โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จาก ‘Take A Deeper Read’ สู่ ‘รหัส E’

The101.world

เผยแพร่ 28 พ.ค. 2563 เวลา 14.37 น. • The 101 World
จาก ‘Take A Deeper Read’ สู่ ‘รหัส E’

 ธนาวิ โชติประดิษฐ และ สายัณห์ แดงกลม  เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

นิโกลาส์ ปูแซ็ง (Nicolas Poussin) คือหนึ่งในจิตรกรเอกช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 และเป็นหนึ่งในศิลปินคนโปรดของสายัณห์ แดงกลม อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อนร่วมงานของธนาวิ โชติประดิษฐ

 

เมื่อถึงคราววิกฤตโรคระบาด ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก ธนาวิ จึงใช้เวลาจับปากกา เขียนจดหมายเปิดผนึก 'Take a Deeper Read' ถึงเพื่อน โดยเลือกบทความที่เขียนถึงผลงานนิโกลาส์ ปูแซ็ง เป็นหัวข้อชวนคิดชวนคุยเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะและระเบียบวิธีวิจัย

 

ผ่านไปไม่นาน สายัณห์ ก็เขียนจดหมาย 'รหัส E' ตอบกลับ เพื่อแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับนิโกลาส์ ปูแซ็ง และการเมืองในงานศิลปะ จากนวนิยายเรื่องล่าสุดที่เขาอ่าน

 

นับจากบรรทัดนี้ไป คือจดหมายโต้ตอบของทั้งสองอาจารย์

Take A Deeper Read 

ธนาวิ โชติประดิษฐ

 

“…solitude is terrifying, commerce is poisoned, those who see it firsthand are stunned, fear suffers not from this destruction, sickness awaits no cure, and sleep is interrupted by death.

… Nothing is seen except images of horror, nothing is heard except the scream of the tormented; we waited only for the assaults of death, longing only for a quick death, and meanwhile the long, unbroken file of cadavers being carried to their resting place is

seen stretching all the way to the grave; with tears and pain we gather around that       unhappy place, where the sound of our quarreling voices reverberates across the open urns, and a woeful echo stings our ears and hearts, declaring us fragile, transient, miserable, and more moribund than the mortal.”

A letter from Agostino Mascardi to Claudio Achillini, 1630

 

อาจารย์สายัณห์ที่รัก

นี่น่าจะเป็นจดหมายที่เขียนถึงอย่างจริงจังเป็นฉบับแรก (แต่ก็เปิดให้คนอื่นอ่านด้วยอะนะ) เพราะปกติ ถ้าเราไม่โทรคุยกัน ก็จะเป็นการเขียนอีเมล์แบบ chat กันไปมา มีข้อความมาทีละบรรทัดสองบรรทัด โต้ตอบกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบเรื่องหรือขี้เกียจกันไปเอง

วันก่อนโทรไปไต่ถามสารทุกข์สุขดิบเพราะมหาลัยปิดจากเหตุไวรัสโควิด-19 เม้ามอยเรื่อยเปื่อยไปถึงเรื่องงานศิลปะเกี่ยวกับโรคระบาด แล้วคุณก็พูดขึ้นมาว่า ปูแซ็งมีงานชิ้นหนึ่งว่าด้วยเรื่องนี้เหมือนกัน เป็นงานที่ใครต่อใครได้เขียนถึงไว้อย่างมากมาย

[ สำหรับคุณผู้อ่าน สายัณห์ แดงกลม เป็นที่ปรึกษาสมัยปริญญาตรีของผู้เขียน ปัจจุบันเป็นเพื่อนร่วมงานในภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สรรพนามในการเรียกขานกันระหว่างเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะสลับไปมาระหว่าง 'คุณ' 'อิฉัน' 'ยู' 'นี่' ซึ่งสะท้อนความลำบากลำบนในการหาคำแทนตัวของเพศทั้งหลายที่ไม่ใช่เพศชายในภาษาไทย

หนึ่งในศิลปินคนโปรดของ อ.สายัณห์คือจิตรกรชาวฝรั่งเศส นิโกลาส์ ปูแซ็ง (Nicolas Poussin, 1594-1665) ซึ่งเป็นประเด็นหลักของจดหมายฉบับนี้ ]

เผอิญใกล้ถึงเวลาส่งต้นฉบับพอดี จะเขียนอะไรดีนะ เรื่องที่วางแผนไว้แต่แรกดูจะไม่เหมาะกับช่วงเวลานี้ ค้นๆ ไปก็เจอ Self-Portrait with the Spanish Flu ของมุงค์  กับภาพครอบครัวที่เขียนไม่เสร็จของชีเลอเพราะทั้งภรรยาที่ตั้งครรภ์อยู่และตัวศิลปินเองต่างเสียชีวิตจากไข้หวัดสเปนกันหมด

แต่ภาพเหล่านี้ล้วนหดหู่เกินไป ฮือออ อย่ากระนั้นเลย กลับมาตายรังที่ปูแซ็งดีกว่า (คำว่า 'ตายรัง' ทำให้ดูเหมือนคุ้นเคยกันดี 555 แต่จะบอกว่าตั้งแต่จบปริญญาตรีมา ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับปูแซ็งหรือเหล่า old masters ในโลกศิลปะตะวันตกโบราณอีกเลย)

อิฉันไปเจอบทความ Poussin, Plague, and Early Modern Medicine โดยชีลา บาร์เคอร์ (Sheila Barker) ใน The Art Bulletin ฉบับปี 2004 ว่าด้วยภาพ The Plaque of Ashdod (The Miracle of the Ark in the Temple of Dagon, 1630-31) ของปูแซ็ง อ่านแล้วก็สนุกสนานจนอยากเอามาเล่าให้ฟัง ทั้งๆ ที่คิดว่าคุณคงเคยอ่านแล้ว แต่ยังอยากเล่าเพราะจะผสมเรื่องอื่นเข้าไปด้วย

ก็เรื่องบ่นเดิมๆ เกี่ยวกับการเขียนถึงศิลปะด้วยท่าทีวิชาการนั่นแหละ แต่ไม่ได้จะบ่นบาร์เคอร์ ผู้เขียนบทความหรอกนะ คุณคงรู้

 

Nicolas Poussin, The Plague of Ashdod, 1630-31 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, ปารีส, ฝรั่งเศส https://commons.wikimedia.org/wiki/File:The_plague_of_ashdod_1630.jpg

 

ขอย้อนกลับไปที่ข้อความในจดหมายของมาสคาดิที่ยกมาตอนต้น อ่านแล้วก็ขนลุกว่าเขียนดีว่ะ (รู้ตัวอยู่ว่าที่อ่านมันเป็นบทแปลภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ข้อเขียนออริจินัล) น่าสะเทือนใจ ชวนให้เห็นภาพราวกับเขียนขึ้นจากสิ่งที่เห็นจริงตรงหน้า

แต่มาสคาดิก็ไม่ได้เห็นมันจริงๆ หรอก (อ้าว!) เพราะในปี 1630 ที่มาสคาดิเขียนจดหมายขึ้นมานั้น กาฬโรคระบาดอยู่แถวตอนเหนือของอิตาลี ยังมาไม่ถึงกรุงโรมที่ทั้งมาสคาดิและปูแซ็งพำนักอยู่เลย

ที่ยกมานี้ไม่ได้เพื่อจะบอกว่ามาสคาดิเป็นพวกนั่งเทียน แต่ไอ้ความน่าสะพรึงกลัวของการระบาดและบรรยากาศของความกลัวที่กัดกินเป็นวงกว้างต่างหาก ที่เป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับภาพ The Plaque of Ashdod ในบทความนี้

บาร์เคอร์เชื่อมโยงภาพเข้ากับความรู้ทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 17 ที่มองว่าปัญหาทางจิตใจ (รวมทั้งความนอยด์และความสิ้นหวังอันเกิดจากการคิดถึงโรคระบาด) มีความสัมพันธ์กับความป่วยไข้ทางกาย คำถามของเธอมีอยู่ว่า ปูแซ็ง จิตรกรที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา และรู้จักมักคุ้นกับผู้คนในแวดวงการแพทย์เป็นอย่างดี (เพราะนอกจากจะเป็นจิตรกร intellectual แล้วยังเคยเป็นซิฟิลิส) จะเขียนภาพฉากการล้มตายอย่างน่าสยดสยองจากโรคระบาดที่กระตุ้นความกลัวของคนดูไปทำไม?

