โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จาก “ซานดิเอโก” สู่ “รัตนโกสินทร์ 2019” ชีวิตและการเดินทางสองฟากโลกของ “ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน”

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 01.00 น. • THE HIPPO | Another Point Of View
จาก “ซานดิเอโก” สู่ “รัตนโกสินทร์ 2019” ชีวิตและการเดินทางสองฟากโลกของ “ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน”

“ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน” หรือ “คุณใหม่” พระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ผู้ที่เกิดและเติบโตที่เมืองซานดิเอโก ศึกษาระดับชั้นมหาวิทยาลัยที่นิวยอร์ก และปัจจุบันได้ทำงานด้านประวัติศาสตร์ในประเทศไทย เส้นทางชีวิตจากโลกตะวันตกสู่ตะวันออกได้หลอมรวมให้คุณใหม่เป็นคุณใหม่ในทุกวันนี้ได้อย่างไร และสาขาวิชา “ประวัติศาสตร์” ที่ท่านศึกษาสำคัญและส่งผลกับชีวิตขนาดไหน ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์สุดพิเศษนี้

เป็นที่ทราบกันดีว่าคุณใหม่ได้เกิดและใช้ชีวิตในวัยเด็กที่เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา การเติบโตในสังคมตะวันตกนั้นได้ส่งผลดีในหลาย ๆ ด้านกับให้กับชีวิตวัยเด็กของคุณใหม่คนนี้

“อยู่และโตที่อเมริกามันก็ส่งผลที่ดีเยอะพอสมควร ก็จะรู้สึกว่าชีวิตมันเรียบง่ายมากเลย มันก็ทำให้เราเป็นคนที่ชิล ทำให้เป็นคนที่อะไรก็ได้หมด ไม่ได้หวังอะไร ก็แค่ใช้ชีวิตง่าย ๆ เหมือนคนทั่วไป” คุณใหม่เล่าถึงวัยเด็กที่ไม่มีตำรวจและไม่มีใครสนใจว่ามาจากที่ไหนหรือเป็นใคร “ทุกคนอยู่เสมอกันหมด มันส่งผลลัพธ์ที่ดีในแง่ของคนที่ชอบอะไรที่เรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องมีคนอยู่รอบเราเยอะ การที่โตที่นั่นมันทำให้รู้สึกว่าเราสมถะและชอบใช้ชีวิตอยู่แบบเรียบง่าย”

“เมื่อก่อนถ้าตื่นอยากไปวิ่งหรือกินกาแฟก็ไปได้เลย แต่ตอนนี้พอกลับมาอยู่เมืองไทยมันก็เป็นชีวิตอีกแบบ ความเป็นอิสระมันก็ลดลง แต่อยู่ที่นี่ก็เข้าใจว่ามันคืออีกแบบหนึ่ง ยังจำได้เลยว่าช่วงเย็นถ้าพระอาทิตย์จะตก จะปีนลงเขาคนเดียว ลงไปว่ายน้ำอยู่ในทะเล ช่วงหลังทำงานที่ออกทีวีคนรู้จักเยอะ มันดูโก้แต่บางทีก็นึกถึงตอนเด็ก จริง ๆ มันก็ดี มันทำให้ชีวิตมีความสุขด้วย”

ณ ตอนไหนของวัยเด็กที่คุณใหม่ทราบว่า Grandfather is King?

“ก็รู้ตั้งแต่เด็ก” คุณใหม่หัวเราะ “แต่อาจจะไม่ได้เข้าใจลึกซึ้ง เพราะไม่ได้อยู่เมืองไทย ตอนเด็ก ๆ จะไม่ได้คิดอะไรเยอะกับเรื่องนี้ว่าเป็นคิงหรือในเรื่องไหน เราไม่ได้คิดถึงยศ ฐานะ ชื่อเสียง หรือเป็นคนนี้คนนั้น ตอนเด็ก ๆ ตอนนั้นสิ่งที่รู้คือท่านเป็น ‘Grandfather’ สำหรับเรา เราคิดแบบนี้มากกว่า แต่ตอนกลับมาตอนท่านสวรรคตก็จะเห็นชัดว่าท่านเป็นที่รักมากขนาดไหน”

จากซานดิเอโกบินลัดฟ้าไปยังอีกฝากของทวีปอเมริกาเหนือ ณ เมืองนิวยอร์ก มหานครที่ทำให้คุณใหม่ได้เป็นในสิ่งที่ตัวเองเป็น ทั้งวิชาประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และการใช้ชีวิต

“มันเริ่มจากความอยากรู้อยากเห็นและเป็นคนที่ชอบตั้งคำถาม เพราะบางทีสิ่งที่เราเห็นกับตามันไม่ได้เป็นแบบนั้น เป็นคนที่คิดว่าประวัติศาสตร์ประกอบได้หลายเรื่อง จริง ๆ มันเป็นสิ่งที่สนุก มีหลายมิติของมัน ถ้าทำงานด้านนี้มันอาจจะเปลี่ยนวิธีคิด” คุณใหม่อธิบายถึงเบื้องหลังแรงบันดาลใจที่เลือกเรียนในแขนงนี้

“ประวัติศาสตร์ที่เราเห็นอยู่กับตามันไม่ใช่แค่นี้ ถ้าเราค่อย ๆ แยกองค์ประกอบมันออกหมด แล้วประกอบใหม่ด้วยมุมมองของคนหลาย ๆ คน เพราะจริง ๆ ประวัติศาสตร์มันประกอบด้วยหลายอย่าง และประวัติศาสตร์มันเป็นวิชาที่ทำให้เข้าใจความเป็นต้นกำเนิด ไม่ใช่แค่เข้าใจอดีต แต่เข้าใจว่าทำไมเรามาถึงจุดนี้แล้วเราจะเดินหน้าอย่างไร”

ช่วงเวลาที่อยู่ที่นิวยอร์กนี่เองคือช่วงเวลาที่คุณใหม่รู้สึกว่าเป็นผู้ใหญ่มากที่สุด “มันเป็นเมืองที่ถ้าอยากได้โอกาส มันมีโอกาสอยู่เต็มไปหมด มีทุกอย่างให้เลือกแล้วแต่ว่าคุณอยากทำอะไร ถ้าคุณอยากได้ชีวิตที่หรูหราเหมือนในซีรีส์ Gossip Girl ก็ทำได้ แต่อาจจะไม่มีตังค์พอ…ไปคลับ…ไปนั่งที่บันไดหน้า The MET (Metropolitan Museum of Art) หรือถ้าเป็นคนที่อยากไปทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ เป็นภัณฑารักษ์ก็สามารถที่จะเข้าไปฝึกงานที่ The MET ก็ได้ สามารถที่จะเข้าไป Design Museum ที่มีอีเวนท์ทุกอาทิตย์ได้”

“มันเป็นชีวิตที่รู้สึกว่าเป็นอิสระ เป็นตัวของเราเองได้หมด 100% เพราะคนที่อยู่ในเมืองนั้นทำงานหลายประเภท ทุกคนใจกว้างหมด ที่รู้สึกว่าได้เป็นตัวของตัวเอง เพราะว่าตอนอยู่ซานดิเอโกตอนเด็ก ๆ จะเป็นคนที่ไม่มั่นใจเท่าไร อย่างพี่พลอยตอนนั้นก็เป็นคนที่เล่นละคร เลยรู้สึกว่าตอนอยู่นิวยอร์กมันเป็นครั้งแรกที่เราเป็นตัวของตัวเองได้ เพื่อนที่นั่นก็ชอบความเป็นเรามากกว่า ที่เป็นคนอาจจะบ๊อง ๆ หน่อยหนึ่ง รู้สึกว่าเป็นครั้งแรกที่เราสบายใจที่ได้เป็นตัวเองอย่างแท้จริง และเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เรารู้ว่าเราอยากทำงานด้านใด ควรจะเดินหน้าอย่างไร เราเป็นคนแบบไหน รู้สึกมันเป็นช่วงเวลาที่เราโตขึ้นจริง ๆ“

ถึงวันหนึ่งชีวิตนักเรียนประวัติศาสตร์ก็ได้หันเหไปในแนวทางสายแฟชั่น ที่ทำให้หลายคนงง แม้กระทั่งตัวท่านเอง คุณใหม่หัวเราะกับเรื่องนี้ก่อนจะอธิบาย…

“ตอนเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราได้เข้าไปคุยกับคนที่ทำงาน NGO เลยรู้ว่าเป็นคนที่ไม่อยากทำงานการเมืองเลย จริง ๆ เรามีความเป็นศิลปะในตัวเรา เป็นคนชอบความครีเอทีฟ และที่อเมริกางานอนุรักษ์ งานพิพิธภัณฑ์มันเป็นงานที่เข้าถึงยาก เลยไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นงานที่เข้าถึงได้ ตอนนั้นก็อยู่นิวยอร์กเห็นว่ามีเพื่อนทำงานแฟชั่นหลายคน ก็อยากลองดูว่าจะเป็นอย่างไร และโดยบังเอิญเราก็เห็นใน Craigslist (เว็บไซต์ประกาศหางาน) เขาก็มีการประกาศหาตำแหน่งฝึกงานที่ Yohji Yamamoto ซึ่งเขาก็รับเรา”

ฝึกงานอยู่ที่ Yohji Yamamoto อยู่สักช่วงหนึ่ง คุณใหม่ก็ได้ไปทำงานยัง Hermès ที่ซึ่งทำให้คุณใหม่ตระหนักได้ว่าท้ายที่สุดแล้วตัวเองเหมาะกับงานทางด้านไหน “คนที่เป็นหัวหน้าช่วงเวลานั้นเขาเคยเป็นทีม PR ของ Costume Institute (สถาบันเครื่องแต่งกาย) เป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าของ The Met ยังจำได้เลยเขาเรียกเรามาบอกว่าจริง ๆ แล้วเราเหมาะสมที่จะทำงานแบบนั้นมากกว่า เขาบอกว่า ‘คุณเป็นคนที่ชอบอะไรวิชาการ (academic)’ นั่นก็คือน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่คิดว่าอยากทำงานประวัติศาสตร์ อยากจะทำงานพิพิธภัณฑ์ อยากทำงานอนุรักษ์ “

“หลังจากนั้นเราทิ้งไปสักพักหนึ่งเพราะว่าตอนทำ Costume Institute ปัญหาคือพิพิธภัณฑ์ผ้าแบบนี้ในโลกไม่ค่อยมี ถ้าจะทำงานด้านนี้จริง ๆ ต้องกลับไปเรียนเป็น PhD (ปริญญาเอก) แล้วก็ไม่ค่อยมีคนออกจากการเป็น Head Curator เพราะตำแหน่งนี้มันมีน้อยอยู่แล้ว คนที่อยู่เขาเลยไม่ออกกัน คนที่เป็นหัวหน้ารู้สึกตอนนี้เขายังเป็นอยู่นะ 20 กว่าปีแล้ว” คุณใหม่เล่าปนหัวเราะ

“เราเลือกเส้นทางที่แคบเกิน เราไม่สามารถขยับเขยิบได้” คุณใหม่พูดถึงสายงานที่ตัวเองตั้งใจเลือกในยามนั้น “มันทำให้เราสับสนเลยออกไปทำงาน PR และไปเดินทางเป็นนักผจญภัยอยู่หลายปี หลังจากนั้นก็เริ่มแก่…ก็เริ่มคิดว่าจริง ๆ อยากเปลี่ยนงาน นี่คือจุดเปลี่ยนสุดท้ายตอนอายุ 29 - 30 ที่มันถึงเวลาที่ต้องเลือกเส้นทางใหม่แล้ว ตอนนั้นกลับมาเมืองไทยก็ได้คุยกับกรมสมเด็จพระเทพฯ ว่าสนใจงานด้านนี้ครีเอทีฟอนุรักษ์ ท่านก็ไกด์ให้เราทำกับกรมศิลป์ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้กลับมาอยู่ไทย” และนี่คือจุดเริ่มต้นของการที่คุณใหม่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวังหน้านฤมิต ที่หลายคนต่างพูดถึง

จากตะวันตกสู่ตะวันออก เราอดไม่ได้ที่จะสอบถามว่าเกิด “Cultural Shock” หรือการปรับตัวกับวัฒนธรรมไม่ได้หรือไม่?

