โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จากขุนเขาสูง…สู่ใจกลางเมืองกรุง

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 24 ก.พ. 2563 เวลา 08.41 น. • BLT Bangkok
จากขุนเขาสูง…สู่ใจกลางเมืองกรุง

สัมผัสสีสันพืชผลเมืองหนาวที่ส่งตรงจากไร่ในโครงการหลวง 

BLT ฉบับนี้จะพาออกตามรอยผลผลิตจากขุนเขา ลัดเลาะขึ้นดอยอ่างขางและดอยผาตั้ง เพื่อเยี่ยมชมแหล่งผลิตพืชผลทางเกษตรจากพี่น้องชาติพันธุ์ ที่กำลังจะเดินทางมาให้ได้ลิ้มรสกันแบบสดใหม่จากยอดดอยในใจกลางกรุงเทพฯ ภายใน Royal Project Gastronomy Festival 2020 @Siam Paragon : Colors of Health

สตอรี่ของสตรอว์เบอร์รี่

เมื่อลมหนาวมาเยือน ราชินีแห่งพืชผลที่ทุกคนต้องนึกถึงคงหนีไม่พ้นสตรอว์เบอร์รี่ บนความสูงชันสลับซับซ้อนของดอยอ่างขางที่มีความหนาวเย็นปกคลุมตลอดทั้งปี เฉลี่ย 17.7 องศาเซลเซียส ลึกเข้าไปในดินแดนรอยต่อระหว่างไทยกับเมียนมาเป็นที่ตั้งของบ้านนอแล แหล่งเพาะปลูกสตรอว์เบอร์รี่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย โดยการส่งเสริมโดยสถานีเกษรหลวงอ่างขาง

คุณกมลศิษฐ์ ภัทร์ธีระกุล เกษตรกรชาวเผ่าดาราอ้างเล่าให้ฟังว่า เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ผืนดินแห่งนี้ปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย สมัยก่อนชาวบ้านไม่มีอาชีพ ในหลวง ร.9 เสด็จพระราชดำเนินมาที่อ่างขาง ให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น แล้วให้โครงการหลวงมาส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแทน ซึ่งการส่งเสริมก็มีหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างบ้านนอแล บางครอบครัวก็ปลูกชา ผักอินทรีย์ และสตรอว์เบอร์รี่ แล้วแต่เกษตรกรถนัดและชอบทางด้านไหน แล้วแต่ความสมัครใจของเกษตรกร

ไร่สตรอว์เบอร์รี่ของกมลศิษฐ์ ภัทร์ธีระกุล เป็นหนึ่งใน 12 ครอบครัวที่ได้รับการส่งเสริมอาชีพปลูกสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80เขาเป็นเจนที่ 2 ของครอบครัว โดยรับไม้ต่อจากรุ่นพ่อ ซึ่งภายในมีพื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ครึ่ง เกษตรกรต้องเอาใจในการดูแลเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ในเดือนเมษายนของทุกปีจะเป็นช่วงเตรียมกล้า แล้วนำมาคัดเลือกกล้าช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม หลังจากนั้นก็จะปลูกตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคมเป็นต้น เพื่อให้ได้สตรอว์เบอร์รี่ที่ดีกลุ่มเกษตรกรบ้านนอแลก็ต้องดูแลการเพาะปลูกอย่างเป็นพิเศษ มีการตกแต่งใบและคัดเลือกผลที่เสียออกเพื่อให้เป็นสตรอว์เบ้อเริ่ม

สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 ให้ผลผลิตสองชุด ชุดแรกเริ่มออกผลกลางเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ส่วนชุดที่สองนั้นต้องการความหนาวเย็นอีก 500 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อให้มีผลผลิตออกมาในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ โดยคุณกมลศิษฐ์จะตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อมาเก็บผสตรอว์เบอร์รี่ในช่วงเวลาที่ดีที่สุด ตั้งแต่ 6 โมง-8 โมง เพราะสตรอว์เบอร์รี่มีผลสมูบรณ์ที่สุด ซึ่งจะสามารถส่งต่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานอย่างเอร็ดอร่อย แต่ละไร่ของคุณกมลศิษฐ์มีผลผลิต 1.8-1.9 ตัน/ปี โดย 90% ส่งเข้าโครงการหลวง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ราวๆ 2 แสนบาท

สำหรับสถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ตั้งอยู่ห่างจาก จ.เชียงใหม่ ราว 161 กิโลเมตร  เริ่มดำเนินงานเมื่อปี 2512 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท ซื้อที่ดินสำหรับเป็นสถานีวิจัย ศึกษาทดลองพืชเขตหนาว เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรชาวไทยภูเขาแทนการปลูกฝิ่น

ความเวรี่กู๊ดของเคปกูสเบอร์รี่

ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 95 กิโลเมตร บริเวณที่ราบสลับเนินเขาล้อมรอบด้วยดอยสูงชันในหมู่บ้านใหม่สามัคคี อ.เชียงดาว คือหนึ่งในแหล่งเพาะปลูกพืชผลที่สำคัญในการส่งเสริมของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก ซึ่งในช่วงต้นปีเหล่าเคปกูสเบอร์รี่กำลังออกผลแต่งแต้มสีสันเหลืองทองอร่ามไปทั่วแปลงปลูก

คุณสุระศักดิ์ ชาญชำนิ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก เล่าว่าโครงการหลวงได้ทำการวิจัยและพัฒนาหาพืชพันธุ์ใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ และไม่ซ้ำกับพื้นที่อื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้ครอบครัว

พืชพันธุ์ใหม่ๆ ที่ว่าคือ เคปกูสเบอร์รี่ หรือที่รู้จักกันในชื่อโทงเทงฝรั่ง โดยมูลนิธิโครงการหลวงได้นำมาทดลองปลูกในโครงการ Small fruit ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 โดยการสนับสนุนจาก ARS, USDA เป็นไม้ผลที่อยู่ในระหว่างการวิจัยและเริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรบางรายปลูก เพื่อปลูกเป็นพืชเสริมทำรายได้ในระยะสั้น เนื่องจากเป็นพืชฤดูเดียว ปลูกง่าย โตไว ใช้น้ำน้อย ทนแล้ง ชอบอากาศเย็น และปลูกได้ดีที่ความสูง 400-1500 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ติดผลจนผลสุกเป็นเวลา 3 เดือน และเก็บผลผลิตต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 เดือน

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึกมีเกษตรกรที่ทำการปลูกเคปกูสเบอร์รี่ 10 ครอบครัว โดยโครงการหลวงได้กระจายพันธุ์และความรู้ให้ชาวบ้าน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีเกษตรกรต้องเอาใจใส่ในการดูแล ต้องตัดเก็บกิ่ง เก็บผลผลิตที่เป็นกระเปาะสีน้ำตาลซึ่งสุกพอดีทีละลูก ซึ่งเกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ราคาถึง 80 บาท/กก. เคปกูสเบอรี่อุดมด้วยวิตามินซีที่ช่วยป้องกันไข้หวัด วิตามินเอบำรุงสายตา เหมาะสำหรับการรับประทานผลสด ชุบช็อคโกแลต จุ่มน้ำผึ้ง ใส่ในสลัด ทำน้ำผลไม้ หรือนำไปทำเป็นแยมก็ได้

ฟักทองญี่ปุ่นบนดินแดนหมอกจ๋าม

ห่างออกไปจากตัวเมืองเชียงใหม่ ราว 185 กิโลเมตร เป็นที่ราบริมแม่น้ำกกในเขตพื้นที่ อ.แม่อายล้อมรอบด้วยแนวเขาสลับซับซ้อน ความสูงจากระดับน้ำทะเลราว 480 เมตร ด้วยสภาพเป็นพื้นที่ห่างไกล โดยติดชายแดนไทย-เมียนมาเพียง 6 กิโลเมตร เมื่อปี 2512 พระบาทสทเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านวังดิน และบ้านใหม่หมอกจ๋าม ทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ที่ขัดสนของราษฎร อีกทั้งเป็นจุดล่อแหลมทางชายแดน ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขึ้น

