โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

จากคำพ่อสอน “แบ่งปัน พึ่งตน” สู่ธุรกิจเพื่อสังคมของครอบครัว "อยู่วิทยา"

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 31 พ.ค. 2563 เวลา 04.02 น. • เผยแพร่ 31 พ.ค. 2563 เวลา 04.00 น. • Thansettakij

หากจะถามว่า องค์กรไหนหรือโครงการไหนที่มีความคุ้นหูคุ้นตาเกี่ยวเนื่องกับสังคมมานาน โครงการ “อีสานเขียว” ของกระทิงแดง น่าจะเป็นหนึ่งโครงการที่หลายๆ คนยังจำได้ และในวันนี้ค่ายเครื่องดื่มชูกำลังที่มีเครือข่ายธุรกิจระดับประเทศค่ายนี้ ก็กำลังส่งไม้ต่อให้กับทายาท รุ่น 3 “คุณผึ้ง พรรณราย พหลโยธิน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี. ฟาร์มา-เคม จำกัด บุตรสาวของ วิชาญ พหลโยธิน และสายพิณ พหลโยธิน (อยู่วิทยา) เข้ามารับช่วงขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคมขนาดใหญ่ “พึ่งตน เพื่อชาติ” เพื่อช่วยเหลือผู้ที่รับผลกระทบจากไวรัส โควิด-19

 

 

ส่วนหนึ่งของการได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ เพราะโดยส่วนตัว “คุณผึ้ง” ค่อนข้างอินกับเรื่องทางสังคมอยู่แล้ว ทั้งจากประสบการณ์ การมีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้ และยังได้รับฟังคำสอนมาตั้งรุ่นคุณตา-เฉลียว อยู่วิทยา ที่มีปณิธานในการทำงาน และการทำเพื่อแผ่นดิน โดย 2 ภาพจำที่ได้เห็นคือ การทำงานจริงจัง และการทำเรื่องสังคม โดยโครงการหลักคือ “อีสานเขียว” ที่ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาล และได้ตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปทำเรื่องของฝายกั้นน้ำ พอมาถึงอยู่วิทยารุ่น 2 ทั้ง คุณสุทธิรัตน์ ก็ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน คุณสราวุฒิ ทำโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และน้ำ

 

“พอมาถึงรุ่นตัวเอง ซึ่งส่วนตัวคือการไปทำบุญทั่วไปมาตลอด จนวันหนึ่งเพื่อนชวนไปอบรมเรื่องเกษตรอินทรีย์ ก็กลับปลูกเองที่เขาใหญ่ แต่ได้กินบ้างไม่ได้กินบ้าง ก็เลยไปกับเพื่อน ไปเรียนกับอ.ยักษ์วิวัฒน์ ศัลยกำธร สอนเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็รู้สึกทึ่งมาก มันเหมาะกับคนไทยทุกคน”

 

หลังจากวันนั้น “คุณผึ้ง” จึงเริ่มศึกษาและลงมือทำอย่างจริงจัง ได้เดินทางไปที่จังหวัดน่าน ไปร่วมโครงการ “เอามื้อ” กับ อ.ยักษ์ กับการดูแลป่าต้นน้ำน่าน ได้เห็นผลร้ายของการตัดไม้ทำลายป่า จนในที่สุดจึงกลับมาเริ่มทำโครงการของตัวเองที่เขาใหญ่ จนได้สร้างศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา เพื่อเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน คนเมือง คนรุ่นใหม่ เพื่อใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตสามารถดำรงชีวิต

 

เมื่อมาถึงสถานการณ์​โควิด -19 ตัวเองก็ได้รับผลกระทบตรงๆ กับร้านอาหาร The Mew ที่เขาใหญ่ ที่ต้องปิดตัวชั่วคราว ได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนทั่วประเทศ และทั่วโลก ทางครอบครัว โดยคุณเฉลิม อยู่วิทยา ได้เสนอโครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” โดยความเชื่อของครอบครัว คือ การเชื่อในหลักคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ท่านสอนให้คนเรารู้จักพอ และอยู่อย่างพอกินพอใช้ โดยหัวใจของโครงการ คือ “การพึ่งตนและแบ่งปัน”

 

“ในหลวง เคยรับสั่งกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ทุกๆ ครั้งที่ไทยรอดจากวิกฤติได้ เพราะเรารู้จักให้และแบ่งปัน และยังเป็นที่พึ่งให้ทั่วโลกได้ด้วย เพราะไทยเรามีความมั่นคงทางอาหาร”

