โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ฉัตรสุมาลย์ : พาไปดูเพชร

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 13 ธ.ค. 2562 เวลา 06.13 น. • เผยแพร่ 13 ธ.ค. 2562 เวลา 06.11 น.
ฉัตรสุมาลย์ 2051

นักเขียนคนอื่นท่านเป็นหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ผู้เขียนเวลาจะเขียนเรื่องอะไร เรื่องนั้นจะวนเวียนอยู่ในวงความคิด บางทีเป็นชั่วโมง ไม่ติดต่อกันดอกนะคะ บางทีเป็นวัน บางทีหลายวัน กว่าจะลงมือเขียนได้

แต่หากลงมือเขียนแล้ว สมัยนี้ หมายถึงพิมพ์น่ะค่ะ ก็สามารถเสร็จในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง สำหรับคอลัมน์นี้ ก็หน้าละ 15 นาที พิมพ์จิ้มค่ะ ไม่ใช่สัมผัส

วันนี้ชวนคุยเรื่องแพงหน่อยดีไหมคะ มันแว้บเข้ามาในครรลองความคิดตั้งแต่ตี 4

เราจะคุยกันเรื่องเพชรค่ะ

 

เมื่อตอนที่มารดาผู้เขียนเริ่มค้าเพชรนั้น เป็นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ข้าวของแพงมากขึ้น เงินเดือนครูไม่พอเลี้ยงลูก ท่านว่าอย่างนั้น ท่านก็เลยออกมาค้าเพชร

เริ่มต้นจากการขายเครื่องประดับของตัวเอง แต่เนื่องจากไม่รู้ราคาตลาด พอได้ราคามากกว่าที่ซื้อมา ก็ขาย คิดว่าได้กำไรแล้ว

แต่ในความเป็นจริง ราคาของมันขึ้นมามากกว่านั้นมากแล้ว แต่ก็กลายเป็นข้อดี เพราะได้รับความนิยมว่า ขายของราคาถูก

สมัยนั้น เขาเรียกอาชีพนี้ว่า “เจ๊กกระเป๋า” เพราะส่วนใหญ่คนที่ทำอาชีพนี้เป็นคนจีน ที่มีการติดต่อกับร้านเพชร ซึ่งก็เป็นคนจีนด้วยกัน รับของจากร้านไปขายด้วยเครดิตบ้าง จ่ายล่วงหน้าบางส่วนบ้าง เพื่อนำเครื่องเพชรไปขายตรงกับลูกค้า

ลูกค้ามักรู้จักเป็นส่วนตัวหรือโดยการแนะนำปากต่อปาก

ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเพชรนิลจินดามากนัก ถ้าไปซื้อที่ร้านเอง กลัวถูกหลอก จึงนิยมซื้อตรงจากพ่อค้าที่มาขายตรงที่บ้าน โดยสามารถระบุความต้องการไปล่วงหน้า

การซื้อเครื่องประดับในสมัยนั้น ไม่เร่งรีบ ใช้เวลาเป็นเดือน

แต่หากได้ชิ้นที่ถูกใจ ก็จะเป็นสมบัติตกทอดถึงลูกหลานที่น่าภูมิใจ

เรื่องซื้อเพชรนี้ ถ้าไปซื้อที่ร้าน เพชรจะดูดีเป็นพิเศษ ทั้งแสงไฟ และการทาสีร้าน สังเกตไหมคะว่า ร้านเพชรจะทาสีฟ้า เพื่อช่วยให้เพชรดูขาวกว่าจริง และสะท้อนแสงได้ดีขึ้น

การซื้อเพชรหากสามารถมานั่งดูที่บ้าน สัมผัสกับแสงสีธรรมชาติ ผู้ซื้อจึงมีโอกาสที่จะได้เพชรที่ดีกว่า

 

เส้นทางการค้าของมารดาผู้เขียน ขึ้นล่องระหว่างจังหวัดตรัง (พ่ออยู่ที่นั่น) และกรุงเทพฯ จุดแวะพักกลางทางคือ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

ที่นั่น ท่านมีเพื่อนสนิทชื่อคุณนายห่วง สถิรกุล (ขออนุญาตเอ่ยชื่อของท่าน) แม่พักที่บ้านนี้ ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจและปลอดภัย

แม่จะฝากเครื่องเพชรส่วนใหญ่ไว้ที่บ้านนี้ ในขณะที่ท่านออกไปติดต่อกับลูกค้าคนอื่นที่สั่งของไว้ในอำเภอปากพนัง

ช่วงนั้น แม่กำลังท้อง ตอนท้องใหญ่มากๆ เกือบจะได้คลอดที่บ้านนี้ ไอ้ที่อยู่ในท้องท่าน คือผู้เขียนนี้เอง

ผู้เขียนน่าจะได้รับการถ่ายทอดความสนใจและความสามารถในการดูเพชรจากแม่ อย่างใกล้ชิดมาก ถึงมากที่สุด ก็อยู่ในท้องท่านตั้ง 9 เดือนน่ะนะ

สมัยนั้น ร้านเพชรที่แม่ติดต่อ คือร้านเพชรแถวหัวเม็ด ซึ่งเป็นแหล่งขายเพชรในสมัยนั้น ไม่ใช่ร้านเดียว แต่หลายร้าน แล้วแต่ว่าลูกค้าระบุความสนใจในอะไร

เช่น แหวนทับทิมล้อมเพชร ตุ้มหูมรกต แหวนเพชรขนาด 1 กะรัต 2 กะรัต ฯลฯ เป็นต้น

ร้านที่ผู้เขียนยังจำชื่อได้ คือร้านเซ่งอัง และร้านเอี๊ยะหลี ที่จำได้ เพราะมานั่งที่ร้านทั้งสองนี้นานกว่าที่อื่น

แม่จะซื้อของจากร้านโดยจ่ายสด เครดิตจึงดีมาก แต่มีเงื่อนไขว่า ภายใน 1 เดือน จะเอาของมาเปลี่ยนหรือคืนได้

ของที่เอาไปแต่ละครั้ง รายการยาวเป็นหางว่าว ลงชื่อกำกับทั้งสองฝ่าย

สมัยนั้น ก็เชื่อใจกันอีกแหละ คำว่า “สัญญา” ในอักษรภาษาจีนน่าสนใจมาก เป็นรูปไม้ไผ่สองแผ่นประกบกัน ในความหมายว่า ฝ่ายหนึ่งถือแผ่นหนึ่ง และอีกฝ่ายหนึ่งถืออีกแผ่นหนึ่ง หากมาจากปล้องไม้ไผ่อันเดียวกัน เวลาเอามาประกบก็จะสนิท

แน่นอนทางร้านเขาจะปล่อยของออกมาเขาก็ต้องดูคนเป็น เดี๋ยวจะต้องเขียนอีกเรื่องหนึ่งว่า เขาดูคนอย่างไรจึงจะไว้ใจได้ วันนี้จะเขียนเรื่องเพชรก่อนนะ (แฮะ แฮะ ชอบออกนอกเรื่อง)

 

เรื่องที่เล่านี้ ก็ประมาณ 60 ปีมาแล้ว บางทีลูกค้ามาที่บ้าน ไม่พบแม่ ก็เลยรับผู้เขียนไปช่วยดูเพชรให้

ผู้เขียนตอนนั้นอยู่ในวัย 15-16 แต่ดูเพชรเป็น เมื่อพาลูกค้าไปซื้อเพชร ก็ต้องเป็นตัวแทนผู้ซื้อ ไปช่วยดูเพชรให้ ไม่ให้ถูกทางร้านโกง ส่วนมากจะเป็นแหวนหมั้น มีอยู่คราวหนึ่ง เจ้าของร้านที่หัวเม็ดจะรู้จักผู้เขียนว่าเป็น “ลูกสาวคุณครู” ทางร้านเอาแหวนเพชรออกมาให้เลือก 4-5 วง เจ้าของร้านเชียร์ให้ลูกค้าซื้อวงหนึ่ง ซึ่งบอกว่าบริสุทธิ์ น้ำดี ไม่มีตำหนิ

อธิบายนิดหนึ่งค่ะ ภาษาไทยใช้ว่า “น้ำ” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “fire” ไฟ ค่ะ ตรงข้ามกันเลย แต่หมายถึงอย่างเดียวกัน คือความแวววาวเป็นประกายมากน้อยนั่นเอง บางทีก็เรียกหมายถึงสีด้วย