ณ ขณะที่เขียนอยู่นี้ สถานการณ์ในอิตาลีปัจจุบันก็หนักอย่างน่าเศร้าใจ

[ ถึงคุณผู้อ่าน ภาพ The Plaque of Ashdod ไม่ใช่ภาพการระบาดของกาฬโรคในอิตาลีในศตวรรษที่ 17  แต่มาจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ว่าด้วยบทลงโทษของพระเจ้าต่อชาวฟิลิสเตียแห่งเมืองอัชโดด (ออกเสียงตามพระคัมภีร์ฉบับภาษาไทย) หลังจากที่ชาวฟิลิสเตียยึดหีบพันธสัญญาไปตั้งไว้ที่เทวสถานแห่งเทพเจ้าดาโกน พระเจ้าก็ได้ทำลายรูปปั้นเทพเจ้าดาโกนและบันดาลให้ชาวฟิลิสเตียเป็นโรคระบาดที่มี 'ฝี' ต้องถวายของชดเชยบาปเป็น 'ฝีทองคำ' กับ 'หนูทองคำ' รวมทั้งคืนหีบพันธสัญญาให้กับชาวยิว การระบุถึงฝีและหนูในพระคัมภีร์แสดงว่าโรคระบาดที่ว่านั้นคือกาฬโรคนั่นเอง ]

ในฐานะบทความวิชาการ บาร์เคอร์ใช้วิธีตามขนบธรรมเนียมทั่วไป คือระบุว่ายังมีอะไรที่ขาดไปในการศึกษาภาพ The Plaque of Ashdod เธอกล่าวว่าประเด็นเชิงการแพทย์ในภาพเขียนชิ้นนี้ เท่าที่มีการทำกันมา คือการชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างหนูกับกาฬโรค ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เป็นที่ยอมรับกันมาจนถึงปัจจุบัน (กรี๊ด! ตื่นเต้น! ในภาพมีหนูวิ่งตามพื้น)

แต่แล้วการแพทย์ในยุคนั้นล่ะ? ถ้าคนยุคนั้นเชื่อกันว่า “The passion of the soul affectively accelerates the plague and alter the body.” (Daniel Sonnert) จิตกับกายสัมพันธ์กัน ป่วยใจก็ป่วยกาย ความกลัวทำให้ร่างกายอ่อนแอ ง่ายต่อการเจ็บป่วย แล้วการเขียนภาพเหตุการณ์น่ากลัวๆ ที่กระตุ้นต่อมความกลัวมันจะดีหรือ? ทำไมปูแซ็งที่น่าจะรู้ว่าอะไรควรไม่ควรจึงเขียน 'dangerous painting' หรือจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ 'dangerous painting'?

บทความทั้ง 32 หน้าว่าด้วยปมปัญหาข้อนี้ หรือก็คือความสัมพันธ์ระหว่างภาพกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 17

ถ้าคุณเคยอ่านบทความนี้แล้วคงเห็นว่า สิ่งที่เจ๊บาร์เคอร์ทำ เป็นวิธีการคลาสสิกที่นักวิชาการทั่วไปทำกันนั่นเอง คือการชี้ให้เห็นว่ามีใครศึกษาอะไรมาแล้วบ้าง เพื่อจะบอกว่าอะไรยังเป็นช่องว่างอยู่ และฉันจะศึกษาไอ้ช่องว่างที่ว่านี้ เราจะตั้งประเด็นวิจัยขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราได้อ่านสำรวจมาแล้วว่า เรื่องที่ว่ามันคืออะไร มีใครได้ศึกษามันมาแล้วในแง่มุมใดบ้าง หรือก็คือการทำ literature review นั่นเอง

นี่มีความงงอยู่เสมอเวลาเจอใครสักคนเขียนถึงงานศิลปะชิ้นใดชิ้นหนึ่ง หรือขบวนการศิลปะอะไรสักอย่าง แล้วระบุข้อมูลพื้นๆ ของสิ่งนั้นขึ้นมาเพื่อบอกว่า “นี่คือ argument ของฉัน/ผม”

เอิ่ม… ซอรี่นะ

อย่าดูเบาศิลปะ และอย่าดูเบาการเขียนเกี่ยวกับศิลปะ

คุณคงไม่ค่อยได้เจออะไรเหล่านี้ เพราะไม่ใช่มนุษย์โซเชียล 555 แต่ของพวกนี้ไม่ได้อยู่แค่ในโซเชียลมีเดียหรอกนะ เซ็งตรงนี้…

มีสไลด์แผ่นหนึ่งที่อิฉันเปิดในคาบแรกเกือบทุกวิชาที่สอน เป็นสไลด์ว่าด้วยองค์ประกอบของวิจัย โดยแบ่งเป็นข้อๆ ว่ามีอะไรบ้าง ในจดหมายนี้ก็คือบรรดาข้อความที่ทำตัวหนาไว้นะคะ นอกจาก literature review และข้อปฏิบัติพื้นฐานอย่างการบรรยายภาพในระดับพื้นผิว (สิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา รูปทรงองค์ประกอบ สีสัน อะไรอยู่ตรงไหน หน้าตารูปลักษณ์อย่างไร ฯลฯ) กับการระบุเนื้อหา แนวคิด สไตล์ (ism ทั้งหลาย) ที่ก็ปรากฏในบทความของบาร์เคอร์เช่นกันแล้ว ยังมีข้ออื่นๆ อีกมากมาย นี่น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะเอามาเล่าปนแซะชาวบ้านเป็นระยะ อา…ไม่เคยแซะใครให้คุณฟังในรูปของจดหมายเลย โควิด-19 นี่มันช่างก่อ 'disruption' ทางการสื่อสารเสียจริง (นี่ก็คำฮิตอีกคำนึง) และจดหมายฉบับนี้ก็เป็นฉบับพิเศษ  คุยกันส่วนตัว แต่เปิดให้สาธารณชนรับรู้ไปด้วยพร้อมกัน private and public เบลอเข้าหากันบนปริมณฑลของอินเตอร์เน็ต ว่าแต่จะมีใครเขาทนอ่านไหมก็ไม่รู้?

บาร์เคอร์เปิดบทความด้วยการให้ข้อมูลว่าใครคือคนซื้อภาพชิ้นนี้ คำถามที่ว่าใครคือลูกค้าของศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นการว่าจ้าง (commission) หรือการซื้อภาพมีบทบาทอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจงานศิลปะ ข้อมูลแวดล้อมภาพและผู้ซื้อมักเป็นตัวช่วยอธิบายวาระของการทำงาน ภาพนี้เขียนขึ้นเนื่องในโอกาสพิเศษอะไรหรือไม่ ทำขึ้นเมื่อไหร่ ใช้วัสดุอะไร ติดตั้งอยู่ที่ไหน เช่น ภาพเปลือยอยู่ในห้องนอน ภาพเดียวกันเวอร์ชั่นไม่เปลือยอยู่ในพื้นที่แบบอื่น

กรณีของ The Plaque of Ashdod นั้นไม่ใช่งานว่าจ้าง แต่เป็นงานขาย ผู้ซื้อคือฟาบริซิโอ วัลกัวเนรา (Fabrizio Valguanera) พ่อค้าชาวซิซิเลียน เขาซื้อภาพนี้กับอีกภาพหนึ่งคือ The Empire of Flora ไปจากสตูดิโอของปูแซ็งในช่วงต้นปี 1631

ซึ่งวัลกัวเนราซื้อภาพไปฟอกเงิน

ในกระบวนการไต่สวนความผิดฐานฟอกเงินของวัลกัวเนรา ปูแซ็งขึ้นให้การโดยเรียกชื่อภาพของตัวเองว่า The Miracle of the Ark at the Temple of Dagon ชื่อนี้ชวนให้คิดในมุมที่ว่า การบันดาลให้เกิดโรคระบาดในหมู่ชาวฟิลิสเตียซึ่งเป็นศัตรูของชาวยิวนั้นเป็น an act of divine ของพระเจ้าที่ยังประโยชน์ให้แก่ชาวยิว โรคระบาดจึงเป็นปาฏิหาริย์ที่มากำจัดศัตรู (พระเจ้าใจร้ายเนอะ)

อย่างไรก็ตาม บาร์เคอร์บอกว่าครั้งนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่ภาพถูกเอ่ยถึงในชื่อ “ปาฏิหาริย์” (miracle) เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว ภาพเป็นที่รู้จักในชื่อ “กาฬโรค” (plague) สำหรับเรื่องชื่อที่แตกต่างกันนี้ นักวิชาการอีกคนหนึ่งคือ Christine Boeckl (ขี้เกียจหาวิธีถอดเสียงชื่อแล้ว ขอข้ามอันนึงได้ไหม อันนี้ยากไป) ได้อภิปรายไว้บทความ A New Reading of Nicolas Poussin's Miracle of the Ark in the Temple of Dagon ตีพิมพ์ใน Artibus et Historiae เมื่อปี 1991

Boeckl ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ชมมักมองภาพฉากนี้ในแง่ความทุกข์มากกว่าชัยชนะ หมายความว่า ผู้ชมมีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเหยื่อคือชาวฟิลิสเตีย บาร์เคอร์เสนอว่า จุดนี้ล่ะที่น่าจะเป็นการตอบสนองต่อภาพในแบบที่ปูแซ็งตั้งใจไว้ นั่นคือ เขาเขียนภาพเหตุการณ์อันไม่น่าอภิรมย์เพื่อชวนให้คนเกิดความรู้สึกร่วมเห็นอกเห็นใจไปกับเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย

แต่ว่าถ้าเศร้าใจแล้วมันจะไม่ดีนี่…

ก่อนจะเล่าต่อไปว่าบาร์เคอร์ได้ทำการวิเคราะห์ว่าภาพเป็นหรือไม่เป็น harmful image ไว้โดยพิสดารอย่างไรบ้างนั้น อิฉันอยากจะหยุดตรงนี้สักหน่อย เนี่ยๆๆ คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับงานเขียนที่มีมาก่อน การวิเคราะห์ตีความไม่เกิดขึ้นลอยๆ แต่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าและคิดต่อ นี่คือการให้เกียรติทั้ง subject ที่เราเขียนถึงและการทำงานของตัวเอง ถ้าไม่ยอมใช้เวลาศึกษาเรื่องที่ตัวเองอยากจะพูดถึงนักหนา จะรู้ได้อย่างไรว่าไอ้ที่ตัวเองเพิ่งจะคิดขึ้นมานั้น ใหม่จริงหรือชาวโลกเขารู้กันนานแล้ว มีแต่ตัวเองที่ไม่รู้ หรือเพิ่งรู้?

