โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จากภาพร่างสู่ภาพจริง เบื้องหลังงาน mural collaboration ของ Rukkit & Sam Lo ศิลปินไทยและสิงคโปร์

a day magazine

อัพเดต 22 ต.ค. 2562 เวลา 07.24 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 12.36 น. • ปวีณ์กานต์ อินสว่าง

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หากใครสังเกตและมีโอกาสได้ผ่านไปแถวหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) อาจเคยได้เห็นงาน mural collaboration ระหว่างศิลปินไทยและสิงคโปร์อย่าง Rukkit หรือ รักกิจ สถาพรวจนา และ SKL0 หรือ Sam Lo ที่ผนังกำแพงด้านนอกของหอศิลป์กันไปแล้วในนิทรรศการ The Unknown World งานที่จัดแสดงขึ้นเพื่อบอกเล่าสิงคโปร์ในมุมใหม่ๆ ที่ใครหลายคนอาจยังไม่เคยสัมผัส

ในเดือนตุลาคมปีนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคมปีหน้า ภาพ mural art ช้างและสิงโตที่ด้านในมีดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ผสมผสานความเป็นสองประเทศกลับมาอวดโฉมให้เห็นอีกครั้งที่ประเทศสิงคโปร์

เมื่อจะได้เห็นผลงานของพวกเขา ฉันจึงไม่พลาดโอกาสนี้ ชวนทั้งสองศิลปินมาพูดคุยกันถึงงานครั้งนี้และเก็บกระบวนการทำงานที่ว่ามาฝากทุกคน

 

 

เริ่มต้นจากข้อจำกัด

ฉันเริ่มต้นวันด้วยการเดินทางมาหาสองศิลปินที่ Clarke Quay Central ประเทศสิงคโปร์ สถานที่ที่งานของทั้งคู่จะจัดแสดง โชคดีที่เมื่อไปถึงพวกเขายังลงมือทำภาพ mural art ไม่เสร็จเรียบร้อยดีนัก ฉันจึงมีโอกาสได้เฝ้าดูศิลปินทั้งสองเก็บรายละเอียดผลงานในโค้งสุดท้าย ก่อนที่ในวันเดียวกันนั้นต้องจบผลงานทุกอย่างตามกำหนดการที่ตั้งเอาไว้

“โจทย์ที่การท่องเที่ยวสิงคโปร์ให้มามันฟรีมาก ฟรีจนบางทีก็แอบคิดว่าฟรีเกินไปหรือเปล่า” รักกิจตอบคำถามอย่างอารมณ์ดี หลังวางมือจากการทำงานแล้วเริ่มต้นพูดคุยกัน 

“ผมกับแซมต้องมานั่งคิดว่า เฮ้ย เราหาอะไรมาครอบมันดีไหม อะไรบ้างที่จะสื่อถึงความสัมพันธ์ของไทยกับสิงคโปร์ได้ คุยกันไปมาเลยสรุปได้ว่างั้นเป็นรูปสัตว์แล้วกัน”

 

 

เหมือนว่าวิธีคิดงานนี้ส่วนใหญ่อิงมาจากข้อจำกัดในการทำงานของรักกิจ–ฉันโยนคำถาม

“ใช่ มันเกิดจากข้อจำกัดที่ผมบอกแซมว่า ‘เราทำได้แค่สิงสาราสัตว์นะ’ ไอเดียมันก็เลยจำกัดอยู่ที่อะไรประมาณนี้” รักกิจหัวเราะลั่น ก่อนอธิบายให้ฟังถึงวิธีการทำงานและข้อจำกัดที่ว่า 

