โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ฉันเสียน้ำตาเพราะทำวิทยานิพนธ์ : เมื่อความยากในการศึกษาทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

The MATTER

เผยแพร่ 23 พ.ค. 2562 เวลา 08.59 น. • Pulse

หัวข้อจะผ่านไหม? คำถามวิจัยเป็นยังไงบ้าง? อาจารย์ที่ปรึกษาจะโอเครึเปล่า? คำถามเหล่านี้มักเกิดขึ้นเป็นประจำกับชีวิตการทำวิทยานิพนธ์

‘วิทยานิพนธ์’ ดูเหมือนจะเป็นหมุดหมายสำคัญของชีวิตนักศึกษาปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เพราะกระบวนการวิจัยคือสิ่งทดสอบทั้งสภาพร่างกายคือความอึด ถึก ทน และวัดกำลังใจกันว่า เราจะสามารถฝ่าฝืนความยากที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ หลายคนก็เดินต่อไปได้ ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยต้องเสียน้ำตา เพราะความยากลำบากและความรู้สึกกดดันที่เกิดขึ้น

จากเปิดเล่มถึงปิดเล่ม เมื่อฉันเสียน้ำตาให้กับวิทยานิพนธ์

“เราร้องไห้หนักสุดตอนก่อนสอบเปิดเล่ม มันคือความกลัว ความไม่มั่นใจ เราไม่รู้ว่าจะไปรอดแค่ไหน เพราะถ้าไม่ผ่านจริงๆ เราก็อาจจะต้องกลับไปเริ่มใหม่ทั้งหมด คืนก่อนสอบก็ทำพรีเซนเทชั่นไปน้ำตาก็ไหลไป” นิสิตปริญญาโทคณะนิเทศศาสตร์ เล่าให้เราฟัง

เรื่องราวความกดดันจาก ‘การสอบเปิดเล่ม’ คล้ายๆ กันก็เกิดขึ้นกับนักศึกษาปริญญาโทที่กำลังทำวิทยานิพนธ์วิชาประวัติศาสตร์

การสอบเปิดเล่ม หรือที่เรียกกันว่า สอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ คือขั้นตอนที่นักศึกษาต้องนำชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์ หัวข้อวิจัย ประเด็นที่ต้องการศึกษา รวมถึงทฤษฏีหรือบททบทวนวรรณกรรมไปเสนอกับอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้เปรียบเหมือนโครงสร้างพื้นฐานของวิทยานิพนธ์เลยก็ว่าได้ ถ้าโครงสร้างดีก็ไปต่อได้ดี แต่ถ้าโครงสร้างไม่มั่นคง ก็อาจจะต้องปรับแก้ไขกันให้สมบูรณ์มากที่สุด

“สอบเปิดเล่มคืออะไรที่เครียดมากนะ เพราะถึงแม้เราจะคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษามาระดับหนึ่งแล้ว แต่เราก็ไม่รู้ว่าวันสอบมันจะเกิดอะไรขึ้นอยู่ดี อาจารย์ที่เป็นคณะกรรมการนอกก็เข้ามาร่วมสอบด้วย มันก็เลยเครียดไปใหญ่ ตอนก่อนสอบก็น้ำตาปริ่มๆ แหละเพราะกดดัน แต่พอเจอคอมเมนต์งานและรู้ว่าต้องแก้อะไรบ้างนั่นแหละ น้ำตาไหลของจริง”

ส่วนนักศึกษาปริญญาโทรัฐศาสตร์ เล่าว่า ช่วงเวลาก่อนสอบเปิดเล่มค่อนข้างเครียดมากๆ สำหรับเขาแล้ว มันหนักมากที่สุดในช่วงของการเขียนวัตถุประสงค์และเนื้อหาส่วนที่เป็นการทบทวนวรรณกรรม