“ไม่อยากพูดว่าไม่ได้เป็นนะ เพราะมันจะดูเหมือนเราเก่ง” คุณใหม่เว้นจังหวะหัวเราะอีกครั้ง “ถ้าพูดตรงไปตรงมาเราอาจจะไม่ได้ช็อก เพราะตั้งแต่เด็กพี่เลี้ยงก็เป็นคนไทย ก็เลยมีความเป็นไทยในตัวเรา ได้กลับเมืองไทยปีละสองครั้ง อยู่ในบ้านที่พูดภาษาไทยตลอด ดูละครไทย ตอนกลับมาเลยก็ไม่ได้ช็อก”

“ไม่เคยรู้สึกเครียดกับระบบที่นี่เพราะเข้าใจ” คุณใหม่เล่าต่อ “เป็นคนเดินทางเยอะตั้งแต่เด็ก ๆ เลยไม่เคยหวังว่าใครจะเปลี่ยนเพื่อเรา ถ้ามาอยู่เมืองไทยวัฒนธรรมของไทย เราไม่ควรให้คนเปลี่ยนอะไรให้เรา แต่เราต้องเปลี่ยนเพราะมันจะทำให้เราโตขึ้น”

“เราเข้าใจมันเป็นระบบที่นี่” คุณใหม่กล่าวต่อ “ถ้าพูดตรงไปตรงมาอีกคือทำงานสื่อสารกันไม่มีปัญหา จะมาเกิดกับเรื่องวัฒนธรรมมากกว่า บางทีเราคุยกันแต่ไม่ได้เข้าใจกัน เราใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์กสิบกว่าปี ซึ่งคนนิวยอร์กจะเป็นคนตรงไปตรงมาคิดอะไรก็พูดตามนั้น ทำงานถ้าไม่เห็นด้วยกับอะไรก็จะพูดเลยว่าไม่ชอบแบบนี้ เราควรจะทำแบบนั้น ตอนกลับบ้านมันก็จบ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เลยจะเป็นคนที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา สัมภาษณ์ไปก็เป็นตามนั้น จะเป็นคนไม่โกหก แต่ตอนกลับเมืองไทยมันต้องใช้วิธีที่นุ่มนวลกว่า”

“ซึ่งจริง ๆ เราไม่ได้เป็นคนนุ่มนวลนะ เป็นคนที่เงียบ บางทีถ้าเงียบหน้าไม่ยิ้มคนก็รู้สึก ตอนกลับมาเมืองไทยเลยต้องเปลี่ยนวิธีพูด บุคลิก บางทีไม่ควรตรงไปตรงมา ตอนแรกมันต้องปรับตัวหน่อยหนึ่ง วิธีพูด เสียง อารมณ์ ทำหน้าตา ตอนทำงานกับคนอื่นเคยมีคนงอนไม่คุยกับเราหลายวัน ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจเพราะพูดตรงไป”

คุณใหม่ยอมรับว่าแม้แต่ตอนนี้ก็ยังรู้สึกยากกับภาษาและวัฒนธรรมไทย ที่บางครั้งจะไม่ค่อยตรงไปตรงมา “คนพูดมาแบบนี้เราก็โอเคได้นะ แต่สองสามวันผ่านไปเป็นอีกอย่าง ฉันก็อะไร! มันเหมือนจัสติน บีเบอร์เพลง ‘What do you mean?’ เลย บางทีถ้างงจริง ๆ กลับวังก็เปิดเพลงนี้ร้อง”

แน่นอนว่าการเป็นคนไทยที่เกิดและใช้ชีวิตอยู่ที่ซานดิเอโก และนิวยอร์กก่อนจะกลับมายังประเทศไทยนั้น ได้ผสมผสานให้ท่านผู้หญิงสิริกิติยาผู้นี้กลายเป็นคนที่หลอมรวมวัฒนธรรมจากทั้งสองโลกเข้าไว้ในคน ๆ เดียวอย่างไม่น่าเชื่อ ดังที่ท่านจะเล่าดังต่อไปนี้…

“เพื่อนบางคนที่เป็นฝรั่งบอกว่า I’m very confusing. (ฉันน่ะสับสนเหลือเกิน) บอกว่าเราเป็นคนที่ดูยาก เพราะบางทีก็ทำตัวดูเป็นฝรั่ง แต่จริง ๆ ความคิดเป็นไทย เพราะฉะนั้นเราอยู่ตรงกลาง…ตรงกลางมาก ๆ”

