โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จากการสืบ DNA สู่การจับฆาตกรต่อเนื่อง : คำถามเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือความเป็นส่วนรวม

The MATTER

เผยแพร่ 06 ก.ค. 2563 เวลา 03.11 น. • Thinkers

1.

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศาลรัฐแคลิฟอร์เนียพิจารณาคดีฆาตกรต่อเนื่อง นักฆ่าแห่งโกลเด้น สเตทที่ก่อเหตุข่มขืนและฆาตกรรมหลายสิบคดี โดยคดีสุดท้ายเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1986 และผู้ต้องหารายนี้ คือนายโจเซฟ เจมส์ ดีแอนกีโล (Joseph James DeAngelo) อายุ 74 ปีซึ่งได้หลบหนีคดีไปกว่า 32 ปีจนถูกจับกุมในเดือนเมษายน ปี ค.ศ.2018 หลังจากถูกคุมขัง 2 ปี เขาถูกนำตัวขึ้นศาลพิจารณาคดีในความผิดที่เขาก่อ

นี่คือเรื่องราวของฆาตกรต่อเนื่องที่ก่อเหตุอย่างสุดสะพรึง ก่อนจะถูกจับกุมได้ด้วยเทคโนโลยีดีเอ็นเอที่เดิมถูกใช้ในการหาวงศ์ตระกูล แต่เจ้าหน้าที่กลับค้นพบคุณูปการของมัน จนเกิดคำถามสำคัญแห่งยุคสมัยเรื่องความเป็นส่วนตัวว่า ดีเอ็นเอของเรานั้น มันควรเป็นของเราแต่เพียงผู้เดียว หรือควรถูกนำมาใช้เพื่อส่วนรวมกันแน่

โจเซฟ เจมส์ ดีแอนกีโลเคยเป็นตำรวจ เคยเป็นทหารไปรบสงครามเวียดนาม เมื่อถูกไล่ออกจากหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เขาก็ไปทำงานเป็นช่างซ่อมรถยนต์และสุดท้ายก็ไปเป็นพนักงานในร้านของชำจนกระทั่งถูกจับกุมเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.2018

ในช่วงปี 1976-1986 คนในรัฐแคลิฟอร์เนียต่างตกอยู่ใต้ความหวาดกลัวของฆาตกรต่อเนื่องฉายา 'นักฆ่าแห่งโกลเด้น สเตท' ที่ก่อเหตุข่มขืนฆ่าและข่มขืนเหยื่อเป็นจำนวนมาก แถมยังลอยนวลไม่มีตำรวจจับกุมเขาได้เลย โดยสมัยนั้นการเก็บหลักฐานดีเอ็นเอและอุปกรณ์ตรวจการข่มขืนยังไม่ได้รับการพัฒนาและเป็นส่วนหนึ่งในหลักนิติวิทยาศาสตร์ในการแกะรอยหาคนร้ายเหมือนปัจจุบัน

สมัยนั้นตำรวจก็พยายามไล่ล่าตัวฆาตกรต่อเนื่องรายนี้อย่างสุดความสามารถ แต่แม้จะค้นพบรูปแบบการก่อเหตุของฆาตกรรายนี้ได้สำเร็จ แต่ก็ไม่ใกล้เคียงกับการจับกุมคนร้ายมาได้แต่อย่างใด

ตัวโจเซฟยังคงก่อเหตุเรื่อยมาจนกระทั่งถึงวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1986 เขาได้ข่มขืนหญิงสาววัยเพียง 18 ปีแล้วใช้กระบองตีจนตาย เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ และเทียบเคียงกับคดีอื่น ๆ จึงพบว่าเป็นผลงานของนักฆ่าแห่งโกลเด้น สเตท จึงทำการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดไว้ และหวังว่าจะเร่งจับกุมคนร้ายให้ได้โดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ดีนั่นกับกลายเป็นคดีสุดท้ายของโจเซฟ อยู่ดีๆ เขาก็หยุดก่อเหตุแล้วไปใช้ชีวิตแบบมนุษย์ธรรมดาจวบจนเดือนเมษายน ค.ศ.2018 จึงถูกจับกุมได้ในที่สุด โดยตำรวจระบุว่าเขาก่อเหตุฆาตกรรมไป 13 ราย ข่มขืนไป 50 คดี และมีคดีย่องเบาถึง 120 คดีด้วยกัน

เขาให้การแบบพฤติกรรมของฆาตกรต่อเนื่องหลายราย

ที่มักจะพูดว่ามีบางสิ่งสั่งการในหัวให้ทำแบบนี้

ในกรณีนี้โจเซฟบอกว่าคนที่สั่งการให้ก่อเหตุชื่อว่า เจอรี่ ซึ่งชายชราบอกว่าเขาพยายามเอาเจอรี่ออกไปจากหัว แต่ทำไม่สำเร็จจึงต้องลงมือก่อเหตุมากมาย จนวันหนึ่งเมื่อเขาเอาเจอรี่ออกไปจากหัวได้สำเร็จ ทำให้ชีวิตเขาเป็นปกติสุข แต่งงาน มีครอบครัวและมีลูกสาว แต่เขาได้ยอมรับในศาลว่าสิ่งที่ตัวเองทำลงไปทั้งหมดนั้น เป็นการทำลายชีวิตคนอื่น จึงพร้อมจะชดใช้

3.

การไล่ล่าตัวโจเซฟนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเขาเคยเป็นตำรวจ เลยรู้ดีว่าจะเอาตัวรอดจากการก่อเหตุได้อย่างไร แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้เก็บเบาะแสทุกอย่าง ทั้งคราบอสุจิ ลายนิ้วมือ การสอบปากคำผู้รอดชีวิต หลักฐานทุกอย่างในคดีได้เก็บรวบรวมไว้ เมื่อคดีไม่สามารถปิดได้ นักสืบก็ยังต้องทำงานเสาะหาตัวฆาตกรสุดสะพรึงรายนี้มารับโทษตามกฎหมายต่อไป เมื่อมีนวัตกรรมใดๆ ที่ก้าวหน้าในการแกะรอยคดี เจ้าหน้าที่ก็ได้นำหลักฐานทางคดีมารื้อฟื้นตรวจสอบใหม่ทุกครั้ง

พอเทคโนโลยีดีเอ็นเอมีความก้าวหน้าขึ้นมาก ตำรวจได้นำดีเอ็นเอหลักฐานที่ได้จากจุดเกิดเหตุมาเทียบเคียง พวกเขาจึงสามารถระบุได้แน่ชัดขึ้นไปอีกว่า คดีไหนเป็นการก่อเหตุโดยนักฆ่าโกลเด้น สเตท แต่เมื่อเอาหลักฐานไปตรวจสอบในระบบดีเอ็นเอของรัