โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

จีดีพีปีนี้ร่วงหนัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดติดลบ 6% ท่องเที่ยวสาหัส -60% ว่างงานหลักล้านต่อเดือน

Brandbuffet

อัพเดต 03 มิ.ย. 2563 เวลา 15.44 น. • เผยแพร่ 02 มิ.ย. 2563 เวลา 15.15 น. • Featured

แม้มีสัญญาณดีจากมาตรการปลด Lockdown  ให้เกือบทุกธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินกิจการอีกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่วิกฤติ Covid-19 ที่กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ปี 2563  คาดการณ์จีดีพี “ติดลบ” จะมากหรือน้อย สถานการณ์ยังไม่แน่นอน คงต้องไปรอลุ้นการฟื้นตัวไตรมาส 4 แต่วิกฤติโควิดนี้ ต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีกว่าจะกลับมาเท่าปี 2562

สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน ทำให้หลายสถาบันเศรษฐกิจการเงิน ต้องปรับประมาณการตัวเลข GDP บ่อยครั้งในปีนี้ ช่วงต้นปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์เติบโต 2.8%  หลังเกิดโควิด-19 ในเดือนมีนาคม ปรับตัวเลขใหม่เป็นโต 0.5% จากนั้นมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น และนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เดือนเมษายน คาดการณ์จีดีพี -5%  และตัวเลขล่าสุดเดือนมิถุนายน ทั้งปีนี้ คือ -6%

จีดีพีไทยติดลบ 6%  โควิดยังไม่นิ่ง

คุณณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าปัจจัยการเปลี่ยนแปลงจีดีพี เกิดจากวิกฤติไวรัสโควิด ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นปัจจัยที่คาดเดาไม่ได้ แต่ทุกประเทศจะเรียนรู้และรับมือได้เก่งขึ้น  รวมทั้งประเทศไทยจากจำนวนผู้ติดเชื้อหลักร้อยราย ลดลงเรื่อยๆ เหลือตัวเลขหลักเดียวและไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่

การปรับประมาณการจีดีพี เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยง ปี 2563  ยังเป็นสิ่งที่ประเมินได้ยาก จากสถานการณ์โควิดยังไม่นิ่ง  เดือนมิถุนายนได้ปรับประมาณการ จีดีพี ทั้งปี 2563 มาอยู่ที่ -6%  เป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จากปัจจัยเศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่าที่ประมาณการไว้ หลายตัว

แม้จีดีพี ไตรมาสแรกอยู่ที่ -1.8% น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่า -3-4%  แต่หากดูตัวเลขธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมารายเดือน ในเดือนเมษายน ทุกภาคเศรษฐกิจ “หดตัว” ไม่ว่าจะเป็น เกษตร บริการ  อุตสาหกรรม รวมทั้งการใช้จ่ายภาคประชาชน  เพราะเดือนเมษายน รัฐบาลมีมาตรการล็อกดาวน์ จึงเกิดผลกระทบทุกกลุ่ม แต่เดือนพฤษภาคมและมิถุนายน เริ่มมีมาตรการผ่อนคลาย

ขณะที่การประเมินจีดีพี  ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2563 ของ Bloomberg  ให้ประเทศไทย -6.62% ติดลบสูงสุดในภูมิภาคนี้  โดยเวียดนาม เติบโต 2.7%  ฟิลิปปินส์  เติบโต 0.65% อินโดนีเซีย เติบโต 0.50%  มาเลเซีย -1.70%  สิงคโปร์ -3.47%

เครื่องยนต์ ศก.ดับ “บริโภค-เกษตร-ส่งออก”

