โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จาก The Old Man ถึง The Sea สู่อันดับ 1 เอเชีย

The Momentum

อัพเดต 18 มิ.ย. 2562 เวลา 05.58 น. • เผยแพร่ 18 มิ.ย. 2562 เวลา 05.58 น. • Eattaku

In focus

  • The Old Man (Pop-Up) Experience เปิดให้บริการสั้นๆ เพียง 3 เดือน จนถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้เท่านั้น ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ
  • บาร์แห่งนี้เปิดตัวโดยได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมสุดคลาสลิก “The Old Man and the Sea” ของเออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ (Ernest Hemingway) เนื่องจากคุณลุงเป็นผู้หลงใหลในวัฒนธรรมบาร์
  • ใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี หลังจากเปิดตัวเมื่อสิงหาคม 2560 สู่ความสำเร็จในฐานะบาร์อันดับ 1 ของเอเชีย จาก Asia’s 50 Best Bars 2019 และการเปิดบาร์แห่งที่ 2 ในฮ่องกง ในชื่อ “The Sea by The Old Man” ซึ่งเป็นบาร์แห่งที่ 3 ในเครือหลังจากที่เคยเปิด “The Old Man Singapore” ในสิงคโปร์มาก่อน

   หากใครได้ติดตามเวทีรางวัล Asia’s 50 Best Bars มาโดยตลอด คงคุ้นชื่อของ The Old Man บาร์จากฮ่องกงมาก่อน หลังจากที่บาร์แห่งนี้สร้างชื่อพุ่งทะยานขึ้นสู่อันดับ 5 ของบาร์ที่ดีที่สุดในเอเชียปี 2018 และทำให้บาร์แห่งนี้กลายเป็น Highest New Entry Award เข้ามาใหม่แต่กลับได้อันดับสูงที่สุด บาร์แห่งนี้จึงได้รับการจับตามองมาตั้งแต่ปีก่อน แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่าบาร์แห่งนี้จะก้าวสู่อันดับที่ 1 ของเอเชียในปีต่อมาอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญเดินทางมาเปิดให้เราได้ดื่มถึงเมืองไทย แม้ว่าจะเพียงชั่วคราวก็ตาม

   นับเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เมื่อ The Old Man มาเปิด (Pop-Up) Experience ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ หลังจากคว้าอันดับ 1 ของเอเชีย มาได้เมื่อเดือนก่อน เป็นความโชคดีของคนกรุงเทพฯ ที่จะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมค็อกเทลที่ดีที่สุดในเอเชียแบบไม่ต้องบินไปฮ่องกง แต่ถ้ามีโอกาสไปฮ่องกงก็ขอให้แวะไปที่นี่แล้วต่อด้วย The Old Man and the Sea บาร์ใหม่ในเครือ

   อย่างที่หลายคนทราบกันว่าคุณลุงเออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ คือนักเขียนที่หลงใหลในการดื่ม ในทุกครั้งที่เดินทางไปยังประเทศต่างๆ เขามักจะเสาะหาบาร์ดีๆ และนั่นคือที่มาที่ทำให้ผู้ก่อตั้ง The Old Man ทั้ง 3 คน อังกุง ปราโบโว (Agung Prabowo) เจมส์ ทามัง (James Tamang) และโรแมน กาเล (Roman Ghale) เห็นพ้องกันว่าชื่อวรรณกรรมของเขาเป็นชื่อที่เหมาะสม

   แน่นอนว่าดีไซน์บาร์ของ The Old Man หน้าตาแทบจะเหมือนกับต้นฉบับ บาร์รูปตัว I และวอลล์เปเปอร์รูปชายแก่ ความพิเศษของบาร์อยู่ที่ระบบทำความเย็นจากแผ่นโลหะที่ออกแบบไว้สำหรับให้ลูกค้าวางแก้วและคงความเย็นอย่างสม่ำเสมอ แต่แท้จริงแล้วมีเพื่อลดการใช้กระดาษรองแก้ว ซึ่งสร้างขยะมากกว่า เพราะทีมผู้ก่อตั้งแอบกระซิบบอกว่าก็ไม่ได้ทำให้เครื่องดื่มเย็นขนาดนั้น และสำหรับป๊อปอัพบาร์แห่งนี้ก็ไม่ได้นำระบบนี้มาใช้ จึงหลอกให้คนเอาแก้วไปวางยาก แน่นอนว่าที่นี่ก็ไม่ได้ให้กระดาษรองแก้ว

   อีกสิ่งหนึ่งที่สื่อความเป็น The Old Man ก็คือการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Roto-Vap หรือ Rotary Evaporator ซึ่งใช้ในหมู่นักเคมีก่อนนำมาใช้ในวงการอาหารที่เรียกว่า Molecular Cuisine และ The Old Man ก็น่าจะเป็นบาร์แห่งแรกๆ ที่นำเอาเทคนิคนี้มาใช้ เพื่อสกัดเอากลิ่นรสของวัตถุดิบบางอย่างที่แปลกใหม่ให้เกิดขึ้นภายใต้แรงเหวี่ยงและอุณหภูมิที่คงที่ ซึ่งเทคนิคนี้เองอาจจะเป็นที่มาของความสำเร็จ

   สำหรับค็อกเทลทั้งหมดบอกเล่าถึงงานเขียนของเฮมมิงเวย์ ซึ่งยกลิสต์ค็อกเทลเพียงบางส่วนมาภายใต้ชื่อ ‘Best of the Old Man’ โดยเราจะไล่ไปตามปีที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นกับเฮมมิงเวย์