นอกจากงานเขียนของคนอื่นที่มีต่อภาพเขียนชิ้นเดียวกันแล้ว บทความของบาร์เคอร์ยังอ้างอิงงานเขียนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ไม่เกี่ยวกับภาพของปูแซ็ง แต่เกี่ยวกับความรู้/ความเชื่อเรื่องโรคระบาดในสมัยนั้น นี่ก็เป็นจุดที่ยากอีกเช่นกัน บริบทของยุคสมัยไม่ได้เป็นของสำเร็จรูปที่ใส่มาง่ายๆ เพื่อเป็นแค่ background ของงานศิลปะ งานเขียนที่ดีย่อมสามารถชี้ให้เห็นได้ว่าระหว่างชิ้นงานศิลปะกับบริบทที่รายรอบนั้นสัมพันธ์อย่างไร

ขณะเดียวกันบาร์เคอร์ก็ไม่ลืมที่จะเปรียบเทียบภาพที่เป็นประเด็นกับงานศิลปะชิ้นอื่นๆ ทั้งของปูแซ็งเองและศิลปินคนอื่นที่ทำงานในหัวข้อเดียวกันหรือคล้ายกัน หลังจากเขียนภาพนี้หลายปี ปูแซ็งได้เขียนภาพการระบาดในโรมอีกภาพหนึ่งคือ Saint Frances of Rome Announcing the End of the Plague in Rome เมื่อปี 1656

 

Nicolas Poussin, Saint Frances of Rome Announcing the End of the Plague in Rome, 1656 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, ปารีส, ฝรั่งเศส https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Poussin_Sainte_Françoise_Romaine_Louvre.jpg

 

ส่วนจิตรกรชาวอิตาเลียนอีกคนหนึ่งคือแองเจโล กาโรเซลลี (Angelo Caroselli) ก็เขียนภาพชื่อ The Plague of Ashdod (After Poussin) ขึ้นในปี 1631

 

Angelo Caroselli, The Plague of Ashdod (after Poussin), 1631 ปัจจุบันอยู่ที่ The National Gallery, ลอนดอน, อังกฤษ https://www.nationalgallery.org.uk/paintings/angelo-caroselli-the-plague-at-ashdod-after-poussin

 

(ที่งงคืองานของกาโรเซลลีซึ่งเป็นการคัดลอกภาพของปูแซ็งนั้น ก็เขียนขึ้นโดยการว่าจ้างของวัลกัวเนราที่ซื้อภาพต้นฉบับไปนั่นล่ะ)

อีกจุดหนึ่งที่บทความชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานอย่างละเอียด คือการมองเพื่อแก้โจทย์ของการนำเสนอภาพ ในเมื่ออาการหนึ่งของกาฬโรคที่ปรากฏในพระคัมภีร์อันเป็นตัวบทดั้งเดิมคือ “ฝีในที่ลับ” (tumors in secret parts) แล้วปูแซ็งแสดงภาพคนเป็นกาฬโรคได้อย่างไรโดยไม่ต้องเขียนรูปฝีให้เห็น?

ส่วนนี้ในบทความชวนให้นึกถึงหนังสือ Take A Closer Look ของอาจารย์ที่ปรึกษาผู้ล่วงลับของคุณ คือดาเนียล อาราสส์ (Daniel Arasse) (โชคดีจังที่มีฉบับแปลภาษาอังกฤษเพราะนี่อ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ออก) การมองอย่างละเอียด อย่างใกล้ชิด อย่างลึกซึ้ง และอย่างมีจินตนาการนั้น แยกไม่ขาดจากการคิดและการเห็น (และที่เหนือขึ้นไปกว่าการเห็น ก็คือการรับรู้)

บาร์เคอร์สาธยายว่าปูแซ็งอาศัยความรู้เกี่ยวกับข้อบ่งชี้ต่างๆ ของกาฬโรคในยุคของเขา (ที่ไม่ใช่ฝีในที่ลับ) เป็นตัวบอก สิ่งเหล่านั้นได้แก่ ผิวสีดำคล้ำของหญิงชราซึ่งล้มพาดเสาที่หักอยู่บนพื้น กับแม่วัยสาวและทารกที่ล้มอยู่ตรง foreground, ใบหน้าแสดงความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจนนัยน์ตาเบิกโพลงแบบที่เรียกว่า plague face (facies pestica) ของหญิงชรา, ท่าทางเหนื่อยล้าของชาวหนุ่มคนที่ก้มซบลงกับหัวเข่า และที่สำคัญ การยกแขนขึ้นให้พ้นจากลำตัวของศพแม่กับศพชายหนุ่มอีกคนทางด้านซ้ายสุดของภาพ

ในจุดนี้ การสืบค้นเชิงประติมาน (iconography) ก้าวเข้ามีบทบาท บาร์เคอร์ชี้ให้เห็นว่าปูแซ็งสืบทอดขนบการเขียนภาพกาฬโรคที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยเรอเนซองส์ คือรูปบุคคลยกแขนเห็นรักแร้ (ก็กาฬโรคทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต) อย่างภาพ Saint Dominic Interceding before the Virgin for the Liberation from the Plague (1635)  ของลูโดวิโก เฟอรรารี (Ludovico Ferrari) ศิลปินที่อยู่ร่วมสมัยกัน ก็แสดงรูปหมอยกแขนผู้ป่วยกาฬโรคขึ้นเพื่อตรวจบริเวณรักแร้ ดูจากภาพของปูแซ็งแล้วต้องบอกว่า น้องเด็กทารกอีกคนที่ยังไม่ตาย คนที่นั่งแหมะอยู่ตรงกลางระหว่างเต้านมกับรักแร้ของศพแม่ คงติดกาฬโรคแล้วตายตามไปในไม่ช้า

 

Ludovico Ferrari, Saint Dominic Interceding before the Virgin for the Liberation from the Plague (รายละเอียด), 1635 ปัจจุบันอยู่ที่ Cassa di Risparmio di Padova e Rovigo, ปาดัว, อิตาลี ภาพจากบทความ Poussin, Plague, and Early Modern Medicine โดย Sheila Barker ตีพิมพ์ ใน The Art Bulletin, Vol. 86, No. 4 (Dec., 2004), หน้า 663

 

อะไรอีกที่เป็นตัวบอกว่าปูแซ็งมีความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับกาฬโรคในศตวรรษที่ 17? สิ่งนั้นก็คือภาพคนทำท่าปิดจมูกหรือปิดหน้านั่นเอง ท่าทางแบบนั้นคือการป้องกันการระบาดในยุคนั้นที่เชื่อกันว่ากาฬโรคติดต่อกันได้จากการหายใจ กลิ่นไอจากศพหมายถึงพิษ ความตาย ดังที่มีผู้อธิบายไว้ในช่วงการระบาดที่เมืองฟลอเรนซ์ว่า “the stench of the dead kills the living”

แสดงหลักฐานเล่ามายืดยาวขนาดนี้ เชื่อแล้วจ้าว่าปูแซ็งรู้เรื่องทางการแพทย์เกี่ยวกับกาฬโรคในยุคสมัยของเขาดี แต่ถ้าการแพทย์ยุคนั้นบอกว่าความป่วยไข้ทางใจอย่างความกลัว ความสิ้นหวัง ความทุกข์ระทมสัมพันธ์กับความป่วยไข้ทางกาย (อย่างกาฬโรค) แล้ว ปูแซ็งซึ่งก็ไม่น่าพลาดที่จะรู้จักแนวคิดพวกนี้ จะเขียนภาพอันชวนให้สลดหดหู่ขึ้นมาทำไม? หรือศิลปินอยากให้คนป่วยเพิ่ม?