ลูกค้าที่มารับผู้เขียนไปด้วยนั้น ก็ส่งแหวนที่ทางร้านเชียร์นักหนาให้ผู้เขียนช่วยดู ปรากฏว่ามีตำหนิ แต่ซ่อนอยู่ใต้หนามเตย ที่เรียกว่าหนามเตย คือเขี้ยวที่เกาะเพชรไว้นั่นแหละค่ะ หนามเตยขาหนึ่งนั้น บางทีทำเป็นตุ่มเล็กๆ 3 ตุ่ม ถ้าเพชรไม่ใหญ่มากก็เท่ากับว่า ขอบเพชรด้านบนนี้ จะถูกปิดด้วยหนามเตยที่ว่านี้แหละ

เมื่อผู้เขียนยืนยันเช่นนั้น เจ้าของร้านรับเอาไปส่องกล้องดู ทำท่าฉงนสนเท่ห์ (ที่จริงเขารู้อยู่แล้ว) เมื่อผู้เขียนยืนยันว่ามีตำหนิ เขาก็ผสมโรง รับว่าจริง “แหม ลูกสาวคุณครูนี่ตาดีจริงๆ”

แล้วลูกค้าก็ตกลงซื้อวงที่สองที่ผู้เขียนดูแล้วคิดว่าไม่มีตำหนิ ลูกค้าขอบอกขอบใจผู้เขียนเป็นการใหญ่ แล้วให้ค่าแรงเป็นกระเป๋าเอ็นถักใบหนึ่ง

ปกติถ้าเราพาลูกค้าไปซื้อเพชรลักษณะนี้ ทางร้านจะเอาเงินใส่ซองแอบให้ หรือบางทีก็ให้ทีหลัง ในกรณีนี้ ทางร้านไม่ได้ให้

มิหนำซ้ำเมื่อแม่ไปติดต่อธุระที่นั่น เจ้าของร้านฟ้องแม่ว่า “ลูกสาวคุณครูเป็นเพชรซีด” ในความหมายว่า ซื่อ เถรตรง ไม่รู้จักพูดเชียร์ของที่ทางร้านอยากขาย

ผู้เขียนเลยรู้ตัวว่า คงทำอาชีพนี้ไม่ยั่งยืน เพราะในโลกธุรกิจ เขาไม่ต้องการให้เราพูดความจริง

 

จะเล่าเรื่องเพชรพอประดับสติปัญญานะคะ เพชร ไม่ควรมีไฝดำ ถือเป็นตำหนิ และอัปมงคล

แต่แม่เคยเล่าให้ฟังว่า เพชรที่แม้มีไฝ แต่น้ำดี บางคนนิยมกว่าเพชรขาว บริสุทธิ์ แต่น้ำไม่ดี

และในประสบการณ์ของท่าน บ้านหนึ่งที่ซื้อเพชรที่มีไฝดำไป และไฝดำนี้ก็ไม่ได้หลบซ่อน แต่อยู่ตรงจุดกลางที่เป็นก้นแหลมของเพชรทีเดียว

เมื่อไปอยู่ตรงจุดนั้น ก็สะท้อนเป็นไฝดำตามเหลี่ยมของเพชร ใครๆ ก็ทักว่าไม่ดี แต่คนซื้อซื้อเพราะน้ำไวมาก ปรากฏว่า นับแต่ที่เขาได้เพชรเม็ดนั้นไป ธุรกิจรุ่งเรืองมาก จนลบความเชื่อที่ว่า เพชรที่มีไฝดำไม่ดี

ที่จริงแล้ว เพชรน้ำไว อยู่ในมือของเจ้าของก็จะสะดุดตาคนอื่น ส่วนไฝนั้น ถ้าไม่เอากล้องมาส่องก็ไม่เห็น นี่ก็เป็นวิธีคิดอีกแบบหนึ่งค่ะ

ในบรรดาเพชร ถ้าเป็นสีฟ้า หรือสีชมพู ราคาก็จะโลดแล่นขึ้นไปอีก อะไรก็ตามที่หายาก มีความต้องการสูง ราคาก็จะสูงไปตามตัว

