โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ฉากชีวิตขนาดยาวกับความฝันนอกหมวกนักวิชาการ ของ 'ปิยบุตร แสงกนกกุล'

The MATTER

อัพเดต 08 พ.ค. 2562 เวลา 15.54 น. • เผยแพร่ 08 พ.ค. 2562 เวลา 15.29 น. • Pulse

ในวันที่ 'พรรคอนาคตใหม่' เปิดตัวต่อสาธารณะ ด้วยการผนึกกำลังของกลุ่มคนรุ่นใหม่ พวกเขาได้กลายเป็นพรรคการเมืองที่ถูกจับตาในทันที

สิ้นเสียงประกาศอุดมการณ์ที่ชัดเจนหนักแน่น หนึ่งในนั้นคือ ยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. เสียงตอบรับเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมกับเสียงต่อต้านดังสวนมาอีกไม่น้อย จนกระทั่งพรรคเปิดวิสัยทัศน์ว่า ‘คนเท่าเทียมกัน ไทยเท่าทันโลก’ พร้อมกับแถลงนโยบายที่หลากหลาย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ อีกทั้งการลงพื้นที่หลายจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้พรรคการเมืองอายุไม่ถึงปีค่อยๆ เจอกับกลุ่มคนที่ให้การสนับสนุนที่หลากหลายและเพิ่มปริมาณอย่างเห็นได้ชัด

ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 บางส่วนมองว่าพวกเขาเป็นความหวัง บางส่วนมองเป็นเพียงกระแส แต่ตัวเลขย่อมพิสูจน์ความเชื่อมั่นได้ชัดกว่าคำใส่ร้ายป้ายสี กว่าแปดสิบที่นั่ง (ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ) ที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับ คือรูปธรรมของความหวังที่ประชาชนฝากไว้ นั่นคือการพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งไปเจอกับอนาคตใหม่เสียที

แน่นอนว่าอุดมการณ์และนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ คือส่วนสำคัญที่พาพรรคการเมืองอายุไม่ถึงปีมาสู่จุดนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หัวขบวนอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค คือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญเช่นเดียวกัน

ย้อนไปหลายปีก่อน ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นที่รู้จักจากบทบาทอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะกับการเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2553 ออกแถลงการณ์ วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจำนวนมาก เมื่อเวลาผ่านไป หลังการรัฐประหาร 2557 บรรยากาศทางการเมืองของสังคมไทยหม่นมืดยืดเยื้อ การสอนหนังสือที่เคยเป็นความท้าทาย มาตกอยู่ในข้อจำกัดที่ต้องจำยอมกับอำนาจรัฐ ในเวลาแบบนี้ บทบาทอาจารย์คงไม่เพียงพออีกต่อไป

ใช่ เขาตัดสินใจลงเล่นการเมือง – ในฐานะนักการเมือง

ถามว่ารู้ไหมว่ายาก รู้ไหมว่าเสี่ยง รู้ไหมว่าต้องถูกท้าทายจากอำนาจ (ทั้งที่มองเห็นและไม่เห็น)

แน่นอน เขารู้และประเมินมาพอสมควร แต่ความเชื่อมั่นได้พาเขามายืนในจุดที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

“ผมเชื่อว่าสิ่งที่ฝันจะเกิดขึ้นได้ต้องลงมือทำ เชื่อมั่นในความเป็นไปได้ การเมืองคือความเป็นไปได้ ถ้าเราคิดว่าเป็นไปไม่ได้จะไม่เกิดอะไรขึ้นเลย แต่ถ้าเชื่อว่าเป็นไปได้และลงมือทำ โอกาสจะเกิดขึ้นได้” เป็นสิ่งที่เขาพูดไว้ตอนตั้งพรรคอนาคตใหม่ได้ไม่นาน และปัจจุบันก็ยังเชื่อเช่นนั้น

จากนักศึกษากฎหมายระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาได้ทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสไปเรียนต่อปริญญาโท DEA (Master 2) สาขากฎหมายมหาชนและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส วิทยานิพนธ์เรื่อง 'ข้อความคิดเรื่องผู้มีส่วนได้เสียในคดีปกครองสิ่งแวดล้อม' ปริญญาเอก เกียรตินิยมดีมาก โดยมติเอกฉันท์ (Mention Très Honorable avec Félicitations) มหาวิทยาลัย Toulouse ประเทศฝรั่งเศส วิทยานิพนธ์เรื่อง 'ศาลปกครอง: การกำเนิดของสถาบัน'

จากบทบาทอาจารย์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ของ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ที่เป็นความหวังของประชาชนหลายล้านคน

เรานัดกันในบ่ายวันหนึ่ง ขณะที่ช่วงเช้าเขาเพิ่งแถลงข่าวต่อกรณีการสอบสวนการถือหุ้นของหัวหน้าพรรค และก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน เขาเพิ่งไปรับทราบข้อกล่าวหาที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในคดีดูหมิ่นศาล และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จากกรณีแถลงการณ์ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งว่ากันตามตรง มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอุปสรรคในการต่อสู้ระยะยาว

เราสนใจว่าอะไรหล่อหลอมผู้ชายชื่อ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ให้มายืนอยู่ตรงนี้ หลายชั่วโมงที่นั่งคุยกัน คำถามโดยส่วนใหญ่จึงถามถึงอดีตของเขา เพื่อที่จะทำความเข้าใจอนาคตอันใหม่ที่เขาเชื่อมั่นและกำลังลงมือทำ

The MATTER: อาจารย์เริ่มสนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่ตอนไหน

เท่าที่จำได้ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปี 2528 ครั้งนั้นพลตรีจำลอง ศรีเมือง ชนะการเลือกตั้ง เป็นการหาเสียงโดยใช้ฝาเข่งทำเป็นป้าย ตอนนั้นอยู่ ป.1 นั่งรถไปโรงเรียน ถนนในกรุงเทพฯ การจราจรติดขัดแล้วนะ มองข้างทางก็เห็นป้ายหาเสียง จำชื่อไปโดยอัตโนมัติ จำลอง ศรีเมือง, ชนะ รุ่งแสง, มงคล สิมะโรจน์ เวลาต่อมาเกิดการรัฐประหารที่ไม่สำเร็จ วันนั้นในโรงเรียนก็วุ่นวาย ครูมาบอกว่า “มีการปฏิวัติแล้ว โทรไปบอกคนที่บ้านให้มารับกันนะ” หลังจากนั้นปี 2531 ผมได้เห็นคูหาเลือกตั้งเป็นครั้งแรก พ่อไปลงคะแนนที่หน้าปากซอย บ้านอยู่ฝั่งธนบุรี ยังจำได้แม่นเลย

The MATTER: ทั้งหมดที่เล่ามา จำได้ตั้งแต่เรียนประถมเลยเหรอ

(หัวเราะ) มันติดหัวมา ผมไม่ได้นั่งนึกย้อนหลังด้วยนะ ถามสด ก็ตอบสดเลย ผมเติมโตในครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง พ่อแม่มองว่าการศึกษาคือวิธีการขยับชนชั้น พ่อเป็นลูกชายคนโต อยากเรียนหนังสือก็ไม่ได้เรียน จบ ป.4 ต้องลาออกมาเลี้ยงดูครอบครัว คงเป็นเรื่องที่อยู่ในใจ ถ้าวันนึงตัวเองมีลูกจะหาหนทางให้ได้เรียน ลูกทั้ง 4 คนเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญหมดเลย พ่ออยากให้ได้ภาษาอังกฤษ อยากให้รู้จักคนนั้นคนนี้ แต่ที่นั่นส่วนใหญ่เป็นเด็กในครอบครัวฐานะดี

แต่บ้านผมไม่ค่อยมีเงิน ถือเป็นส่วนน้อย กิจกรรมที่คนอื่นทำกัน ผมก็ไม่ได้ทำ

อย่างช่วงซัมเมอร์จะมีกิจกรรมซัมเมอร์คอร์สที่สิงคโปร์ ทางโรงเรียนมีจดหมายมาให้เซ็น ผมก็ไปไม่ได้ ไม่เคยเอาไปถามพ่อแม่หรอก รู้อยู่แล้วว่าไปไม่ได้ หรือเวลาเก็บค่าบำรุง สร้างสิ่งต่างๆ ในโรงเรียน บรรทัดแรกให้ระบุว่า บริจาคกี่บาท บรรทัดต่อมาเป็นช่องไม่บริจาค ไม่ได้จบแค่นั้น แต่เว้นที่ให้ใส่เหตุผลด้วย เพราะอะไรถึงไม่บริจาค ผมมีคำถามเหมือนกันนะ เพราะอะไรล่ะ พ่อแม่เซ็นโดยไม่ได้ระบุอะไร ตอนผมไปส่งครูประจำชั้นจะกดดันมาก อีกเรื่องคือเรื่องค่าเทอม พอมีลูกสี่คน จ่ายค่าเทอมก็มาติดๆ กันเลย ผมจะโดนจ่ายเป็นคนท้ายอยู่บ่อยๆ บางปีสอบไฟนอลแล้วยังไม่ได้จ่าย โดนครูทวงมาทุกวัน ทวงในห้องสอบก็เคย “ใครยังไม่ได้จ่ายค่าเทอม สอบเสร็จแล้วอยู่ก่อนนะ”

น้องๆ ของพ่อเคยพูดว่า พ่อเห็นช้างขี้ แล้วอยากจะขี้ตามช้าง เห็นคนได้เรียนโรงเรียนฝรั่ง ค่าเทอมแพงๆ ก็ส่งลูกไปเรียน ทั้งที่ตัวเองไม่มีปัญญาจ่าย เลยต้องมาลำบากทำงานหาเงิน

The MATTER: พ่อแม่ทำงานอะไร

พ่อเป็นลูกคนจีน หลังจากลาออกจากโรงเรียนตอน ป.4 เขาออกมาเป็นจับกังแบกหาม พอตั้งตัวได้ก็อยากมีธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง พ่อค้าเลยเปิดร้านขายสีทาบ้าน ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน เขาคิดว่าวันนึงจะได้เป็นเถ้าแก่ ลูกคนจีนหลายคนฝันแบบนี้ ความขยันคือวิธีการขยับชนชั้น แต่เรื่องนี้ต้องอาศัยโชคชะตาเหมือนกัน อย่างบ้านคุณธนาธร พ่อแม่โตมาที่สี่พระยาใกล้ๆ กับบ้านผมแหละ ความขยัน จังหวะ โชคชะตา อะไรหลายอย่างประกอบกัน เขาไปได้ดี แต่ผมมาอีกทางเลย

The MATTER: ตอนนั้นรู้สึกถึงความยากจน-ร่ำรวยในโรงเรียนบ้างไหม

ยังไม่ได้คิดเรื่องความเหลื่อมล้ำต่ำสูง แค่รู้สึกว่ากิจกรรมหลายอย่างไปร่วมไม่ได้ พอไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ ผมเลยต้องอยู่กับตัวเอง กิจกรรมที่ทำคืออ่านหนังสือ เริ่มจากหนังสือพิมพ์ เวลาพ่อเดินทางไปขายสีที่ต่างจังหวัด โคราช ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ฯลฯ เขาจะซื้อหนังสือพิมพ์กลับมา ผมได้อ่านมติชนรายวันและมติชนสุดสัปดาห์

สมัยนั้นพ่อแม่จะมารับทุกเย็น แต่ไม่ได้เลิกเรียนแล้วมารับเลย เขาต้องรอให้ตัวเองเสร็จงานก่อน ผมเลยไปขลุกในห้องสมุด อยู่จนห้องสมุดปิดตอนหกโมง บางวันมาสามสี่ทุ่ม ผมลงมานั่งคุยกับยามใต้ถุนโรงเรียน นั่งอยู่ใต้ตึกโรงเรียนอัสสัมชัญฝ่ายประถม นั่งจนยามเห็นว่า พี่น้องคู่นี้อีกแล้ว ยังไม่ได้กลับบ้าน ข้าวก็ยังไม่ได้กิน

ผมอ่านหนังสือในห้องสมุดจนหมด ห้องสมุดโรงเรียนมีหนังสือไม่เยอะหรอก ชัยพฤกษ์ การ์ตูนวิทยาศาสตร์ต่างๆ เรื่องของโทมัส อัลวา เอดิสัน, กาลิเลโอ ตอนปี 2533 อ่านข่าวเจอเรื่องสงครามอิรัก-คูเวต แล้วค่อยไปเห็นคุณสุทธิชัย หยุ่น ครั้งแรกจากหน้าจอโทรทัศน์ ถ้าจำไม่ผิดคือช่อง 9 เขาเอาแผนที่มาวาง อธิบายว่าตรงนี้คือฐานทัพ ยิงไปทางนั้นทางนี้ จำได้ว่าตอน ป.6 ผมอยู่ห้องสมุดจนไปช่วยบรรณารักษ์จัดหนังสือเลยนะ (หัวเราะ)

The MATTER: เด็กประถมมองเรื่องการเมืองในไทยและต่างประเทศด้วยความรู้สึกยังไง

เราไม่ได้ติดตามแบบวิเคราะห์ลึกซึ้งหรอก ติดตามเหมือนเป็นนิยาย เป็นละคร มีเรื่องราว ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ตัวละครพรรคนี้ชื่ออะไร พรรคชาติไทยมีคุณบรรหาร ศิลปอาชา, คุณประมาณ อดิเรกสาร, คุณเสนาะ เทียนทอง, พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก รัฐบาลตอนนั้นปรับ ครม. เอาคุณเฉลิม อยู่บำรุงเข้ามา เอาพรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามา ผมติดตามว่าใครเป็นใคร มากกว่าจะมาวิเคราะห์ว่าเขาทำดีหรือไม่ดี

ถ้าให้เปรียบเทียบ ผมติดตามการเมืองเหมือนดูมวยปล้ำ ฝ่ายพระเอก ฝ่ายผู้ร้าย ตีกัน ข่าวสารเรื่องสงครามอ่าว เราก็ถูกชวนเชื่อไปทันทีว่า สหรัฐอเมริกาเป็นพระเอก อิรักเป็นผู้ร้ายจะบุกไปยึดคูเวต แต่ไม่รู้หรอกว่าใครตั้งซัดดัมมา เพิ่งมาเข้าใจเอาตอนโต

*The MATTER: ความสนใจการเมืองพัฒนาต่อไปยังไง *

ก่อนเรียนจบ ป.6 ก็เกิดรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 หลังจากนั้นพอ ม.1 ผมย้ายมาเรียนอัสสัมชัญฝั่งบางรัก ช่วงนั้นเริ่มรู้เรื่องเยอะขึ้น แต่ไม่ได้รู้มากหรอก รู้แค่แบ่งเป็นพรรคเทพ-พรรคมาร จนกระทั่งปี 2535 ช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ผมกำลังจะเปิดเทอม ม.2 อยากไปเห็นกับตา เพราะเคยอ่านเรื่อง 14 ตุลาฯ จากห้องสมุด เห็นว่าตอนนั้นมีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย แต่แม่ล็อคตัวไว้ไม่ให้ไป เลยได้แค่ตามข่าวอย่างเดียว

The MATTER: เวลาติดตามเรื่องการเมือง อาจารย์คุยเรื่องนี้กับใครไหม

คนสนใจการเมืองในวัยแบบผม มีน้อยอยู่แล้ว ถ้าคนในบ้านที่สนใจมีพ่อ เขาก็พูดนะ “ทหารยึดอำนาจอีกแล้ว ไม่จบไม่สิ้นเสียที นึกว่าจะออกจากการเมือง แต่ก็ยังไม่ออก” ประมาณนี้