งึมๆ เขียนมาตั้งแยะแล้วทำไมไม่ตอบคำถามสักที? ไหนบอกว่านี่แหละปมปัญหาหลักของบทความ

ต้องบอกว่าบทความของบาร์เคอร์เป็นแบบที่แถวบ้านเรียกว่า 'slow burn' ค่ะ ไม่เชิงว่ามัวแต่ขี่ม้าเลียบค่ายนะ คือเจ๊เขาใช้พื้นที่ไปมากในการแจกแจงแสดงให้เห็นว่า หนึ่ง ปูแซ็งเป็นจิตรกรทรงภูมิขนาดไหน (ใครๆ ที่เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะก็รู้ล่ะ แต่อาจจะไม่ค่อยได้สัมผัสมิติทางการแพทย์) และสอง องค์ความรู้ทางการแพทย์สมัยนั้นเป็นอย่างไร สองข้อนี้ล่ะที่นำไปสู่ข้อสงสัยว่า ปูแซ็งจะสร้างภาพที่ดูเหมือนจะเป็น harmful image ไปทำไม? หรือเขาอยากแช่งพวกฟอกเงินอย่างวัลกัวเนรา? แต่ไม่นะ วัลกัวเนราเป็นแค่ลูกค้าที่มาซื้อภาพที่จิตรกรเขียนเสร็จไปก่อนแล้ว

คำตอบที่บาร์เคอร์เสนอ จัดอยู่ในทฤษฎีละครแนวโศกนาฏกรรมของอริสโตเติล (Aristotle) มีหลักฐานอยู่ในงานเขียน Observation on Painting ของปูแซ็งเองว่าเขาคุ้นเคยกับ Poetics ของอริสโตเติล (โดยผ่านงานเขียนของคนอื่นอีกทีอะนะ) สำหรับอริสโตเติล โศกนาฏกรรม (tragedy) สามารถชำระล้างอารมณ์และจิตใจให้ใสสว่าง เมื่อโศกนาฏกรรมเร้าให้เกิดความสยดสยอง ความกลัว ความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจ สิ่งที่ตามมาคือการประจักษ์แจ้ง (catharsis)

ถ้ามองในมุมนี้ โศกนาฏกรรมก็นำมาซึ่งการเยียวยา ฉาก The Plague of Ashdod ของปูแซ็งจึงเป็นประหนึ่งเวทีละครโศกนาฏกรรม (ดูการจัดการพื้นที่ในภาพสิ อย่างกับฉากละคร) ครอบครัวแม่ลูกอ่อนล้มตายอยู่ตรงหน้า เกือบจะหลุดกรอบภาพเข้ามาในพื้นที่ของผู้ชม ชายหนุ่มที่เอื้อมมือไปแตะหัวทารกคนที่ยังมีชีวิตอาจจะเป็นพ่อของเด็กก็ได้ บุคคลกลุ่มย่อยนี้อยู่ในองค์ประกอบแบบ pyramid ที่ฟอร์มขึ้นจากร่างของแม่ที่นอนอยู่บนพื้น ขนาบข้างด้วยลูกน้อยสองคน คนหนึ่งตาย คนหนึ่งยังอยู่ และพ่อผู้โน้มตัวลงแตะศีรษะลูกที่ยังมีชีวิต ลูกที่จะต้องตายในอนาคตเพราะเกาะอยู่ที่บริเวณรักแร้ (ต่อมน้ำเหลือง) ของแม่ มือพ่อข้างหนึ่งปิดจมูก สุดท้ายเขาอาจจะไม่ตาย แต่ไม่เหลือครอบครัวอยู่เลย

บรรยายภาพเพิ่มความดราม่าให้กับโศกนาฏกรรม เผื่อจะชำระล้างจิตใจขับไล่โควิด-19 ตามหลักการของอริสโตเติล…

ว่าแต่ถ้าย้อนไปถึงไอเดียของอริสโตเติล แล้วมันจะศตวรรษที่ 17 ยังไง?

ก็เพราะว่าถ้าโศกนาฏกรรมสร้าง psychological effect ที่นำไปสู่ catharsis แล้วคนสมัยศตวรรษที่ 17 เชื่อว่าความกลัวสัมพันธ์กับความป่วยไข้ จิตใจที่ได้รับการชำระล้าง (ผ่านการเสพภาพแนวโศกนาฏกรรม ไม่ใช่ว่าผ่านโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเอง) ก็จะทำให้เราไม่ป่วยง่ายๆ ไง เย้!

สุดท้ายนี้จบยังไงดี จะบอกว่าอ่านมาสองวัน เจอชื่อคนมากมายจากหลากหลายแวดวงและยุคสมัย แต่ไม่รู้สึกแหวะๆ แบบเจอพวก name-dropper เลย 555

[ name-dropper = a person who seeks to impress others by frequently mentioning famous or important persons in a familiar way พวกชอบอ้างชื่อคนดังน่ะค่ะ ]

อย่างที่เราเคยคุยกันอยู่เสมอว่า เราไม่ได้ปฏิเสธมุมมองจากงานวิชาการสาขาอื่น และคนอื่นไม่จำเป็นต้องใช้ระเบียบวิธีแบบงานประวัติศาสตร์ศิลปะ ใช้แบบอื่นก็ได้ โลกนี้มีสารพัด และเราก็ไม่ได้ปฏิเสธการใช้องค์ความรู้สาขาอื่นในงานประวัติศาสตร์ศิลปะด้วย

แต่ที่มักจะมองบน กลอกตาสามรอบแปดรอบก่อนร้อง 'เฮ้อ!' ดังๆ นั้น เพราะมักเจองานเขียนประเภทฉาบฉวย ตื้นเขิน มักง่าย ไม่ยอมให้เวลาจริงจังกับวัตถุที่เขียนถึง (จะด้วยมุมมองอะไรก็ตามแต่) มือไม่ถึง เ ด๋ อ …

[ ไม่ได้หมายรวมถึงการเขียนถึงศิลปะแบบลำลองนะคะ ไม่ใช่ทุกคนต้องเขียนถึงศิลปะแบบวิชาการ แต่หมายถึงอีก category นึงน่ะค่ะ ]

งานเขียนพวกนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ได้กำลังเขียนถึงศิลปะจริงๆ หรอก แต่แค่เอาศิลปะไปเป็นภาพประกอบความคิดอะไรสักอย่างของตัวเอง (หรือที่เห่ยกว่านั้นคือ ความคิดของคนอื่นที่ตัวเองไปเรียบเรียงมาอีกที ไอ้ที่คุณเรียกว่า 'ความคิดสำเนา' นั่นล่ะ) งานประเภทอ้างชื่อนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ แต่ใส่มาแค่อะไรพื้นๆ แบบคนธรรมดาก็คิดได้ ไม่ต้องเป็นแดร์ริดา, ลากอง, บาดิยู, ร็องซีแยร์ หรือ whoever ที่กำลังฮิตอยู่ก็คิดได้ (ใครอีกบ้างนะที่กำลังฮิตตอนนี้ บอริส กรอย? ฮิโต สเตเยิร์ล? ส่วนฟูโกต์เหมือนเลิกฮิตนานแล้ว) ไอ้ประเภท “ศิลปะควรกระตุ้นให้เกิดการคิด” น่ะ เฮ้อ… มันไม่ได้สะท้อนสติปัญญาอะไรของผู้อ้าง นอกจากว่าเป็นพวก name-dropper แถมอาจจะบ้าคำคม…

สงสารนักคิดเหล่านั้นจังนะที่แบบว่าอุตส่าห์อ่านมาแล้ว นี่คือสาระที่พวกเธอได้เหรอ ฉันเขียนตั้งนาน…

เนี่ย สอนกันมาให้เป็น snob 555 (ว่าแต่แบบนี้คือ snob จริงเหรอ ไหนทุกคนบอกว่าต้องให้ความสำคัญกับการวิจารณ์ นี่ก็ทำอยู่ ก็ไม่เห็นว่าดีแล้วจะให้ชมยังไง?) ไม่ได้มีแต่คุณหรอกนะที่สอนอิฉันแบบนี้ อาจารย์ที่ปรึกษาสมัย ป.เอกผู้สาบสูญก็สอนมาแบบนี้แหละ (อ๊า ไม่ตอบอีเมล์ซึ่งเป็นเมล์มหาลัย หรือหลังจาก early retired แล้วเลิกใช้ทุกอย่าง กลับบ้านเกิดที่ไซปรัส? แต่ป้าลอรา มัลวีย์ (นี่แน่ะ drop name บ้างซะเลย) ที่เพิ่งเจอเมื่อเดือนที่แล้วก็บอกนะว่า “No one can leave Birkbeck.” หืม? เหรอ!?!)

ครั้งแรกที่เจอกันกลางฤดูหนาวปี 2011 ในห้องทำงานที่แคบยาวเหมือนถ้ำ เขาบอกว่าการเรียน ป.เอก คือ life in solitude คือการใช้ชีวิตอันสันโดษ สี่ปีที่ทำงานด้วยกันไม่ได้สนิทอะไรกันมาก เป็นความสัมพันธ์ที่มีระยะห่าง ไม่เม้ามอยเหมือนพวกเรา

แต่สิ่งที่พ้องกันคือคำชี้แนะในการทำงาน ความสำคัญของการ engage กับวัตถุที่เราเลือกศึกษา ความระมัดระวังที่จะไม่ลดทอนงานศิลปะเป็นภาพประกอบทฤษฎี (Oh! Many people do that, but it is not right.)