“คือจะเป็นคนที่ไอเดียการทำงานเป็นฝรั่งมาก เคยมีคนฟังสัมภาษณ์เขาบอกว่าคอนเซ็ปต์ของงานเรามีวิธีคิดเป็นฝรั่ง 100% เลย แต่นิสัยและการเข้าสังคมเหมือนคนไทย เคยมีคนไทยหลายคนบอกว่าแม้เราจะดูหน้าตาเป็นฝรั่งตรงไปตรงมาบางที แต่ในตัวเองจริง ๆ มีความเป็นไทยเยอะ หลายคนก็บอกว่าเราเป็นคนที่เข้าใจยากเพราะมีทั้งสอง”

“มันทำให้เราเข้าใจทั้งสองวัฒนธรรม” คุณใหม่พูดถึงข้อดีกับการเป็นส่วมผสมของทั้งสองโลก “เลยมีวิธีคิดที่ออกเป็นตะวันตก แต่วิธีที่ดำเนินงานไปก็เป็นวิธีที่เป็นไทย มันทำให้ไอเดียมันเดินหน้าได้ ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับงาน แต่เราไม่เคยแยกว่าจะทำแบบตะวันตกหรือไทย” คุณใหม่ออกตัว “เราก็เอาคอนเซ็ปต์ของฝรั่งมาปรับอยู่ในวัฒนธรรมไทย และวิธีที่ดำเนินงานมันเป็นวิถีไทยเราเลยเลือกผสมกัน ส่วนใหญ่ไอเดียเป็นฝรั่งแต่คอนเทนต์เป็นไทย” ซึ่งนี่เองคือเบื้องหลังการทำงานของโปรเจกต์วังหน้านฤมิต ที่คุณใหม่มีส่วนร่วม

ถ้าอย่างนั้นแล้วก็เหมือนตัวคุณใหม่ด้วยหรือไม่ ที่สนใจประวัติศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันก็สนใจแฟชั่นด้วย? คุณใหม่ตอบกับเราว่า “May be” (ก็อาจจะ) พร้อมรอยยิ้ม

ถึงวันนี้ในวันที่ตัดสินใจกลับมาอยู่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายงานทางด้านประวัติศาสตร์ที่คุณใหม่คลุกคลีอยู่ หากมองในมุมคนทำงานที่ไม่ได้มีการสนับสนุน…รายได้จากสายอาชีพนี้จะพอเลี้ยงชีพหรือไม่

“No” คุณใหม่ตอบสั้น ๆ แล้วหัวเราะ “บางคนแค่มีพอกินพอใช้ก็ถือว่าเขามีความสุขแล้ว เหมือนทำงานราชการ แต่ถ้าจะบอกว่าคนส่วนใหญ่พอหรือเปล่า…มันอาจจะค่อนข้างน้อยเพราะมันเป็นงานที่เป็นวิชาการ บางคนก็ลำบากจริง ๆ ข้าราชการทุกคนที่เข้ามาทำมันก็ไม่ง่ายนะ ต้องสอบด้วย คนที่เข้ามาก็เก่งหลายคน ในความคิดคือเขาทำเพื่อชาติเลย”

ในสายตาของคุณใหม่ “ประวัติศาสตร์” ที่คุณใหม่คลุกคลีอยู่ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้มันเดินไปกับยุคปัจจุบัน สิ่งที่ต้องทำคือ…ทำให้ประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าในอดีตกลายเป็นเรื่องปัจจุบันเสียเอง “ต้องให้คนเห็นว่าประวัติศาสตร์มันเป็นเรื่องปัจจุบัน มันไม่เคยแยกจากกัน” คุณใหม่ย้ำ “มันไม่ใช่แค่ส่งผลกับชีวิตของเรา แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของมัน ถ้าเราคิดว่ามันเป็นเรื่องอยู่ไกลเกินไป มันก็อยู่อย่างนั้นไม่เดินหน้า เราต้องทำให้ผู้คนเป็นส่วนหนึ่งด้วยการพูดถึง และสร้างประวัติศาสตร์นั้นขึ้นมา”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0