The MATTER: เด็กมัธยมต้นมองเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ยังไง

(เงียบคิด) ผมมองว่าการชุมนุมประท้วงไม่ควรมีใครเสียชีวิต ไม่อยากเห็นใครบาดเจ็บล้มตาย ครั้งนั้นสุดท้ายในหลวงรัชกาลที่ 9 เรียกพลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง เข้าเฝ้าพร้อมกัน วิกฤตการณ์เลยคลี่คลาย ผมก็โล่งใจที่ไม่เกิดความสูญเสียมากไปกว่านั้น แต่มาคิดย้อนหลังก็เอะใจนะ เราต่อต้านไม่ให้พลเอกสุจินดาเป็นนายกคนนอก แต่สุดท้ายคุณอาทิตย์ อุไรรัตน์ ซึ่งเป็นประธานสภาผู้แทนตอนนั้น กลับเสนอชื่อคุณอานันท์ ปันยารชุน กลับมาเป็นนายกแทน ซึ่งคือคนนอกเหมือนกัน แต่กระแสสังคมกลับเชียร์ให้เป็น

The MATTER: คิดว่าความสนใจในเรื่องการเมือง กับการถูกปลูกฝันให้เรียนสูงๆ เกี่ยวข้องอะไรกันไหม

(เงียบคิด) ผมคิดว่าสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกเลย ถ้าพ่อไม่เอาเข้าโรงเรียน มองว่าไม่ต้องเรียนหนังสือหรอก เหมือนญาติๆ อีกหลายคนที่ไม่ได้เรียนสูง ผมคงเป็นอีกแบบเลย พอได้เข้าโรงเรียน ไม่ว่าจะสอนผิดสอนถูก จะมีระบบอำนาจนิยมยังไง แต่อย่างน้อยที่สุด ผมได้อยู่ในสภาพสังคมแบบหนึ่ง ได้เข้าห้องสมุด ได้อ่านหนังสือพิมพ์ ได้อ่านหนังสือต่างๆ

*The MATTER: อาจารย์เคยเล่าถึงตอน ม.3 ที่ต้องทำรายงานในวิชาสังคมศึกษา ทำให้ได้รู้จักประวัติศาสตร์แบบเรียนและนอกแบบเรียน อยากให้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นหน่อย *

วิชาสังคมศึกษาตอน ม.3 จะมีสองเทอม เทอมแรกเรียนประวัติศาสตร์ไทย เทอมสองเรียนประวัติศาสตร์โลก การเรียนประวัติศาสตร์ไทยจะให้เรียนทีละรัชกาล พอถึงตอนทำรายงาน คุณครูก็ให้จับฉลาก ใครต้องทำรายงานพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของรัชกาลไหน ตอนนั้นผมจับได้ในหลวงรัชกาลที่ 8 พระเจ้าอยู่อานันทมหิดล เท่าที่ผมเคยอ่านมา แบบเรียนมีเนื้อหาน้อยมาก ต่างจากทุกรัชกาลที่มีพระราชกรณียกิจยาวๆ หมดเลย เพราะในหลวงรัชกาลที่ 8 สวรรคตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

เพื่อนผมจับได้รัชกาลที่ 5 เนื้อหาเยอะมาก แล้วเราทำยังไงดี เลยเข้าห้องสมุดไปหาข้อมูล ปรากฏว่าเจอหนังสือที่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 8 ชื่อหนังสือ 'กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 โดยคุณสรรใจ แสงวิเชียร และคุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย' เขียนเล่าเรื่องคดี การชันสูตร ผมเลยได้เนื้อหาเพิ่มขึ้น ตอนไปนำเสนอหน้าห้อง ผมเลยพูดเรื่องในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงเสด็จไปสำเพ็งเพื่อช่วยคลี่คลายเกี่ยวกับคนจีนคนไทยในกรุงเทพฯ แล้วก็เรื่องกรณีสวรรคต

ตอนนั้นในห้องเกิดกระแส ครูพูดอย่างนึง เพื่อนพูดอย่างนึง บางคนบอกว่าปรีดี (พนมยงค์) เป็นคนวางแผน บางคนบอกว่ามหาดเล็กเป็นคนวางแผน บางคนบอกเป็นการปลงพระชนม์ตนเอง ความเห็นเต็มไปหมดเลย แต่ไม่ได้มีบรรยากาศของการถกเถียงอะไรนะ เป็นแค่การลือๆ กันแล้วจบไป

The MATTER: สงสัยบ้างไหมว่าทำไมบางเรื่องถึงไม่มีในแบบเรียน

ตอนนั้นตั้งคำถามเกี่ยวกับแบบเรียนของประเทศไทยนะ เด็กโรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนที่อยู่ในเครือมูลนิธิเซนต์คาเบรียลจะมีวิชาพิเศษให้เรียน โรงเรียนรัฐบาลมีแบบเรียน มานี มานะ ปิติ ชูใจ ที่กระทรวงศึกษาธิการบังคับ แต่โรงเรียนในเครือมูลนิธิเซนต์คาเบรียลจะใช้ชื่อว่า ‘วิชาดรุณศึกษา’ ดรุณที่แปลว่าเด็กประถมวัย เรียนตั้งแต่ ป.1-ป.4 คนเขียนคือบราเดอร์ฮีแลร์ เป็นบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เป็นอาจารย์อยู่อัสสัมชัญ เขาอ่านเขียนภาษาไทยได้ เป็นอนุรักษ์นิยมมากนะ เป็นบาทหลวงที่ต้องหนีออกจากฝรั่งเศสในช่วงที่เอาการสนับสนุนของรัฐออกจากศาสนา ไม่ให้โรงเรียนมีการสอนศาสนา มิชชั่นนารีจำนวนมากออกเดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผมเข้าใจว่าบราเดอร์ฮีแลร์อยากให้เด็กไทยได้เปิดโลก เลยบังคับให้เรียน เป็นวิชาที่สนุกมาก หลายคนรู้จักไททานิคจากภาพยนตร์ แต่ผมรู้จักตั้งแต่ประถมจากดรุณศึกษา หรือประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่มีในหนังสือประถม ผมได้ยินชื่อประเทศแปลกๆ ชื่อ ออสเตรีย-ฮังการี ต่อมาได้แยกออกเป็น ออสเตรียและฮังการี ตอน ป.4 คุณครูพูดว่า “พวกเรา รู้ไหมว่าออสเตรียเป็นประเทศอะไร อย่าไปสงสัยนะ ก็เป็นประเทศเดียวกับออสเตรเลียนั่นแหละ” ผมยกมือเถียง ปรากฏว่าโดนด่า อย่าเถียง มาเถียงครูได้ยังไง เลยไม่ได้พูดอะไรต่อ มาทบทวนทีหลังก็รู้ว่า สิ่งนี้คือระบบอำนาจนิยมในโรงเรียน

อีกเรื่องที่เห็นแบบเรียนของไทยแล้วสะท้อนใจ เรื่อง 14 ตุลาคม 2516 ไม่มีในหนังสือแบบเรียนเลย ช่วงหลังๆ ถึงมีบ้าง แต่ก็แค่ไม่กี่บรรทัด ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่อง 6 ตุลาคม 2519 ที่ไม่ปรากฏเลย ผมอิจฉาเด็กสมัยนี้นะ พวกเขามีเทคโนโลยีที่เข้าถึงข้อมูลได้ ค้นหาแป๊บเดียวเจอแล้ว

The MATTER: ช่วงจะขึ้น ม.ปลาย อาจารย์ตั้งใจจะเรียนต่อสายไหน

ตอนขึ้น ม.ปลาย เพื่อนบางคนไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผมทั้งอยากไปสอบบ้าง อยากเรียนภาษาฝรั่งเศสไปเลย แต่อีกใจก็อยากเรียนให้จบ 12 ปีที่อัสสัมชัญ ที่นี่เป็นโรงเรียนที่ทั้งรักทั้งเกลียดในเวลาเดียวกัน

The MATTER: รักอะไร เกลียดอะไร

ผมอยู่มาตั้งแต่เด็ก ก็ผูกพันนะ ส่วนที่เกลียดคือระบบอำนาจนิยม ต้องเข้าแถว ยืนตรง มองคอคนหน้า เป็นโรงเรียนมัธยมหรือโรงเรียนทหาร เรื่องทรงผม ใครไม่ทำตามกฎระเบียบ ครูจะกล้อนผมนักเรียนให้น่าเกลียด ตัดเฉียงให้แหว่ง เรื่องนี้คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ผมมีความคิดไปเรียนเตรียมอุดม ไม่ชอบคณิตศาสตร์ อยากไปเรียนศิลป์-ภาษาฝรั่งเศส ถ้าไปเตรียมอุดมจะได้เจอสังคมใหม่ๆ แต่พ่อแม่บอกให้เรียนที่เดิม แล้วสมัยนั้นมีค่านิยมว่าคนเรียนเก่งต้องวิทย์-คณิต ด้วยความเป็นเด็กเลยยอมตามใจ

ช่วงนั้นพี่ชายเข้าเรียนที่เอแบค เขาอยากเรียนบริหารธุรกิจ อยากใช้ภาษาต่างประเทศ พี่สาวก็เข้าเอแบคด้วย ค่าเทอมขนาดนั้น เหลือทางเดียวคือผมต้องเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ ต้องเอ็นทรานซ์ให้ติด ตอนนั้นคิดว่าถ้าไม่ติดก็จะไปเรียนรามคำแหง ผมชอบเรื่องการเมือง เรื่องต่างประเทศ ก็อยากเข้าคณะรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อยากไปเห็นต่างประเทศ อยากรู้เรื่องการเมืองในที่ต่างๆ ปรากฏว่าคะแนนสอบ ม.ปลาย ที่ออกมา วิชาสายสังคมนำโด่งเลย แต่พอเป็นคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ร่วงเลย ชีวะยังพอได้ เพราะเป็นความจำ เห็นชัดเลยว่าชอบอะไร ถนัดอะไร ตอนเอ็นทรานซ์เลยตั้งใจไปสอบโดยวิชาสายศิลป์-คำนวณ

เรียนไปเรียนมา ช่วง ม.ปลาย ประมาณปี 2538 เกิดกระแสปฏิรูปการเมือง รัฐบาลคุณบรรหารเริ่มพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ในสื่อต่างๆ มีคำว่า ปฏิรูปการเมือง ตั้งกรรมการมาศึกษา แก้รัฐธรรมนูญ คำเหล่านั้นเข้ามาในหัว ผมเลยเริ่มสนใจนิติศาสตร์ขึ้นมา เวลาคนรู้กฎหมายอภิปรายนะ มันพูดเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน สงสัยต้องเรียนนิติศาสตร์หรือเปล่า แล้ว ส.ส. หลายคนจบนิติศาสตร์ นักการเมืองไอดอลของผมคือ คุณชวน หลีกภัย ฉายามีดโกนอาบน้ำผึ้ง พูดอภิปรายก็ต้องฟัง อีกคนก็คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาลง ส.ส. ครั้งแรกปี 2535 ป๊อบปูล่ามากในสังคมการเมืองไทย ผมเป็นแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์เลย

ช่วงใกล้เอ็นทรานซ์ก็เตรียมวางแผนว่าจะเลือกคณะอะไร หนึ่ง คณะรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาฯ สอง คณะรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ะะหว่างประเทศ ธรรมศาสตร์ สาม รัฐศาสตร์ การปกครอง จุฬาฯ สี่ นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อยู่มาวันนึง ชะตาฟ้าลิขิตให้เส้นทางเปลี่ยน ผมกับเพื่อนสนิทติวหนังสือกัน ก็เปิดวิทยุฟังไปด้วย จำได้ว่าคลื่น Greenwave ได้ยินข่าวต้นชั่วโมงประชาสัมพันธ์ว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดให้มีการสอบตรง คณะนิติศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี” ผมกับเพื่อนมองเป็นโอกาส อย่างน้อยได้สอบมากกว่าคนอื่น เลยไปสมัครสอบกัน ปรากฏว่าผมติดคณะนิติศาสตร์ เอ้า ติดแล้ว ธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาระดับประเทศ ศิษย์เก่ามีชื่อเสียงทั้งนั้น ผลิตนายกรัฐมนตรีมาหลายคนแล้วด้วย งั้นก็เอาสิ สุดท้ายเลยไม่ได้เอ็นทรานซ์แล้ว

*The MATTER: เปลี่ยนมาเลือกคณะนิติศาสตร์แบบไม่ได้ตั้งตัวเลย *

พอมาเรียนก็กังวลนะ หลายวิชาเราจะชอบหรือเปล่านะ นาย ก ยิง นาย ข  นาย ข ยืมเงิน นาย ค แล้วให้วินิจฉัยว่าใครถูกหรือผิด เราชอบเป็นทนายความเหรอ ชอบเป็นผู้พิพากษาเหรอ ซึ่งผมชัดเจนว่าไม่ใช่ ผมอยากเป็นอย่างอื่น

The MATTER: รู้ได้ยังไงว่าไม่ใช่สองอาชีพนั้น

ตั้งแต่วัยเด็ก ไม่เคยมีทนายความ ไม่มีผู้พิพากษาเลย ผมสนใจการเมือง เรื่องไทย เรื่องโลก เรื่องประวัติศาสตร์

The MATTER: คนเรียนคณะนิติศาสตร์มักมีค่านิยมว่า เรียนจบก็สอบตามขั้นตอน เพื่อเป็นตุลาการ เป็นผู้พิพากษา เป็นอาชีพที่มั่นคง มีคนนับหน้าถือตา พ่อแม่ก็ชื่นชมที่ลูกได้เป็นใหญ่เป็นโต อาจารย์เป็นแบบนั้นไหม

เอาจริงๆ ที่บ้านผมเชียร์ให้เรียนแพทย์หรือวิศวะ ผมเลือกนิติศาสตร์โดยไม่ได้ปรึกษาที่บ้าน เรียนสายวิทย์ก็ตามใจแล้ว มาบอกเอาตอนสอบได้แล้ว เขาก็เฉยๆ ไม่ได้ดีใจหรอก มองแค่ว่า ดีสิ ได้เรียนมหาวิทยาลัย ในสายตาเขามองว่า นิติศาสตร์คือทนายความ ไม่มีอาชีพผู้พิพากษาเลย มันไกลตัว เทียบกับน้องชายที่ติดแพทย์ รามาธิบดี โอ้โห ฉลองกันใหญ่เลย

แต่ต้องเท้าความก่อน ค่านิยมว่าเรียนนิติศาสตร์แล้วต้องเป็นผู้พิพากษา สมัยผมไม่มีนะ คณะนิติศาสตร์คะแนนต่ำมากนะ เป็นหนึ่งในคณะของคนไม่รู้ไปไหน

ถ้าสายสังคมศาสตร์ สมัยนั้นอันดับหนึ่งคือวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ กระแสของนิติศาสตร์เพิ่งมาตอนผมเรียนจบแล้ว สาเหตุมาจากผู้พิพากษาได้รับการขึ้นเงินเดือนสูงมาก สมัยรัฐบาลคุณชวน ทำให้วิชาชีพกฎหมายอื่นชะเง้อมอง ข้าราชการหลายกระทรวงขอย้ายไปเป็นผู้พิพากษา พอรัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดขึ้น ก็เริ่มมีการใช้กฎหมายมากขึ้น เอะอะอ้างกฎหมาย แล้วไปจบที่ศาล ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจด้วย นิเทศศาสตร์ตกงานกันหมด ไม่มีอะไรทำ เรียนจบนิติศาสตร์แล้วมีวิชาชีพรองรับ เป็นผู้พิพากษามีเกียรติ มีเงินเดือนรองรับ ไปที่ไหนมีคนนับหน้าถือตา