 

จนกว่าเราจะพบกันอีกครั้งเมื่อโลกสงบสุข

ไม่ลงชื่อ (เหมือนเวลาเขียนอีเมล์)

 

รหัส E 

สายัณห์ แดงกลม

 

โป่ง

มันเป็นกระดาษสีตุ่นๆ ตกค้างมาจากไหนเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ยังเป็นตัวรองรับหมึกได้ดีก่อนพิมพ์ลงคอมพ์

ขึ้นต้นแบบนี้ คนเดาอายุกันได้พอดี…

อ่าน จม. โป่งแล้วให้รู้สึกเหมือนปูแซ็งตามมาทวงคืนอะไรสักอย่างจากอีฉันหลังจากวิจัยฉบับนั้นเมื่อหลายสิบปีก่อน และทั้งๆ ที่ยังคงสอนเรื่องปูแซ็งทั้งเทอมหนึ่งเทอมสอง แล้วมีโรคระบาดย่องเข้ามาจากปลายปี จนส่งเสียงอึกทึกครึกโครมตอนนี้ ปูแซ็งก็ยังตามมาเตือนว่าเคยวาดภาพ The Plague of Ashdod

เรื่องนี้มันพัลวันโยงใยไปมา คือตัวเองเคยนำเสนอภาพที่วาดคู่กัน The Empire of Flora ในงานมุทิตาจิตอาจารย์ มธ. ท่านหนึ่งหลายปีมาแล้ว และแนะนำภาพ โรคห่าที่แอชดอด สำหรับเอกสารสัมมนากาฬโรคเมื่อสิบกว่าปีแล้วกระมัง ส่วนบทความของบาร์เคอร์อันนั้น ยังค่ะ ยังไม่ได้อ่าน มีอยู่ในมือ แต่ไม่ได้ฤกษ์เสียที

ที่บอกว่าพัลวันอีกเรื่อง คืออะไรบางอย่างมันวนลูปชอบกล เพราะตอนน้ำท่วมปี 54 อีฉันก็ติดแหง็กในห้องแคบและต่อด้วยที่บ้านญาติ นั่งเขียนถึงงานอารยาสลับกับแทรกเรื่องน้ำท่วม มันก็เพลินไปอีกแบบกับการปล่อยให้เรื่องภายนอกที่นอกเรื่องล้นทะลักเข้ามาในเรื่อง ไม่ถึงขั้นท่วม แต่ก็นองได้ใจกับบทความที่ไม่ต้องขึงความเป็นวิชาการจนตึงเปรี๊ยะ (ต้องขอบคุณ บก.)

เรื่องมันวนมาอีกที ไม่ใช่น้ำท่วมละตอนนี้ แต่เป็นไวรัสที่กำหนดให้อีฉันต้องมาตอบ จม. เรื่องศิลปะในห้องแคบราวคุก ไวรัสอีกตัวไม่ใช่โควิด-19 แต่เป็นปูแซ็ง ถามหาหน้ากากอนามัยยังไงก็หาไม่เจอ ไม่รู้ไปไหนหมด

มีสามสิ่งที่ทำได้นอกจากตรวจงาน นศ. และตระเวนหาของลงท้องแต่ละมื้อ หนึ่ง คือเช็ดถูเก็บกวาดห้องที่ผัดวันประกันพรุ่งมานาน มาได้ฤกษ์ตอนฤกษ์ไม่ดี สอง คืออ่าน Black death หรือกาฬโรคที่ระบาดยุคกลางคนตายเป็นเบือ และสาม อ่านนิยายที่กองรออยู่นานแล้ว จบไปแล้วสอง กำลังขึ้นเล่มสาม

เรื่องแรก เป็นนิยายว่าด้วยนิยายที่ไม่มีผู้ตีพิมพ์ แล้วจู่ๆ หนึ่งในนิยายไร้ผู้เหลียวแลดันถูกตีพิมพ์ขึ้นมา พร้อมชื่อคนเขียนที่เป็นเพียงลุงขายพิซซ่าซึ่งตายไปแล้ว สนุกค่ะ เพราะปริศนาหนังสือไร้คนพิมพ์ไม่จบแค่นั้น (David Foenkinos, Le mystère Henri Pick)

เรื่องสอง นิยายฝรั่งเศสแปลจากภาษาอังกฤษ เกิดขึ้นใน ศต.15 แพทย์หญิงต้องไขคดีพระตาย พร้อมเหตุอัศจรรย์ที่หลุมศพ และที่มาสะกิดใจอีฉันนับแต่ช่วงต้น คือมันพูดถึงหนูที่แพร่ไปทั่ว… โรคระบาดมาเลยโดยไม่ทันตั้งตัว (C.L. Grace, La Rose de Raby แปลจาก Saintly Murders)

 

 

เรื่องสามที่ยังอ่านไม่จบ เปลี่ยนมาเป็นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เด็กหนุ่มฝรั่งเศสเดินทางมากรุงโรมปี 1930 เพื่อค้นคว้าเกี่ยวกับปูแซ็ง… ไหมล่ะ! บอกแล้วว่ามันวนมาจนได้ มีคนบอกให้อ่านนานแล้วละ เขาคิดว่าน่าจะถูกจริตอีฉันเพราะมันพูดถึงปูแซ็ง แถมไม่ได้พูดแบบผ่านๆ นะ โอ จริงจังเลยแหละ บางภาพอุทิศให้หนึ่งตอนเลย คนแต่งเนียนมากกับการแทรกเข้าเรื่อง (แม้บางช่วงก็ชักเยอะ…) ทีแรกไม่คิดจะอ่านหรอกเนื่องจากเห็นสถานภาพผู้เขียนเป็นถึงราชบัณฑิตฝรั่งเศส เกิดความไม่ไว้วางใจล่วงหน้า (อคติจ๋า หล่อนมาได้ไง) แต่พอลงเรื่อง แม่เจ้า! ยกนิ้วให้กับทั้งการดำเนินเรื่องและความรุ่มรวยทางความคิด (Dominique Fernandez, On a sauvé le monde)

 

 

เจ้าเด็กหนุ่มคนนี้พบตัวตนและแรงบันดาลใจกับการมาเห็นภาพหนึ่งของปูแซ็ง แสดงฉากนาร์ซิสซัสนอนตายริมธารน้ำ พ่อหนุ่มก็เคลิ้มไปกับรูปร่างท่าทางของชายในภาพ และอ่านภาพแตกต่างไปจากที่เห็น คือท่าทางการตายมันเหมือนการหลับเสียมากกว่า ยิ่งเอื้อให้แฟนตาซีของเด็กหนุ่มและปักหมุดเพศสภาพของตนเอง

พอมาเรียนที่ Istituto d'Arte ที่โรม ก็มารู้จักและพบรักกับหนุ่มรัสเซียที่เผยต่อมาว่าเป็นสายลับ และพลอยลากตัวเอกร่วมขบวนการไปด้วยเลย

ความน่าสนใจมันอยู่ตรงที่การหักเหเบี่ยงเบนของตัวเอกดันพ่วงด้วยการอ่านภาพไปตามอุดมการณ์การเมือง… เป็นไงล่ะ ปูแซ็งจาก ศต.17 ต้องตอบสนองรสนิยมเผด็จการการเมืองยุคนั้นทั้งในโรมของมุสโสลินีและที่มอสโควของสตาลิน

ตรงเนี้ย บริบทมันล้นทะลักเข้ามาครอบงำ ทำให้ความหลักแหลมของตัวเอกออกจะเป็นการงมโข่งไปเลยในสายตาของคนอ่านปัจจุบัน… (บางคนบอกว่าบริบทพาไป ที่จริงคือพาไปเลื่อนเปื้อนละมั้ง)

ก่อนอื่นใด คงไม่ต้องอ้างอิง drop name อะไรให้วุ่นวายเพื่อจะเคลมว่าการอ่านวรรณกรรมมีคุณค่าพอๆ กับการอ่านงานวิชาการ ไม่ใช่ว่ามันให้ข้อคิด คติเตือนใจ อุทาหรณ์ อะไรเทือกนี้ที่ทำให้วรรณกรรมเป็นบทสวด ในที่นี้ ขอสารภาพว่าเป็นการยื่นหน้าไปให้ตัวอักษรตบแผ่วๆ แต่แสนจะละอาย ละอายสิ สอนปูแซ็งมานานโคตรชาติ ทำวิจัยก็แล้ว ยังพลาดไม่เห็นบางเรื่องที่เป็นเส้นผมบังภูเขา อาทิ เมื่อตัวละครพูดเปรียบเทียบว่าคนเลี้ยงสัตว์ในภาพ The Shepherds of Arcadia แต่งตัวเหมือนออกมาจากประติมากรรมโบราณ ไม่เหมือนงานต้นแบบของจิตรกรอิตาเลียนแกร์ชิโน (Guercino) หรือเหล่าสาวๆ ในภาพ Eliezer and Rebecca ก็แต่งเนื้อตัวเสื้อผ้าหน้าผมซะอย่างดีเพียงเพื่อจะมาขนน้ำ…

(ตรงนี้นึกถึงละครทีวีที่นางเอกเป็นสาวชาวบ้านยากจนนุ่งซิ่นและเสื้อแขนกุด แต่ดูจากเนื้อผ้าลวดลายการตัดเย็บการรีดแล้ว เหมือนเพิ่งถอยมาจากบูติกไหนสักแห่ง ส่วนพระเอกอีกเรื่อง เป็นหนุ่มบ้านนาเหมือนกัน นั่งใต้ถุนบ้านสวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นค่า กล้องโคลสอัพหน้า รองพื้นและเครื่องสำอางเด้งออกมาเลย…)

เนี่ยแหล่ะ แค่เรื่องการนุ่งห่ม ทำไมข้าพเจ้าจึงหลงลืมละเลยไปได้ คงเพราะมัวหมกมุ่นกับจารึกละตินปริศนา 4 ตัวข้างโลงศพในภาพคนเลี้ยงสัตว์ หรือเพราะหัวโขนวิชาการมันหนักเกินกว่าจะสลัดหลุด

อีกตัวอย่างที่อีฉันแสนจะอายตนเอง คือตอนที่หนุ่มรัสเซียวิพากษ์คำกล่าวเลื่องชื่อของปูแซ็งที่บอกว่าคาราวาจจิโอ "เกิดมาเพื่อทำลายจิตรกรรม" พ่อหนุ่มคนนี้กลับมองว่านี่ไม่ใช่คำว่ากล่าวตำหนิ แต่คือคำชม ใครจะสามารถหักล้างขนบจิตรกรรมที่ยืนยงมายาวนานได้หากผู้นั้นไม่ได้เยี่ยมยอดเท่าคาราวาจจิโอ…

