โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

จิตต์สุภา ฉิน : เทคโนโลยีช่วยให้แก่แบบไม่ขีดกรอบ

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 23 ม.ค. 2562 เวลา 05.21 น.
cool tech

งาน Consumer Electronics Show หรือ CES ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ได้จบลงแล้วอย่างสวยงาม

นี่เป็นงานเทคโนโลยีงานแรกของปี และเป็นงานที่ซู่ชิงชอบมากที่สุดในบรรดางานเทคโนโลยีทั้งหมดที่กำลังเตรียมตัวเรียงแถวทยอยตามกันมาอย่างต่อเนื่องตามตารางที่เหมือนกันทุกปี

สาเหตุที่ชอบงานนี้ก็เพราะซู่ชิงรู้สึกว่านี่เป็นงานที่รวมเทคโนโลยีสำหรับทุกคนเอาไว้

ไม่ว่าจะเพศไหน อายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร ไลฟ์สไตล์แบบไหน ความต้องการคืออะไร มีเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ ถ้าหากไปเดินงานนี้ก็รับประกันได้ว่าจะเจอสิ่งที่สนใจแน่นอน

แม้ว่าเทคโนโลยีจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของคนวัยหนุ่มสาว แต่อันที่จริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะมันคือเครื่องมือสำหรับอำนวยความสะดวกให้ชีวิตของทุกคน

รวมถึงชีวิตของผู้สูงวัยด้วย

แน่นอนว่าใน CES ก็มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่ถูกออกแบบมาเพื่อกลุ่มคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

 

ปัญหาหนึ่งที่ผู้สูงวัยต้องเจอและน่าจะเจอเกิดขึ้นในสังคมตะวันตกมากกว่าตะวันออกเนื่องด้วยความเป็นครอบครัวขนาดเล็กกว่าก็คือปัญหาความเหงาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ

ความเหงานอกจากจะทำให้จิตใจซึมเศร้าหดหู่แล้ว ท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพร่างกายและอาจจะไปเร่งการเกิดขึ้นของโรคความจำเสื่อมได้

ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงได้มีความพยายามในการนำเทคโนโลยีเสมือนจริงเข้ามาช่วยทำให้ผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราหรืออาศัยอยู่คนเดียวโดยที่ไม่มีลูกหลานห้อมล้อมสามารถเดินทางไปที่ไหนในโลกใบนี้ก็ได้

ในงาน CES บริษัท Rendever ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัพในวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ทำงานร่วมกับสถานดูแลผู้สูงอายุก็ได้นำเทคโนโลยีประเภทนี้มาจัดแสดงไว้

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ร่วมกันก็คืออุปกรณ์ของ Oculus เพื่อใช้สวมศีรษะและแสดงภาพเสมือนจริง

นอกจากผู้สูงอายุจะใช้อุปกรณ์นี้เพื่อเนรมิตให้ตัวเองไปอยู่ที่ไหนก็ได้ของโลกแล้ว ก็ยังสามารถใช้เพื่อให้ได้พบหน้าลูกหลานญาติมิตรที่ในความเป็นจริงอาจจะอยู่ไกลกัน

แต่ในโลกเสมือนจริงก็จะสามารถนำทุกคนให้มาอยู่ใกล้กันราวกับนั่งอยู่ข้างๆ กันในห้องนั่งเล่นเดียวกันได้

ถึงจะไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่การไปด้วยตัวเองจริง (บางคนร่างกายไม่เอื้ออำนวยให้เดินทางไกลๆ ได้แล้ว) ไม่ได้นั่งอยู่ข้างๆ ลูกหลานจริง แต่ก็นับเป็นประสบการณ์ที่มีความพิเศษ

และดีกว่าการนั่งอยู่เฉยๆ ในห้องสี่เหลี่ยมที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความว่างเปล่าและมีเพียงความเงียบงันที่ห้อมล้อมอยู่ จริงไหมคะ

 

ซู่ชิงตามไปหาอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้ก่อตั้งบริษัทก็ได้รายละเอียดอื่นที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง

อย่างเช่น การที่เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้กับกระบวนการที่เรียกว่า Reminiscence Therapy หรือการพาผู้สูงอายุกลับไปยังสถานที่เดิมๆ ที่พวกเขามีความหลัง

การได้กลับไปสถานที่ที่ผู้สูงวัยเคยผูกพันในตอนช่วงแรกของชีวิตอย่างบ้านในวัยเด็ก โรงเรียน สถานที่แต่งงาน เป็นกระบวนการที่ช่วยบำบัดความเครียดได้

นอกจากการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงมาช่วยบำบัดอาการเหงาแล้ว

สิ่งเดียวกันนี้ยังใช้ในการช่วยดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยด้วย ในงาน CES ครั้งนี้ บริษัทสตาร์ตอัพจากอิสราเอลที่ชื่อว่า Vayyar ก็นำระบบเฝ้าดูแล Walabot มาจัดแสดงเอาไว้ด้วยเช่นกัน

ระบบนี้ใช้คลื่นวิทยุและการทำภาพสามมิติมาสอดส่องดูแลความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวในบ้าน เพื่อที่ลูกๆ ซึ่งแยกย้ายออกไปมีครอบครัวเป็นของตัวเองแล้วจะได้อุ่นใจได้ว่าพ่อหรือแม่ยังดำเนินชีวิตอยู่คนเดียวได้อย่างปลอดภัย