*The MATTER: ชอบการเมืองมากกว่ากฎหมาย แต่ต้องเรียนกฎหมายเป็นหลัก จัดการชีวิตยังไง *

ผมไปดูหลักสูตรของนิติศาสตร์ มันมีวิชากฎหมายตัวนึงที่เกี่ยวพันกับอำนาจรัฐ คือ กฎหมายมหาชน หลักสูตรมีวิชาอะไรบ้าง กฎหมายมหาชนเบื้องต้น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง เราก็ตั้งใจเรียน กะว่าเอาดีทางนี้เลย ตอนปีหนึ่งเป็นวิชาพื้นฐาน เรียนกฎหมายแค่ 2 ตัว ผมเลยใช้เวลากับการอ่านหนังสือ เข้าห้องสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่รังสิต เป็นโอกาสทองที่จะได้อ่านหนังสือที่ไม่ใช่มาตราและคำพิพากษาศาลฎีกา

ช่วงนั้นขลุกอยู่ในห้องสมุด อ่านหนังสือของอาจารย์เสน่ห์ จามริก หนังสือของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่เป็นเรื่องสั้นต่างๆ ช่วงนั้นมีวิกฤตไอเอ็มเอฟ วิกฤตต้มยำกุ้ง ก็ตามอ่านงานอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อ่านคอลัมน์มติชนรายวันหน้า 6 สมัยนั้นจะเอานักวิชาการมาเขียน อาจารย์เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ อาจารย์ลิขิต ธีรเวคิน อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ฯลฯ ผมเริ่มสนใจเรื่องเศรษฐกิจ ซื้อหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจมาอ่าน ตอนมาตั้งพรรคอนาคตใหม่กัน คุณธนาธรยังแซวเลย ชื่อเสียงสมัยเรียนของผมคือ คนที่เดินไปไหนก็ถือหนังสือพิมพ์ติดตัว การขลุกในห้องสมุดทำให้เจอหนังสือใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอสมัยมัธยม

วิชาที่เปลี่ยนความคิดของผมมากเลย คือวิชาอารยธรรมไทย สอนโดยอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผมได้ยินว่าศิลาจารึกเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นมาสมัยรัชกาลที่ 4 ครั้งแรกจากวิชานี้ อาจารย์ชาญวิทย์เชิญอาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ มาบรรยาย อีกวิชาที่สนุกมากคือวิชาอารยธรรมตะวันตก อาจารย์ผู้สอน คือ อาจารย์ธาวิต สุขพานิช เป็นคนสอนประวัติศาสตร์ตะวันตกได้สนุกที่สุดเลย ไม่มีตำราอะไรเลย เล่าไปเรื่อยๆ เหมือนนั่งไทม์แมชชีนไปเที่ยวรอบโลก อีกวิชาที่สนุก สมัยนั้นเป็นวิชาบังคับ คือสหวิทยาการทางสังคมศาสตร์ คนรับผิดชอบคือ อาจารย์พรชัย ตระกูลวรานนท์ ตอนนี้เป็นว่าที่ ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ อาจารย์ใช้เลเซอร์พอยท์เป็นคนแรก ในวิชาให้บทความมายี่สิบกว่าชิ้น ผมกลับไปอ่าน เป็นครั้งแรกที่ได้รู้จัก อันโตนีโอ กรัมชี ครั้งแรก

การเรียนปีหนึ่งสนุกนะ ผมได้เจออะไรใหม่ๆ ที่โรงเรียนมัธยมไม่มีคำตอบ พอเราอินเรื่องพวกนี้ เลยไม่ได้สนใจการเมืองในฐานะใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร อยู่พรรคอะไร ร่วมกับใคร อภิปรายอะไร ผมเริ่มมาสนใจการเมืองในแง่วิชาการมากขึ้น แล้วผมอยากออกไปเห็นสิ่งต่างๆ ในโลก เห็นแล้วอยากเอามาเล่า จะมีอาชีพอะไรเหมาะสมเท่าการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาให้คุณไปเรียนหนังสือต่อ ได้ไปเห็นโลก แล้วเอากลับมาเล่าให้คนในประเทศไทยฟัง เพื่อให้ประเทศไทยอยู่ทันสมัยกับโลกได้

The MATTER: ตอนนั้นชัดเจนเลยว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยคือเป้าหมาย

ใช่ แล้วกฎหมายก็ต้องกฎหมายมหาชนนะ เป็นกฎหมายที่พัวพันกับการเมือง คณะนิติศาสตร์ของธรรมศาสตร์มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง คือเราพยายามจะสร้างอาจารย์ประจำของตัวเอง ถ้าเป็นรุ่นเก่าๆ จะเชิญผู้พิพากษามาสอน จนกระทั่งอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อาจารย์ปรีดี เกษมทรัพย์ มาสอน ซึ่งเป็นผู้พิพากษาเก่าทั้งนั้น เลยเห็นความจำเป็นในการสร้างอาจารย์ประจำของตัวเอง เกิดการเจรจาขอทุนจากประเทศต่างๆ หนึ่งในนั้นคือทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งอาจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม เป็นคนไปเจรจาไว้ เลยเห็นว่าอาจารย์ที่นี่หลายคนเลยจบจากฝรั่งเศสกัน ทางคณะจะรับคนจบปริญญาตรีมาเป็นอาจารย์ สอนอยู่หนึ่งปีสองปี เอาทุนไปเรียนต่อ แล้วกลับมาเป็นอาจารย์

ช่วงนั้นเป็นปีแรกที่รัฐธรรมนูญปี 2540 เริ่มใช้เต็มสูบ ผมได้ไปดูสภาผู้แทนเป็นครั้งแรก ในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยอาจารย์วิษณุ วรัญญู ผมจำแม่นเลย ไปแล้วเจอนักการเมืองชื่ออดิศร เพียงเกษ ตอนนั้นอยู่พรรคความหวังใหม่ ผมเข้าไปสวัสดีครับ แล้วพูดว่า “ท่านอดิศรเป่าแคนเพราะนะครับ” (หัวเราะ)

The MATTER: การตั้งเป้าหมายว่าเป็นอาจารย์ ส่งผลต่อชีวิตหลังจากนั้นยังไงบ้าง

เงื่อนไขอย่างหนึ่งของคนจบปริญญาตรีแล้วมาเป็นอาจารย์ คุณต้องจบเกียรตินิยม ต้องสอบไม่ตกวิชาอะไรเลย คณะนิติศาสตร์สอบครั้งเดียว ข้อสอบ 5 ข้อ ข้อละ 20 คะแนน รวม 100 คะแนน ถ้าได้ 60 คะแนนคือผ่าน ถ้าได้ 75 คะแนนขึ้นไปได้เกียรตินิยมอันดับสอง ถ้า 85 คะแนนขึ้นไปได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ต้องขยันแล้ว เข้าเรียนบ้างไม่เข้าบ้าง แต่ตั้งใจอ่านหนังสือ ประคองตัวมาเรื่อยๆ จนจบมาด้วยคะแนน 83.6 ได้เกียรตินิยมอันดับสอง เป็นอันดับที่ 11 ของรุ่น

ก่อนเรียนจบปริญญาตรี ช่วงเทอมสองของปีสี่ วิชาเรียนเหลือไม่มาก ตอนนั้นใกล้การเลือกตั้ง (6 มกราคม 2544) ผมตามเชียร์พรรคประชาธิปัตย์มา ฮีโร่คือคุณชวนและคุณอภิสิทธิ์ พอใกล้เลือกตั้งก็อยากไปเห็นบรรยากาศการหาเสียง รัฐธรรมนูญปี 2540 มีระบบบัญชีรายชื่อ เขตเดียวเบอร์เดียว น่าตื่นเต้นนะ ตอนนั้นอาจารย์ปรีชา สุวรรณทัต ที่สอนวิชากฎหมายการคลัง ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ผมเลยไปขอว่าอยากเห็นบรรยากาศของพรรคการเมืองไทยช่วงหาเสียง เลยได้ตามไปดูงานที่พรรคประชาธิปัตย์ ผมเข้าไปอยู่ฝ่ายกฎหมาย ทำหน้าที่ตรวจเอกสารของผู้สมัคร พอมาเห็นน้องๆ ในพรรคอนาคตใหม่ทำบ้าง ก็นึกถึงตัวเองตอนนั้นนะ (หัวเราะ) จำได้ว่าเจอคุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ มายื่นเอกสารด้วย

แต่ผมอยากเห็นการทำแคมเปญต่างๆ ด้วย เลยโทรไปหาอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่ง คืออาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ ซึ่งผมเคยเป็นผู้ช่วยของอาจารย์ พอบอกไปว่าอยากเห็นว่าพรรคการเมืองรณรงค์กันยังไง อาจารย์ยกหูโทรหาเลขาฯ คุณอภิสิทธิ์เลย เลยได้ไปอยู่ในกองโฆษกของคุณสาธิต วงศ์หนองเตย ได้เห็นการตรวจเช็คข่าวและการตอบโต้ข่าวของพรรคประชาธิปัตย์

The MATTER: ตอนเรียนจบปี 4 ทางคณะนิติศาสตร์เปิดรับสมัครอาจารย์เลยหรือเปล่า

ตอนนั้นอาจารย์สาขากฎหมายมหาชนลาออกกันไปเยอะ อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ไปสมัคร ส.ว. อาจารย์อีก 2-3 ท่านไปเป็นตุลาการศาลปกครอง ตำแหน่งเลยโหว่ ทำให้มีการเปิดสอบ 2 ตำแหน่ง คือปริญญาโท-เอก และปริญญาตรี ผมเลยไปสมัครสอบแล้วได้เป็นอาจารย์ เซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2544 สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ สนุกมาก น่าจะทำได้ดีพอสมควร นักศึกษาเรียนแล้วสนุกกัน ตอนนั้นคณบดีคืออาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ ก็ค่อนข้างสนิทกัน ท่านเป็นให้โอกาสผมมาก เวลาไปประชุมอะไรจะหนีบผมไปด้วยเสมอ ผมสอนไปได้หนึ่งปี ก็ไปเรียนต่อกฎหมายมหาชนที่ฝรั่งเศส เดินทาง 9 ตุลาคม 2545 ทางคณะต้องการให้เน้นกฎหมายปกครองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะศาลปกครอง ตอนนั้นศาลปกครองเพิ่งตั้งในประเทศไทย อาจารย์ของคณะออกไปเป็นตุลาการ ไม่มีคนสอนต่อ ผมเลยต้องเน้นเรื่องนี้

The MATTER: พอไปเรียนที่ฝรั่งเศส เห็นความแตกต่างกับไทยในเรื่องอะไรบ้าง

ช่วงไปแรกๆ ผมช็อคนะ ถ้าพูดเป็นกราฟ ชีวิตผมกำลังพุ่งขึ้น อาจารย์ในคณะให้โอกาสไปเจอผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศ นักศึกษานิยมชมชอบ พอไปเรียน รัฐบาลฝรั่งเศสให้ไปเรียนภาษาที่เมืองวีชี่ (Vichy) เมืองเล็กนิดเดียว ในเมืองมีแต่คนเกษียณอายุ หมา และคนต่างชาติที่มาเรียนภาษา ผมไม่รู้จักใคร ภาษาฝรั่งเศสก็ยังไม่ได้ ไปไหนมาไหนพกดิกตลอด พอเริ่มตั้งหลักได้ ก็เห็นว่าคุณภาพชีวิตเป็นคนละเรื่องกับบ้านเรา เมืองวีชี่มีคนเกษียณมาอยู่เยอะ อากาศดี มีน้ำพุน้ำแร่ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาจากที่นี่ทั้งนั้น ขณะที่คนอายุมากๆ ในประเทศไทยยังต้องทำงานอยู่เลย พอเรียนภาษาเสร็จแล้ว ระหว่างรอเข้ามหาวิทยาลัย ผมขึ้นรถไฟไปที่ต่างๆ เพื่อดูมหาวิทยาลัยและดูเมือง ปารีส ตูลูส มาร์กเซย สตราสบูร์ก ฯลฯ เห็นบ้านเมืองแล้วประทับใจคุณภาพชีวิต สวัสดิการ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ความรู้สึกตอนนั้นที่สะสมมาถึงตอนนี้ คือ ชีวิตคนฝรั่งเศสไม่ได้ราคาถูกเหมือนคนไทย คนในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดก็ตาม เดินๆ อยู่แล้วตายได้เลยนะ ต้นไม้หรือป้ายโฆษณาล้มทับ ตกท่อ ไฟดูดตาย มีอะไรแบบนี้ตลอด

ตอนผมเป็นเด็กแล้วซ้อนมอเตอร์ไซค์กับน้อง ง่วงก็ง่วง หลับแล้วกลิ้งตกไปรถทับแล้ว แต่ที่ฝรั่งเศส คมนาคมมีคุณภาพและทั่วถึง โรงเรียนแต่ละแห่งได้มาตรฐาน ไม่ต้องเดินทางไปไกลบ้าน มาคิดย้อนหลัง ตอนรณรงค์หาเสียงทั่วประเทศ ถ้าเห็นหน้าคนๆ นึงแล้วมองออกว่าคนเมือง-คนต่างจังหวัด แสดงว่าการพัฒนาไม่ทั่วถึง ทั้งสีผิว ผิวหนังหยาบกร้าน ฟัน มันชัดเจนเลยว่าแบบไหนทำงานหนัก แต่รายได้ไม่เพียงพอ สะท้อนการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม บ้านเราเป็นแบบนี้ แต่ที่ยุโรปคุณภาพชีวิตเท่าเทียม หน้าตาไม่ได้แตกต่างกันมาก

The MATTER: ประทับใจเรื่องอะไรอีก

ระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะรถไฟ วีชี่อยู่กลางประเทศ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสย้ายเมืองหลวงมาอยู่วีชี่ ที่นี่มีรถไฟไปปารีส ออกตะวันออกเฉียงเหนือไปสตาร์สบูร์ก ลงใต้ไปลียง ตูลูส มาร์กเซย น็องต์ รถไฟของเขาสุดยอดจริงๆ กระจายไปทั่วประเทศเหมือนเป็นเส้นเลือดฝอย ผมเอาสิ่งนี้มาพูดในนโยบายของพรรคด้วย คือเราต้องคิดว่าการเดินทางเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน รัฐธรรมนูญไทยบอกว่าทุกคนมีเสรีภาพในการเดินทาง แล้วเดินทางยังไง ไม่รู้ เสรีภาพในการเดินทางจะเกิดขึ้นได้ คุณต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ว่าอยากมีเสรีภาพในการเดินทาง ก็ไปซื้อรถยนต์เอง

