โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จากความไม่พอใจในการขึ้นค่ารถไฟฟ้า 1 บาท สู่การประท้วงเรื่องค่าครองชีพ เกิดอะไรขึ้นกับการชุมนุมสุดเดือดในชิลี

The MATTER

อัพเดต 24 ต.ค. 2562 เวลา 11.31 น. • เผยแพร่ 22 ต.ค. 2562 เวลา 09.00 น. • Brief

กระแสการรวมตัว ประท้วงของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก ดูรุนแรงและมีมากขึ้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ประเทศในอเมริกาใต้อย่าง ‘ชิลี’ ก็ได้มีประชาชนออกมาบนท้องถนน ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถึงขั้นมีประชาชนเสียชีวิต และบาดเจ็บกันแล้วด้วย โดยความไม่พอใจของประชาชนนี้ เกิดขึ้นหลังรัฐบาลประกาศขึ้นราคารถไฟฟ้า

การจลาจลในชิลีครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังรัฐบาลประกาศขึ้นค่ารถไฟฟ้าในชั่วโมงเร่งด่วนจาก 800 เปโซ (34 บาท) เป็น 830 เปโซ (35 บาท) หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1 บาทเท่านั้น! โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยประกาศขึ้นค่ารถไฟฟ้าไปแล้วประมาณ 20 เปโซ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเริ่มออกมาประท้วง และกลายเป็นความรุนแรงขนาดปิดบริการขนส่งสาธารณะ เผาห้างสรรพสินค้า ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนรัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในเมืองหลวง ซานติเอโก และอาจขยายไปเมืองอื่นๆ ด้วย

แม้รัฐบาลจะยอมยกเลิกการขึ้นค่าโดยสารแล้ว แต่การประท้วงก็ยังคงไม่สงบ โดยตอนนี้รายงานว่า มีการพบผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้แล้วถึง 11 คน ที่เป็นทั้งประชาชน และเจ้าหน้าที่ บาดเจ็บกว่า 200 คน ทั้งยังถูกจับกุมแล้วกว่า 1,500 คน และมีเหตุการณ์ความรุนแรงอีกกว่า 70 แห่ง รวมถึงการปล้นสะดมซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าและธุรกิจอื่นๆ โดยที่ด้านเจ้าหน้าที่เองก็พยายามปราบจลาจลทั้งการใช้แก๊สน้ำตา ส่งกองทัพและรถถังลาดตระเวน ก็ยังไม่สามารถปราบได้

ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จากเพียงแค่การขึ้นราคารถไฟฟ้า เป็นปัญหามาจากค่าครองชีพที่มีราคาสูงขึ้น สวนทางรายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน ค่าไฟของประเทศยังเพิ่มขึ้น 10% รวมถึงผู้ชุมนุมยังชี้ว่า การศึกษาภาคเอกชน และค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เองก็มีราคาแพงค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ในขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนงานชาวชิลีนั้น มีเงินเดือนน้อยกว่าพื้นฐานที่สถาบันสถิติแห่งชาติระบุ

Jorge Contesse ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย Rutgers กล่าวถึงการประท้วงว่า “เป็นเวลากว่าทศวรรษที่การศึกษาได้เตือนถึงความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้น จากสภาพความเป็นอยู่ในชิลี” ทั้งเขายังมองว่า รากปัญหามาจากการเมือง และกฎหมายที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของชาวชิลี

การชุมนุม เรียกร้องให้ปฏิรูปเศรษฐกิจ ไปจนถึงเริ่มมีการขับไล่ตัวผู้นำ เซบาสเตียน ปินเญรา ซึ่ง Jose Jimenez ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หนึ่งในผู้เข้าร่วมประท้วงก็บอกกับสำนักข่าว Reuters ว่า เขาคิดว่านี่คือจุดแตกหักแล้ว และไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ต่อไปได้ “รัฐบาลแสดงให้เห็นว่าตัวเองไร้ประสิทธิภาพอย่างสมบูรณ์ และจนกว่าจะมีวิธีการตอบสนองหรือควบคุมสถานการณ์นี้ ฉันคิดว่ามีแต่ที่การชุมนุมจะเติบโตต่อไป”

อ้างอิงจาก

https://www.bbc.com/news/world-latin-america-50119649

https://www.washingtonpost.com/world/the_americas/chile-is-the-latest-latin-american-country-to-erupt-in-violent-protest-heres-why/2019/10/21/6331d278-f382-11e9-b2d2-1f37c9d82dbb_story.html

https://www.reuters.com/article/us-chile-protests/after-chile-riots-thousands-rally-to-protest-at-pinera-government-idUSKBN1X01CL

#Brief #TheMATTER

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0