“ตอนเริ่มต้นทำงานกราฟิตี้แรกๆ ผมพ่นไม่เป็นด้วยซ้ำ คนอื่นเขามีแค่กระป๋องสีอันเดียวก็เอาไปพ่นได้เลย แต่ของผมต้องมีบล็อกสเตนซิลมาเป็นเอาต์ไลน์วางทับไว้ก่อน เพราะผมเริ่มจากการทำกราฟิกดีไซน์ การทำงานขั้นแรกของผมเลยต้องเริ่มจากรู้ไซส์กำแพงก่อน แล้วไปทำสเกตช์ร่างรูปในคอมฯ แล้วขยายตัวสเกตช์นี้ให้เท่าไซส์จริง ก็จะรู้แล้วว่าบล็อกสเตนซิลต้องมีขนาดเท่าไหร่ พอเอาไปทาบสเกลจริงมันก็จะใกล้เคียงกัน เป็นแนวให้เราพ่นตาม งานของผมเลยมีข้อจำกัดว่าเทมเพลตเป็นเส้นตรง เส้นนอน เส้นโค้ง ถ้าเปรียบเทียบกับงานกราฟิก มันก็จะเป็นศิลปะที่เป็น low-res เหมือนพวกเกม 8 บิต ที่เอาพิกเซลมาต่อๆ กัน งานของเราจึงไม่สามารถเล่าเรื่องเป็นภาพประกอบได้มากขนาดนั้น ส่วนใหญ่เลยทำออกมาเป็นรูปสัตว์ จนกลายเป็นเอกลักษณ์

 

 

“ตอนแรกก็คิดว่ามันเป็นปัญหานะ จะทำผลงานออกมายังไง จะร่วมงานกับแซมได้ไหมในเมื่อสไตล์ต่างกัน ก็เลยเบลนด์ไอเดียกันว่าอย่างแรกคือต้องได้เมนก่อนว่าเราอยากนำเสนอการ collaboration ไทยกับสิงคโปร์ด้วย symbolic อะไร เขาก็นำเสนอกันต่างๆ นานาเลย เป็นช้างไหม เป็นสิงโตไหม แล้วมาคิดกันว่าทำยังไงให้สัตว์ทั้งสองมาอยู่ร่วมกัน แบ่งพาร์ตทำงานกันยังไง ส่งสเกตช์กันไปมา ผลัดกันแชร์ สุดท้ายเลยได้รูปทรงที่ใช่” 

กลายเป็นภาพที่เราเห็นกัน นั่นคือมีช้างเป็นตัวคุมสเปซและมีสิงโตอยู่ข้างใน 

“ทำงานกับรักกิจคือชิลล์มาก ง่ายมาก คิดคอนเซปต์เสร็จก็คุยกันว่างั้นเราจะใส่ดีเทลอื่นๆ ที่สื่อถึงความสัมพันธ์เพิ่มด้วย ทำออกมาเป็นงานคอลลาจ พยายามเบลนด์ทุกอย่างเข้าด้วยกันให้มันออกมาเป็นภาพเดียว” แซมเอ่ยขยายความต่อจากรักกิจ

“ใช่ เหมือนจะยาก แต่คุยกันง่ายมากเลย” รักกิจยิ้มรับพร้อมพยักหน้าเห็นด้วย 

 

 

เติมเต็มรายละเอียดด้วยภาพจำที่ต่างคนต่างคิดถึง

หากสังเกต งานที่ว่านี้จะมีการแบ่งเซกชั่นด้วยเส้นคล้ายคลื่น เพื่อให้พื้นที่รับผิดชอบมีขนาดเท่าๆ กัน หากแต่ไม่ได้แบ่งว่าใครต้องทำช้าง ใครต้องทำสิงโต งานของทั้งสองคนจะมีทั้งความเป็นไทยและสิงคโปร์รวมกันอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นก็สามารถแยกได้อย่างชัดเจนว่าส่วนไหนคือฝีมือของใคร

“งานของผมมีความเป็น geometric มากกว่า มีเอาต์ไลน์สีดำมาครอบ ส่วนของแซมก็มีความเป็นฟรีแฮนด์ มีพวกแพตเทิร์นกระเบื้องลายเปอรานากันแบบที่เขาชอบทำ

“อย่างที่แซมบอกคือเราพยายามหาซิกเนเจอร์ของแต่ละประเทศมาใส่ อย่างผมเองก็ได้ไอเดียมาจากชุดแอร์ของเขา มันมีดีเทลที่เราคิดว่าน่าจะเอามาใช้ได้ เลยพยายามใส่กิมมิกพวกลาย dot ลายเปอรานากันเข้าไปบ้าง พยายามดึงสไตล์มาใช้ งานของแซมก็จะมีดาวบนธงชาติสิงคโปร์ สวัสดี ไอคอนจับมือ ตรงเท้าของช้างก็จะมีเลข 65 กับ 66 ที่เป็นเบอร์โทรประเทศ ผมมองว่าเราแลกเปลี่ยนกันแบบนี้ดีกว่า เราได้นำเสนอสิงคโปร์ในมุมมองของคนไทย เขาก็ได้นำเสนอความเป็นไทยในมุมมองของสิงคโปร์ สนุกดี”