แล้วระบบขนส่งมวลชนต้องเป็นบริการสาธารณะ ไม่ได้สร้างมาเพื่อค้ากำไร คุณต้องตอบสนองความต้องการของคนทั้งหมด แน่นอนว่าไม่ได้ทำให้รัฐรวย อาจต้องควักจ่ายบ้าง นั่นเพื่อประโยชน์ของคนทั้งหมด แต่ระบบขนส่งมวลชนของประเทศไทยไม่ได้คิดจากฐานนี้ คิดจากฐานกำไร-ขาดทุน ทำให้มีโบกี้น้อย รอนาน คนแน่น เพราะรัฐไปเจรจากับเอกชนแล้วคิดถึงเรื่องกำไร-ขาดทุน ผมเคยได้ยินคนของรถไฟฟ้าสายสีม่วงพูดว่า ถ้าเพิ่มตู้มากกว่านี้จะขาดทุน คิดแบบนี้ไม่ใช่บริการสาธารณะแล้ว

The MATTER: พอเรียนจบแล้วกลับมาเป็นอาจารย์เลยไหม

ทุนหมดปี 2553 ผมก็กลับมา แล้วค่อยกลับไปจัดการเรื่องวิทยานิพนธ์ให้แล้วเสร็จตอนปี 2554 จบอย่างเป็นทางการเมื่อพฤศจิกายน 2554

The MATTER: ไม่อยู่เมืองไทยหลายปี ถ้าไม่นับเรื่องเงื่อนไขว่าต้องกลับมาสอน เป้าหมายยังอยากเป็นอาจารย์เหมือนเดิมหรือเปล่า

เหมือนเดิม (ตอบทันที) แล้วยิ่งอยากเป็นด้วย ผมไม่ได้เห็นแต่ฝรั่งเศสด้วย ตอนนั้นมีวีซ่าเชงเก้น เลยได้เดินทางไปประเทศอื่นด้วย ทั้งอิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สเปน เยอรมัน เช็ค ออสเตรีย ฮังการี ทั้งไปกับเพื่อนและไปคนเดียวบ้าง ผมใช้เงินไปกับการเดินทางจนหมดเลย ยุโรปเป็นดินแดนแห่งการฆ่ากันตายมาหลายร้อยปี แต่วันนี้เขาจบ อยู่ด้วยได้ เป็นเรื่องที่น่าศึกษา

มนุษย์มีจินตนาการ มีแรงปรารถนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า อยากเติมเต็มความสมบูรณ์ให้ตัวเอง ผมคิดมาตลอดว่าต้องไม่ทำลายจินตนาการของคน แล้วจินตนาการเกิดภายใต้ระบบอำนาจนิยมในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไม่ได้

การที่ผมไปเรียนต่างประเทศ ไม่ใช่เรียนเพื่อตัวเอง โอเคล่ะ ผมเอาทุนรัฐบาลฝรั่งเศสไปเรียน แต่ทุนที่ได้เพราะเป็นอาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ดังนั้นผมเรียนเพื่อผู้อื่นด้วย ผมนึกถึงวัยเด็กที่ตัวเองอยากรู้อะไรแล้วไม่ได้รู้ เห็นอะไรก็เขียนบล็อคเล่าออกมา

พอกลับมาสอนหนังสือ ผมสอนกฎหมายมหาชน ระหว่างสอนจะสอดแทรกเรื่องต่างๆ เข้าไปด้วย กฎหมายอันนี้ได้อิทธิพลมาจากกฎหมายฝรั่งเศส ผมเคยไปตรงนั้นตรงนี้มาแล้ว กระตุ้นให้นักศึกษาอยากออกไปเปิดโลกกว้าง ถ้าเรียนนิติศาสตร์แล้วคิดแต่จะไปสอบเนติบัณฑิต ผู้ช่วยผู้พิพากษา เพื่อไปเป็นผู้พิพากษา เสร็จแล้วมีครอบครัว มีลูก ถ้าคนตัดสินคดีโลกแคบแค่นั้น ผมว่าไม่ได้นะ คุณต้องออกไปเห็นโลกกว้างด้วย

The MATTER: นักกฎหมายมีหน้าที่ตัดสินตามมาตราต่างๆ อะไรถูกอะไรผิดก็ว่าไปตามนั้นไม่ใช่เหรอ

คุณเขียนกฎหมายให้ตายยังไง ไม่มีวันครอบคลุมทุกเรื่อง มันเป็นถ้อยคำกว้างๆ ที่ใช้ข้อเท็จจริงมาปรับ ออกซ้ายก็ได้ ออกขวาก็ได้ ดำก็ได้ ขาวก็ได้ (เงียบคิด) แล้วเอาเข้าจริง กฎหมายเป็นสิ่งสมมุติของมนุษย์นะ เรารบราฆ่าฟันกันด้วยอำนาจทางกายภาพดิบเถื่อน ใครมีกำลังมากกว่าก็ชนะ แล้วจะทำยังไงให้อยู่อย่างสันติ เลยเอาอำนาจดิบเถื่อนไปแปลงไปเป็นกฎเกณฑ์ คนในสังคมต้องทำตาม ทุกคนจะคาดหมายล่วงหน้าได้ เช่น ใครจะเป็นผู้ปกครองของประเทศนี้ กฎเกณฑ์เขียนเอาไว้ พอคนเก่าไป เกิดช่องว่างอำนาจ เมื่อก่อนก็ฆ่ากัน ต่อมามนุษย์ค่อยเขียนกฎเกณฑ์ให้ชัด เบอร์หนึ่งไป เบอร์สองจะเป็นต่อได้ยังไง ก็พัฒนามาสู่การเลือกตั้ง การเอาคนจำนวนมากมาอยู่ร่วมกันต้องสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมา

ถามว่ากฎหมายเกี่ยวกับโลกไหม ชัดเจนเลย ถ้าเรียนกฎหมายแล้วอยู่ในสี่เหลี่ยมแคบๆ อยู่กับมาตราและคำพิพากษาศาลฎีกา โดยไม่รู้เลยว่าจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญมาจากไหน โลกมันมี “เป็น” และ “ควรเป็น” ทุกวันนี้นักกฎมายถูกบังคับให้เรียนสิ่งที่เป็นเพื่อไปประกอบอาชีพ แต่คุณต้องเรียนสิ่งที่ควรเป็นด้วย ดังนั้นต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของโลกด้วย ถ้านักกฎหมายเรียนแบบเดิม ในอนาคต AI กำลังมา ต่อไปก็เอามาตรามา ข้อเท็จจริงมา แนวคำพิพากษามา ป้อนเข้าระบบแล้วออกมาเป็นคำตัดสิน เผลอๆ ยุติธรรมกว่าคนอีก ถ้าคุณต้องการให้กฎหมายมีชีวิต เข้ากับสภาพสังคมได้ มันหนีไม่พ้นต้องอิงกับเรื่องประวัติศาสตร์

The MATTER: อาจารย์เคยบอกว่าสนุกกับการสอนหนังสือมาก

ใช่ ผมรู้อะไรมาก็ชอบเล่า การสอนหนังสือทุกครั้งคือการพัฒนาความรู้ของตัวเอง โดยเฉพาะการสอนระดับปริญญาโท ปริญญาตรีเป็นไฟต์บังคับวิชาต้องเดินตามนั้น ปริญญาโทเปลี่ยนเนื้อหาได้ตลอด ผมสอนไม่เคยซ้ำกันเลย ตั้งใจจะเปลี่ยนเนื้อหาทุกปี อยากรู้อะไรก็ไปค้นคว้า มันตื่นเต้นและท้าทายนะ บางปีคนลงทะเบียนน้อย ผมอยากให้คนรู้เยอะ ก็ลงทุนควักเงินตัวเองไปจ้างคนมาถ่ายวีดีโอตอนสอนแล้วไปลงยูทูป อีกมุมคือการให้ตัวนักศึกษา ต่อให้สมัยนี้มีเทคโนโลยีเพียงใด แต่สิ่งที่จำเป็นคือ การกระตุ้น เหมือนที่ผมจับฉลากได้ทำพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 8 ก็กระตุ้นให้ไปศึกษา ผมเจอเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็กระตุ้นให้ไปศึกษา ผมเจอครูที่บังคับให้เชื่อว่าออสเตรียคือออสเตรเลีย ก็กระตุ้นให้ไปศึกษา

 

The MATTER: ความรู้ไม่ได้จบแค่ในห้องเรียน

ใช่

 

The MATTER: ช่วงแรกๆ อาจารย์เคยนึกถึงอาชีพนักการเมืองอยู่บ้าง พอกลับมาจากฝรั่งเศส คิดแบบนั้นบ้างไหม

ความคิดนี้หายไปจากหัวเลย พอมุ่งมั่นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมสนใจการเมืองอย่างต่อเนื่องนะ คิดมาโดยตลอดว่าการนักวิชาการสามารถช่วยการเมืองได้ ให้ความรู้ ให้ความเห็น ช่วยยกร่างกฎหมาย แต่ไม่มีภาพตัวเองเป็นนักการเมืองแล้ว ยิ่งโตขึ้นยิ่งเห็นด้วยว่าเป็นนักการเมืองหนักหนามาก

The MATTER: หนักหนาในแง่ไหน

ลงเลือกตั้งแต่ละที คุณต้องเข้ากลุ่มก๊วน เขาจะได้เอางบประมาณมาสนับสนุน เป็นระบบอุปถัมภ์ไปหมด โอ้โห แบบนี้ไม่ใช่ที่ของเรา ถ้าอยู่แบบนั้น ก็จะเป็นตัวของตัวเองน้อยลง ใช้เสรีภาพทางวิชาการอย่างที่พูดไม่ได้ทั้งหมดแล้ว

The MATTER: ความคิดว่านักวิชาการสามารถช่วยการเมืองได้ หนึ่งในบทบาทสำคัญของอาจารย์ คือการเป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มนิติราษฎร์ อยากให้ช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นตอนนั้น

ตอนนั้นประเทศไทยสิ่งที่เรียกว่า 'ตุลาการภิวัฒน์' ศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่มีผลกระทบทางการเมืองจำนวนมาก แต่การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาล ส่วนใหญ่อยู่ในห้องเรียน หรือเขียนข้อสังเกตท้ายฎีกา ซึ่งกว่าจะตีพิมพ์ ไม่มีใครสนใจเรื่องนั้นแล้ว โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ส่งผลกระทบในทางการเมือง เราเห็นว่าคำตัดสินหลายเรื่องสมควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ เลยออกแถลงการณ์ในกลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4-5 คน

จุดตัดมาอยู่ที่การสังหารหมู่กลางกรุงเทพฯ ปี 2553 บทบาทนักวิชาการเชิงรับที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นค่อยวิจารณ์ น่าจะไม่ได้แล้ว ต้องมีงานเชิงรุกให้ความรู้กับประชาชนด้วย สิ่งที่พวกเราเรียนมาคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ เรามองว่าเป็นสนามเดิมพันในการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อย่างน้อยที่สุดจะให้ความรู้ที่ถูกต้องกับสังคมไทย เลยตั้งกลุ่มนิติราษฎร์ขึ้นมา เพราะไม่อยากมีปัญหากับคณะนิติศาสตร์ด้วย เลยเอาคำว่า นิติศาสตร์ มาสมาสกับคำว่า ราษฎร เป็นการเอาวิชานิติศาสตร์มารับใช้ราษฎร

The MATTER: หนึ่งในข้อเสนอตอนนั้นที่ฮือฮา คือการเสนอให้ปรับแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 สื่อบางสำนักก็ไปเรียกว่ากลุ่มอาจารย์ล้มเจ้า เกิดผลกระทบกับอาจารย์เยอะมาก อยากให้เล่าคร่าวๆ อีกครั้ง ตอนนั้นปัญหาคืออะไร

ไม่ใช่แค่ตอนนั้นหรอก ผลกระทบยังมาถึงผมตอนนี้เลย (หัวเราะ) ตอนนั้นมีบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของกฎหมายอาญามาตรา 112 หลายเรื่องเป็นการกลั่นแกล้งกัน หลายเรื่องเป็นกรณีที่ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอ แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เราเห็นว่าถ้าใช้กันแบบนั้นต่อไป มันส่งผลเสียในทางเสรีภาพของประชาชน และส่งผลเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะถูกอ้างใช้กันเต็มไปหมด เลยเสนอให้มีการปรับแก้

กฎหมายอาญามาตรานี้เคยถูกแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นหลัง 6 ตุลาคม 2519 เป็นคำสั่งคณะปฏิวัติของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ แต่เป็นการแก้เพิ่มโทษ ใครบอกว่า 112 แก้ไม่ได้ ไม่จริง มันเป็นกฎหมายหนึ่งมาตราที่สามารถพิจารณาทบทวนแก้ไขได้ตลอดเวลา แล้ว 'การแก้ไขกฎหมาย' ไม่ได้เท่ากับ 'การล้มสถาบันพระมหากษัตริย์' ตรงกันข้าม การแก้ไขให้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง ยิ่งส่งเสริมพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยซ้ำ เลยเกิดเป็นข้อเสนอแล้วใช้ช่องทางตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เราไม่เคยบอกให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ ข้อเสนอคือการลดโทษให้เหมาะสม และไม่ใช่ใครเป็นผู้ฟ้องก็ได้ หลายครั้งอยากแกล้งใครก็ไปฟ้องตำรวจ ตำรวจไม่กล้าทำอะไรเลยส่งไปให้อัยการ อัยการก็ส่งไปศาล

The MATTER: อาจารย์พูดอยู่บ่อยครั้งว่า การเป็นส่วนหนึ่งกับนิติราษฎร์คือความภาคภูมิใจ เพราะอะไรถึงรู้สึกแบบนั้น

ช่วงการเมืองหัวเลี้ยวหัวต่อ โดยเฉพาะเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 การเมืองไทยเข้าสู่วิกฤต ประชาชนจำนวนหนึ่งต้องการความรู้ในเรื่องกฎหมาย นักวิชาการหรือปัญญาชนสาธารณะจำเป็นต้องแสดงบทบาทต่อสังคม อย่างน้อยที่สุด นักวิชาการมหาวิทยาลัยที่ใช้ชีวิตสบายกว่าประชาชนทั่วไป เพราะภาษีของประชาชน คุณเลยมีภารกิจที่ผูกพันกับประเทศชาติ สังคม และประชาชนด้วย มันเป็นความสบายที่แลกมาจากน้ำพักน้ำแรงของประชาชนที่จ่ายภาษี

ผมภูมิใจในบทบาทของตัวเอง ที่เป็นส่วนหนึ่งในการก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ เป็นสมาชิกของกลุ่ม เพราะเราได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหา วิกฤตการณ์การเมืองไทยที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายนั้นฝ่ายนี้แล้ว มันพัวพันกับเรื่องกฎหมายด้วย บางคนบอกว่า กฎหมายว่ายังไงก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่เอาเข้าจริง กฎหมายเป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้กับกลุ่มอำนาจหนึ่งเอาไปใช้ เราออกมาเสนอความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ก็เพื่อขยับเพดานในการทำงานทางความคิดเรื่องนี้

The MATTER: เวลาผ่านมาหลายปี ตอนนั้นเกิดความพยายามจะนิรโทษกรรมสุดซอย เกิดการชุมนุมของ กปปส*. ซึ่งมีความยืดเยื้อ ในช่วงท้ายๆ เริ่มมีกลิ่นว่า เดี๋ยวทหารมาแน่ ช่วงก่อน 22 พฤษภาคม 2557 อาจารย์คิดว่าทหารจะออกมาไหม *