กระทู้พันทิป หนึ่งช่องทางที่หลายๆ คนมักไปเล่าเรื่องความยากของทำวิทยานิพนธ์

“ช่วงนั้นชีวิตอยู่ในห้องสมุดทุกวัน ด้วยความที่หัวข้อของเรามันคือการวิเคราะห์และเปรียบเทียบระบบการเมืองที่รายละเอียดค่อนข้างเยอะ แถมส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ เราไม่เคยคิดมาก่อนว่า ชีวิตจะเดินมาถึงจุดที่ยืนพิมพ์ค้นหาชื่อหนังสืออ้างอิงไปก็น้ำตาไหลไป คือเราไม่รู้เลยว่าที่หาอยู่มันจะจบสิ้นเมื่อไหร่”

แม้จะผ่านช่วงเวลาการสอบเปิดเล่มมาได้ และการปรับแก้ไขเนื้อหาจะเป็นไปโดยสมบูรณ์ตามที่อาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำ หากแต่นักศึกษาปริญญาโทอีกคน บอกกับเราว่า ช่วงเวลาที่ยากลำบากมันไม่ได้หยุดลงแค่นั้น

“ระหว่างที่ทำเล่มไปก็ต้องคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาตลอดใช่ไหม อยู่มาวันนึงอาจารย์ของเราก็โทรมาบอกว่า เขากำลังจะไปบวชและจะขาดการติดต่อสักระยะ โอ้โห ตอนนั้นน้ำตาจะไหลจริงๆ คือแปลว่าเราต้องรีบทำให้เสร็จก่อนกำหนดเร็วขึ้น ชีวิตต้องปรับตารางกันใหม่หมดเลย เพราะเราทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยพร้อมๆ กัน

“เอาจริงๆ เรื่องอาจารย์ไปบวชนี่ขำไม่ออกนะ เพราะเราจะติดต่อเขาไม่ได้เลย หรือจริงๆ ก็ติดต่อได้มั้งแต่ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นบทสนทนายังไง” เธอคนนี้เล่าเสริมว่า ถึงอย่างนั้น ก็ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามาได้ในที่สุด

หนึ่งในนักศึกษาปริญญาโทที่เราเคยคุยด้วยผ่านบทความ ‘เรียนไม่ไหว กลัวทำวิจัยไม่ผ่าน : ชีวิตแสนกดดันของคนเรียนปริญญาโท-เอก’ ก็มีเรื่องทำนองเดียวกัน เธอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับช่วงเวลา ‘ระหว่างทาง’  ไปสู่การสอบปิดเล่ม

“เรานั่งทำงานไปร้องไห้ไป พิมพ์งานไปก็น้ำตาไหลไป เพราะกลัวว่าจะทำไม่ทัน ตอนนั้นมันเหลืออีกสัปดาห์จะต้องสอบปิดเล่มแล้ว เป็นช่วงที่เครียดที่สุดก็ว่าได้ เพราะไม่แน่ใจว่าทุกอย่างที่เขียนไปมันจะถูกต้องรึเปล่า กลัวว่าส่งไปแล้วอาจารย์ที่ปรึกษาตอบกลับมาว่า สิ่งที่เราทำมันผิด เราเครียดแบบนี้ไปตลอด จนถึงวันสุดท้ายที่ต้องส่งเล่มก็ไม่ได้นอน”

เมื่อการเสียน้ำตาทำให้เราเข้มแข็ง

เมื่อพูดถึงเรื่องน้ำตาและการร้องไห้ หลายๆ ครั้งมันมักถูกตีความว่ามันเป็นเรื่องของความเปราะบาง หรืออ่อนไหว อ่อนแอ เพียงแค่นั้น แต่สำหรับนักศึกษาที่ต้องฝ่าฝันกับการทำวิทยานิพนธ์แล้ว พวกเขาไม่ได้คิดเช่นนั้นเสมอไป

“ตอนร้องไห้มันก็เปราะบางแหละ เพราะเรารู้สึกกดดันหนักมาก แต่ถ้าผ่านมันมาได้ก็จะรู้ว่าชีวิตแข็งแกร่งขึ้นหลายเท่า เหมือนปลดล็อกตัวเองจากเงื่อนไขยากๆ ในอดีตได้เลย” อดีตนักศึกษาปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ย้อนเรื่องราวให้ฟังถึงช่วงเวลานั้น

