โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

จี้รัฐบาลออกกฎหมายเก็บค่าถุง 2 บาท แยก 3 ก้อนเข้ากองทุน

Thai PBS

อัพเดต 26 ส.ค. 2562 เวลา 06.15 น. • เผยแพร่ 26 ส.ค. 2562 เวลา 06.15 น. • Thai PBS
จี้รัฐบาลออกกฎหมายเก็บค่าถุง 2 บาท แยก 3 ก้อนเข้ากองทุน

เต่าทะเลกินเศษขยะพลาสติก กวางที่ตาย ในท้องพบว่า มีส้อมพลาสติก การตายของพะยูนมาเรียม ขวัญใจใครหลายคน เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ แม้แต่นักแสดงฮอลิวูด และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ยังโพสต์เรื่องนี้ ยิ่งทำให้เกิดความเคลื่อนไหวการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี รวมถึงลดขยะด้วยการลดใช้พลาสติก

กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกพยายามจับมือกับภาคีต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า ภาครัฐ 34 องค์กร ในนาม กลุ่ม PPP พลาสติก ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐ ออกมาตรการบังคับทางกฎหมาย กำหนดให้ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีของภาครัฐ เลิกแจกถุงหูหิ้วใส่ของ แต่ถ้าไม่ถึงกับเลิกใช้ทั้งหมด หากใครยังจำเป็นต้องใช้ก็ต้องจ่าย ใบละ 2 บาท

สำหรับเงินที่เก็บ 2 บาท จะนำมาจัดสรรเป็น 3 ก้อนคือ 25 สตางค์ ให้ห้างร้านนั้นๆ นำไปทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร หรือ CSR ส่วนที่สอง 50 สตางค์ ส่งเข้ากองทุนพลาสติก ที่บริหารโดยสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม กองทุนนี้มีเงินอยู่ 5 ล้านบาท และส่วนสุดท้าย 1.25 บาท มอบให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นำไปบริหารจัดการขยะภาพรวม

โมเดลนี้เสนอภาครัฐตั้งแต่ปีก่อนแล้ว และกำลังคุยกันในคณะอนุกรรมการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งอยู่ภายใต้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องการให้กระทรวงการคลัง พิจารณาภาษีที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะไม่ต้องการให้ออกมาตรการแล้วมีปัญหา โดยเฉพาะในเรื่องของรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายถุง เพราะจะเป็นเรื่องของกำไร ที่เห็นว่าส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงไม่อยากให้นำมารวมไว้ อยากให้เกิดขึ้นในปี 2563

โมเดลต่างประเทศควบคุมการใช้ถุงหูหิ้ว

ด้านนายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า เราพูดถึงการใช้พลาสติกเท่าที่จำเป็น ถ้าการใช้ถุงพลาสติกน้อยลง แต่เงินที่เก็บก็ยังได้ประมาณ 100-200 ล้านบาท จะกลายเป็นรูปแบบตัวเองดูแลจัดการตัวเอง

หลายคนอาจทราบแล้วว่า การใช้กฎหมายควบคุมการใช้ถุงหูหิ้วเกิดขึ้นมานานหลายสิบปีในต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป อย่างสหราชอาณาจักรมีกฎหมาย แต่ละประเทศจะมีกฎหมายต่างกัน แต่หลักๆ คือเก็บภาษีถุงพลาสติกโดยตรง หรือ บัลแกเรีย ระบุว่าเก็บเป็นภาษีสิ่งแวดล้อม เก็บจากผู้ผลิต และผู้นำเข้าถุง ส่วนเดนมาร์ก มีภาษีถุงพลาสติกเก็บทั้งจากร้านค้าและลูกค้าที่ใช้ถุง

อย่างประเทศญี่ปุ่นมีหลายแบบ บางซูเปอร์มาร์เก็ต มีลังกระดาษที่นำกลับมาใช้ใหม่ ให้ลูกค้าที่ซื้อของนำไปแพคเองฟรี บางร้านใช้วิธีเก็บค่าถุง 2 เยน แต่กำลังจะออกกฎหมายบังคับเก็บ 10 เยน ประมาณ 3 บาท กับลูกค้าที่จะใช้ถุงหูหิ้ว

สำหรับในประเทศไทย เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ เคยมีการสำรวจว่า ใช้ถุงหูหิ้วเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ประเมินการใช้ต่อปีมากถึง 45,000 ล้านใบ แม้มาจากห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ตลาดสด ร้านของชำทั่วไป แต่ถ้าเริ่มลดการใช้กับกลุ่มห้างก่อนจะช่วยได้มาก

ถ้าห้างต่างๆ บังคับเก็บถุงละ 2 บาท นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร และทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะคาดว่า ปริมาณถุงจะลดลงได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง และไม่บังคับให้ต้องไปซื้อถุงผ้าที่มีราคาแพง 50-60 บาท ยังมีทางเลือกให้คนไม่พร้อมนำถุงผ้ามาจ่ายค่าถุงพลาสติกได้ ขณะเดียวกันไม่น่าจะกระทบยอดขายของห้างร้าน แถมห้างร้านอาจนำเรื่องนี้มาทำโปรโมชั่นได้ด้วย

ห้างสรรพสินค้าเริ่มแจกถุงกระดาษ แทนถุงพลาสติก

แม้จริงๆ แล้วหากเปรียบเทียบการใช้ทรัพยากรในการผลิต และความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม จะพบว่าถุงกระดาษ ใช้พลังงาน ฟอสซิล และน้ำต่อการผลิตสูงกว่าถุงพลาสติก และยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างขยะมากกว่า อาจสะท้อนว่า พลาสติกเมื่อมองเห็นสร้างปัญหาก็ถูกกำจัดและจัดการ แต่บางอย่างไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหา ไม่รู้ว่าเบื้องหลังทำลายสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่น ยังไม่ถูกจัดการ

ประเภทถุงชนิดต่างๆ ที่มองว่าเป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อมนั้น แท้จริงแล้วถุงทุกชนิดทำลายสิ่งแวดล้อมพอๆ กัน แม้แต่ถุงผ้า ต่างกันที่การรับรู้ของสังคมว่ามองอะไรเป็นปัญหา แต่ที่แน่ๆ คือ คนไม่รับผิดชอบคือคนทำลายสิ่งแวดล้อม

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0