ช่วงเวลานั้น ศักยภาพและอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าเปรียบเป็นไฟ มันใกล้จะดับเต็มที่แล้ว ระบบราชการเริ่มไม่ฟังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมเจอรัฐประหารครั้งแรกปี 2534 ด้วยสภาพปัญหาการเมืองก็คิดว่าไม่เกิดอีกแล้ว พอมันเกิดอีกครั้งปี 2549 คนก็งงว่ามันเกิดขึ้นได้ไง สิ่งที่เป็นปัญหาคือ มันเกิดความเชื่อที่ฝังลงไปในสังคมไทยเรียบร้อยว่า เดี๋ยวจะมีอีก เดี๋ยวจะมีอีก กลายเป็นว่า เห็นรถถังออกมาวิ่ง เฮ้ย ทำอะไรกันวะ มันเกิดอารมณ์ในสังคมว่ารัฐประหารในประเทศไทยเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะมีพลังทางอำนาจอยู่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งครองอำนาจแล้วยืนยันว่าจะอยู่แบบนี้ ไม่ยอมเปลี่ยนไม่ยอมปรับ พออีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมา ก็คิดว่าจะกดให้ได้ เลยใช้หลายวิธี เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เขียนกฎหมายใหม่ มีคำพิพากษาศาลตัดสินต่างๆ เอายังไงก็เอาไม่อยู่ สุดท้ายก็ต้องยึดอำนาจอีก

โลกของเผด็จการทหารไม่สามารถครองอำนาจได้ตลอดเวลา วันหนึ่งต้องกลับไปสู่การเลือกตั้ง วันนึงต้องกลับไปสู่ระบบปกติ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็แพ้ทุกครั้ง ทำให้สูญเสียอำนาจ พอสูญเสียอำนาจ ฝ่ายที่ขึ้นมาก็พยายามจะลุกคืบเข้าไปแก้ไข ฝ่ายเผด็จการทหารก็รู้สึกว่าจะสูญเสียอำนาจ สุดท้ายไปจบที่การรัฐประหาร พอรัฐประหารปุ๊บ คุณเลยสร้างกติกาใหม่เพื่อจะกดไว้แบบเดิม พอกดไว้แบบเดิมปุ๊บ แล้วก็ต้องกลับไปสู่กติกาปกติ ไปเลือกตั้ง เขาก็กลับมาได้อีก มันวนกลับที่เดิม มันเหมือนคนที่ขับรถแล้วเข้าผิดซอย คิดว่าตัวเองถูกซอยก็ยืนยันจะเข้าอย่างเดิมตลอดเวลา มันเลยไม่จบ วนอยู่แบบนี้

ก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พอผมเห็นการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2557 ผมเตรียมจะไปออกรายการ Wake up Thailand ของ Voice TV ประมาณตีสี่ ทาง Voice TV โทรมาหาผมตอนตีสามตีสี่ ก็ไม่ได้รับสายจนสุดท้ายรับ เขาบอกว่า “อาจารย์ไม่ต้องมาจัดแล้ว ทหารเต็มสถานีแล้ว” พอผมเห็นประกาศกฎอัยการศึกก็ยกหูหาอาจารย์วรเจตน์ (วรเจตน์ ภาคีรัตน์) ว่า แบบนี้ยึดอำนาจแน่นอน รัฐประหารแน่นอน เพราะมีการประกาศกฎอัยการศึก อีกสองวันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

The MATTER: วันที่ข่าวออกว่ายึดอำนาจแล้ว อาจารย์เกิดความรู้สึกยังไง

ผมต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักวิชาการนิติศาสตร์ให้ถึงที่สุด ช่วงเวลาแบบนั้น พลังของเหตุผล พลังของกฎหมายจะเริ่มดับ 20 พฤษภาคมมีประกาศกฎอัยการศึก ผมไปเขียนแถลงการณ์กับอาจารย์วรเจตน์ ปรึกษากับเพื่อนในกลุ่ม แล้วแถลงการณ์ทันที นี่คือการประกาศกฎอัยการศึกที่มิชอบ ผิดรัฐธรรมนูญ ผิดพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก เสนอให้ทูลเกล้าฯ พระมหากษัตริย์ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกของผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งคือคุณประยุทธ์

พอเกิดการยึดอำนาจ เราประเมินแล้วว่ารัฐประหารครั้งนี้ ผมเรียกว่า 'รัฐประหารซ่อม' ปี 2549 ทำแล้วไม่จบ ปี 2557 เลยต้องมาซ่อม ดังนั้นต้องเข้มกว่าเดิม ซึ่งก็จริง ปี 2549 ไม่เคยกระทบถึงนักวิชาการ เต็มที่เรียกนักการเมืองฝ่ายที่โค่นลงไป แต่ปี 2557 เรียกนักวิชาการ เรียกนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว เราประเมินกันว่าทหารคงอยู่ยาว แล้วก็ยาวจริงๆ

The MATTER: หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 อาจารย์กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เห็นเคยพูดว่าเวลาผ่านไปเริ่มไม่สนุกเหมือนเดิม

ผมเป็นคนชอบสอนหนังสือมากนะ วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ คลาสเริ่มแปดโมง ผมตื่นตีห้า ออกจากบ้านต้องไม่เกินหกโมง ไม่อย่างนั้นรถติด สนุกทุกครั้ง

แต่พอหลังปี 2557 เราเริ่มรู้สึกไม่สนุกตรงที่ว่า สุดท้ายสิ่งที่เราสอน สิ่งที่บรรยาย สิ่งที่ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ มันอยู่แค่ในหนังสือและห้องเรียน เราสอนสิ่งที่ถูกต้องไป นักศึกษารู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่เมื่อจบการศึกษา ภายใต้ระบอบการเมืองการปกครองเป็นแบบนี้ สภาพสังคมเป็นแบบนี้ อำนาจเผด็จการทหารที่ครองอำนาจแบบนี้ เมื่อออกไปทำงาน จะรับราชการหรือทำในบริษัทเอกชน เขารู้ว่าอะไรถูกผิดแน่นอน แต่ใครจะกล้าแสดงออกบ้าง

คุณเป็นข้าราชการคุณก็ไม่กล้า คุณทำงานบริษัทเอกชนคุณก็ไม่กล้า ไม่มีใครกล้าพูดอะไรในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะอะไรครับ เพราะไม่งั้นเดี๋ยวคุณซวย มันเกิดสภาพ “การอยู่เป็น” ไปเรื่อยๆ รู้นะว่าที่ถูกเป็นยังไง แซวเผด็จการทหารทุกวัน มันทำแบบนี้ไม่ถูก แต่ถามว่ามีการต่อต้านไหม ไม่มี มีความหวังจะเปลี่ยนแปลงมั้ย ไม่มี ไปๆ มาๆ ผมสอนเพื่อให้คนเหล่านี้กลายเป็นกลไกของรัฐ ไม่กล้าแสดงออก ผ่านไปนานวันๆ ก็ถูกดูดซับดูดกลืนจนกลายเป็นระบบนี้ได้ วันหนึ่งคุณขึ้นเป็น C7 C8 ไปเป็นตุลาการ ไปอยู่ในหน่วยงานต่างๆ การแสดงออกของคุณก็จะน้อยๆๆ ไปเรื่อยๆ เพราะว่าต้องอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ แล้วเราสร้างคนที่รู้ว่าที่ถูกที่ผิดคืออะไร แต่ไม่สามารถเอาไปใช้ได้ ด้วยความจำเป็นว่า “ต้องอยู่ในเป็น” เฮ้ย แบบนี้สอนหนังสืออย่างเดียวอาจจะไม่ได้แล้ว แต่การไปเรียกร้องกับคนอื่นก็ไม่เป็นธรรม ผมเลยเรียกร้องกับตัวเองเยอะขึ้น

หลังแพ้ประชามติ มันเหลือเชื่อ แพ้ได้ยังไง ในเมื่อประชาธิปัตย์ เพื่อไทย สองพรรคบอกว่าไม่เอาทั้งคู่ เสียงรวมกันต้องชนะถล่มทลาย ทำไมมันแพ้? แล้วสังคมไทยจะอยู่แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ อย่างนั้นเหรอ ไม่ได้ละ ต้องทำอะไรบางอย่าง ปีนั้นได้ทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส 6 เดือนเพื่อจะไปศึกษาเพิ่มเติม ก็ลาสอนไปหนึ่งภาคการศึกษา ไปตอนมกราคม 2559 ช่วงนั้นนั่งคิดกับตัวเองมากขึ้นๆ

The MATTER: คิดอะไรบ้าง

ผมไปศึกษาขบวนการพรรคการเมืองทางเลือกใหม่ๆ ในยุโรป ก็คล้ายกับเรานะ เกิดวิกฤตการณ์ตรงที่ว่า เลือกพรรคฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาแทบไม่แตกต่างกัน คนเริ่มสิ้นหวังกับการเลือกตั้ง “เลือกไปทำไมวะ เลือกไปก็เหมือนเดิม” ช่วงเวลานี้เอง ทำให้พรรคขวาจัดโผล่ขึ้นมาด้วยการรณรงค์หาเสียงปกป้องผลประโยชน์ของชาติ คนเลยแห่ไปเลือกกันเต็ม ฟากอเมริกากลายเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ หลายพรรคของยุโรปก็ขึ้นมา เลือกนี่เลย ชัดเจน ตรงประเด็น ปกป้องผลประโยชน์ชาติ” กระแสขวาจัดเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็มีฝ่ายซ้ายทางเลือกใหม่ออกมาบอกว่าไม่ได้ เราต้องสร้างพรรคขึ้นมา พรรคฝ่ายซ้ายแบบดั้งเดิมคอมมิวนิสต์ไปต่อไม่ได้ เพราะอะไร คุณจะเดินตามแนวทางการปฏิวัติต่างๆ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เริ่มต้นที่กรรมกร นี่คือออร์ทอดอกซ์ (Orthodox) เลยนะ ทีนี้มันก็มีแนวทางเสนอขึ้นมา เป็นปรัชญาเมธีชาวอาร์เจนตินากับชาวเบลเยียม สองคนนี้เป็นสามีภรรยากัน ผู้ชายชื่อ เออร์เนสโทร ลาคาล (Ernesto Laclau) ผู้หญิงชื่อ ชองทา มูฟ (Chantal Mouffe) เป็นคนเบลเยียม ทั้งสองเป็นสามีภรรยาและเขียนหนังสือร่วมกันหลายเล่ม หลักใหญ่ใจความของความคิดอยู่ตรงที่ เขาเรียกว่า Post- Marxism บอกว่า ที่ผ่านมา Marxism  อยากเปลี่ยนแปลงอะไรมักจะ exclude ปัญหาของคนอื่นออกไป

ชองทา มูฟ เล่าให้ฟังว่า ขบวนการเฟมินิสต์ เพศหลากหลาย สิ่งแวดล้อม เวลานำเสนอ พวกซ้ายดั้งเดิมจะบอกว่า “เรื่องนี้สำคัญ เข้าใจ แต่เชื่อเราเถอะ ต้องเริ่มต้นที่กรรมกร ปฏิวัติกันที่ชนชั้นกรรมาชีพก่อน” และก็ exclude คนอื่นออกไป เขามองว่าคุณอธิบายด้วยเส้นแบ่งอย่างเดิมไม่ได้ ให้แบ่งแบบใหม่ คือคุณต้องไปรวมเอาความต้องการของสังคมจากคนทุกกลุ่มออกมาให้ได้ ผมก็มาศึกษา พรรคการเมืองที่ทำสำเร็จคือพรรคโปเดมอส (Podemos) ของสเปน ใช้ทฤษฎีการเมืองชี้นำจนได้ที่สาม เพิ่งตั้งได้ไม่นาน แล้วคนตั้งก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อีกอันคือ พรรคลาฟรองซ์ อินซูมิส ที่ฝรั่งเศส ลงครั้งแรกก็ได้คะแนนเยอะมาก แล้วก็พยายามใช้การสื่อสารสมัยใหม่เป็นเครื่องมือ

เวลาเทคโนแครตครอบงำสังคมก็มักจะถอดการเมืองออก เพื่อจะบอกว่านี่เป็นเรื่องของเทคโนแครต เป็นเรื่องของเทคนิคต่างๆ แต่พรรคแบบนี้ (โปเดมอส, ลาฟรองซ์ อินซูมิส) บอกว่า เราจะฟื้นประชาชนกลับมา ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและคืนความเป็นการเมือง คือให้ทุกเรื่องเป็นเรื่องการเมือง ดีเบตถกเถียงกัน ไม่ใช่บอกว่าคุณโหวตไปไม่มีประโยชน์หรอก เดี๋ยวสภายุโรปก็เคาะออกมา จบ นี่คือการดึงเรื่องพวกนี้กลับมา ขีดเส้นแบ่งใหม่ แล้วเวลารณรงค์ พรรคเล่านั้นไม่ได้พูดคัมภีร์แบบซ้ายๆๆ สิ่งนี้ชองทา มูฟ เรียกว่า 'populist' เมื่อก่อนคำว่า populist ที่ภาษาไทยแปลว่า ประชานิยมเนี่ย ถูกดึงไปไว้กับพวกขวาจัด นี่เขาบอกว่าต้องสร้าง populist แบบซ้ายเพื่อไปสู้กับ populist แบบขวา ก็เกิดไอเดียแบบนี้ขึ้นมา เกิดพรรคแบบนี้ขึ้นมา

ผมเลยคิดถึงการเมืองไทย สังคมไทยถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างที่ไม่เคยปรากฏมา 13-14 ปี ประเภทว่า ถ้ามึงอยู่ข้างนี้ กูอยู่ข้างนี้ มึงทำอะไรก็ผิดหมด เป็นสภาพที่คุยกันไม่ได้เลย ตกลงหาฉันทามติอยู่ร่วมกันไม่ได้เลย กลายเป็นเหยื่ออันโอชะของเผด็จการทหาร รัฐบาล คสช. ที่อยู่มาได้ถึง 5 ปีก็เพราะแบบนี้

วันดีคืนดีคุณเบื่อฝ่ายหนึ่ง ก็เชิญทหารเข้าไป ทหารทำระยำตำบอน ทุจริตอะไรต่างๆ แต่คุณรู้สึกว่าทนไปเถอะ เดี๋ยวทหารออกไปแล้วพวกเดิมกลับมา เราถูกขีดเส้นแบ่งความขัดแย้งเพียงสีเสื้อและการเชียร์พรรคการเมืองใหญ่คนละพรรค ผมบอกว่า เฮ้ย… ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ใช่แล้ว

สถานการณ์ในบ้านเรา ฝ่ายหนึ่งพยายามสนับสนุนเรื่องการเลือกตั้ง สนับสนุนการเมืองแบบผู้แทน เลือกตั้งแล้วได้เป็นรัฐบาล อีกฝ่ายหนึ่งพยายามเดินทางเรื่องระบบการตรวจสอบ การต่อต้านคอร์รัปชัน การทุจริตต่างๆ สองฝ่ายยืนอยู่บนฐานความชอบธรรมคนละชุด คิดจริงหรือไม่จริงเป็นอีกเรื่องนะ แต่สิ่งที่หยิบมาใช้คือเรื่องนี้ ปัญหาคือมันเป็นการแบ่งที่หยาบเกินไป แดง-เหลืองน่ะ วันหนึ่งคุณสนับสนุนการเลือกตั้ง บอกว่า “ยึดอำนาจไม่ได้นะ มันต้องมีทางออกของมัน” คนกลุ่มนี้ (ฝั่งเหลือง) บอก “ไอ้ห่า มึงเป็นสีแดง” ฝั่งนี้บอก “เฮ้ย เอาเข้าจริงกูก็เชียร์ระบบการตรวจสอบคอร์รัปชันด้วยนะ” เช่นเดียวกัน ไอ้คนที่บอก “อะไรเนี่ย พรรคการเมืองนี้มีเจ้าของคนเดียว สั่งอะไรก็เป็นอย่างนั้นหมด ทุกคนยอมตามหมด ออกกฎหมายเหมาเข่งกันตีสองตีสาม” แล้วก็ดีเฟนด์รัฐบาลเลือกตั้ง แต่ฝั่งนี้บอก “ไอ้ห่ามึงเป็นสลิ่ม เป็นเสื้อเหลือง ไม่เข้าใจการเมืองเลือกตั้ง” มันเกิดลักษณะแบบนี้ แล้วสงครามที่ทะเลาะกันในโซเชียลมีเดียวนกันอยู่แต่เรื่องแค่นี้ ถ้าอีกข้างหนึ่งทำ กูจะบี้มึงให้ติดข้างฝา มึงเลว มึงชั่ว ชั่วไม่มีเหตุมีผล