 

 

 

การทำงานโครงการนี้ คือการรวมพลังของ “อยู่วิทยา” เริ่มจาก เจน 3 คือรุ่นของ “คุณผึ้ง” ทำหน้าที่เป็นทัพหน้า เอาความชำนาญของแต่ละคนที่มีมารวมกัน ส่วนเจน 2 คือ รุ่นคุณสุทธิรัตน์ คุณสราวุฒิ ทำหน้าที่ให้คำแนะนำ หลังจากนั้นก็สานต่อความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ของ อ.ยักษ์ และสถาบันอาศรมศิลป์ มาช่วยลงชุมชน ดีไซน์การทำงาน การเข้าสู่ชุมชนควรทำแบบไหน ต้นทุนชุมชนมีอะไร เราควรส่งเสริมอะไร โดยไม่ทิ้งรากเหง้าที่ดีอยู่แล้ว

 

อีกจุดเด่นของโครงการนี้ คือ เป็นพี่เลี้ยง 100 ชุมชนต้นแบบ ซึ่งแต่ละชุมชนไม่ต้องเหมือนกันหมด มีความเด่นอะไร ก็สร้างงานตามรูปแบบเป็นของตัวเอง พอเขาพึ่งพาตัวเองได้ ก็เอามาดูเป็นต้นแบบให้กับที่อื่นๆ ต่อไป

 

“คุณผึ้ง” บอกว่า โครงการนี้มีระยะเวลาเบื้องต้น 3 ปี งบ 300 ล้านบาท ตั้งเป้าไว้ 1 ล้านคน ที่จะร่วมมีกินมีใช้ พึ่งตนเองได้ โดยขณะนี้ได้เริ่มวางหลักการ กระบวนการทำงาน รวมทั้งการเปลี่ยนความคิดคนจากข้างใน เพื่อให้รู้จักการพึ่งพาตนเอง พร้อมทั้งรับสมัครคนเข้าร่วมโครงการ เริ่มมิถุนายนนี้ ซึ่งเปิดกว้างรับคนหลากหลายภาคส่วนที่สนใจ

 

ในมุมมองการทำงานด้านสังคมของ “คุณผึ้ง” แน่นอนว่าต้องมีส่วนเชื่อมต่อกับธุรกิจ “หากคนในสังคมอยู่ไม่รอด ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถอยู่รอดได้เช่นกัน” และหากผู้ประกอบการที่มีกำลังอย่างกลุ่มธุรกิจของอยู่วิทยา สามารถแบ่งปันความรู้ เสริมสร้างคนไทยให้พึ่งพาตัวเองได้ ทำให้พวกเขาสร้างทรัพยากรของประเทศให้ดีขึ้น ก็จะช่วยทำให้ทุกคนอยู่ได้เช่นกัน

นอกจากภาระหน้าที่ในโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ ผู้บริหารท่านนี้ก็ยังทำโครงการอีกหลากหลาย ที่ช่วยแก้ไขและลดปัญหาสังคม

ส่วนในมุมของผู้บริหารองค์กรธุรกิจยา แม้ในภาวะนี้ คนจะให้ความสำคัญต่อสุขภาพมากเป็นพิเศษ แต่ด้วยสภาพเศรฐกิจ และจำนวนคนว่างงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำลังซื้อหด ทำให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบ้าง แต่ธุรกิจยังคงเดินหน้า พร้อมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ ภูมิปัญญา มีการปลูกพืชสมุนไพรแบบออร์แกนิกบนพื้นที่เขาใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าในยามที่เกิดวิกฤติจะสามารถนำภูมิปัญญา นำสิ่งที่ปลูกไว้ มาต่อยอดทางธุรกิจได้ ซึ่งขณะนี้ก็นำผลิตผลที่ได้มาผลิตเป็นยาสมุนไพรออกจำหน่ายในนามของบริษัทอยู่แล้ว

 

พรรณราย พหลโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี. ฟาร์มา-เคม จำกัด
พรรณราย พหลโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี. ฟาร์มา-เคม จำกัด

แนวคิดของผู้นำหญิง เจเนอเรชัน 3 ของอยู่วิทยาคนนี้ คือนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียง และคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งคำสอนของผู้ใหญ่ในครอบครัวมาปรับใช้ และต่อยอด โดยการพัฒนาดูแลธุรกิจของครอบครัว ควบคู่กับการดูแลสังคมไปพร้อมๆ กันนั่นเอง

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,578 วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0