 

 

“รูปเหมือนกับงานที่ไทยก็จริง แต่พอมาทำที่นี่เหมือนยากขึ้นนะ เพราะพื้นที่จริงเล็กลงกว่าที่ไทยด้วย” แซมเป็นฝ่ายเอ่ยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีรักกิจคอยขยายให้เรารับรู้ถึงรายละเอียดที่ว่า” 

ด้วยงานที่ไทยนั้นมีเวลาในการทำน้อยกว่าและเป็นการทำงานบนที่สูงซะส่วนใหญ่ วิธีการและกระบวนการทำงานจึงต่างกัน ที่ไทยจะมีการเตรียมแบ็กกราวนด์ให้ในระดับหนึ่ง ดีเทลงานจึงน้อยกว่า เหมือนแค่ให้ทั้งคู่ขึ้นไปทำให้งานคอมพลีต แต่กับที่สิงคโปร์ทุกอย่างนั้นเริ่มจากศูนย์ 

“ที่นี่เป็นกำแพงโล่งๆ เลย กระบวนการทำงานเลยแตกต่างกัน ซึ่งพอเป็นแบบนี้ปัญหาที่เจอจึงค่อนข้างแตกต่างกันตามไปด้วย อย่างตรงนี้เราเจอเรื่องจำนวนสี เรื่องความร้อนที่ทำให้สเปรย์แห้งช้า เลยทำให้งานมันดูสกปรกไปบ้าง

“ถ้าอยู่เมืองไทย สีขาดเราก็คงกลับบ้านไปเอาสีเพิ่ม แต่อยู่ที่นี่ไปเอาอะไรเพิ่มก็ไม่ได้ ต้องแก้ปัญหาโดยใช้สีอื่นมาทดแทน สีมันก็เลยอาจจะไม่เหมือนในแบบสเกตช์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราก็ไม่ได้มายด์นะ วันแรกก็จะตื่นเต้นหน่อย รู้สึกปัญหามันเยอะมาก แต่พอวันที่สองเราค่อยๆ แก้ไปทีละจุด จนตอนนี้วันสุดท้ายรู้สึกว่าเหลือแค่ขึ้นไปทำให้มันสมบูรณ์ที่สุดก็น่าจะเสร็จ สุดท้ายผมว่าการเริ่มต้นงานกับการจบงาน ต้นทางกับปลายทางมันไม่เหมือนกันอยู่แล้วล่ะ ระหว่างทางเราได้อะไรมาเยอะ ทั้งอุปสรรค วิธีการแก้ ความเป็นเพื่อน การทำงานร่วมกัน ได้เห็นวิธีการทำงาน ได้ช่วยเหลือกัน”  

 

 

แตกต่างกับแซมที่ขานรับทันทีที่ฉันเอ่ยถามว่าการทำงานครั้งนี้เป็นยังไงบ้าง “ง่ายมากเลย” จนรักกิจระเบิดหัวเราะเสียงดัง 

“แซมทำเร็วมาก เขาวางแผนขั้นตอนการทำมาเรียบร้อยมาก พอดีเทลมันเล็กลง เวลาทำจริงเลยดูเละๆ ไปบ้าง แต่แซมเขามีการวางแผนที่ดีมาก เขาทำงานเป็นขั้นเป็นตอน พอพาร์ตของเขาเสร็จสมบูรณ์เขาต้องมาช่วยเราคลีนอัพเอาต์ไลน์”

“จริงๆ เราก็แพนิกนะ (หัวเราะ) แต่ไม่ได้แสดงออกให้เห็น และเราเองก็มีปัญหาเรื่องสี แต่สิ่งที่ชาเลนจ์มากน่าจะเป็นเรื่องสเกตช์ เพราะพอเทียบขนาดกำแพงกับที่ไทยแล้ว อันนี้มันเล็กลงไปมาก ทำให้เราต้องพ่นสิ่งต่างๆ ในภาพเล็กลงไปด้วย พอภาพมันเล็กเราเลยแอบเครียดเหมือนกัน”

 

 