แล้วการบอกว่า “ข้าเท่านั้นที่เป็นฝั่งประชาธิปไตย” ทั้งๆ ที่มีการละเมิดหลักการประชาธิปไตยหลายครั้งแล้ว เช่นเดียวกัน อีกข้างหนึ่งบอกว่ามีแต่ข้าเท่านั้นที่ทรงคุณธรรมในการตรวจสอบ นักการเมืองชั่วร้าย โกงหมด แล้วมันอยู่แบบนี้ ผมเลยมานั่งคิด ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผมเป็นทหารก็อยู่ได้ตลอด ปล่อยให้มีเลือกตั้งแล้วมันเป็นแบบนี้ ก็กลับมายึดอำนาจใหม่ ผมก็ประยุกต์ทฤษฎีของเออร์เนสโทร ลาคาล และ ชองทา มูฟ มาใช้ คุณจะเชียร์พรรคการเมืองคนละพรรค ใส่เสื้อคนละสี เป็นเรื่องปกติในการเมืองแบบระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ได้หมายความว่าคุยไม่ได้แล้วเปิดโอกาสให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ผมจึงเสนอให้ชี้ชวนความขัดแย้งชุดใหม่ที่ถูกต้อง คือ ทุกคน, คุณถอดเสื้อถอดสีออกไปก่อนนะ คุณต้องการอะไรจากประเทศนี้ คุณทนเห็นอะไรในสังคมไทยไม่ไหวแล้ว ใน 14 ปีที่ผ่านมา คุณมองเห็นอนาคตของลูกหลานไหม คุณมองเห็นเรื่องการศึกษาที่ดีมีคุณภาพไหม คุณมองเรื่องความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นเรื่อยๆ ไหม คุณต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีไหม ทุนผูกขาดกินรวบประเทศแบบนี้ จะเอาเหรอ เราชี้ชวนให้มาดูกัน จะเอารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีทหารขี่คอแบบนี้ทุกครั้ง จะเอาแบบนี้เหรอ ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพกันถ้วนทั่วไม่ว่ากูจะเชียร์พรรคไหนก็เถอะ เหนือ ใต้ อีสาน ออก ตก โดนหมด เชียร์พรรคเพื่อไทย เชียร์ประชาธิปัตย์ คุณโดนละเมิดสิทธิหมดไม่ว่าคุณจะเชียร์พรรคไหน ผมก็มานั่งวิเคราะห์ว่า เฮ้ย… นี่แหละคือ social demand สิ่งที่เราให้ชื่อว่า “ประชาชน” ไม่ได้เสื้อเหลืองเสื้อแดงนะ

ผมเลยยกตัวอย่างในวันปราศรัยปิด 22 มีนาคม ผมไปเจอชาวประมงที่ภาคใต้ เขาก็ไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้ที่ไปจัดการประมง แล้วภาคใต้เป็นฐานคะแนนของใครคุณก็ทราบดี ผมไปอยู่ภาคใต้ เขาก็ไม่ชอบมาตรการเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องทุนผูกขาดกินรวบทั้งประเทศ คนอีสานก็ไม่ชอบทุนผูกขาดกินรวบทั้งประเทศ คนเหนือก็ไม่ชอบทุนผูกขาดกินรวบทั้งประเทศ ภาคใต้บอกว่า เขาอยากทำธุรกิจอะไรเล็กๆ ก็โดนทุนผูกขาด - เหนือก็บอก อีสานก็บอก คิดแบบเดียวกัน ผมไปภูเก็ตก็อยากให้ภูเก็ตเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นพิเศษ เป็นจังหวัดจัดการตัวเอง ไปเชียงใหม่ก็อยากเป็นแบบนี้ ไประยองก็อยากเป็นแบบนี้ ดังนั้นมันคือความต้องการร่วมกัน แต่พอคุณใส่เสื้อคนละสี คุณหยิบนวมต่อยกันเลย ต่อยไปต่อยมามันเข้าทางอำนาจทหาร เฮ้ย… เอาใหม่ ทุกคนถามตัวเอง ถอดเสื้อออก ถามตัวคุณเองว่าโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินไทยชุดความขัดแย้ง 14 ปีนี้ มันทำให้คุณเสียอะไรไป แล้วคุณอยากให้สังคมไทย อนาคตใหม่เป็นแบบไหนที่คุณต้องการ นี่คือไอเดียที่เราทำตรงนี้ขึ้นมา

ผมยืนยันว่าไม่ได้เรียกร้องให้คุณสลายสีเสื้อ คุณเชียร์คนละสีคนละพรรคให้มันเป็นเรื่องปกติ แต่หน้าที่ของพรรคอนาคตใหม่ คือเข้ามาแล้วบอกว่า เราจะวิเคราะห์สังเคราะห์หล่อหลอมบรรดาความต้องการคนทุกกลุ่มทุกประเภท เพื่อจะชี้ชวนให้เห็นว่าความต้องการที่คุณมีปัญหาต่างๆ มันเกิดขึ้นจากโครงสร้างบริหารประเทศนี้ วิกฤตการณ์ 14 ปีประเทศนี้ต่างหากที่ทำให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ นี่คือวิธีของเราที่ผมรับอิทธิผลจากทฤษฎีที่เล่าให้ฟัง

 

*The MATTER: โมเมนต์ที่ตัดสินใจลงมาเล่นเอง ลังเลบ้างหรือเปล่า หรือเราจะสวมหมวกนักวิชาการแล้วให้คนอื่นมาเล่นดีกว่าไหม *

ช่วงนั้นผมคุยกับคุณธนาธรบ่อยๆ เราร่วมกันรณรงค์เรื่องโหวตโนประชามติ แต่ไม่สำเร็จ แบบนี้ต้องทำอะไรสักอย่าง เลยปรึกษากัน ทีแรกจะทำเป็น social movement สุดท้ายด้วยอะไรหลายๆ อย่าง จังหวะเวลา พฤติกรรมของคนในสังคมไทย ไม่น่าจะนิยมเรื่อง social movement งั้นสร้างเป็นพรรคแล้วลงสมัครละกัน ก็คิด ตัดสินใจ ลังเลใจ แล้วก็อย่างที่เคยให้สัมภาษณ์ไปแล้ว ต่างฝ่ายต่างไปคิด สุดท้ายก็ออกมาเป็นพรรคอนาคตใหม่

 

*The MATTER: พรรคอนาคตใหม่วางบทบาทตัวเองยังไง *

ผมว่าสิ่งที่ทำยากกว่าตอนพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้นนะ ยากกว่าหลายเท่า เราสู้กับรัฐบาลทหารที่ใช้กลไกรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ พูดง่ายๆ คมหอกคมดาบเต็มไปหมดเลย แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ข้างเรา คือเทคโนโลยีและคนรุ่นใหม่ ผมจับจุดเรื่องนี้และคิดว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์ การจะหลอมรวมทุกฝ่าย คุณต้องพยายามทำความเข้าอกเข้าใจคนที่ไปสนับสนุนเผด็จการทหาร ถ้าคุณบอกว่ายืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แล้วจะเอาชนะทางการเมือง การชนะทางการเมืองคือการทำงานทางความคิด หาพวกมาเพิ่ม

แต่ถ้าคุณบอกว่าคุณอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แต่ไม่ทำอะไรนอกจากด่าๆๆ “มึงแม่งควาย มึงแม่งสลิ่ม มึงแม่งโง่” “มึงแม่งควาย มึงแม่งสลิ่ม มึงแม่งโง่” “มึงแม่งควาย มึงแม่งสลิ่ม มึงแม่งโง่” วนไปวนมาแค่นี้ คุณก็ได้แค่นี้ อีกพวกก็บอกว่า “มึงมันขี้ข้าทักษิณ” “มึงมันขี้ข้าทักษิณ” “มึงมันขี้ข้าทักษิณ” การเมืองก็อยู่แค่นี้ ถ้าผมเป็นนายพลคงเอามือลูบปากเลย

เราต้องแยกแยกก่อนว่าฝ่ายสนับสนุนเผด็จการมีเลเวล พวกที่ไปอี๋อ๋อเอ็นจอยมีความสุข แสวงหาประโยชน์โพดผล นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่มันมีคนเล็กคนน้อยที่ไม่ใช่แบบนั้นด้วย ซึ่งก็เหมือนกับอีกข้างที่คนจำนวนมากไม่ได้อยู่ในชนชั้นนำ คนเหล่านี้เป็นเพื่อนร่วมชาตินะ แล้วคุณจะยืนชี้นิ้วด่ากัน สังคมก็แย่ลงๆ ตอนพฤษภาทมิฬปี 2535 คนจำนวนมากออกไปต้านพลเอกสุจินดา ต้าน รสช. แล้วคนเหล่านี้อีกไม่น้อย งวดนี้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ มันเป็นไปได้ยังไง คนที่เชื่อมั่นเรื่องการเลือกตั้ง เรื่องระบบรัฐสภา ระบบผู้แทน อยู่ดีๆ หันไปสนับสนุนทหาร ถ้าคุณวิเคราะห์ง่ายๆ ก็แพ้เลือกตั้งไง ไม่มีปัญญาชนะ ถ้าคิดแบบนี้ใครๆ ก็ตอบได้ เราต้องวิจารณ์ด้วยว่าฝ่ายที่เรียกว่า 'ประชาธิปไตย' มีปัญหาอะไร อย่าเอาคำว่าฝ่ายประชาธิปไตยมาเป็นภาพลวงตาแล้วบอกว่าคุณทำอะไรก็ถูกหมด

สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนสนับสนุนทหารให้มายึดอำนาจ เพราะคนสิ้นหวังกับระบบรัฐสภา กับการเลือกตั้ง กับประชาธิปไตยแบบผู้แทน เลือกไปก็ไม่มีประโยชน์ พอคนสิ้นหวัง เหลือบไปหาอีกพรรคแล้วไม่เห็นว่าเป็นทางออก เลยเชียร์ทหาร คิดว่าสักพักก็คงไป เดชะบุญว่าทหารชุดนี้บริหารแล้วก็มีปัญหาบริหารได้ไม่ตรงตามเป้าที่ต้องการ กระแสก็ตกมานาน เราเห็นแล้ว อย่างนี้แหละ เป็นประตูโอกาสที่คุณต้องเชื้อเชิญคนให้กลับมาสู่เส้นทางที่ถูกต้อง ผมเลยตัดสินใจตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เป็นอยู่เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับอำนาจเผด็จการทหาร กับทุนผูกขาด ไม่ใช่ความขัดแย้งในหมู่ประชาชนที่แบ่งเป็นสีแดงสีเหลือง

ดูจากผลการเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จพอสมควร เราได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ในหลายจังหวัด แล้ววันที่ลงหาเสียงที่แต่ละที่ คนพูดกันว่า เมื่อก่อนสนับสนุนให้ คสช. ยึดอำนาจ ดีใจมากที่พลเอกประยุทธ์เข้ามา บางคนไปชุมนุมกับ กปปส. ด้วย วันที่ผมปิดปราศรัยใหญ่ แล้วลงมาถ่ายรูป มีคนมาบอกว่า เมื่อก่อนเกลียดอาจารย์ฉิบหาย วันนี้ได้มานั่งฟังอาจารย์ เข้าใจแล้วว่าปัญหามันคืออะไร มันได้จังหวะเวลาพอดี หลายคนทนไม่ไหวกับสภาพแบบเดิม

*The MATTER: ตอนลงพื้นที่หาเสียง อยากให้อาจารย์เล่าให้ฟังว่า เห็นอะไร รับรู้อะไรต่อปัญหาของบ้านเมือง *

จริงๆ ตอนผมเป็นนักวิชาการ ก็ไปลงพื้นที่ต่างๆ เหมือนกัน แต่การหาเสียงเลือกตั้งเป็นอีกแบบ ผมไปทั่วเลย สิ่งหนึ่งที่เราทราบกันอยู่แล้วว่า ประเทศนี้ความเหลื่อมล้ำสูงมาก แต่เป็นข้อมูลตัวเลข แต่พอไปหาเสียงได้เห็นจริงๆ ว่า อำนาจไม่ถูกกระจายออกไป ความเจริญไม่ถูกกระจายออกไป โอกาสไม่ถูกกระจายออกไป คุณภาพชีวิตไม่เท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำมีสูง พอไปเห็นก็นึกย้อนไป พ่อแม่ผมล้มละลายทั้งคู่นะ สาเหตุหลักเพราะว่า เงินที่กู้มาสุดท้ายเอามาลงกับการศึกษาของลูกทั้งสี่ เรียกได้ว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ผมยอมอุทิศชีวิตเพื่อสร้างคนรุ่นผม ถ้าพ่อแม่ผมไม่เสียสละทำเรื่องนี้ ผมจะไปอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้

*The MATTER: ความเหลื่อมล้ำที่เห็นตอนลงพื้นที่คืออะไร *

รายได้เนี่ย ชัดนะ แล้วยังเป็นหนี้อีก ตอนนั้นไปหาเสียงที่กาญจนบุรี ผมเจอคุณยายที่เป็นเกษตรกร ผมก็พูดไปเรื่อย แล้วแกมาช้ากว่าคนอื่นเพราะไปขุดมัน อายุประมาณ 84 ปีแล้ว หลังค่อมมาเลยนะ แล้วที่ยังขุดมันเพราะเป็นหนี้ ธกส. แกไม่อยากให้มายึดที่ดินผืนสุดท้าย มันคือสมบัติชิ้นเดียวที่มี ก็ขุดมัน แล้วส่งดอกๆๆ ส่งจนท่วมไปหมดแล้ว แกพูดไปยิ้มไป แล้วผมพูดประโยคนึงว่า “โอ้โห คนสูงอายุขนาดนี้ ยังต้องมาทำงานอีก ยายมีความสุขในการทำงานใช้หนี้ เข้าใจนะ เพราะยายต้องการรักษาที่ดินผืนนี้ แต่มันคือความสุขบนน้ำตา คือเต็มใจจ่ายหนี้บนโชคชะตา” แกก็ยิ้มแหละ แต่น้ำตาไหลแล้ว ในเพจของพรรคยังมีคลิปอยู่เลย ผมมาคิด ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง เราใช้เงินไม่รู้กี่ล้านล้าน

