) ที่พบอยู่ตามท้องไร่ท้องนาทั่วไป มีทั้งชนิดดอกสีขาวและสีม่วงอ่อน ผักบุ้งขัน มักพบเลื้อยทอดยอดอยู่ตามหาดทรายชายทะเล ชนิดหนึ่งมีดอกสีม่วง ใบมีขน

และอีกชนิดหนึ่งดอกสีขาว ใบเกลี้ยง ทั้ง 2 ชนิด ใช้ต้นและใบแก้พิษแมงกะพรุนได้ เรียกชื่อว่า ผักบุ้งขันเหมือนกัน ผักบุ้งร้วม หรือผักบุ้งล้วม หากเป็นเถา ทอดเลื้อยตามพื้นดิน ต้นมีขน ดอกเล็กสีขาว รากใช้ทำยาได้ จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับผักบุ้งไทย แต่หากเป็นไม้ล้มลุก ขึ้นตามแหล่งน้ำที่ชื้นแฉะ ดอกสีขาว ใบมีรสขม ใช้ทำยาได้เช่นกัน ชนิดหลังนี้ถูกจัดให้อยู่วงศ์เดียวกับต้นทานตะวัน คือ วงศ์ COMPOSITAE แต่ก็มีชื่อว่า ผักบุ้งร้วมเหมือนกัน และยังมีผักบุ้งอีกชนิดหนึ่ง เรียกชื่อว่า ผักบุ้งฝรั่ง หรือ ผักบุ้งรั้ว ดอกสีชมพูอ่อน ใบมีขนอ่อน น่าจะตรงกับชื่อในตำรับยาของเก่าว่า ผักบุ้งเทศ นั่นเอง

ไหนๆ ก็ได้เล่าเรื่องของผักบุ้งมาแล้ว จะขอลงลึกไปอีกสักเล็กน้อยว่า ในพระคัมภีร์แพทย์แผนโบราณ หรือแพทย์แผนไทย ได้ปรากฏชื่อของผักบุ้งชนิดต่างๆ อยู่ในตำรับยา รวม 2 คัมภีร์ด้วยกัน ได้แก่ พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ และพระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา คือ เบญจผักบุ้ง (น่าจะได้แก่ ผักบุ้งทั้ง 5 อัน ได้แก่ ราก ต้น ใบ ดอก และเมล็ดของผักบุ้งไทย) ผักบุ้งขัน ผักบุ้งล้วม หรือผักบุ้งร้วม และผักบุ้งเทศ สำหรับโรคที่ใช้รักษานั้น ก็มีทั้งรักษาโรคตาต้อเกล็ดกระดี่ โรคตานทรางในเด็ก น้ำมันใส่หูเน่า หูเปื่อย ยาพอกองคสูตร (อวัยวะเพศของชาย) และยาทาแก้พิษปวดแสบปวดร้อน เป็นต้น

ผักบุ้ง-ผักพื้นๆ ที่เห็นกันอยู่ดาดดื่นนั้น มิใช่เป็นเพียงผักสำหรับใช้แกงส้ม หรือใช้จิ้มน้ำพริกเท่านั้น หากแต่ยังนับเข้าในสมุนไพรโบราณอีกด้วย

จำไว้ว่า หากเป็นผักบุ้งขัน ต้องเป็นผักบุ้งที่อยู่ตามชายทะเล ส่วนผักบุ้งร้วม หรือผักบุ้งล้วม นั้น พบได้ในทุกภาค เช่น ที่เชียงใหม่ เรียก ผักแป๋ง แม่ฮ่องสอน เรียก ผักดีเหยียน และแถวปัตตานี เรียก กาล่อ และในบางถิ่นอาจจะเรียกว่า ผักบุ้งปลิง ก็มีเอาละ จะขอยุติเรื่องของผักบุ้งไว้แต่เพียงแค่นี้ และจะเดินหน้าหาข้อมูลของผักชมจันทร์ตามหัวเรื่องกันต่อไป

ดอกชมจันทร์ นำมาผัดกับน้ำมันพืช เหยาะด้วยน้ำมันหอย ซีอิ๊วขาว แต่งรสให้เข้มข้นขึ้นด้วยการป่นพริกขี้หนูสดเติมลงในกระทะก่อนตักใส่จาน เมื่อรับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ ก็ต้องนับได้ว่าเป็นผัดผักที่อร่อยมากอย่างหนึ่ง น่าจะเหนือกว่าผัดผักบุ้งไฟแดง เพราะผักชมจันทร์มีรสหวานอยู่ในตัว อีกทั้งเนื้อของผักชมจันทร์ก็นุ่มชวนรับประทาน เมื่อได้ลิ้มรสไปเพียงครั้งเดียวก็ติดใจในรสชาติ