หากมาดู “เครื่องยนต์” กระตุ้นเศรษฐกิจวันนี้ ทุกตัวได้รับผลกระทบหมด  ไม่ว่าจะเป็น การบริโภคในประเทศ แม้ไตรมาสแรกยังเป็นบวก จากปัจจัยชั่วคราวการกักตุนสินค้า  แต่เมื่อปัจจัยนี้หมดไปจึงไม่ได้มาสนับสนุนเรื่องการใช้จ่ายภาคครัวเรือนหลังจากนี้  อีกประเด็นสำคัญ คือ การจ้างงาน “ลดลง” ส่งผลให้รายได้ในการใช้จ่ายลดลงตามไปด้วย  แม้คนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบแต่พฤติกรรมเปลี่ยนไป เริ่มให้ความสำคัญกับการออมมากขึ้น  ทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนครึ่งปีหลังจะหดตัวมากขึ้น

การลงทุนภาคเอกชนหดตัว จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก "ไม่แน่นอน"  ทำให้ชะลอการลงทุน  ปัจจุบันกำลังการผลิตในประเทศยังเหลืออีกมากภาพรวมอยู่ที่ 55% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้า พลังงาน

การส่งออก คาดการณ์ปีนี้ -5% ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาเรื่องซัพพลายเชน  จากการหยุดผลิตในบางประเทศที่มีผลกระทบโควิดรุนแรงและล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้เกิดการล่าช้าในการขนส่ง จึงส่งผลกระทบมาที่ประเทศไทยทั้งนำเข้าและส่งออก อีกทั้งเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวลง ทำให้ความต้องการสินค้าลดลง

ไตรมาสแรกส่งออกไทยยังเป็นตัวเลขบวก เช่นเดียวกับเดือนเมษายนที่ยังเป็นบวก แต่มาจากการส่งออกทองคำ ปี 2562 ส่งออกทองคำมีมูลค่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  เพิ่มขึ้นจากปัจจัยราคา หากมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ก็จะทำให้ทองคำราคาสูง การส่งออกเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ช่วง 4 เดือนแรกปี 2563 ส่งออกทองคำ ไปแล้ว 6,373 ล้านเหรียญสหรัฐ  เกือบจะเท่ากับทั้งปี 2562

การส่งออกทองคำปี 2562 มีสัดส่วน 3% ของมูลค่าการส่งออก  ขณะที่ 4 เดือนแรกปีนี้ สัดส่วนขึ้นไปเกือบ 10% ของมูลค่าการส่งออก หลังจากนี้ต้องดูการเปลี่ยนแปลงราคาทองคำและภาพรวมเศรษฐกิจโลกว่าไปในทิศทางไหน ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกทองทำได้

ท่องเที่ยวสาหัสปีนี้ติดลบ 60%  

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม รัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์ ให้เกือบทุกกิจการกลับมาเปิดดำเนินการแล้ว แต่ทุกธุรกิจยังมีความยากลำบาก เพราะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขแตกต่างกัน จากมาตรการ Social Distancing  และต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัว

เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในปีนี้ คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะไตรมาส 2 ที่ต้องเจอกับมาตรการล็อกดาวน์  แม้หลังจากนี้จะมีมาตรการผ่อนปรน แต่ทั้งปี 2563 ยังไม่กลับมาฟื้นตัวเร็ว คาดว่าปีนี้ท่องเที่ยวจะ -60% ในแง่จำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งใกล้เคียงสภาพัฒน์ฯประเมิน

กลุ่มท่องเที่ยว รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ จะฟื้นตัวได้ช้า ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการเยียวยาไปแล้วหลายกลุ่ม และเตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผ่านวงเงิน 4 แสนล้าน ซึ่งต้องเร่งช่วยให้สามารถต่อลมหายใจไปได้ในช่วงนี้ โดยเฉพาะท่องเที่ยว ที่ปี 2564 ก็ยังไม่สามารถกลับมาได้เท่ากับปี 2562

ทุกธุรกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ดังนั้นสภาพคล่องยังเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ประกอบการต้องหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ อยู่ในช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ สร้างความมั่นใจให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต้องใช้เวลากลับมาเดินทาง หากสร้างความมั่นใจได้เร็วก็จะกลับมาก่อน เริ่มที่กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มรายได้สูง ทั้งซัพพลายเชนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ต้องร่วมกันสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กลับมาเดินทางและใช้บริการ ทำการตลาดเชิงรุก เข้าไปหาลูกค้า

