โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

จีนตั้งหลักรับสงครามการค้าได้ผล “ภาคผลิต-ค้าปลีก”เริ่มฟื้น

Money2Know

เผยแพร่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 02.37 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
จีนตั้งหลักรับสงครามการค้าได้ผล “ภาคผลิต-ค้าปลีก”เริ่มฟื้น

สัญญาณGDP จีนไตรมาส2 ปีนี้บ่งชี้ขยายตัวที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องที่ระดับ6.2% ต่ำสุดในรอบ27 ปีผลกระทบจากความตึงเครียดของสงครามการค้ากับสหรัฐแต่สถานการณ์ล่าสุดภาคการผลิตมีการฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งรวมทั้งการค้าปลีกก็กลับมาขยายตัวได้เช่นกัน

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน แถลงว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ช่วงไตรมาส 2 ปี 2019 ขยายตัวที่ระดับ 6.2% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 27 ปี เนื่องมาจากผลกระทบของสงครามระหว่างจีนและสหรัฐ

ทั้งนี้ GDP ของจีนมีทิศทางขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความกดดันของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่มีการตอบโต้ทางการค้าด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันนับตั้งแต่ปี 2018

GDP จีนได้อ่อนตัวลงเรื่อยๆ จากไตรมาส 1 ปี 2018 ที่ 6.8%ต่อมาในไตรมาส 2 อยู่ที่ระดับ 6.7% ในไตรมาส 3 ยังคงชะลอตัวลงที่ 6.5% และไตรมาส 4 แตะระดับ 6.4% แต่มีการทรงตัวในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ที่ระดับ 6.4% ก่อนที่จะปรับตัวลงอีกในไตรมาส 2 ที่ 6.2% 

อย่างไรก็ตาม โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจจีนโดยทั่วไปยังมีเสถียรภาพ และยังคงอยู่ในกรอบที่เหมาะสมระหว่าง 6.0-6.5% ในปีนี้ 

GDP ช่วงครึ่งแรกปีนี้ขยายตัวที่ 6.3% หลังจากที่รัฐบาลจีนใช้มาตรการหันมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ขยายตัว แทนการพิ่งพาการค้าและการส่งออก

ท่ามกลางผลผลิตในภาคบริการที่มีสัดส่วน 54.9% ของ GDP โดยรวมนั้น ปรับตัวขึ้น 7% ในช่วงครึ่งปีแรก แซงหน้าผลผลิตในภาคอุตสาหกรรม ที่ยังคงมีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 6.3% จากปีที่แล้ว และสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในระดับ 5.2% ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นมา 5.8% จากปีก่อน สูงกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 5.5% 

โดยเฉพาะยอดค้าปลีกล่าสุด ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพุ่งขึ้น 9.8% เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะอ่อนตัวลงขยายตัวเพียง 8.3% รวมถึงยอดขายบ้านมือหนึ่งในเดือนมิถุนายนปรับตัวขึ้น 0.6% ใกล้เคียงกับเดือนพฤษภาคมที่เพิ่มขึ้น 0.7%

นอกจากนี้ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองต้าเหลียน เมื่อสัปดาห์ก่อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนจำเป็นต้องพึ่งพาระบบตลาดยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และจะช่วยให้เกิดธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ โดยไม่ต้องลดค่าเงินหยวน

ทั้งนี้ จีนได้ปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ และปรับลดดอกเบี้ยที่แท้จริงลง เพื่อช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจีนอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันขาลงครั้งใหม่ ก็จะดำเนินนโยบายการเงินที่รอบคอบ และจะไม่ทำการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างสุดโต่ง

แต่จีนเลือกที่จะผ่อนคลายข้อจำกัดในการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในภาคการเงินปี 2020 ซึ่งเร็วกว่ากำหนด 1 ปี รวมทั้งผลักดันการเปิดเสรีภาคการผลิต ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ และส่งเสริมการนำเข้าสินค้าและบริการที่เป็นเสรี

อย่างไรก็ตาม จีนยังคงถูกกดดันจากสหรัฐให้ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเปิดรับการค้าเสรีและการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ด้วยการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน

แต่ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสฯที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความที่ระบุว่า จีนไม่ได้สั่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐตามที่ได้ให้สัญญาไว้ เพื่อกดดันจีนอีก หลังจากที่บรรยากาศเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่เพิ่งเริ่มต้นรอบใหม่ จากการที่ผู้นำสหรัฐและผู้นำจีนได้ตกลงกันนอกรอบการประชุม G-20 เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0