ผักชมจันทร์เป็นผักที่นำเข้ามาปลูกในภาคใต้หลายปีแล้ว พี่น้องชาวใต้คงจะรู้จักรับประทานผักนี้ก่อนใครเพื่อน ก่อนหน้านี้ สถานีวิจัยลำตะคอง ( สังกัดสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) ตั้งอยู่เลขที่ 333 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30130 ได้มองเห็นความสำคัญของผักชมจันทร์ จึงได้เสาะแสวงหาเมล็ดพันธุ์จากแหล่งต่างๆ นำมาปลูกเพื่อการศึกษา โดยได้เมล็ดพันธุ์มาจากอำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ส่วนหนึ่ง จากภายในจังหวัดนครราชสีมาเองส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งได้เมล็ดพันธุ์มาจากต่างประเทศ

ผักชมจันทร์เป็นผักที่ขยายพันธุ์ได้ทั้งจากเมล็ดและการปักชำกิ่งจากต้นเดิม และเมื่อปลูกจนต้นมีผลและเมล็ดแล้ว ก็สามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์เพื่อเพาะปลูกในรุ่นต่อๆ ไปได้ด้วย การปลูกโดยใช้เมล็ดจะต้องมีการเพาะต้นกล้าเสียก่อน ต่อเมื่อต้นกล้ามีอายุได้ราว 20-25 วัน จึงค่อยย้ายไปปลูกลงแปลงที่เตรียมเอาไว้

ผักชมจันทร์นั้น แม้จะเป็นพืชวงศ์เดียวกันกับผักบุ้ง แต่ก็มีนิสัยที่แตกต่างกับผักบุ้ง เพราะผักบุ้งเป็นพืชล้มลุกหลายปี อยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก แต่ชมจันทร์เป็นพืชเถาเลื้อยที่ปลูกได้เฉพาะบนบกเท่านั้น และต้องอาศัยค้างให้เลื้อยเหมือนพืชจำพวกถั่วฝักยาว ต้องการน้ำที่สม่ำเสมอ แต่ต้องไม่มีน้ำขัง

ดังนั้น แปลงปลูกชมจันทร์ต้องมีทางระบายน้ำที่ดี ส่วนการบำรุงรักษานั้น สามารถใช้ได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี โดยควรให้ปุ๋ยในช่วงที่ต้นเริ่มแทงตาดอก ปุ๋ยเคมีที่แนะนำคือ ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุตัวกลาง (P-ฟอสฟอรัส) สูง เช่น สูตร 8-24-24 เป็นต้น

การให้น้ำต้องให้แต่พอสมควร สม่ำเสมอ แต่ต้องไม่แฉะ โดยที่ต้นชมจันทร์จะออกดอก ให้ผลผลิต (เป็นดอกตูม) รุ่นแรกเมื่อมีอายุได้ 90 วัน (นับตั้งแต่เพาะเมล็ดจนถึงระยะออกดอก) แล้วก็จะมีดอกให้เก็บขายได้ต่อเนื่องกันไปนานราว 2 เดือน

เมื่อครบ 2 เดือนแล้ว จะต้องหยุดเก็บผลผลิต หันมาบำรุงต้นเป็นเวลาราว 2 เดือน จากนั้นจึงจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบใหม่ไปอีก 2 เดือน สลับหมุนเวียนต่อเนื่องไปจนกว่าเมื่อใดผลผลิตลดต่ำลงจนน่าจะไม่คุ้มกับต้นทุน เมื่อนั้น เจ้าของก็ควรจะต้องพิจารณารื้อแปลง แล้วปรับปรุงดินปลูกต้นพันธุ์รุ่นใหม่ต่อไป

ดอกชมจันทร์ เป็นผักที่มีไขมันต่ำ มีคุณค่าทางอาหาร ได้แก่ โปรตีน เส้นใย คาร์โบไฮเดรต พลังงาน แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 1, บี 2 และ บี 3 ข้อสำคัญคือ เป็นผักที่มีรสโอชา ก็เห็นจะจบลงแต่เพียงแค่นี้

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0