Walabot จะถูกติดตั้งเอาไว้บนผนังของบ้าน

หน้าที่ของมันก็คือการคอยตรวจตราสอดส่องความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในบ้านเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งผิดปกติอะไร

นอกจากนี้ก็ยังสามารถใช้ในการทำนายความเสี่ยงที่อาจจะเกิดปัญหาในรูปแบบต่างๆ ขึ้นได้

ตัวระบบจะรู้ทันทีถ้าหากผู้สูงอายุเกิดลื่นหกล้มหรือมีรูปแบบการหายใจที่ผิดไปจากปกติ

ถ้าหากตรวจพบปัญหา ระบบก็จะส่งคำเตือนไปที่สมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแลเพื่อให้รีบเข้าไปหาหรือขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

และการติดระบบเอาไว้ที่ผนังแบบนี้ก็สะดวกสบายเพราะไม่ต้องไปติดไว้บนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหรือสวมเอาไว้กับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของผู้สูงอายุให้ต้องรำคาญหรือลืมได้

ใช้งานไปสักพัก ตัวระบบจะค่อยๆ เก็บข้อมูลได้มากขึ้นเรื่อยๆ และจะสามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้สูงอายุคนนั้นมีความเสี่ยงที่จะหกล้มมากหรือน้อยแค่ไหน และบอกอัตราความเสื่อมของการใช้งานร่างกายได้ด้วย

บางคนอ่านแล้วอาจจะรู้สึกว่าผู้สูงอายุจะอยู่คนเดียวไปทำไมตั้งแต่แรก ทำไมลูกหลานถึงได้อกตัญญูไม่ยอมมาอยู่ด้วย

หรือถ้ารู้ว่าแก่แล้วทำไมไม่เอาตัวเองไปอยู่บ้านพักดีๆ สักแห่งล่ะ

อย่าลืมนะคะว่าเงื่อนไขในการใช้ชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

บางคนอาจจะไม่มีลูก ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก หรืออาจจะเป็นคนที่คุ้นเคยกับการอยู่คนเดียวมากๆ

มีความภาคภูมิใจในการพึ่งตัวเองได้นานที่สุดก่อนที่จะต้องยอมปล่อยให้คนอื่นเข้ามาดูแล

เทคโนโลยีนี้จะช่วยยืดระยะเวลาที่ผู้สูงวัยสามารถดูแลตัวเองได้ให้ยาวขึ้น

 

อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงวัยก็คือสภาพร่างกายที่เคลื่อนไหวได้ไม่คล่องแคล่วเหมือนก่อน หรือบางคนอาจจะมีปัญหาทางด้านกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงลง บริษัทอย่าง Seismic จึงได้คิดค้นพัฒนาชุดบอดี้สูทที่ช่วยพยุงกล้ามเนื้อและทำให้ลำตัวอยู่ในท่าที่ถูกต้อง ทำให้ผู้สูงวัยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น

ชุดสูทนี้มีน้ำหนักอยู่ที่ราวๆ สองกิโลกรัมกว่าๆ สามารถสวมเอาไว้เป็นชั้นล่างสุดแล้วค่อยสวมเสื้อผ้าตามปกติทับ ชุดมีส่วนประกอบของหุ่นยนต์ที่จะเสริมพลังสามสิบวัตต์ให้กับบริเวณสะโพกและหลังส่วนล่างเพื่อที่จะรองรับท่านั่ง ยืน ยกของ หอบของ คล้ายๆ กับชุดหุ่นยนต์ที่มนุษย์สวมใส่เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งที่เราอาจจะเคยเห็นกันในหน้าข่าวบ้าง

แต่อันนี้จะไม่ใหญ่เทอะทะเหมือนชุดประเภทนั้น ดูผิวเผินก็จะเหมือนชุดบอดี้สูทที่ใส่เพื่อเก็บทรวดทรงทั่วไปนั่นแหละค่ะ ท้ายที่สุดแล้วชุดสูทนี้จะถูกนำไปใช้งานได้กับกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มผู้สูงอายุด้วย อย่างเช่น กลุ่มคนที่ทำงานในโรงงานที่จะต้องใช้ร่างกายหนักหน่วงกว่าคนอื่นๆ เพื่อช่วยลดความอ่อนล้านั่นเอง

เทคโนโลยีเปลี่ยนคนให้มีความคล้ายหุ่นยนต์ทำให้เราสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของร่างกายที่เสื่อมโทรมไปตามอายุขัย

ประกอบกับเทคโนโลยีที่คอยสอดส่องตรวจตราดูแลเราอยู่เสมอก็ช่วยให้มนุษย์สามารถเพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตได้นานขึ้นกว่าเดิม

แถมในยุคที่หลายประเทศมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยรวมถึงบ้านเราด้วยแล้ว เทคโนโลยีแบบนี้ก็จะทวีความสำคัญมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเราน่าจะได้เห็นเทคโนโลยีล้ำๆ ที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะมากขึ้น

เราจะแก่กันอย่างมีความสะดวกสบายแล้วค่ะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0