โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

จ่อชง ครม.สัญจรผุดเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)

ไทยโพสต์

อัพเดต 20 ส.ค. 2561 เวลา 03.53 น. • เผยแพร่ 20 ส.ค. 2561 เวลา 03.00 น. • ไทยโพสต์

 

จ่อชง ครม.สัญจร ผุดแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ยึด EEC เป็นต้นแบบ โยงอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ ชู “ประมง-ท่องเที่ยว” เด่น พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเดิมหวังช่วยบูมเศรษฐกิจภาคใต้คึกคัก 

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จะมีการเสนอแนวคิดให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.สัญจร) พิจารณาเรื่องการจัดทำแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งจะคล้ายกันแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเบื้องต้นทราบว่าเป็นแนวคิดและความร่วมมือของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และเอกชนในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนรายละเอียดเรื่องอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่คงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง 

ทั้งนี้ การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ SEC จะต้องดูความเหมาะสมของภูมิศาสตร์ในพื้นที่ อาจไม่ใช่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ดำเนินการในพื้นที่ EEC เพราะภูมิประเทศของภาคใต้ส่วนใหญ่เน้นไปเรื่องประมง และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง การท่องเที่ยว ก็ต้องมาพิจารณาถึงความเหมาะสมในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย 

“เข้าใจว่าเรื่อง SEC นั้นภาคเอกชน นำโดย ส.อ.ท. ในพื้นที่จะมีการเสนอให้ ครม.สัญจรพิจารณา เป็นแนวความคิดเดียวกับ EEC แต่เรื่องนี้ต้องเริ่มจากนับ 1 ก่อน ดูความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และโอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ เพราะเราไม่ต้องการให้ใครมาพูดว่า มีการจับยัดอุตสาหกรรมทั้งหมดเข้าไปใน SEC แต่ต้องมาพิจารณาดูเหตุและผลว่าควรสนับสนุนอะไรที่จะเหมาะสมกับพื้นที่และภูมิภาคมากกว่า ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ครม.สัญจรจะพิจารณา” นายอุตตม กล่าว 

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า  สศช.เตรียมเสนอแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)ในลักษณะแผนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ให้ที่ประชุมครม.สัญจรนอกสถานที่จังหวัดระนอง-ชุมพรพิจารณา เพื่อต่อยอดศักยภาพเศรษฐกิจเดิมที่มีอยู่ โดยจะขยายเส้นทางรถไฟทางคู่ ชุมพร-ระนอง เพิ่มการเดินทางเชื่อมต่อไปยังเมียนมาร์ พัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่มีอยู่ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง และมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายด้าน รวมถึงการพัฒนาต่อยอดโดยใช้นวัตกรรมการนำวัตถุดิบท้องถิ่น 

เช่น นำน้ำมันปาล์มมาสกัดวิตามิน E ผลิตฉนวนป้องกันความร้อน เนื่องจากภาคใต้ผลิตน้ำมันปาล์มได้มากถึง 12 ล้านตันต่อปี รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ที่จะต้องชูจุดเด่นมาเป็นจุดขาย โดย สศช.เตรียมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)เพื่อให้สิทธิ์ประโยชน์ดึงดูการลงทุนตามพื้นที่ตามศักยภาพเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

จากนั้นจะส่งเสริมภาคอีนสานให้มีศักยภาพพัฒนาอุตสากรรมราง เพราะระบบรางมีทั้งตู้สินค้า อาณัตสัญญาณ การขนส่งสินค้าจะเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้านเพิ่มอีกจำนวนมาก เมื่อทุกภาคของไทยมีจุดเด่นสำคัญมาช่วยผลักดันเศรษฐกิจ แม้แต่ละภาคเผชิญปัจจัยลบเข้ามากระทบหลายด้านก็จะช่วยรองรับปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจทดแทนกันได้  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0