อีฉันสุดจะเขินตนเองที่ไม่ได้พลิกด้านการอ่านแบบนี้ ยิ่งไปกว่านั้นค่า หนุ่มเสริมต่ออีกว่า นัยที่ตามมาคือ ดังนั้น "ข้า" (ปูแซ็ง) ก็จะเป็นผู้ฟื้นฟูมันกลับมาใหม่… เป็นไงล่ะ เจ็บแสบดีนักแลการอ่านนิยายเนี่ยนะ

(นึกขึ้นมาได้ว่าการอ่านกวนตีนปลิ้นหน้าหลังแบบนี้ อาจารย์หนุ่ม มธ. สายวรรณกรรมคนหนึ่งน่าจะทำได้ดีพอกัน)

คงไม่ใช่นิยายทุกเรื่องใช่มะที่พูดถึงจิตรกรรมได้เฉียบคม หนุ่มทั้งสองของเราช่างปราดเปรื่อง สายตาและสมองทำงานด้วยกัน ทั้งคู่ย้ำอยู่บ่อยครั้งว่างานจิตรกรรมเรียกร้อง double language หรือ double lecture = double reading ไม่ใช่หมายถึงอ่านซ้ำซ้อน แต่อ่านแบบอื่นแตกต่างจากที่เห็นหรือเข้าใจโดยทั่วไป ตัวละครภัณฑารักษ์ลูฟวร์คนหนึ่งเลยเปิดตัวออกมาในกรอบความคับแคบ :

"คุณอ็องเกลอแบรต์มีหูกระต่ายรัดอยู่ที่คอ เขาเป็นผู้รอบรู้โดยแท้ เชิดชูการเคารพผลงานถึงขั้นขัดขวางการทำความเข้าใจผลงาน สำหรับเขาแล้ว ความคิดที่จะแยกภาพออกจากบริบทประวัติศาสตร์ของมัน การอ่านงานโดยเขยิบให้มันใกล้ยุคสมัยของเรา ดูเป็นเรื่องนอกรีต" เขาถามต่อว่า "คุณคงไม่พยายามจะทำปูแซ็งให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้คนเข้าถึงได้หรอกใช่มั้ย? (คำว่า "ทำให้เป็นปัจจุบัน" บิดปากเขาเหยเกไปเลย คือมันเป็นไปไม่ได้เลยกับสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13) คุณเห็นด้วยใช่มั้ยว่าภาพมีแค่ความหมายเดียวที่ผู้สร้างเป็นคนให้ไว้? ยุคเรานี่มันเพี้ยนไปหมดแล้ว ลูกชายผมเรียนภาษากรีกที่ซอร์บอนน์ เขาได้ฟังคุณตัยยงซึ่งเป็นคนแปลอีเลียตในสำนวนใหม่ อธิบายเรื่องโฮเมอร์โดยใช้สงครามปี 14 มาช่วยส่องสว่าง ทั้งหมดนั่นก็เพื่อเอาใจคนเรียน ลูกชายผมเป็นเดือดเป็นแค้น เขาชอบอคิลลิสที่เป็นอคิลลิส และไม่ใช่เพราะอคิลลิสพยากรณ์เรื่องจอมพลฟอช" (น. 479-80)

ปี 1930 บาร์ตส์ยังเป็นละอ่อนอายุ 15 แถมยังอยากบวชเป็นพระอีกต่างหาก บาร์ตส์จะตอบไงนะกับการอ่านสายเดี่ยวแบบนี้ ประวัติศาสตร์ศิลป์ช่วงนั้นคงอยู่บนฐานคิดแบบปฏิฐานนิยมเสียส่วนใหญ่ เจ้าเด็กหนุ่มต่างชาติทั้งสองเลยเป็นคู่เกย์แสนฉลาดล้ำยุค (เสียจริง!)

แต่พอความรักและอุดมการณ์ทางการเมืองมันพัวพันกันและล้นเข้ามาในขอบเขตของความรู้ ไอ้เจ้า double language เลยพาลจะแปลงโฉมหน้าให้เข้าทางปฏิบัติการทางการเมืองแทนที่จะคงเสน่ห์ของ passion ส่วนบุคคลหรือความสนใจเฉพาะตัว ปูแซ็งพลอยติดเชื้อการเมืองที่ระบาดเกาะกินความลุ่มหลงในศิลปะ

ตอนต้น หนุ่มฝรั่งเศสของเราไม่ได้คิดว่าเรื่องของจิตรกร ศต. 17 จะมาเกี่ยวข้องอะไรกับลัทธิเผด็จการของกรุงโรมและโซเวียตในช่วงนั้น คำกล่าวเชิงเหยียดของกวีมาริเน็ตติ (Marinetti) กลับยิ่งเป็นกำลังใจ: "การมัวชื่นชมภาพยุคเก่าเท่ากับเอาอารมณ์ความรู้สึกของเราไปทิ้งลงโถใส่อัฐิธาตุ แทนที่จะทุ่มเทมันไปกับการลงมือกระทำและการสร้างสรรค์ในภายภาคหน้า" (น. 95 ที่เลขหน้าหายไป…)

กวีหัวหอกกระแส futurism อาจจะมองการณ์ไกลไปหน่อย เลยบ้องตื้นกับการมองงานจากอดีต การชื่นชมดื่มด่ำกับงานเก่าแก่ไม่ได้แปลว่าตกยุค และการหลงใหลกับงานร่วมสมัยก็ไม่ได้หมายความว่าหัวก้าวหน้า เวลาและปัญญาไม่ได้เป็นสมการกันเสมอไป ในแง่นี้มาริเน็ตติผู้โปรฟาสซิสต์จึงไม่ได้น่าเชื่อถือพอ เพราะดันไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า

แรงกดดันยังมาจากมิตรสหายร่วมสถาบันที่มีความคิดต้านฟาสซิสต์ และกังขากับการขังตนเองอยู่กับ "ชื่อใหญ่โต" กับเหล่าเกียรติคุณ "ที่เถียงไม่ขึ้น" คือจมอยู่กับศิลปินและศิลปะแบบ big name แทนที่จะหันมาใส่ใจเหตุการณ์บ้านเมืองรอบตัว

พระเอกเรามี argument โต้กลับที่เป็นคติประจำใจตอนนั้น: "อันที่จริง พวกเขาก็ปล่อยให้ตนเองติดกับพวกฟาสซิสต์เนื่องจากพวกเขาไม่กล้าที่จะยืนยันว่าผลงานไม่ได้เกิดจากบริบทสังคมและการเมือง แต่จากความสันโดษและไม่แยแสโลก เราจะสร้างสรรค์ได้ก็ต่อเมื่อดำดิ่งลงก้นบึ้งของตนเอง คนที่ขังตัวอยู่ในห้องที่มีหน้าต่างปิดจะเห็นได้ไกลกว่าผู้ที่เฉไฉไปกับการสังเกตชีวิตรอบตัวเขา ความนึกคิดจะเฉียบแหลมเป็นที่สุดก็ต่อเมื่อได้สร้างความมืดรอบตัว" (น. 116)

โคตรโรแมนติกเลยคุณน้อง!!! หลายคนคงนึกตำหนิเช่นนั้น เพราะมันเป็นท่าทีปิดกั้นสไตล์โลกแคบ และง่ายที่จะถูกโจมตี (โดยเฉพาะจากเหล่าผู้เรียกร้องผลประโยชน์ต่อสังคมเป็นวรรคเป็นเวรและอย่างไม่ลืมหูลืมตา)

แต่ลองไปอ่านงานเขียนสมัย ศต. 19 ที่ควบคู่ไปกับปรากฏการณ์ของกระแสโรแมนติกสิ มีไม่น้อยที่พูดแบบนี้แหละ ทำนองว่าปิดตาทางกายภาพซะ แล้วเปิดดวงตาภายในมองหยั่งตนเอง ดังนั้นอย่าด่วนประณามความคิดเช่นนั้น ในเมื่อภาพมันสามารถมี double language ภาษาเองก็มีอีกด้านที่เป็นนัยเพียงว่าอย่าวอกแว่ก ตั้งสติหน่อยกับเรื่องที่กำลังทำ ระวังเรื่องอื่นๆ เล็ดลอดมากวน หรือถ้าจะไม่พื้นๆ แบบนั้น อาจหมายถึงว่าก่อนจะปิดตาลง ให้มองอย่างถี่ถ้วนรอบตัว แล้วค่อยประมวลผลสกัดกระเทาะขมวดด้วยดวงตาภายใน

พอจะเข้าใจได้ว่าการเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์รุ่นกระเตาะที่ยังหมกมุ่นกับปูแซ็ง กับศิลปวัฒนธรรม ศต. 17 เลยไม่ปล่อยให้เรื่องภายนอกมามีอิทธิพล มาป่วนท่าทีขึงขังของการค้นคว้าทำวิจัย อีกอย่าง ปูแซ็งก็ดันมีชีวิตเป็นแบบอย่างเช่นนั้น คือปลีกตัวจากความวุ่นวายของฝรั่งเศสมาตั้งรกรากที่โรม เลี่ยงศูนย์กลางโรม รับงานขนาดพอดีตัว จึงไม่พบภาพของปูแซ็งประดับตามโบสถ์อิตาเลียน ไม่มีภาพเหมือนของเหล่าพระคาร์ดินัลหรือสันตะปะปา ปูแซ็งหลบหลีกจากความอลหม่านทั้งปวงและเก็บตัวทำงานเงียบๆ ชีวประวัติจิตรกรเลยดูจะปลอดเชื้อการเมือง แถมยังเข้าทางอุดมการณ์ศิลปะพื้นฐานของหนุ่มนักค้นคว้าในเรื่อง