ก็มาคิด ตอนมันวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นเราใช้เงินไม่รู้กี่ล้านเพื่อจัดการสถาบันการเงิน ล่าสุดใช้ ม.44 ยืดชำระหนี้ให้กับทีวีดิจิตอลพร้อมกันหลายๆ ช่อง ใช้ ม. 44 จัดการเรื่อง 5G ทำไมทำได้ แต่นโยบายอะไรต่างๆ ที่ทำเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำไม่ได้ นี่แหละคือความสำคัญของการเมือง มันคือการที่คุณมีอำนาจตัดสินใจแบ่งสรรปันส่วนเรื่องแบบนี้

The MATTER: หลายคนมองว่า ความรวย-ความจนเกี่ยวกับความขยันและความรู้ในการทำมาหากิน

ถ้าเอาความขยัน คนยากคนจนตื่นเช้าเพื่อทำงาน จำนวนชั่วโมงงานเยอะที่สุด คนรวยเนี่ย ตื่นสายๆ เข้ายิม เข้าฟิตเนส ตอนเย็นไปกินข้าวพูดคุย ดูตัวเลขนิดหน่อย เงินก็เข้ามาแล้ว แบบนี้ใครขยันกว่า ทำไมขยันแล้วยังจนกว่าเดิม จริงๆ ไม่ใช่เรื่องขยัน-ขี้เกียจ หรือเรื่องฉลาด-โง่ มันเป็นเรื่องโครงสร้างของประเทศที่สะสมหมักหมม มันไปสนับสนุนให้กับคนกี่คน แล้วมันสะสมเรื่อยๆ จนช่องมันถ่าง ถ้าเราบอกว่าคนไทยโง่ คนไทยขี้เกียจ เฮ้ย ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ไม่ได้นะ ประเทศไทยเกิดขึ้นมาได้เพราะเพื่อนร่วมชาติทุกคนร่วมกันทำผลิตผลออกมานะ แต่ที่เดินมาถึงจุดนี้แล้วความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น แสดงว่ามีปัญหาที่โครงสร้างในการแบ่งสันปันส่วนทรัพยากรนะครับ

The MATTER: เรื่องอะไรอีกที่เจอตอนลงพื้นที่

เรื่องนี้เป็นปัญหาเส้นผมบังภูเขา คือ หน่วยงานท้องถิ่นรู้ว่าต้องทำอะไร แต่ปัญหาคือทำไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจ ไม่มีงบ ที่เราเรียกว่ารัฐราชการรวมศูนย์ การตัดสินใจมาจากส่วนกลางหมด แล้วให้สิ่งที่คนในพื้นที่ไม่อยากได้ ถ้าคุณปลดล็อกตรงนี้ เอาอำนาจกลับไปไว้ในท้องถิ่น ปล่อยให้บริหารจัดการกันเอง มันคลี่คลายไปได้เยอะ ประเทศไทยจะระเบิดศักยภาพพรึ่บขึ้นมาทั่วประเทศ การรวบการตัดสินใจเป็นมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย คุณสร้างระบบรัฐราชการรวมศูนย์มาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เพื่อจะสร้างรัฐสยามมาเพื่อจะป้องกันอาณานิคมต่างๆ แต่จนวันนี้ก็ยังเป็นมรดกตกทอด เราไม่ไว้วางใจในคนในพื้นที่แก้ไขปัญหา

The MATTER: เป็นเสียงที่คนในหลายพื้นที่พูดไหม

เป็นจุดร่วมเลย พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงจำนวนมากจากเรื่องนี้นะ อย่างที่ผมบอก นี่คือ social demand อันหนึ่ง มาจากเหนือ อีสาน ตะวันตก ตะวันออก ใต้ กลาง ทุกคนบอกว่าอำนาจมารวมศูนย์ที่ตรงกลาง

The MATTER: เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการมาเป็นนักการเมือง อาจารย์ต้องปรับตัวเยอะไหม

สิ่งที่ต้องปรับคือ ศัพท์แสงทางวิชาการเอามาใช้ในการปราศรัยได้น้อยลง ต้องปรับวิธีการนำเสนอ ศิลปะอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนนักวิชาการมาเป็นนักการเมือง และเป็นความท้าทายของผมด้วยนะ คือคุณจะทำยังไงให้ความรู้มาสื่อสารในทางการเมือง ถูกสื่อสารในทางการเมืองได้ ถ้าเป็นนักวิชาการ อยากเอาความรู้สื่อสาร เราก็เขียน ก็สอน ถ้านักศึกษาอ่านไม่รู้เรื่อง เราบอกนักศึกษาว่า “คุณต้องขยันนะ” (หัวเราะ) แต่พอเป็นนักการเมือง คุณบอกว่าทำไมประชาชนไม่เข้าใจไม่ได้นะ หลายครั้งผมใช้โอกาสจากงานการเมืองเพื่อพูดความรู้ ผมโดนคดีดูหมิ่นศาล แทนที่ผมจะอยู่เงียบๆ ผมอธิบายว่าความผิดฐานดูหมิ่นศาลคืออะไร มันมีปัญหายังไงในมาตรานี้ จะถูกเอาไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองยังไง หรืออย่างชี้แจงเรื่องหุ้นของคุณธนาธร ผมก็อธิบายกฎหมายหุ้นส่วนบริษัทมันเป็นยังไง หรืออย่างครบรอบ 75 ปีผู้หญิงฝรั่งเศสมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ผมก็ถือโอกาสอธิบายว่า ความเป็นไทยที่เราควรภาคภูมิใจ คือเราก้าวหน้ากว่าฝรั่งเศส คือเราให้ผู้หญิงเลือกตั้งก่อนฝรั่งเศสเสียอีก เปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งปี 2475 เราให้ผู้หญิงเลือกตั้งทันที เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้เลือกตั้ง ถ้าคุณอยากภูมิใจอะไรในความเป็นไทยและอยากจะไปอวดโลก อันนี้เลย

The MATTER: อาจารย์เคยพูดว่าผมเชื่อว่าสิ่งที่ฝันจะเกิดขึ้นได้ต้องลงมือทำ เชื่อมั่นในความเป็นไปได้ การเมืองคือความเป็นไปได้ ถ้าเราคิดว่าเป็นไปไม่ได้จะไม่เกิดอะไรขึ้นเลย แต่ถ้าเชื่อว่าเป็นไปได้และลงมือทำ โอกาสจะเกิดขึ้นได้” อยากให้พูดถึงเรื่องนี้

อย่างที่บอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์ คือจินตนาการ มันทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในทุกที่ทุกโอกาส เวลาเรียนหนังสือสูงๆ งานวิจัยในทางกฎหมายจะเสนออะไร ก็กฎหมายไม่ดีไง แก้กฎหมาย ข้อเสนอคือแก้กฎหมาย ข้อเสนอเรื่องการศึกษา คือให้ความรู้ประชาชนมากขึ้น คือมันจะเป็นแพทเทิร์นแบบนี้ พูดอีกก็ถูกอีก คือมีปัญหาก็แก้กฎหมาย เพราะทุกเรื่องถูกทำให้เป็นกฎหมายหมด แต่สำหรับผม หลังๆ บูรณาการความรู้ที่อ่านมานอกสาขา สิ่งที่สำคัญที่สุดของปัญญาชนของนักวิชาการ ไม่ใช่เรื่องการบอกว่าการแก้กฎหมายฉบับไหน ไม่ใช่การเสนอทางออกแก้วิกฤต แต่คุณต้องเปิดพรมแดนของจินตนาการให้ได้ ทำให้คนฉุกคิด หาความเป็นได้ใหม่ๆ แค่คุณเขียนหนังสือหนึ่งเล่ม แล้วกระตุ้นเตือนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ เรื่องนี้สำคัญมาก ดีกว่าการเขียนวิทยานิพนธ์แล้วบอกว่า ข้อเสนอหนึ่ง แก้กฎหมายฉบับนี้ ข้อเสนอสอง แก้ฉบับนี้

ถ้าทุกคนยืนยันว่า “เป็นไปไม่ได้ อยู่แบบเดิม” ผมยกตัวอย่าง โรซา ปาร์ค หญิงผิวดำที่ขึ้นรถเมล์ นั่งที่ที่แบ่งไว้ให้คนขาว ถ้าวันนั้นเขายืนยันว่าตำรวจมาเชิญลงก็ลง ไม่เถียง ป่านนี้ก็ยังเหมือนเดิม ถ้าขบวนการสตรีนิยมไม่ต่อสู้เรื่องการทำแท้ง ป่านนี้ทำแท้งก็ยังโดนประหารชีวิต ถ้าไม่เปิดพรมแดนจินตนาการความรู้ใหม่ๆ โลกมันไม่มีเปลี่ยน มันอยู่แบบเดิมแน่นอน ป่านนี้ยังเชื่อว่าโลกแบน ผมเชื่อว่านี่คือภารกิจสำคัญ ปรัชญาเมธีฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ผมชื่นชอมมาก คือ อแลง บาดิยู ผมจะโควทเรื่องนี้มาใช้บ่อยๆ คือ การเมืองคือเรื่องความเป็นไปได้

The MATTER: อาจารย์จินตนาการถึงพรรคการเมืองแบบใหม่ที่จะมาเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย ยังไม่ทันเริ่มต้นก็โดนท้าทายเต็มไปหมด อยากรู้ว่าจินตนาการของอาจารย์ยังหนักแน่นเหมือนเดิมหรือเปล่า สั่นคลอนบ้างไหม

ตอนเราเริ่มคิดทำพรรค ก็มีฝ่ายที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้อยู่ตลอด แต่เราเชื่อว่าเป็นไปได้ เช่น คุณเริ่มตั้งพรรคในสถานการณ์ที่รัฐบาล คสช. ครองอำนาจอยู่ มีกลไกรัฐแบบเผด็จการเต็มไปหมด มันยากจะตาย กฎหมายพรรคการเมืองก็ยาก แต่ถ้าเราคิดว่าไม่ได้ ก็ฝันอยู่ที่บ้าน อยากมีพรรคการเมืองในฝัน แต่ไม่กล้าทำ เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ หรือพอลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ตั้งใจว่าจะประหยัดงบประมาณ ไม่ใช้เงิน ไม่ใช้ระบบซื้อ ส.ส. ไม่มีหัวคะแนน คนบอกเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะมี ส.ส. ถ้าคุณไม่ซื้อ ส.ส. ไม่มีหัวคะแนน ไม่มี ส.ส. เก่าเลย แต่เราก็ทำ

สื่อสารมวลชนเกจิอาจารย์ต่างๆ วิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์ ช้างชนช้าง ไม่มีคำว่า พรรคอนาคตใหม่ เลยนะ เกจิอาจารย์ประเมิน ส.ส. เขตของอนาคตใหม่ 0 ที่นั่ง ได้แต่ปาร์ตี้ลิสต์เก็บแต้ม เราไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นไปได้ แล้วก็เป็นจริงๆ ได้ ส.ส. เขตมา 30 ที่นั่ง และที่เกือบชนะอีกหลายเขตด้วยซ้ำ ฉะนั้นสำหรับผม ทุกวินาที ทุกก้าวย่างพรรคอนาคตใหม่ คือความเป็นไปได้ทุกครั้ง ถ้าเราไม่เชื่อมั่นว่ามันเป็นไปได้ ก็ต้องอยู่แบบเดิม

ถ้าคุณเข้ามาตั้งพรรคการเมือง คุณเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. คุณคิดว่าชีวิตนี้อยากเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี อยากมีรูปติดฝาบ้าน ถ้าคิดกันแบบนี้ คุณก็จะไม่กล้าทำอะไรทั้งสิ้น เพราะคุณจะคิดว่า เดี๋ยวซวยจะไม่ได้เป็น เดี๋ยวจะไม่ได้เป็นๆๆ

แต่พรรคอนาคตใหม่คิดเรื่องการเข้าไปมีอำนาจ ไม่ใช่เพราะอยากเป็นหรืออยากมีอำนาจ แต่เพราะจำเป็นต้องใช้ในการเปลี่ยนแปลง พอคิดได้แบบนี้ ทุกก้าวย่างของเราคือเพื่อการเปลี่ยนแปลง ถ้าผมหรือคุณธนาธรอยากเป็น ส.ส. สักสมัย หาทางไปอยู่พรรคอื่นก็ได้ แป๊ปเดียวได้เป็นแล้ว แต่เราไม่ได้คิดเรื่องนี้ เลยอิสระมากขึ้น

The MATTER: คุณธนาธรบอกว่าพร้อมที่จะติดคุก เตรียมใจเรื่องความเสี่ยงมาประมาณหนึ่ง อาจารย์เตรียมใจเรื่องความเสี่ยงของตัวเองมากน้อยแค่ไหน มีเส้นแบ่งหรือเปล่า ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้ ถอยดีกว่า

ยืนยันว่าก่อนตัดสินใจกัน เราไม่ได้ไร้เดียงสาขนาดไม่ประเมิน เราทราบดีว่าการเมืองไทยทุกยุคทุกสมัยมีลักษณะแบบนี้ ในสมัยนี้จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ด้วย คิดว่ามาตลอดว่าต้องโดนแน่ แล้วก็โดนตั้งแต่จดชื่อพรรค 15 มีนาคม 2561 และคิดว่าคงจะโดนต่อไปเรื่อยๆ

 

The MATTER: หนักสุดอาจารย์โดนอะไร

ผมไม่รู้ว่าจะเรียกว่าหนักสุดไหม เพราะถ้าบอกว่าอันนี้หนักสุด พรุ่งนี้อาจหนักกว่านี้ก็ได้ (หัวเราะ) มันคงมาได้เรื่อยๆ แต่ที่ผิดคาดไปนิดคือมาเร็วไปหน่อย มันเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากคะแนนเสียงที่เราได้รับและจำนวนเก้าอี้ในสภาที่เราได้รับด้วย

The MATTER: กำหนดเส้นแบ่งไว้หรือเปล่า แบบนี้มากเกินไป เช่น คุกคามคนในครอบครัว

ถ้าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น ปัญหาคือจะหาทางออกยังไง เราพยายามสื่อสารกับสังคมบ่อยๆ ว่า พรรคอนาคตใหม่ตั้งขึ้นมาไม่ได้คิดร้ายต่อประเทศชาติ หรือต่อสถาบันใดในประเทศนี้ เราเป็นเพื่อนร่วมชาติ เป็นคนไทยคนหนึ่งที่อยากเห็นอนาคตประเทศไทยดีขึ้น ผมถึงถามฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า “คุณอยากเห็นประเทศนี้เป็นแบบไหน” คุณอยากเห็นประเทศจมปลักอยู่กับชุดความขัดแย้งชุดเดิมๆ คุณอยากเห็นความขัดแย้งที่เลือกตั้งแล้วไม่มีวันจบสิ้นและตีกันแบบเดิม ทหารเข้ามาครองอำนาจแบบเดิม คุณอยากเห็นการใส่ร้ายป้ายสีโดยเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือเหรอ วนเวียนอยู่แบบเดิม ติดกับแบบนี้มาโดยตลอด ทำไมเราไม่เดินหน้าด้วยกัน พรรคการเมืองทุกพรรคเป็นคู่แข่งกันในสนามการเมือง แต่เราไม่ใช่ศัตรูร่วมชาติ ถ้าหากพรรคอนาคตใหม่จะมีศัตรูก็คงเฉพาะเรื่องอำนาจเผด็จการเท่านั้น