เธอเล่าต่อว่า “เมื่อก่อนเราเป็นคนที่ชอบดูถูกตัวเอง ทำอะไรก็ไม่ค่อยสำเร็จ แต่การทำวิทยานิพนธ์มันเปลี่ยนเราไปเลย พอมองย้อนกลับไป การร้องไห้ในวันนั้นมันก็ทำให้เรามีระเบียบวินัยกับตัวเองมากขึ้นนะ อันนี้คือสิ่งที่ปริญญาโทให้มากับเรานอกเหนือไปจากความรู้ในหนังสือ”

ส่วนอดีตนักศึกษาปริญญาโท ที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษ เขาตอบผ่านข้อความในช่องแชทว่า

“ผมร้องไห้ครั้งเดียวคือหลังพิธีรับปริญญา อารมณ์คล้ายๆ ยกภูเขาออกจากออกได้สำเร็จ ชีวิตนี้ไม่เคยทำอะไรสำเร็จได้เท่าไหร่ แต่การเรียบจบปริญญาโทได้ แถมยังใช้ชีวิตไกลจากครอบครัวด้วย มันโคตรทำให้เลเวลอัพเลย ต่อจากนี้ก็มั่นใจกับอะไรหลายอย่างมากขึ้นแล้วนะ

“พอผ่านชีวิตนั้นมาได้ เราเองก็เริ่มมั่นใจว่าต่อจากนี้ทำเรื่องยากๆ ให้สำเร็จได้เหมือนกัน เมื่อก่อนเคยมีรุ่นพี่มาพูดโม้ๆ ประมาณว่า ถ้าเอ็งเรียนปริญญาโทและทำวิทยานิพนธ์จบเมื่อไหร่ หลังจากนั้นก็สามารถทำได้ทุกอย่างแล้ว เรากลับมานึกถึงประโยคนั้นก็เริ่มจะเชื่อเขาบ้างเหมือนกันแล้ว”

ในแง่หนึ่งแล้ว ผลสำเร็จของการศึกษาอาจมีหลักฐานที่เป็นรูปธรรม เช่น ใบปริญญา และรูปเล่มวิทยานิพนธ์ที่จับต้องได้ในห้องสมุด ขณะเดียวกัน สิ่งที่เหล่านักศึกษาได้รับจากประสบการณ์การทำวิทยานิพนธ์ ยังมีเรื่องของการเติบโตทางอารมณ์ และชีวิตที่เข้มแข็งมากขึ้นด้วยในเวลาเดียวกัน

ชีวิตหลังน้ำตาวิทยานิพนธ์

ในทางจิตวิทยา เคยมีคนพูดถึงภาวะที่เรียกว่า ‘Post Commencement Stress Disorder’ (PCSD) หรืออาการความเศร้าที่เกิดขึ้นหลังจากเรียนจบ ซึ่งจะเกิดขึ้นเพราะไม่รู้ว่า ชีวิตหลังจากเรียนจบจะเดินไปทางไหนต่อดี เมื่อต้องเดินออกจากพื้นที่ปลอดภัยที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยไปแล้ว

หลายๆ คนที่เผชิญหน้ากับ Post Commencement Stress Disorder มักเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง และคิดว่าตัวเองในตอนนี้ขาดความช่วยเหลือเพื่อเผชิญโลกกว้าง

หากแต่เรื่องราวจาก ‘น้ำตา’ ที่เราได้รับฟังมาจากนักศึกษาหลายๆ คน มันก็น่าจะช่วยให้เห็นภาพว่าชีวิตของพวกเขา แม้ต้องเผชิญกับความเครียดในอนาคต (ซึ่งแน่นอนว่า เราไม่มีทางหนีมันได้) แต่พวกเขาก็มีประสบการณ์การรับมือกับภาวะที่ยากลำบากเป็นต้นทุนชีวิตไว้แล้วเหมือนกัน

การทำวิทยานิพนธ์ที่อาจเป็นยาขมในตอนแรกเริ่ม ที่กินเข้าไปแล้วต้องร้องไห้ แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ยาชนิดนี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับการเผชิญหน้าโลกแห่งความจริงได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0