เจ้าตัวสารภาพว่า ต่อมาตนเองก็มีทัศนคติกลับด้านจากที่นึกคิดไว้ แฟนหนุ่มรัสเซียมาเปิดตาที่ปิดอยู่ให้เห็นอะไรต่างไป เห็นมากกว่าผลงานปูแซ็ง เช่น การตระหนักว่าปูแซ็งไม่วาดชนชั้นกรรมาชีพหรือคนสามัญธรรมดาเลย มีแต่เรื่องไฮโซจากวรรณกรรมโบราณ เทพเจ้า ศาสนา ชนชั้นสูง เมื่อแฟนรัสเซียชี้ให้เห็นว่าคาราวาจจิโอวาดภาพชาวบ้านตีนเขลอะ แต่งตัวมอซอ คุกเข่าคารวะแม่พระและเยซู หนุ่มฝรั่งเศสเลยเห็นว่าปูแซ็งวาดบุคคลต่างๆ เอี่ยมอ่อง สวมรองเท้าสานเรียบร้อย ไม่ค่อยมีเรื่องชาวบ้าน

พ่อคุณเริ่มเป๋ นึกออกแต่ภาพชาวอิสราเอลเก็บอาหารหล่นจากฟ้าซึ่งเป็นฉากแสดงชาวบ้านทั่วไป เป๋จนลืมไปอีกว่าปูแซ็งวาดทิวทัศน์พร้อมกับชายถูกงูรัดตายด้วยนะ นี่ก็ฉากชาวบ้านร้านตลาด (แต่ก็ถูกตีความซะ… เฮ้อ!) ส่วนคาราวาจจิโอนั้นเหรอ ผลงานส่วนใหญ่ก็ว่าจ้างโดยชนชั้นสูงทั้งน้านค่าคุณจ๋า

แต่ทำไงได้ ความรักมาเปิดตาและทำให้ตาบอดไปพร้อมๆ กัน (มันยังไง?) แฟนชายชาวรัสเซียพูดจากอุดมการณ์ขับเน้นชนชั้นแรงงานที่เป็นวาทกรรมชุดใหญ่ของโซเวียตคอมมิวนิสต์ตอนนั้น ในขณะเดียวกัน ฟาสซิสต์อิตาเลียนซึ่งเจ้าระเบียบไม่แพ้กัน ก็แทรกแซงชีวิตผู้คนเพื่อต้านทุนนิยม ลงหมุดกับความเป็นชาติ ยกผู้นำขึ้นแท่นเป็นฮีโร่ให้ตาม

แน่นอนว่าการเป็นชายรักเพศเดียวกันสมัยนั้นย่อมเป็นเรื่องยากเข้าไปอีก พอพระเอกเราพบรักถึงได้มองเห็นความอึดอัดรอบตัวและกับตัว เห็นอำนาจที่มากระทบตัวตนของผู้เบี่ยงเบนไปจากกระแสหลัก ยิ่งอยู่ยากขึ้น ไม่อาจถอดแบบเป็นจิตรกร ศต. 17 ที่ไม่ยุ่งกะใครได้อีกต่อไป หนุ่มฝรั่งเศสขมวดปมการเมืองทั้งสองฝั่ง :

“พวกเผด็จการนิยมทั้งหลายนี่เหมือนกันไปหมด ผมพึมพำ ที่รัสเซียก็เป็นแบบนี้ใช่มะ การสยบยอมสวามิภักดิ์ของปัจเจกชนต่อเบื้องบน ความคิดเรื่องการปฏิวัติไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจและสังคมแต่ยังเป็นเหมือนการฟื้นตัวสุดอัศจรรย์ ตำนานเรื่องยอดคนเหนือคน อะไรพวกนี้ไม่ใช่รากฐานของอุดมการณ์โซเวียตแบบเดียวกับอุดมการณ์ฟาสซิสต์หรือไง? ระหว่างสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์และบรรษัทนิยมฟาสซิสต์ มันต่างกันยังไง? มุสโสลินีเหมือนเดียวกับสตาลิน ต่างต้องการให้ชาติเป็นปึกแผ่นโดยสร้างความเป็นหนึ่งเดียวทางความคิดและจิตวิญญาณของผู้คนต่อตัวบุคคลสำคัญคนหนึ่ง” (น. 208)

จึงต้องเอาตัวรอดเมื่อมีตัวเองและงานวิจัยของตนเป็นเดิมพันชัดขึ้น และเป็นวิธีการบิดเบือนศิลปะอันชวนสังเวช แต่อีกแง่หนึ่งก็ชวนตลก ชวนฮา เนื่องจากมันดูเบอะบะเทอะทะไปได้น้ำขุ่นๆ อะไรที่ไม่เกี่ยวกะการเมืองพลันมีประกายการเมืองร่วมสมัยเจิดจ้าขึ้นมาซะงั้น

เริ่มจากตัวเอกต้องเสนอบางส่วนของงานวิจัยปูแซ็งในเร็ววัน และสำนึกทางการเมืองเริ่มส่งผลต่องานค้นคว้า ซ้ำเล็งเห็นว่าโปรเฟสเซอร์ของสถาบันก็ดันเป็นแอคทิวิสต์ฟาสซิสต์อีกต่างหาก แฟนหนุ่มรัสเซียเลยแนะว่า ต้องเลือกภาพของปูแซ็งที่สะท้อนและเข้าทางระบอบการปกครองตอนนั้น

เอาละสิ ทำไงล่ะ อาทิ อย่าเลือกภาพนาร์ซิสซัสตายริมน้ำเหมือนนอนงีบหลับ เพราะดูเกียจคร้านไม่ตรงกับโฆษณาของรัฐที่ขุนให้ทุกคนแข็งขันกำยำมีเรี่ยวมีแรง… เลี่ยงภาพที่แม่หญิง Erminia ใช้ผมชโลมแผลนักรบหนุ่ม Tancred เพราะจะพาดพิงว่ากองทัพอิตาเลียนขาดแคลนการปฐมพยาบาลพื้นฐาน… ถ้าจะเลือกภาพ The Empire of Flora ก็อย่าทะลึ่งคอมเมนต์เรื่องอพอลโลมีกิ๊กชายชู้รักถึงสองคน ได้เป็นที่เพ่งเล็งของตำรวจจริยธรรมแน่ๆ…

ให้ดี ควรเลือกภาพชุด พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ด ที่ล้วนแต่โปรคุณธรรม เช่น ภาพพิธีวิวาห์ที่สรรเสริญการมีครอบครัวมีญาติพี่น้องมาร่วมยินดี หรือภาพเยซูมอบกุญแจสวรรค์ให้เซนต์ปีเตอร์ที่มีอักษร E สลักบนเสาเหลี่ยมหมายถึง Ecclesia แต่มันยังสะท้อนมายังเหล่าผู้แวดล้อมมุสโสลินีซึ่งมีน้องสาวชื่อ Edwige ลูกสาวคนโตชื่อ Edda เพื่อนเก่าสมัยร่วมฝึกในกองบินเดียวกันชื่อ Ettore คนขับรถชื่อ Ercole รมว. กระทรวงการสงครามชื่อ Enrico…

และอีกหลายคนซึ่งมีชื่อขึ้นต้นด้วย E จนหนุ่มฝรั่งเศสทัก "มันจะไม่เกินไปเหรอ ที่คุณแนะมาน่ะ?" (น. 363)

อ้าว! ก็มันจำเป็นต้องเข้าทางการเมือง เอาใจระบอบ มันก็ต้องพิสดารยังงี้แหละ อะไรไม่เกี่ยวก็ทำให้มันมีนัยประหวัดพาดพิงถึงซะ…

อันนี้ ทำเอาอีฉันทั้งขำและอนาถจิต

ยังไม่พอ เมื่อต้องมาปารีสเพื่อเลือกภาพของปูแซ็งไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Pouchkine ของมอสโคว ตัวเลือกถูกกำหนดด้วยตัวกรองทางการเมือง ไม่อาจเลือก Bacchanal ที่เป็นฉากการสรวลเสเฮฮาปาร์ตี้เถิดเทิง ในขณะที่คนรัสเซียต้องรัดเข็มขัด เข้าแถวยาวใช้คูปองแลกอาหารในสหกรณ์ของรัฐ แต่กลับเลือก The Inspiration of the poet เพราะผู้ชมรัสเซียดูจะชอบโคลงกลอนกวีกันมาก

พอมาถึงลอนดอน หนุ่มนัก ปวศ. ของเราก็เลือกภาพโมเสสประณามชาวอิสราเอลที่กำลังเริงระบำบูชาวัวทองคำ ปูแซ็งแฝงการวิพากษ์ทุนนิยม การละโมบเห็นแก่เงินทองเอาใจสัญชาตญาณต่ำ ซ้ำโมเสสในภาพก็แต่งขาวเหมือนที่สตาลินชอบสวมชุดขาวออกงานในหลากพิธีกรรม… เอาเข้าไปนั่น!

