โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

จีนงัด 3 ไม้เด็ดกระตุ้นศก.

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 23 ก.ย 2562 เวลา 09.30 น.

 

นักวิชาการฟันธง เศรษฐกิจจีนไม่หลุดกรอบ6% แน่นอนปีนี้ ชี้ 3 ส่วนหลักเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

 

   ประเทศพันธมิตรทางการค้าการลงทุนของจีน ต่างเฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจจีนว่าปีนี้จะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่ โดยจีดีพีจะต้องเติบโตไม่ต่ำกว่า 6% และเมื่อโฟกัสไตรมาสแรกปีนี้จีดีพีจีนเติบโต 6.4% ไตรมาส 2 จีดีพีจีนเติบโต 6.2% ถ้ามองเฉลี่ยครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจีนยังเติบโตอยู่ในกรอบเป้าหมาย 6.3%  ทั้งปีจีนคาดการณ์ว่าจีดีพีต้องเติบโตที่ 6-6.5%  จีนต้องรวบรวมพละกำลังใช้ความพยายามในการรักษาไม่ให้จีดีพีในปลายปีนี้ร่วงลงไปต่ำกว่า 6%    ถ้าหลุดกรอบ 6% จะมีผลต่อจิตวิทยาด้านลบทันที   จีนจึงต้องออกแรงมากกว่าทุกครั้งในภาวะที่ยังต้องสู้ศึกสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่ยังยืดเยื้อ

     ก่อนหน้านี้ “ฐานเศรษฐกิจ”สำรวจความเห็นจากภาคเอกชนไทย ที่พึ่งพาตลาดส่งออกไปจีน ต่างตั้งข้อสังเกตไปในทิศทางเดียวกันว่า การเติบโตจีดีพีของจีนปีนี้ไม่หลุดกรอบ 6% แน่นอน      ดูจากปฎิกิริยารัฐบาลจีนอยู่นิ่งไม่ได้   จะเห็นชัดเจนว่ารัฐบาลจีนออกมาเคลื่อนไหว กระตุ้นเศรษฐกิจของจีน โดยเมื่อเร็วๆนี้รัฐบาลจีนออกมาตรการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของสถาบันการเงิน(RRR)เป็นการออกมาออกมาประกาศลดการถือเงินสดสำรองตามกฏหมายของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องถือไว้ในธนาคารของตัวเองโดยเก็บสำรองเอาไว้เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับธนาคารของตัวเอง  ด้วยการประกาศลดRRR  โดยธนาคารขนาดใหญ่จะต้องเก็บเงินสดสำรองไว้สัดส่วน 13.5%  ส่วนธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กเก็บเงินสดสำรองไว้ 11.5% ธนาคาร ส่วนธนาคารในชนบทต้องเก็บเงินสดสำรองถือไว้ในธนาคารของตัวเอง 8%

      ต่อเรื่องนี้ รศ.ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องเก็บสำรองเอาไว้เผื่อมีคนมาถอน  หรือมีปัญหาเอ็นพีแอล  โดยให้แต่ละแบงก์พาณิชย์ลดการถือเงินสดสำรองลงมา 0.5% จากมาตรการดังกล่าว  โดยเริ่มมีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา

รศ.ดร. สมภพ มานะรังสรรค์

 ส่วนผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการลดเงินสดสำรองตามกฏหมายของแต่ละแบงก์  คือ 3 ส่วนหลักที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไล่ตั้งแต่  1.จะทำให้ภาพรวมธนาคารสามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้น ประมาณ 126,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และคาดว่าจะลดลงอีก 0.5% (เป็นการลดครั้งที่ 4 ของปีนี้และเป็นครั้งที่ 8 ตั้งแต่เกิดสงครามการค้า)  และก่อนถึงสิ้นปี2562 จะมีโอกาสลดลงอีก 0.5%  ถ้ารวมการลดเงินสดสำรอง 2 ครั้งนี้ เท่ากับว่ารัฐจะอัดเงิน 240,000 กว่าล้านเหรียญไม่นับก่อนหน้านี้  และกว่า 240,000 ล้านเหรียญนี้ก็เท่ากับว่ามีมูลค่ากว่าครึ่งของจีดีพีประเทศไทยทั้งปี  ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะธนาคารจะปล่อยกู้ได้มากขึ้น

2.แบงก์ชาติจีนอัดฉีดเงินลงระบบโดยตรง  ยกตัวอย่าง เช่น  ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับแบงก์พาณิชย์ในอัตรา 2.55%  ดังนั้นการอัดฉีดแบบนี้แสดงว่าจีนยังมีเงินสดสำรองในธนาคารพาณิชย์อีกจำนวนมาก โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนอยู่ที่ 2.55 % เทียบได้กับอัตรา อัตรา RP ของไทย   ดังนั้นจีนยังลดดอกเบี้ยได้อีกทั้งดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์และดอกเบี้ยแบงก์ชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

3.รัฐบาลท้องถิ่นจีนกำลังเตรียมออกพันธบัตรพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็วๆนี้ เพื่อลงทุนก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน และอัดฉีดงบให้คนหันมาเรียน อาชีวะมากขึ้น เพราะจีนขาดแคลนแรงงานด้านที่มีทักษะระดับกลาง

3ข้อล่าสุดนี้จะเป็นไม้เด็ดของจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศจีน และกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในจีน

 ดังนั้นภาพรวมโค้งท้ายปี 2562 จีดีพีจีนไม่น่าจะหลุดเป้า หรือ ที่จีนตั้งเป้าว่าการเติบโตของจีดีพีจีนปีนี้จะไม่ต่ำกว่า 6% เทียบกับจีดีพีของโลกที่เติบโต 3% และจีดีพีของไทยอยู่ที่ 3% บวก-ลบ ก็ถือว่าจีดีพีจีนโตมากกว่าจีดีพีโลก 1 เท่าตัว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0