In Our Time #1924

   ‘In Our Time #1924’ จากเรื่องสั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เริ่มสร้างชื่อให้เฮมมิงเวย์ สกัดเอากลิ่นรสของเนยกล้วยและเซเลอรี รวมถึงเปลือกกล้วยผสมเครื่องเทศออกมา ผ่านการผสมผสานกับเตกีล่าที่ทำออกมาให้มีรสเค็ม

The Sun Also Rises #1926

   ‘The Sun Also Rises #1926’ ได้รับการจดจำว่าเป็นวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่งของเฮมมิงเวย์เกิดจากทริปการเดินทางไปยังสเปนในปี 1925 ค็อกเทลแก้วนี้ถูกตีความออกมาในโทนสีเขียวมรกต นำเอาลิเคียวร์กลิ่นแอปเปิ้ลไปแฟตวอช (Fat-washed) กับน้ำมันมะพร้าว ผสมจินที่นำไปสกัดด้วย Roto-Vap กับใบกะหรี่ เวอร์มุทซูวีดกับใบเตย และใบมะกรูด เป็นสีเขียวมรกตใสที่หนักด้วยรสชาติที่ซับซ้อน

Death in the Afternoon #1932

   ‘Death in the Afternoon #1932’ วรรณกรรมที่เล่าถึงพิธีกรรมและประเพณีของคนสเปนที่ได้รับการตีความออกมาในโทนสีเทอร์คอยส์ ค็อกเทลที่มีส่วนผสมของแอปซิน สปาร์คกลิ้งไวน์ โยเกิร์ตโกโก้และใบเตย รวมถึงผงจันทน์เทศ

The Snows of Kilimanjaro #1936

   ‘The Snows of Kilimanjaro #1936’ การเดินทางของเฮมมิงเวย์ในแอฟริกา จินกับมาร์ชเมลโล่ ผสมกับราสป์เบอร์รีที่ผ่านการแลคโตเฟอร์เมนท์ และโรยด้วยชีสกรูแยร์ด้านบน ค็อกเทลแก้วนี้ดื่มง่ายแต่ก็เอาเรื่อง

For Whom the Bell Tolls #1940

   ‘For Whom the Bell Tolls #1940’ เรื่องราวของหนุ่มอเมริกันที่ไปอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมืองของสเปน ฟังดูรุนแรงแต่ค็อกเทลให้สีที่ดูหวาน ส่วนรสชาติมีเลเยอร์หลายสิ่ง ทั้งรัมที่ซูวีดกับโกโก้นิปส์ น้ำสตรอว์เบอร์รีเปรี้ยว รัมกับเนยไหม้ที่ผ่านเครื่อง Roto-Vap

A Moveable Feast #1964

   ‘A Moveable Feast #1964’ วรรณกรรมที่เขียนขึ้นในปารีสตั้งแต่ช่วง 1920 กว่าจะได้ตีพิมพ์ก็ล่วงเลยมาในปี 1964 เล่าถึงฝรั่งเศสตอนใต้ โดยทีม The Old Man ทวิสต์เอาเครื่องดื่มอย่างบลัดดี้แมรี่เสียใหม่ วอดก้าที่ผ่านเครื่อง Roto-Vap ให้ได้กลิ่นอายของท้องทะเล ผสมกับน้ำมะเขือเทศกับเครื่องเทศที่กรองให้ใสไร้สี เหลือเพียงกลิ่นรส ผสมน้ำมะพร้าว กินกับใบออยสเตอร์ที่ให้กลิ่นรสเหมือนหอยนางรมจริงๆ ที่อินฟิวกับผิวชีส ดื่มหนึ่งจิบกินใบออยสเตอร์หนึ่งคำ

Papa Doble-Clear

Little Wax Puppy

   เหลือเพียง ‘Islands in the Stream #1970’ ที่เรายังไม่ได้ลองดื่ม ส่วนอีกลิสต์ชื่อว่า ‘A.K.A The Old Man’ มีค็อกเทล 2 ตัว ‘Papa Doble-Clear’ คลาสลิกค็อกเทล Daiquiri ในเวอร์ชันของเฮมมิงเวย์ที่ทาง The Old Man นำมาทำใหม่อีกครั้งในเวอร์ชันใสสะอาดตา รัมซูวีดกับสับปะรด น้ำเกรปฟรุตสีชมพูกับมะนาวที่กรองให้ใส และลิเคียวร์เชอร์รีที่ซูวีดกับพริกจาลาเปโน่ ให้รสเผ็ดบางๆ ที่ทำให้อยากอาหาร และ ‘Little Wax Puppy’ ค็อกเทลสไตล์สปิริตฟอร์เวิร์ดที่นำเอาเบอร์เบิ้นที่อินฟิวกับขี้ผึ้ง ผสมน้ำผึ้งและบิตเตอร์ เท่านั้นเลย ว่ากันว่าชื่อนี้ Hadley ภรรยาคนแรกของเฮมมิงเวย์ใช้เรียกสามีของเธอ

   เราเตรียมไปตามเก็บค็อกเทลตัวสุดท้ายที่เรายังไม่ได้ดื่ม ส่วนตัวเราค่อนข้างชอบที่นี่ จำได้ว่าไปฮ่องกง เราดื่มคืนแรกไป 2 แก้ว และกลับไปซ้ำในคืนถัดมาอีก 3 แก้ว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0