โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ชงรัฐบาลรื้อเกณฑ์ “บ้านคนจน” เหตุแบงก์ไม่ปล่อยกู้-เอกชนเมินร่วมลงทุน

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 15 ก.ค. 2562 เวลา 22.45 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ธนารักษ์ เตรียมชงรัฐบาลใหม่ รื้อเกณฑ์ “บ้านคนจน” หลังธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ให้ผู้มีรายได้น้อย หวั่นหนี้เอ็นพีแอลพุ่ง และเอกชนเมินเข้าร่วมพัฒนาโครงการเหตุต้นทุนสูง ชี้บางโครงการไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล บางโครงการผู้ชนะประมูลทิ้งหน้าตาเฉย พร้อมแนะรัฐอย่าเดินหน้าต่อ ถ้าไม่ปรับเงื่อนไขใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า กรมธนารักษ์เตรียมจะเสนอให้รัฐบาลใหม่ปรับปรุงเงื่อนไขการดำเนินโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ หรือบ้านคนจน หลังพบว่าการดำเนินโครงการในระยะที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุ คือธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ที่ขอเข้าร่วมโครงการ และภาคเอกชนไม่สนใจเข้าร่วมพัฒนาโครงการ ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการเดินหน้าโครงการนี้ต่อ จำเป็นต้องแก้ไข 2 ประเด็นหลักดังกล่าวที่ก่อให้เกิดปัญหาการผลิตและความต้องการซื้อไม่ตรงกัน เพื่อทำให้ความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขายตรงกัน แต่หากไม่สามารถแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคได้ กรมก็ไม่ต้องการให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการนี้ต่อ

สำหรับปัญหาที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่ขอเข้าร่วมโครงการนั้น มีสาเหตุมาจากการกำหนดเงื่อนไขที่เปิดให้ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยนั้น ส่งผลให้กว่า 80% ของผู้ขอเข้าร่วมโครงการ กลายเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการขอสินเชื่อจากธนาคาร หากธนาคารปล่อยสินเชื่อให้จะถือว่าผิดเกณฑ์กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหากเกิดความเสียหาย ผู้อนุมัติอาจต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้ ดังนั้น จึงจะเสนอให้มีการแก้ไขประเด็นนี้ โดยจะหารือกับ ธปท.เพื่อผ่อนปรนเกณฑ์การปล่อยกู้ของธนาคาร และต้องยอมรับความเสียหายที่ธนาคารอาจจะเกิดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ได้ในอนาคต

ส่วนกรณีเอกชนไม่สนใจเข้าร่วมพัฒนาโครงการ เป็นเพราะต้นทุนการก่อสร้างไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนด กล่าวคือจะต้องก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาต่อยูนิตต่ำ หรือไม่เกิน 1 ล้านบาท และต้องจัดพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งทำให้ต้นทุนการก่อสร้างสูง ขณะที่เรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะที่ผู้ประกอบการจะต้องรับภาระนั้น รัฐบาลควรผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการ เพราะเป็นต้นทุนสูงเช่นกัน ขณะเดียวกันควรเปิดทางให้ผู้ซื้อมีทางเลือกในการซื้อที่อยู่อาศัยจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ในโครงการนี้ด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จ แต่ยังขายไม่ได้เหลืออยู่จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้เปิดให้เอกชนเข้าประมูลก่อสร้างโครงการในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดเชียงรายที่มีทำเลดี ต้นทุนก่อสร้างมีความเป็นไปได้ แต่ที่จังหวัดชลบุรีทำเลดีเช่นกัน แต่ไม่มีเอกชนเข้าร่วม เพราะต้นทุนสูง แค่ราคาถมที่ดินสูงถึงไร่ละ 1 ล้านบาทแล้ว ส่วนบางพื้นที่เปิดประมูลแล้ว แต่ไม่มีเอกชนเข้าร่วมประมูล อย่างที่จังหวัดนครพนม ที่ผู้ชนะประมูลทิ้งโครงการไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดของพื้นที่ราชพัสดุ ที่อาจจะไม่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในเรื่องการเดินทางและความเป็นอยู่ ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้

สำหรับโครงการดังกล่าวจะดำเนินการใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ นครพนม อุดรธานี และขอนแก่น เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองบนที่ดินราชพัสดุในราคา 350,000 - 700,000 บาทต่อหน่วย โดยผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ คือ 1.ผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน 2.ผู้มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อคนต่อเดือน และ 3.ประชาชนทั่วไป โดยมีธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสินสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0