โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ชง "บิ๊กตู่" ขายข้าวจีทูจีแบบใหม่ ให้พ่อค้าใช้ "สต๊อกรัฐ" ส่งออก

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 07 ธ.ค. 2562 เวลา 14.07 น. • เผยแพร่ 07 ธ.ค. 2562 เวลา 13.45 น.
THA: Rice Price Rises Threaten Worlds Poorest

“จุรินทร์” ปลดล็อกหลักเกณฑ์สัญญาค้าข้าวจีทูจีแบบใหม่ เปิดช่องพ่อค้า-สมาคมผู้ส่งออกข้าวใช้ข้าวในสต๊อกรัฐ หาข้าวเพิ่มส่งมอบให้ครบตามออร์เดอร์ เตรียมชง “บิ๊กตู่” ต่อรองราคาก่อนทำสัญญา เผย “นบข.” กำชับทำตามข้อเสนอ ป.ป.ช.

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีมติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวรัฐต่อรัฐ (government to govern-ment : G to G) เพื่อให้การขายข้าวแบบ G to G สามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับการค้าข้าวของประเทศในปัจจุบันจึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมรายละเอียดแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G ให้มีความชัดเจนและเป็นไปตามกฎระเบียบกระทรวงพาณิชย์ และการดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมอบหมายอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้เจรจาหรือเข้าร่วมการประมูลแบบ G to G และลงนามทำสัญญาซื้อขายในนามรัฐบาลไทย โดยให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมมือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อปรับปรุงหรือจัดหาข้าวส่งมอบให้แก่รัฐบาลประเทศผู้ซื้อตามสัญญา G to G

กรณีรัฐบาลมีข้าวในสต๊อกชนิดที่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ ให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยใช้ข้าวในสต๊อกของรัฐ หากข้าวในสต๊อกของรัฐไม่เพียงพอให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจัดหาข้าวเพิ่มเติมและส่งมอบข้าวตามสัญญา และกรณีรัฐบาลไม่มีข้าวในสต๊อกชนิดที่เป็นความต้องการของผู้ซื้อ ให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวจัดหาและส่งมอบข้าวตามสัญญา

ทั้งนี้ ให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศนำเสนอปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ นบข. เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน นบข.พิจารณาให้ความเห็นชอบการเสนอขาย การเจรจาต่อรองราคา การตกลงเงื่อนไขสัญญา รวมทั้งแนวทางจัดหาข้าวส่งมอบให้แก่ประเทศผู้ซื้อก่อนดำเนินการ

สำหรับหลักการสำคัญในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G 3 ประการ ดังนี้ 1.การเจรจาและการทำสัญญา รัฐบาลของประเทศคู่เจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลไทยจะต้องเป็นหน่วยงานรัฐบาล หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้ดำเนินการแทนรัฐบาลเท่านั้น เว้นแต่หน่วยงานผู้แทนรัฐบาลของประเทศ ผู้ซื้อบางประเทศที่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการเจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวเพียงหน่วยงานเดียว โดยไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งในวงการค้าข้าวทั้งในและต่างประเทศจะทราบดีว่าคือหน่วยงานใด ทั้งนี้ กรณีรัฐบาลประเทศผู้ซื้อไม่เคยซื้อขายข้าวแบบ G to G กับรัฐบาลไทยมาก่อน กรมการต่างประเทศจะต้องประสานสอบถามกระทรวงการต่างประเทศเพื่อตรวจสอบต่อไป

2.การชำระเงิน ต้องเป็นการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยการชำระเงินจะขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างคู่สัญญาและพัฒนาการของรูปแบบการชำระเงินระหว่างประเทศ เช่น การเปิด letter of credit (L/C) และการโอนเงินระหว่างประเทศ (tel-egraphic transfer : T/T) แต่ต้องสามารถตรวจสอบที่มาของเงินดังกล่าวได้ โดยมีเอกสารหลักฐานจากธนาคารทั้งของไทยและธนาคารที่ประเทศคู่ค้าใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน

3.การส่งมอบข้าว รัฐบาลไทยจะต้องส่งข้าวออกไปจากประเทศไทยจริง ซึ่งมีหลักฐานที่สำคัญ คือ ใบอนุญาตให้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร แบบ อ.๒ (สินค้าข้าว) ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ โดยต้องระบุว่าเป็นการส่งออก “ข้าวรัฐบาล” เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตส่งออกตามประกาศกระทรวงพาณิชย์

“เพี่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไม่มีข้าวในสต๊อกแล้ว แต่มีความต้องการซื้อข้าวจากรัฐบาลต่างประเทศที่ต้องการซื้อขายข้าวแบบ G to G เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการเปิดช่องทางให้เอกชนไทยขายข้าวไปยังต่างประเทศได้ โดยผ่านการซื้อขายข้าวแบบสัญญา G to G เพื่อระบายข้าวอย่างโปร่งใส ไม่เกิดการทุจริต เนื่องจากรัฐบาลต่างประเทศต้องการความมั่นใจในการซื้อขายข้าว โดยรัฐบาลทำหน้าที่เป็นผู้ค้าคนกลางระหว่างรัฐบาลต่างประเทศกับเอกชน เพื่อส่งเสริมตลาดการซื้อขายข้าวให้ขยายออกไปมากขึ้น”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0