โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

จิตแพทย์แนะกระตุ้นพัฒนาการ “ดาวน์ ซินโดรม” ตั้งแต่แบเบาะ

new18

อัพเดต 21 มี.ค. 2562 เวลา 14.26 น. • เผยแพร่ 21 มี.ค. 2562 เวลา 14.25 น. • new18
จิตแพทย์แนะกระตุ้นพัฒนาการ “ดาวน์ ซินโดรม” ตั้งแต่แบเบาะ
จิตแพทย์ชี้เด็ก “ดาวน์ ซินโดรม” มีวิธีช่วยให้ดีขึ้นได้ แนะพ่อแม่ให้รีบกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่วัยแบเบาะ

จิตแพทย์ชี้เด็ก “ดาวน์ ซินโดรม” มีวิธีช่วยให้ดีขึ้นได้ แนะพ่อแม่ให้รีบกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่วัยแบเบาะ

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.  นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ (21 มี.ค.) องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันดาวน์ซินโดรมโลก (World Down’s Syndrome Day) เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการป้องกันปัญหา และการยอมรับผู้ที่เป็นดาวน์ซินโดรม ให้อยู่ในสังคมได้ พร้อมทั้งเผยแพร่ศักยภาพและความสำเร็จของบุคคลที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมทั่วโลกในวงกว้างขึ้น โดยในปีนี้ เน้นประเด็นคือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind)

นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า สาเหตุของดาวน์ซินโดรม เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมของเซลล์คู่ที่ 21 ทำให้เด็กมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดทั้งรูปร่างหน้าตา และอวัยวะอื่น ๆ มีภาวะบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา องค์การอนามัยโลกรายงานมีเด็กเกิดใหม่เป็นเด็กดาวน์ซินโดรมปีละ 3,000-5,000 คน โดยพบได้ 1 คน ต่อเด็กเกิดใหม่มีชีวิตทุก 800 คน ในส่วนของประเทศไทยจะพบเด็กเกิดใหม่เป็นเด็กดาวน์ซินโดรมได้ 1-2 คนต่อวันจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่มีวันละประมาณ 1,700 คนทั่วประเทศ

“โรคนี้ไม่มียารักษาให้หายขาด วิธีการดูแลที่สำคัญที่สุดที่ถือว่าเป็นยาขนานเอกของเด็กกลุ่มนี้ คือการช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้งร่างกาย ภาษา อารมณ์ และสังคมให้เด็ก โดยพ่อแม่ต้องเริ่มให้เร็วที่สุดตั้งแต่วัยแบเบาะ ทำต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก ให้พ่อแม่เป็นเพื่อนเล่นคนแรก แค่เล่นกับลูกให้ลูกสนุก จะส่งผลให้ศักยภาพ ในตัวเด็กดีขึ้น เด็กจะสามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้ เล่นกับเด็กปกติอื่น ๆ ได้ เรียนได้ตามศักยภาพ และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้มักจะเลี้ยงง่าย อารมณ์ดีเป็นทุนอยู่แล้ว ” นพ.กิตต์กวี กล่าว

นพ.กิตต์กวี กล่าวต่อว่า ในการดูแลสุขภาพของเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม จะต้องดูแลด้านพัฒนาการ จิตใจ อารมณ์ สังคม ควบคู่กับการดูแลสุขภาพกายเป็นพิเศษ เนื่องจากเด็กจะมีความผิดปกติหลายเรื่อง อาทิ หัวใจพิการแต่กำเนิด พบได้ร้อยละ 40-60 การได้ยินผิดปกติร้อยละ 75 ความผิดปกติระบบประสาท เช่น เกิดโรคลมชักพบได้ประมาณร้อยละ 14 เป็นต้น หากได้รับการดูแลดี เด็กก็จะมีอายุยืนยาวขึ้น โดยในส่วนของการดูแลด้านจิตและสังคม รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้เพิ่มศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขในการประเมินคัดกรองและช่วยเหลือเบื้องต้น และได้เชื่อมโยงบริการกับโรงพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เพื่อให้เด็กสามารถใช้บริการใกล้บ้าน โดยมีรพ.มหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมาเป็นศูนย์เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0