ตำหนิในเพชร นอกจากไฝ ก็จะมีฝ้า มีรอยร้าว รอยแตก ถ้าฝ้าเป็นสีขาวขุ่นๆ ก็ทำให้ราคาตก แหวนหมั้น ถ้ามีรอยร้าวไม่นิยม เพราะไปถือโชคลางว่าจะนำไปสู่ความแตกแยกของชีวิตคู่

อาวุธสำคัญสำหรับการดูเพชร คือ กล้อง หมายถึงแว่นขยายขนาดจิ๋วที่ไว้ใช้ดูเพชร แม่มีกล้องดูเพชรจากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง อันนิดเดียว มาจากฝรั่งเศส ตัวกล้องเป็นทองเหลือง เลนส์ขยายดีมาก พอควักกล้องอันนี้ออกมา ตามร้านขายเพชรจะเกรงใจ เพราะกล้องที่เขาส่งให้ลูกค้าดูนั้น ขยายได้ไม่ดีเท่า ดูตำหนิอะไรก็ไม่เห็นชัดเจน ถ้าจะซื้อเพชรต้องเอากล้องของเราไปเอง

ถ้าลูกค้าจับกล้องส่องเพชรเป็น ทางร้านจะเกรงใจ แต่เดี๋ยวนี้ พวกส่องพระเครื่องก็ใช้กล้องส่องแบบเดียวกัน แต่คุณภาพอาจจะไม่ละเอียดเท่า

วิธีการจับกล้องส่องพระ กับกล้องส่องเพชรก็เหมือนกัน

 

มีคำถามเข้ามาว่า เพชรซีกเป็นอย่างไร เพชรซีก จริงๆ แล้วเป็นก้อนเดียวกับที่เขาเอามาเจียระไนเป็นเพชรลูกนั่นเอง แต่ไม่แวววาวเท่า เพราะไม่ได้เจียระไนหลายเหลี่ยม ด้านล่างตัดตรง ด้านบนก็เจียระไนไปตามเนื้อเพชรที่จะเจียระไนได้ เครื่องเพชรของเก่ามักเป็นเพชรซีก และเพราะด้านล่างตัดตรง จึงมักทำเรือนทองปิดด้านล่างเสีย มีการใส่ซับในสีเพื่อให้เกิดประกายมากขึ้นด้วย ราคาเพชรก็อยู่กับการเจียระไน ถ้าเพชรเม็ดเล็กที่ใช้ล้อมอย่างหยาบแปดเหลี่ยม เรียกว่าเหลี่ยมกุหลาบ ราคาจะถูกกว่าอย่างอื่น ถัดมาเป็น 16 เหลี่ยม และ 32 เหลี่ยม

ล่าสุดถ้าจำไม่ผิด คิดว่า เขาเจียระไนได้ถึง 44 เหลี่ยม

แหล่งเจียระไนเพชรที่ดีที่สุด อยู่ที่เบลเยียมค่ะ อาจมีข้อมูลที่ทันสมัยมากกว่านี้ ท่านผู้อ่านกรุณาบอกด้วย ดังที่ออกตัวไว้เบื้องต้นว่า ที่เล่ามาวันนี้ เป็นประสบการณ์ประมาณ 60 ปีก่อน

สมัยนี้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น สามารถตรวจดูได้ด้วยเครื่องที่ทันสมัย และทางร้านที่ได้มาตรฐานก็จะมีใบรับรองให้ด้วย บรรยากาศที่ผู้เขียนเล่าจึงกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่อยู่ในยุคนั้น

 

แต่การดูว่าพระรูปนั้นว่า เป็นเพชรแท้หรือเพชรเทียมก็ต้องอาศัยกล้องอย่างเดียว คือ กล้องธรรมะ

พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งว่า ดูพระให้ดูนานๆ

คอลัมน์นี้ บรรณาธิการเขาตั้งชื่อว่า ธรรมลีลา ค่ะ อยากจะพูดเรื่องเพชรก็ต้องกลับมาสู่ธรรมะให้ได้

ในแง่มุมนี้ ท่านศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เคยออกปากว่า ทำให้ภาพพจน์ของผู้เขียนนุ่มลง แปลว่า ภาพลักษณ์ที่ผู้คนดูภายนอกน่าจะแข็งน่าดู

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0