โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จีนช่วยโลกสู้ไวรัส: ‘น้ำใจไมตรี’ หรือ ‘เกมอำนาจ’

The Momentum

อัพเดต 29 มี.ค. 2563 เวลา 15.23 น. • เผยแพร่ 29 มี.ค. 2563 เวลา 15.14 น. • สาธิต มนัสสุรกุล

จีนจัดส่งทีมหมอ อุปกรณ์การแพทย์ ไปช่วยหลายประเทศรับมือโควิด-19 แวดวงการทูตมองความเคลื่อนไหวนี้ต่างกัน ฝ่ายหนึ่งบอกว่า ปักกิ่งฉวยจังหวะเล่นบทพี่ใหญ่ใจดีแทนสหรัฐฯ อีกฝ่ายแย้งว่า โลกคงไม่หันไปนิยมจีนอย่างไม่ลืมหูลืมตาเพียงเพราะ ‘การทูตหน้ากากอนามัย’

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ นครอู่ฮั่น จุดเริ่มต้นการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เปิดให้ผู้คนเดินทางเข้าเมืองได้อีกครั้งหลังจากลั่นดาลประตูเมืองมานานกว่า 2 เดือน ถึงแม้ยังไม่อนุญาตให้ประชากร 11 ล้านคนออกนอกเมือง แต่ถือเป็นสัญญาณในทางดีว่า จีนควบคุมการระบาดใกล้อยู่หมัดแล้ว

ในสถานการณ์ที่จีนดูจะดีวันดีคืน อเมริกากับยุโรปทำท่าจะพังพาบ ปักกิ่งเสนอตัวเป็นพี่เบิ้มผู้มีน้ำใจไมตรี บทบาทของจีนท่ามกลางวิกฤตใหญ่ของพื้นพิภพ กำลังถูกชาติตะวันตกเขม้นมอง ด้วยความเคลือบแคลงใจในเจตนา

‘พี่ใหญ่มาช่วยแล้ว!’

จีนส่งความช่วยเหลือทุกรูปแบบไปยังประเทศน้อยใหญ่ทั่วโลก ฟิลิปปินส์กับปากีสถานได้รับหน้ากากอนามัยกับชุดตรวจเชื้อไวรัส อิรักกับอิหร่านได้รับหน่วยแพทย์ ศรีลังกาได้รับเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์ฯ

รัฐมนตรีช่วยฯ ต่างประเทศของจีน เหลาจ้าวฮุย บอกว่า ปักกิ่งได้เสนอความช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น ชุดตรวจเชื้อ หน้ากากอนามัย ไปยัง 83 ประเทศ เพราะ “จีนมีความเห็นอกเห็นใจ และยินดีที่จะช่วยเหลือประเทศต่างๆ”

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงยกหูโทรศัพท์พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีของอิตาลีกับสเปน ให้คำมั่นที่จะช่วยประเทศทั้งสองต่อสู้กับการระบาด โดยมีการส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 2 คณะไปยังอิตาลี ซึ่งเวลานี้มีผู้ติดเชื้อกว่า 90,000 ราย

แจ็ค หม่า ผู้ร่ำรวยที่สุดในจีน บริจาคหน้ากากอนามัย 2 ล้านชิ้น ของทั้งหมดล่องเรือไปถึงเบลเยียม สเปน และอิตาลีแล้ว และอีก 1 ล้านชิ้นกำลังมุ่งไปยังฝรั่งเศส

ความช่วยเหลือเหล่านี้ได้รับเสียงชื่นชมในยุโรป ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป อูร์ซูลา ฟอน เดอ ลาเยน ทวีตข้อความว่า จีนจะส่งหน้ากากอนามัย 2 ล้านชิ้นมาให้ยุโรปในทันที พร้อมกับแสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง

ปักกิ่งยังส่งชุดตรวจเชื้อและอุปกรณ์การแพทย์ไปให้เซอร์เบีย ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกอียูด้วย ประธานาธิบดีเซอร์เบีย อเล็กซานเดอร์ วูซิก บอกกับเอกอัครราชทูตจีนว่า “ถ้าไม่ได้ท่านมาช่วย ยุโรปคงแทบป้องกันตัวเองไม่ได้เลย ประเทศของเรารอคอยความช่วยเหลือจากพี่น้องคนจีน” และบอกในการแถลงข่าวว่า เขาเชื่อมั่นในพี่ชายและเพื่อน ท่านสีจิ้นผิง “ประเทศเดียวที่ช่วยเราได้คือ จีน”

รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวังอี้ ดูจะพยายามขับเน้นให้เห็นความสำคัญของข้อริเริ่มของประธานาธิบดีสีในเรื่อง ความร่วมมือ ‘หนึ่งแถบ หนึ่งทาง’ ซึ่งที่ผ่านมาถูกชาติตะวันตกวิจารณ์อย่างหนัก โดยบอกว่า โรคระบาดครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า โลกต้องการ ‘เส้นทางสายไหมของบริการสาธารณสุข’

จังหวะงามๆ ของการขยายบทบาท

นักสังเกตการณ์ส่วนหนึ่งมองความช่วยเหลือของจีนว่าเป็น ‘การทูตหน้ากากอนามัย’ ทำนองเดียวกับ ‘การทูตแพนด้า’ คือ หยิบยื่นสิ่งดีๆ เป็นการทอดไมตรี กระชับมิตร เพื่อสร้างสมความรู้สึกนิยมชมชอบ ยอมรับนับถือ ในประชาคมระหว่างประเทศ