The MATTER: ในบทบาทนักการเมือง คุณกลัวอะไรบ้างไหม

สังคมไทยอารยะมากขึ้นนะ แต่ทุกวันนี้ก็ระมัดระวัง เพราะเราไม่ใช่ตัวคนเดียวแล้ว มันมีภารกิจของพรรค มีคนในพรรคที่ตัดสินใจร่วมทางกับเรา น้องๆ ที่ออกจากงานประจำกันเข้ามาอยู่ในออฟฟิศ มีชาวบ้านอีกมากมายที่ฝากความหวังกับพรรคอนาคตใหม่ การจะไปต่อหรือไปไหนอย่างไรมองเป็นภาพรวมมากกว่า

*The MATTER: เท่าที่คุยมา อาจารย์ดูเชื่อมั่นในเจตนาดีของตัวเองมากๆ เลย *

ในสายตาของคนกลุ่มหนึ่งมองว่าเราอันตราย เราน่ากลัว เราสุดโต่งรุนแรงเกินไป ผมถึงพยายามสื่อสารว่า สิ่งที่นำเสนอเป็นเรื่องปกติ

The MATTER: คนชื่อปิยบุตรไม่ได้น่ากลัวใช่ไหม

(หัวเราะ) คุยกับผมมา น่ากลัวไหมล่ะ ถ้ามีใจเป็นธรรมก็ประเมินได้ว่าสิ่งที่เรานำเสนอ มันเป็นเรื่องปกติของสังคมแบบประชาธิปไตยที่อยากจะไปให้ถึง

 

*The MATTER: ในสังคมไทย บทบาทนักวิชาการมีความศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง แต่พอเป็นนักการเมือง คุณจะเป็นคนเลวขึ้นมาทันที เป็นทั้งที่ไม่รู้จักชื่อด้วยซ้ำไป นักการเมืองเท่ากับคนโกง เท่ากับความสกปรก เท่ากับความเลว อาจารย์เปลี่ยนมาเป็นนักการเมืองแล้ว เจอคอมเมนต์แย่ๆ ใส่ร้ายป้ายสี ตามสำนักข่าวและเพจต่างๆ อยากรู้ว่าการที่สถานะความศักดิ์สิทธิ์ถูกลดทอนลงทันทีทันใด ส่งผลต่อจิตใจอาจารย์บ้างไหม  *

ไม่มีเลย ผมไม่เคยคิดว่าเป็นนักวิชาการแล้วศักดิ์สิทธิ์เลย พอไม่เคยคิด การเป็นนักการเมืองเลยไม่ได้ถูกลดทอนความศักดิ์สิทธ์ แต่มุมหนึ่งที่เปรียบเทียบอย่างเห็นได้ชัด คือตอนเป็นนักวิชาการมีเสรีภาพในการนำเสนอเพราะอยู่ในรั้ววิชาการ เป็นงานที่เราศึกษาค้นคว้ามา แต่พอเป็นด้านการเมือง คุณพูดได้น้อยลง แต่พูดได้กว้างขึ้น

*The MATTER: ถ้าใครสักเชื่อสนิทใจว่า ปิยบุตรเป็นพวกล้มเจ้า อยากบอกอะไร *

ผมเรียนว่าในชีวิตผม ตั้งแต่เรียนหนังสือ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แล้ววันนี้มาเป็นนักการเมือง ไม่มีสักครั้งเลยที่ผมเสนอเรื่องสาธารณรัฐ ไม่มีสักครั้งที่บอกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ควรมีในสังคมไทย ผมมีแต่ข้อเสนอที่เล็งเห็นว่าจะทำยังไงให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามในปัจจุบัน และเชื่อมั่นว่าวิธีการที่ผมนำเสนอต่างๆ เราศึกษา ไปเห็นมา เป็นประสบการณ์จากต่างประเทศ เป็นการปรับตัวกันตามยุคตามสมัย ผมมีแต่ความปรารถนาดีและจริงใจเพื่อให้สังคมไทยไปต่อได้

 

*The MATTER: ความคิดเห็นบางเรื่องเป็นคุณค่าสากล เช่น สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม เสรีภาพ แต่ผู้มีอำนาจมองว่าคุณค่าเหล่านี้ เป็นของตามก้นฝรั่ง คำพูดของ ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน “อย่าซ้ายจัด” อาจารย์มองเรื่องนี้ยังไง *

จริงๆ ความเป็นฝรั่งความเป็นไทยมันเป็นมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นมาทั้งนั้น สิ่งที่คุณเรียกว่าความเป็นไทยทุกวันนี้ คุณก็เอามาจากต่างประเทศนะ เช่น กองทัพ โครงสร้างกองทัพไทยเอามาจากต่างประเทศนะ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข คือ constitutional monarchy เรารับอิทธิพลจากอังกฤษ จากญี่ปุ่น วัฒนธรรมไทยหลายเรื่องก็ยืมมาจากอินเดีย จากเขมร

ผมรู้และทราบดีว่าวัฒนธรรมไทยมีอะไร แต่วัฒนธรรมไทยต้องไม่ขวางไม่ให้ไปหาสิ่งที่เป็นสากล เราต้องไม่ใช้วัฒนธรรมไทยกดคนไม่ให้โงหัวขึ้น ไม่ใช้กดคนรุ่นใหม่ไม่ได้แสดงออก ไม่ใช้กดศักยภาพของผู้คน แบบนี้ไม่ได้ ตรงกันข้าม เราสามารถเอาวัฒนธรรมไทยยืนหยัดอย่างสง่าผ่าเผยไปกับสากลได้

The MATTER: รัฐธรรมนูญในฝันของอาจารย์เป็นแบบไหน

รัฐธรรมนูญในฝันคือรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจว่าจะออกแบบรัฐธรรมนูญกันแบบไหน มีการประกันเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เพราะเป็นหัวใจในการถกเถียงเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ๆ ได้ มีการออกแบบให้อำนาจสถาบันการเมืองต่างๆ ให้อยู่ในดุลยภาพกัน ระบบการเลือกตั้งที่สะท้อนออกมา เคารพเสียงข้างมากและเคารพเสียงข้างน้อย เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจร่วมกันไปแล้วในเรื่องหนึ่ง พร้อมกับเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนการตัดสินใจได้ใหม่โดยไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ พูดง่ายๆ ระบอบประชาธิปไตยในความฝันผม มันจะเป็นที่โล่งกว้างแล้วเปิดโอกาสให้คนเข้ามาแข่งขัน ประกันเสรีภาพในการแสดงออก ร่วมมือกันตัดสินใจ ตัดสินใจแล้วอาจผิดพลาด มีโอกาสเปลี่ยนการตัดสินใจในครั้งถัดๆ ไป

*The MATTER: ถ้าประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ประชาชนจะมีหนี้สินลดลงไหม ความเป็นอยู่จะดีขึ้นหรือเปล่า *

ประชาธิปไตยกับเศรษฐกิจโยงกัน แต่คนชอบคิดว่าไกลตัว มันโยงกันในแง่ไหน อำนาจแบบเผด็จการของประเทศไทยพิสูจน์ให้เห็นมาแล้วว่าไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น ถ้าทำก็ประเดี๋ยวประด๋าว แต่ระยะยาวทำไม่ได้ มันจะไปช่วยกลุ่มทุนใหญ่อยู่ไม่กี่ราย กลุ่มทุนไม่กี่รายขึ้นมาได้เพราะรัฐบาลทหาร ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ทุนธนาคารทั้งนั้นที่ขึ้น จนตอนนี้ก็เป็นทุนใหญ่ไม่กี่เจ้า ถามว่าเผด็จการทำให้เศรษฐกิจดีหรือเปล่า ดี แต่เป็นตัวเลขชั่วครั้งชั่วคราว มันพิสูจน์แล้วว่าทำให้เศรษฐกิจดีไม่ได้ ประชาธิปไตยต่างหากที่ส่งผลในระยะยาว คนเข้ามาจากการเลือกตั้ง ประชาชนมีอำนาจกำหนดทิศทางประเทศ ชี้ชะตาอนาคตตัวเองได้ เมื่อคุณใช้อำนาจในการโหวตของคุณไปแล้ว คนที่คุณโหวต ขามันลอยไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับประชาชน ต้องทำนโยบายตอบสนองของประชาชน

ท่ามกลางประชากร 70 ล้าน ความคิดแตกต่างหลากหลาย คุณไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนพอใจนโยบายเศรษฐกิจโดยพร้อมเพรียง เช่น ยกเลิกการลดหย่อนภาษีเงินซื้อกองทุนต่างๆ ชนชั้นกลางแบบพวกเราคงไม่ชอบเพราะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม แต่เอาภาษีให้กับสวัสดิการคนอีกกลุ่ม มันตัดสินใจเรื่องอะไรก็มีคนชอบ-ไม่ชอบเสมอ มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเท่านั้นที่ทำให้คนที่ชอบและไม่ชอบอยู่ร่วมกัน ซึ่งวันข้างหน้าคุณอาจเป็นคนที่ชอบบางเรื่องก็ได้ ถามว่าเศรษฐกิจดี-ไม่ดี มันตอบด้วยตัวอะไรวัด คนหนึ่งบอกดีมาก อีกคนบอกไม่ดีเลย ผมเลยบอกว่าประชาธิปไตยกับเศรษฐกิจยึดโยงกัน รัฐธรรมนูญที่สร้างความเป็นประชาธิปไตยขึ้นสูงได้ ปัญหาทางเศรษฐกิจได้รับการแก้ไขไปด้วย สภาพชีวิตมันดีขึ้นด้วย บทพิสูจน์ ดูประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศที่คุณภาพชีวิตดี สวัสดิการดี ความเหลื่อมล้ำน้อย การศึกษาดี เป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการล่ะ

*The MATTER: คำที่พรรคอนาคตใหม่พูดอยู่บ่อยๆ คือ การต่อสู้ อาจารย์มองว่าตัวเองกำลังสู้อยู่กับอะไร *

เรากำลังสู้กับพลังฝ่ายเผด็จการที่พยายามเหนี่ยวรั้งสังคมไทยให้อยู่กับสภาพแบบเดิม ทั้งที่ไม่ช้าก็เร็ว สังคมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาติ การเหนี่ยวรั้งคือการฝืนธรรมชาติ แต่การต่อสู้ในที่นี้ไม่ใช่การโค่นล้มล้างผลาญ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อเชื้อเชิญให้ฝ่ายนั้นได้คิดว่า คุณเหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลงนี้เอาไว้ไม่ได้ สุดท้ายต้องเปลี่ยนด้วยกันเพราะทุกคนเป็นเพื่อนร่วมชาติ

*The MATTER: เราไม่ได้สู้กับประยุทธ์หรือประวิตรเหรอ *

ตราบใดก็ตามที่มีรัฐธรรมนูญแบบนี้ ตราบใดที่มีกฎหมายกระทรวงกลาโหมแบบนี้อยู่ ตราบใดที่กองทัพมีโครงสร้างไม่เป็นประชาธิปไตย ตรวจสอบไม่ได้ วันข้างหน้าคุณก็มีประยุทธ์ ประวิตร คนที่สอง สาม สี่

*The MATTER: ในการต่อสู้ระยะยาว มันเห็นเส้นชัยลิบๆ ไหม หรือเป็นการอยู่กับปัจจุบันไปเรื่อยๆ มองไม่เห็นเส้นชัยเลย *

ในการต่อสู้ การเลือกตั้งครั้งเดียว สองครั้ง สามครั้ง ไม่ได้เปลี่ยนอะไรขนาดนั้น แต่ทุกการเลือกตั้ง ทุกการรณรงค์ คือก้าวย่างของถนนเส้นใหญ่ บางทีสิ่งที่เราต้องการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เสรีภาพแสดงความเห็น การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการเมือง เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้อาจทำไม่สำเร็จสมบูรณ์ภายใต้ยุคสมัยของเราก็ได้ แต่นี่แหละครับ มันเป็นเสน่ห์ของประชาธิปไตย มันเป็นโครงการทางการเมืองที่เป็นไม่สิ้นสุด เป็นระบอบการปกครองอันเดียวที่ปรับตัวตลอดเวลา

*The MATTER: ความสุขตอนเป็นอาจารย์คือการศึกษาหาความรู้และถ่ายทอด ความสุขในการเป็นนักการเมืองคืออะไร *

ในทุกๆ วันผมยังปฏิบัติแบบเดิมนะ คืออ่านหนังสือก่อนนอน หลังๆ ก็แบ่งเวลาอ่านหนังสือเพื่อสำรวจด้วยว่าความเห็นในโซเชียลเป็นอย่างไร ใครวิจารณ์เราบ้าง

The MATTER: อ่านคอมเมนต์โหดๆ ด้วย

อ่านๆ ต้องอ่าน ผมอ่านหลายอันนะ คนส่งอะไรมาให้ก็ดู แต่บางอันมันซ้ำๆ ด่าสายเสียเทเสีย โทนเดียวกัน อ่านสักอันสองอัน ก็ข้ามไป

The MATTER: ไม่โกรธใช่ไหม

ก็เสรีภาพ ประชาธิปไตยมันต้องมีความอดทนอดกลั้น อันไหนไม่จริงก็คือไม่จริง

The MATTER: ข้อจำกัดในบทบาทนักการเมืองคืออะไร

เมื่อก่อนเวลาไปต่างประเทศ แต่ไหนแต่ไร ผมไปอ่านหรือไปดูอะไรมาผมจะเขียนเล่าให้ฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมชอบมากและคิดว่าเป็นประโยชน์กับสังคมที่ได้อ่าน แต่ ณ วันนี้เขียนได้น้อยลง

*The MATTER: ทำไมเป็นแบบนั้น *

ไม่ว่าจะเขียนอะไร ก็อาจถูกคนนำไปตีความได้ ซึ่งผมก็เสียดายนะ

 

*The MATTER: กลายเป็นว่ามีอำนาจในการสื่อสารมากขึ้น แต่สื่อสารได้น้อยลง *

ผมใช้วิธีคุยกับภรรยาเรื่องวิชาการ เขาเป็นคนบอกว่า ห้วงเวลาการเมืองมันไม่ได้มาบ่อย ผมก็คิดนะ ถ้าตอนนี้ผมบอกว่า เดี๋ยวก่อนๆ รอเป็นศาสตราจารย์ก่อนแล้วค่อยลาออกมาเป็นนักการเมือง ตั้งพรรค ตอนนั้นอาจจะอายุสัก 50 ผมคงไม่มีความคิดกล้าหาญได้ขนาดนี้ หรือกระตือรือร้นขนาดนี้ แต่การเป็นนักวิชาการ การเขียนหนังสือ ถ้าสมองเราไม่เสื่อมไปก่อน 60 70 ก็กลับมาเขียนได้

*The MATTER: อาจารย์เคยพูดว่า ถ้าในอนาคตการเมืองไทยไปได้ดี ก็จะรีไทร์ อยากรู้ว่า “ไปได้ดี” หมายความว่าอะไร *

เอาเผด็จการทหารออกไปจากการเมืองไทย ทำกองทัพให้เป็นประชาธิปไตย ยุติวงจรรัฐประหารไม่ให้กลับมาอีก ทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชนจริงๆ ให้ประชาชนมามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบสถาบันการเมืองต่างๆ แบ่งแยกอำนาจได้อย่างมีดุลยภาพ

ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไทยเป็นรัฐธรรมนูญที่ผมเรียกว่า เป็นการแก้แค้นเอาคืน แก้เพื่อจัดการ เราต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็น new consensus ของสังคมไทย นี่คือความฝัน

Photos by Adidet Chaiwattanakul

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0