โดยศูนย์พัฒนาโครงการหมอกจ๋าม เริ่มดำเนินงานเมื่อปี 2526 ซึ่งได้นำพืชเขตหนาวเพื่อส่งเสริมทดแทนการทำไร่เลื่อนลอย และส่งเสริมอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เกิดการพึ่งพาตนเอง

ปัจจุบันพืชที่โดดเด่นของพื้นที่นี้คือ ฟักทองญี่ปุ่น ฟักทองญี่ปุ่นสีส้ม ฟักทองญี่ปุ่นสีขาว อันเกิดจากการมองหาพืชเสริมรายได้ให้เกษตรช่วงเว้นจากการเพาะปลูกข้าว ทำให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยตอนนี้มีการเพาะปลูกกว่า 80 ราย สร้างรายได้เพิ่มเฉลี่ย 1.5 แสนบาทต่อราย ซึ่งผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม อันเป็นช่วงที่ให้รสชาติที่ดีที่สุด เนื้อแน่น มีรสหวาน และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

ผักสดใสที่ใส่ใจโดยชาวผาตั้ง

บนพื้นที่ภูเขาหม่นสูงชันสูงราว 1,635 เมตรระดับน้ำทะเลของดอยผา บริเวณแนวแบ่งเขตไทยกับลาวที่ห่างจาก จ.เชียงราย ประมาณ 111 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง อ.เวียงแก่นซึ่งด้วยอากาศที่เย็นตลอดทั้งปี เฉลี่ย 22 องศาเซลเซียส ที่นี่จึงเป็นหนึ่งในแหล่งเพาะปลูกผักและผลไม้เมืองหนาวที่สำคัญอีกแห่ง

โครงการหลวงเริ่มเข้ามาดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของเกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง จีนยูนนาน และเมี่ยน รวม 3 หมู่บ้านบนดอยผาตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2547 โดยทำการทดสอบและส่งเสริมการปลูกพืชผักเขตหนาว และไม้ผลเขตหนาวชนิดต่างๆ

ปัจจุบันส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ดอก โดยอาศัยเกษตรพึ่งพิงธรรมชาติ ภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย GAP รวมถึงส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีผักและผลไม้ที่โดดเด่นอย่าง กะหล่ำหัวใจ สลัด ขึ้นฉ่าย พลับหวาน พีช องุ่นดำ บ๊วย กาแฟ เสาวรส เคปกูสเบอร์รี่ และสตรอว์เบอร์รี่ จากพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 100 ไร่

พ่อหลวงธนภัทร์ จรัสจำรูญกร ประธานกลุ่มผู้ปลูกผัก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง เล่าให้ฟังว่ากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ชาวเขาส่วนใหญ่เพาะปลูกหอมหัวใหญ่ แต่ได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ค่าแรงงานเพิ่มขึ้น และจากการนำเข้าจากประเทศจีน ภายหลังโครงการหลวงส่งเสริมให้ชาวผาตั้งเพาะปลูกผักกว่า 11 ชนิด โดยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความรู้ ทำให้จากเดิมที่มีรายได้จากการปลูกหอมหัวใหญ่และข้าวโพดเพียงปีละครั้ง ปัจจุบันสามารถเพาะปลูกหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี อย่างต่ำ 8 รอบต่อปี ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ที่สำคัญเกษตรกรมั่นใจว่ามีตลาดรองรับจากการจัดการของโครงการหลวง นับว่าเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับคนบนพื้นที่สูงอย่างแท้จริง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0