 

 

ความสัปดนของปัญญาชนทั้งสองดูเป็นความปลิ้นปล้อนที่ไม่น่าอภัย พลอยจะสมน้ำหน้าเมื่อภาพที่คัดมาจากปารีสและลอนดอนเพื่อนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์ Pouchkine กลับแป้ก ล้มเหลวไม่เป็นท่า ชาวบ้านชาวช่องชนชั้นกรรมาชีพที่ไหนจะ get เรื่องราวจากปกรณัมตะวันตกที่ตัวละครนุ่งห่มกรีกโรมัน ซ้ำภาพรื่นเริงรอบวัวทองคำก็ไม่ได้ชวนให้เข้าถึงสักเท่าไหร่ เรื่องอะไรก็ไม่รู้วุ้ย…

เนี่ยแหละหนา คิดมากไปจนลืมไปว่าคนดูจากอีกดินแดนไม่ใช่ผู้อ่านวรรณกรรมอมตะชั้นยอดแล้วเดินมาดูงาน แต่เป็นประชาชนคนธรรมดาคนงานกรรมกรคนแบกหามลุงน้าอาป้าทั่วไป ใครจะมา in กับทั้งความหมายตรงและนัยประหวัดทั้งหลายแหล่ พูดง่ายๆ คือพวกเขาถอดแบบไม่ได้เพราะมันไม่ตรงกับชีวิตประจำวันของตน…

หนุ่มหน้ามนกลายเป็นปลาตายน้ำตื้นเสียมั้ยล่ะ

ถึงตอนนี้ คำพูดของภัณฑารักษ์ลูฟวร์ที่ออกจะเป็นตัวตลก เลยมีความชอบธรรมขึ้นมาเพราะผู้อ่านภาพอย่างชาญฉลาดทั้งคู่ดันไป politicize ผลงานจนเกินเหตุ หวังผลแยบยลทางอ้อมที่ดันติดกับความเป็นจริงพื้นๆ คือมัวไปพะวงกับนัยทางการเมืองมากเสียจนไป "ทำลายจิตรกรรม"… (อันนี้คงเดาได้ว่าทั้งด่าและชม)

เราอาจจะอ่านการตีความของทั้งสองเป็นความเหลวไหลแบบที่ภัณฑารักษ์ลูฟวร์คนนั้นกล่าวติง แต่มันไม่ได้เลื่อนเปื้อน สกปรก โดยไร้นัย ครั้งหนึ่งเทศบาลกรุงปารีสจัดนิทรรศการภาพถ่ายแสดงบรรยากาศปารีสภายใต้การยึดครองนาซี ผลคือโดนด่า ดราม่ากระฉ่อน เนื่องจากภาพเหล่านั้นดันไม่มีอะไรบ่งชี้ความเดือดร้อนของชาวปารีเซียง กลับให้ภาพบ้านเมืองแสนสุข สงบ ปลอดเภทภัย สุดท้ายต้องแจกแจงเพิ่มคำอธิบายต่างๆ นานาเข้าไปเพื่อระงับข้อครหา การคิดคำนวณของสองพระเอกในเรื่องจึงไม่ได้ดูเลอะเทอะไปเสียทีเดียวเพราะอย่างน้อยพวกเขาได้คำนึงความเป็นมาเป็นไปรอบตัวที่จะเป็นเกณฑ์หนึ่งของการเลือก

แต่ก็นั่นแหละ สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคุณจะคิดหน้าคิดหลังดีและรอบคอบแค่ไหน หากชนชั้นปกครองมีความ sensitive สูง ฝนตกหนึ่งหยดก็หนาว แดดออกสามนาทีก็ร้อนจี๋ ลูกเห็บตกหนึ่งลูกก็นึกว่าระเบิด คนไปจ่ายตลาดนัดก็คิดว่าชุมนุมประท้วง ต่อให้คุณแสดงกระดาษเปล่าหนึ่งแผ่นติดผนังแกลเลอรี่ พวกเขาก็อาจจะตีความหนักยิ่งกว่าคุณคนเลือก เวลาที่ผู้มีอำนาจรู้สึกไม่ปลอดภัย พารานอยด์ ระแวง ความหมายที่พวกเขาให้จะมาจากขี้หมูราขี้หมาแห้ง จากละอองไอฝุ่น และจากอะไรก็ตามที่ถูกทึกทักไปว่ามาสั่นคลอนอำนาจนั้นอยู่

ตรรกะของการแทรกแซงและการเซ็นเซอร์มีอยู่อย่างเดียว คือเราไม่มีวันเดาได้เนื่องจากอำนาจชี้ขาดมันอาจเป็นเชื้อไม่มีที่มาที่ไป

พอตาสว่างกับระบอบคอมมิวนิสต์ของสตาลิน หนึ่งหนุ่มจึงประมวล: "ไม่เพียงแต่ว่าไม่จำเป็นต้องมีข้ออ้างเพื่อจะจับกุมคุณ ตัดสินคุณอย่างลวกๆ และลงทัณฑ์คุณ แต่การไม่มีข้ออ้างยิ่งตอกย้ำความเกรียงไกรของระบอบและอำนาจมืดที่ใช้มาข่มเหงบังคับ การไม่มีขื่อมีแปเป็นที่สุดคืออาวุธสุดยอดของรัฐบาล จำเป็นต้องใช้การตรวจค้นสม่ำเสมอของตำรวจและการจับกุมเป็นว่าเล่น ซึ่งเป็นทั้งการสุ่มเลือกและลงมือโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ทั้งนี้เพื่อฝังหัวชาวรัสเซียสองร้อยล้านคนให้เข้าใจว่าไม่มีใครรอดพ้นการตกต่ำถูกปลดระวาง ไม่แม้แต่ข้ารับใช้ผู้ทำคุณประโยชน์ให้มากที่สุด ความเข้มแข็งของระบบอยู่ตรงการหมายหัวแต่ละคนไว้เพื่อพร้อมจะคุกคามเมื่อไหร่ก็ได้ แค่เพียงเพื่อนร่วมงานสักคนกล่าวหาลอยๆ โดยไม่มีหลักฐานอะไร ก็ส่งคุณไปอยู่หลังลูกกรงแล้ว" (น. 591)

แล้วมันก็สายเกินไปที่จะทัดทานอะไรได้ เมื่อสำนึกทางการเมืองและการใช้ผลงานศิลปะให้ตอบรับอุดมการณ์การเมือง ดันเปิดทางให้อำนาจเผด็จการไหลบ่าเข้ามาราวน้ำท่วมทะลัก เล็ดรอดฟุ้งกระจายราวโรคระบาด ไหนเลยศิลปะจะไปขวางต่อกรอะไรได้หากอำนาจนั้นมันเกาะกุมครอบงำไม่สนหัวดำหัวแดง กวี Gorki ที่รัฐเชิดชูก็โดนสตาลินสั่งวางยา จนท. ที่สยบยอมรับใช้ถูกถอดถอนอย่างไม่มีเหตุมีผล ทุกการกระทำถูกติดตาม ตรวจสอบ สอดแนม และพิพากษา คนดีเพื่อชาติเพื่อรัฐเพื่อประชาชนสามารถกลายเป็นกบฏเมื่อไหร่ก็ได้ตราบที่อำนาจสั่งการ

ศิลปะง่อยเปลี้ยเสียขาหมดอำนาจต่อรอง? ปัญญาชนทั้งสองหลักแหลมแต่รู้เท่าไม่ถึงการณ์?

เราคงไม่จมปลักกับอดีตจนโงหัวไม่เห็นกาลข้างหน้า และไม่บ้องตื้นด้วยการบอกเพียงว่าอย่าใส่ใจกับอดีตอันเพริดพริ้งเลย เดินดุ่ยๆ ก้าวต่อไปเผชิญอนาคตกันเถอะ ด้านหนึ่งคือ nostalgia แบบเกินจะเยียวยา อีกด้านก็แลดู progressive สุดโต่ง แน่นอนว่าเราต้องมาถึงปลายทางที่เป็นกาลภายภาคหน้าของการอ่าน อ่านตอนจบที่เศร้าหน่อย (เขียนถึงตอนนี้คืออ่านจบพอดีค่ะ) แต่ไขความไว้ว่าตัวเอกได้ช่วยกู้โลกไว้ได้ยังไงโดยไม่ทันหยั่งรู้ (On a sauvé le monde = We saved the world)

ทว่าการไม่อ่านทวนจะพลาดไม่เห็นบทบาทของศิลปะในระหว่างทางและในฐานะรหัสปฏิบัติการ ต้องย้อนกลับไปอ่านตอนที่หนึ่งหนุ่มแสร้งยืนมองภาพถัดมาจากภาพของปูแซ็ง ทั้งๆ ที่คงอยากเพ่งพินิจจ้องปูแซ็งเต็มเหนี่ยว แล้วจะเข้าใจว่าผลงานศิลปะมันไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องใหม่เพื่อปัดเป่าพิษภัยสังคม มันอาจอำพรางตนภายใต้เปลือกเก่าเพื่อประโยชน์อื่นที่อยู่นอกตัวมันเองและในกาลเวลาที่จะตามมา

 

ปล. อยากอ่านเรื่องภาพมุงค์ติดหวัดสเปนและภาพครอบครัวของชีเลอที่ตายจากหวัดเดียวกันนี้อยู่นะ เขียนดิ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0