ถ้าอย่างนั้นอะไรคือสิ่งที่ทั้งสองคนได้เรียนรู้จากงานนี้บ้าง–ฉันโยนคำถามอีกครั้ง

“การได้เห็นวิธีการทำงานสเตนซิลของรักกิจ วิธีการทำงานของเขาน่าสนใจมากสำหรับเรา ไม่ใช่แค่เทคนิคนะ แต่มันสนุกเวลาได้เห็นเขาทำงาน ได้รู้ว่างานแต่ละชิ้นเขามีไอเดียตั้งต้นมาจากไหน คือเราสองคนเริ่มจากการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์มาก่อน แต่ถึงอย่างนั้นวิธีการทำงานของเราก็ไม่เหมือนกันเลย เขาใช้บล็อกสเตนซิล แต่เราหัดฟรีแฮนด์ มันเลยเปิดโลกมากที่ได้เห็น ได้รู้ว่ามีวิธีการทำงานแบบนั้นอยู่ สนุกดีที่ได้เห็นเส้นทางที่บางทีก็คล้าย บางทีก็ต่างกันของเราสองคน” 

“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากแซมก็คือเรื่องขั้นตอนการทำงานแหละ ผมว่าเขาวางแผนมาดีมาก เตรียมอุปกรณ์ เตรียมสี ทำเป็นขั้นเป็นตอน เขาเลยแก้งานน้อยมาก ทำพาร์ตนี้จบ ไปพาร์ตต่อไป แต่ของเราพอจุดนี้เละก็ไปทำจุดอื่น เน้นให้มันเยอะๆ ไปก่อน แล้ววันที่สองค่อยมาเคลียร์แต่ละจุด แต่ละพาร์ต เราเลยใช้วิธีการที่ต่างกัน บางที่พื้นที่ใหญ่เราก็จบเป็นจุดๆ ได้ แต่พอมันย่อเล็กลง บางจุดเราอยากทำให้สมบูรณ์ก็ทำไม่ได้ ต้องรอให้สเปรย์แห้ง เพราะถ้าไปย้ำอยู่จุดเดียว พอบล็อกสเตนซิลมันไปนาบปุ๊บสีก็จะติดมาด้วย พอไปใช้กับจุดอื่นมันก็ทำให้เละไปทั้งงาน ช่วงแรกผมเลยตัดใจ ให้มันเละไปก่อน แล้วไปทำจุดอื่น แต่แซมเขาเป๊ะมากจริงๆ” 

 

 

“เราว่าพาร์ตที่ดีที่สุดของการมาคอลแล็บกันคืออะไรแบบนี้แหละ ไม่ใช่แค่ได้เรียนรู้คน วัฒนธรรม แต่พอมาทำงานด้วยกัน เราก็ได้รู้ไปถึงเบื้องหลังวิธีคิด วิธีการทำงานของแต่ละคน เวลาได้เห็นเขาลงมือทำแต่ละขั้นตอน” แซมกล่าวด้วยรอยยิ้ม 

 

 

นอกจากภาพ mural art ที่ทั้งคู่สร้างสรรค์ขึ้นมา กิมมิกของงานชิ้นนี้คือสามารถถ่ายภาพ AR ผ่าน ให้ทั้งช้างและสิงโตดูมีชีวิตขึ้นมาได้ด้วย หากใครมีโอกาสได้ไป Clarke Quay Central อย่าลืมดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น The Unknown World แล้วไปถ่ายรูปงานศิลปะของเขาทั้งคู่ได้ตั้งแต่วันนี้ – มีนาคม 2563

Highlights

  • เมื่อไม่นานมานี้ Rukkit (รักกิจ สถาพรวจนา) และ SKL0 (Sam Lo) ศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดังของไทยและสิงคโปร์ เพิ่งจะคอลแล็บกันในงานชุด 'The Unknown World' เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์
  • นอกจากจะจัดงานนิทรรศการและแสดงผลงานที่ไทยแล้ว ทั้งสองคนยังลงมือทำ mural art ที่ว่าที่สิงคโปร์ด้วยเช่นกัน
  • ผลงานของเขาทั้งคู่เพิ่งทำเสร็จไปสดๆ ร้อนๆ พร้อมให้ชมกันไปยาวๆ ถึงเดือนมีนาคม 2563
  • และเพราะมีโอกาสได้ไปเห็นมาแล้ว เราจึงเก็บกระบวนการทำงานของเขามาเล่าให้ฟัง
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0