โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

จีนเผชิญปัจจัยเสี่ยง”สัดส่วนหนี้”พุ่งสูงสุดรอบ2ปี

Money2Know

เผยแพร่ 22 ม.ค. 2562 เวลา 03.47 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
จีนเผชิญปัจจัยเสี่ยง”สัดส่วนหนี้”พุ่งสูงสุดรอบ2ปี

เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.6ในปี2561ชะลอลงค่อนข้างรวดเร็วจากปี 2560ที่เติบโตร้อยละ 6.8 โดยโมเมนตัมของเศรษฐกิจจีนให้สัญญาณอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในไตรมาส 4/2561 ที่เศรษฐกิจขยายตัวเพียงร้อยละ 6.4อันเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 28 ปี

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 4/2561 เติบโตชะลอลงที่ร้อยละ 6.4(YoY)จากประเด็นทางด้านสงครามการค้าที่ยังไม่มีความแน่นอน พัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ให้สัญญาณถึงโมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงอย่างรวดเร็ว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าของจีนเติบโตได้เพียงร้อยละ 4.3 (YoY)เทียบกับร้อยละ 11.1 (YoY) ในไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนถึงผลกระทบจากสงครามการค้าที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น อันส่งผลต่อเนื่องไปยังความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจให้ลดลงและกลับมาหดตัวร้อยละ (-)1.8 ในเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปีแม้ว่าทางการจีนจะพยายามใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่หลากหลายในการประคองเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านสถาบันการเงิน รวมถึงผ่อนคลายการกำกับการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่น อย่างไรก็ดี หากพิจารณาปริมาณเงินตามความหมายแคบ (M1) ที่เติบโตชะลอลงจนเท่ากับร้อยละ 1.5 ในเดือนธันวาคม 2561 สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลเชิงนโยบายการเงินที่เผชิญกับข้อจำกัดที่มากขึ้น และสภาพคล่องที่ทางการอัดฉีดลงสู่ระบบเศรษฐกิจน่าจะเป็นเพียงการรักษาต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่ไม่เพิ่มขึ้น ทว่า ไม่น่าจะเอื้อให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ยังเห็นการชะลอตัวของจีดีพีภาคบริการ (Tertiary Industry) ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มมีทิศทางชะลอลงอีกทางหนึ่งด้วย

เศรษฐกิจจีนในปี 2562 คงจะชะลอในอัตราเร่ง จากผลของสงครามการค้าที่จะชัดเจนมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2562 จะเติบโตในกรอบร้อยละ 6.0-6.4  ขณะที่ทางการจีนคงเผชิญโจทย์ที่ท้าทายในการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจตลอดจนความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

• แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2562 คงจะเผชิญกับปัจจัยลบมากขึ้นโดยเฉพาะภาคต่างประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การส่งออกของจีนน่าจะชะลอสู่ระดับร้อยละ 3.0-5.0 ในปี 2562เทียบกับการขยายตัวร้อยละ9.9 ในปี 2561 และจะส่งผ่านผลกระทบไปยังการลงทุนของภาคเอกชนของจีนชะลอลงตามจากแรงกดดันของคำสั่งซื้อที่ชะลอลง กอปรกับภาระหนี้ภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ทางการจีนน่าจะยังคงนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้นในปี 2562 เพื่อประคองเศรษฐกิจให้อยู่ในกรอบเป้าหมายการเติบโตร้อยละ 6.0-6.5 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนคงชะลอลงสู่ระดับร้อยละ 6.0-6.4(ค่ากลางเท่ากับร้อยละ 6.2) โดยหากการเจรจาทางด้านการค้าสามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจจีนน่าจะขยายตัวเข้าใกล้กรอบบนของประมาณการ • สำหรับประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯคงเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความไม่แน่นอนและกดดันให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงต่อในระยะต่อไป ขณะที่ การเจรจาในการบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะได้ข้อสรุป ทั้งนี้ แม้ว่าจีนและสหรัฐฯ จะมีความพยายามในการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงทางการค้าให้ทันในวันที่ 2มีนาคม 2562 เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ จากระดับร้อยละ 10สู่ระดับร้อยละ 25รวมทั้งความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติม แต่โอกาสไม่มากนักที่จีนและสหรัฐฯ จะบรรลุข้อตกลงการค้าในระยะสั้น เนื่องจากจุดมุ่งหมายในการเจรจามีความซับซ้อนมากกว่าประเด็นทางการค้าอย่างไรก็ดี คาดว่าด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และจีน ที่จะเผชิญแรงกดดันมากขึ้นในปีนี้ จะทำให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงกันได้ภายในปี 2562 • นอกจากนี้ ระดับหนี้ของจีนที่แตะระดับสูงสุดใหม่โดยเฉพาะหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มตัวเร่งขึ้นอีกครั้งอาจเพิ่มความท้าทายในทางการจีนในการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยระดับหนี้โดยรวมของประเทศจีนในช่วงไตรมาส 3/2561ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 2ปี หลัก ๆ จากการเร่งขึ้นของหนี้ภาคธุรกิจ (ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน) ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 โดยสัดส่วนของหนี้ภาคธุรกิจของจีนเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 ของจีดีพีจากระดับร้อยละ 149.6ของจีดีพี ณ ไตรมาส 3/2560 เป็นระดับร้อยละ 157.1ของจีดีพี ณ ไตรมาส 3/2561 ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 48.0 ของจีดีพี ณ ไตรมาส 3/2560 เป็นระดับร้อยละ 51.0ของจีดีพี ณ ไตรมาส 3/2561 ทั้งนี้ คงต้องจับตาสถานการณ์หนี้ของภาคธุรกิจจีนอย่างใกล้ชิดในปี 2562 เนื่องการปรับเพิ่มขึ้นของหนี้ดังกล่าวจะยิ่งเป็นแรงกดดันต่อภาระหนี้ภาคธุรกิจให้เพิ่มขึ้น ท่ามกลางการเติบโตของผลกำไรของภาคธุรกิจที่ลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ สภาพคล่องของภาคธุรกิจที่คงจะเป็นประเด็นมากขึ้นในปี 2562อาจจะเป็นปัจจัยกดดันให้ธุรกิจไม่มีการลงทุน รวมไปถึงความเสี่ยงในการลดการจ้างงานในระยะข้างหน้า

ทางการจีน คงจะพิจารณาในการเพิ่มบทบาทของการใช้นโยบายการคลังในการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจเป็นหลัก เพิ่มเติมจากการดำเนินโยบายการเงินผ่อนคลายที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0