ทัศนคติในทางบวกเหล่านี้นี่เองจะกลายเป็น ‘อำนาจโน้มน้าว’ ที่ทรงพลังในการแสวงหาเพื่อน ก่อรูปพันธมิตร และต่อต้านฝ่ายปฏิปักษ์ ได้ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ‘อำนาจบังคับ’ ซึ่งมาในรูปของการนำทัพไปช่วยเหลือ

การทูตหน้ากากอนามัยดูจะใช้ได้ผล ประธานหอการค้าสหภาพยุโรปในจีน โจ วัตเก บอกว่า ในยุโรปมีมุมมองแตกต่างต่อบทบาทของจีน แต่คนส่วนใหญ่มองว่า จีนมีความรับผิดชอบต่อวิกฤตการณ์ของโลก ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่จากจีนอาจทำให้คนยุโรปหันมายกย่องจีน

มารีนา รุดยัค ผู้เชี่ยวชาญด้านความช่วยเหลือต่างประเทศของจีน แห่งมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ในเยอรมนี บอกว่า เวลานี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ให้การช่วยเหลือนานาชาติอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง อียูกำลังตกอยู่ในสภาพบ้านใครบ้านมันที่ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน จีนจึงสบโอกาสทองที่จะสวมบทพี่ใหญ่ใจดีแทนมหาอำนาจตะวันตก

รัฐมนตรีต่างประเทศของอียู โจเซป บอร์เรล เตือนว่า ยุโรปต้องตระหนักว่า วิกฤตครั้งนี้แฝงไว้ด้วยมิติภูมิรัฐศาสตร์ มีการปั่นกระแสโหมโฆษณาเพื่อสร้างอิทธิพล ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น ‘การเมืองของน้ำใจ’

‘ได้ใจ’ ใช่แปลว่า ‘ได้อิทธิพล’ 

ขณะที่ปีกหนึ่งมองจีนในแง่กลเกมของอำนาจ นักสังเกตการณ์อีกปีกหนึ่งแย้งว่า ในยามวิกฤตเช่นนี้ หลายประเทศต่างแสดงน้ำใจมากบ้างน้อยบ้างตามกำลัง ไม่ได้มีแต่จีนประเทศเดียว น้ำใจไมตรีที่หยิบยื่นแก่กันทำให้ผู้รับรู้สึกขอบคุณ แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ผู้ให้จะใช้บุญคุณเป็นเครื่องมือสร้างอิทธิพลได้

สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศผู้ช่วยเหลือ รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน ไมค์ ปอมเปโอ บอกว่า สหรัฐฯ ได้เสนอความช่วยเหลือด้านการแพทย์มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ฯ ให้แก่หลายประเทศ รวมถึงคู่ปรับอย่างอิหร่าน ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปจัดสรรเงิน 38 ล้านยูโรเพื่อสนับสนุนงานสาธารณสุข และอีก 373 ล้านยูโรเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศแถบบอลข่านตะวันตก

รัสเซียส่งผู้เชี่ยวชาญพร้อมอุปกรณ์การแพทย์ไปยังอิตาลี โดยใช้เครื่องบินทหาร 14 ลำ ทูตรัสเซียประจำกรุงวอชิงตันบอกด้วยว่า รัสเซียพร้อมช่วยเหลือสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน แม้แต่คิวบายังส่งหมอกับพยาบาลไปอิตาลี และส่งทีมแพทย์ไปยังเวเนซูเอลา นิคารากัว ซูรินาเม จาไมกา และเกรนาดา

เกาหลีใต้บริจาคชุดตรวจเชื้อกว่า 15,000 ชุดให้ฟิลิปปินส์ ไต้หวันบอกว่าจะส่งหน้ากากไปให้สหรัฐฯ สัปดาห์ละ 1 แสนชิ้น พร้อมกับจะบริจาคหน้ากาก 1 ล้านชิ้นให้ปารากวัย หนึ่งในน้อยประเทศที่ยังคงรับรองเอกราชของไต้หวัน

มาร์ซิน ไซโคนียัค นักวิเคราะห์ของสถาบันกิจการระหว่างประเทศโปแลนด์ บอกว่า ประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก รู้สึกขอบคุณจีน แต่ก็ยังวิตกว่า จีนอาจมีแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจการเมืองแอบแฝง

มิวะ ฮิโรโนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านความช่วยเหลือต่างประเทศของจีน แห่งมหาวิทยาลัยริตสึเมคัง ในญี่ปุ่น บอกว่า ในระยะสั้น ประเทศที่ได้รับหน้ากากและอุปกรณ์การแพทย์ย่อมรู้สึกชื่นชมจีน แต่ในระยะยาว ประเทศที่วิตกกับพฤติกรรมของจีนในประเด็นต่างๆ เช่น สิทธิมนุษยชน เทคโนโลยี กับดักหนี้สิน คงไม่โยนข้อวิตกเหล่านี้ทิ้งไปง่ายๆ ด้วยความน้อมรับอิทธิพลของจีน

การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ไม่ว่าจากพี่เบิ้มขาใหญ่ขาเล็ก ไม่อาจตีความเจตนาแบบขาวล้วนดำล้วนได้ ถึงแม้ ‘หว่านพืชย่อมหวังผล’ เป็นความจริงในทุกระดับความสัมพันธ์ระหว่างคน ทว่า ‘เมตตาธรรมค้ำจุนโลก’ ก็เป็นคุณค่าที่คนทั้งโลกยึดถือพอๆ กัน.

อ้างอิง :

Reuters, 6 March 2020

The Guardian, 19 March 2020

AFP via France24, 20 March 2020

South China Morning Post, 28 March 2020

 

ภาพ: TANG CHHIN Sothy / AFP

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0