การใช้จ่ายรัฐ เครื่องยนต์สำคัญกู้ GDP 

ตัวเลขประมาณการจีดีพี ปีนี้ทุกเครื่องจักรสำคัญติดลบหมด ยกเว้น ภาครัฐ ทั้งการบริโภคภาครัฐและการลงทุนที่ยังเป็นบวก  จากมาตรการเยียวยาโควิดต่างๆ จะช่วยกระตุ้นการบริโภคไม่ให้หดตัวมากไปกว่าที่ประเมิน

การแก้วิกฤติโควิด เห็นได้ว่ามาตรการการคลังเป็นเครื่องมือหลักในหลายประเทศที่นำมาใช้ดูแลผลกระทบร่วมกับมาตรการการเงิน  มาตราการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด หากดูตามอายุของกลุ่มคนที่ได้รับการช่วยเหลือ จากประชากรไทย 65.8 ล้านคน  มาตรการเยียวยาได้ช่วยเหลือแล้วทุกกลุ่ม

แม้เดือนพฤษภาคมและมิถุนายน มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่ยังไม่เห็นการปรับตัวกลับสู่ปกติเร็วนัก ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน เพราะยังต้องคงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่เป็นข้อจำกัดในการทำธุรกิจและเป็นมาตรฐานใหม่การใช้ชีวิตของผู้คน

ไตรมาส2 หดตัวแรง “ว่างงาน”สูง

อย่างไรก็ตามประเมินว่าไตรมาส 2  จีดีพี น่าจะหดตัวต่ำที่สุดในปีนี้ หรือติดลบเป็นตัวเลขสองหลัก  หลังจากนั้นมาตรการผ่อนคลายจะทำให้ไตรมาส 3 และ 4 ติดลบลดลง และทั้งปียัง -6%

สถานการณ์ครั้งปีหลัง  เมื่อมาตรการเยียวยา ต่างๆ หมดลงราวเดือน กรกฎาคมถึงสิงหาคม  ขณะที่คนที่ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งว่างงาน  ปกติหากสถานการณ์คลี่คลายก็มีโอกาสกลับมาหางานทำได้ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 4 แสนคนต่อเดือน  แต่หลังจากนี้อาจเห็นตัวเลขว่างงานหลักล้านคนต่อเดือน  โดยเฉพาะเดือนที่มีมาตรการล็อกดาวน์จะเพิ่มขึ้นหลายล้านคน เมื่อผ่อนคลายตัวเลขว่างงานจะทยอยลดลง แต่ไม่สามารถกลับไปมีงานได้หมดเท่ากับอัตราว่างงานปกติ

“แม้ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่จะมีคนที่ไม่สามารถหางานทำได้มากขึ้น เพราะสถานบริการต่างๆ มีข้อจำกัดผู้ใช้บริการจาก Social Distancing  ดังนั้นคนให้บริการ หรือพนักงาน จะลดลงไปด้วย”

นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนของการระบาดรอบ 2 ในไทย หากเกิดขึ้นจะมีการล็อกดาวน์อีกรอบหรือไม่ รวมทั้งยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่นอกจากจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วยังมีปัญหาการเมืองทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ตลาดเงินและตลาดทุนด้วย

จากการสำรวจพบว่า คนอยากมีงานทำ  ไม่ได้ต้องการเงินเยียวยาอย่างเดียว แต่สภาพเศรษฐกิจยังไม่เอื้อให้มีการจ้างงานเพิ่ม ดังนั้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องมองไปที่การสร้างงาน สร้างอาชีพในท้องถิ่น  และส่งเสริมการออมมากขึ้น ในกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเหตุการณ์อาจไม่ได้จบเร็ว สถานการณ์หลังโควิดการที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปเท่ากับปี 2562 ต้องใช้เวลา 2-3 ปี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0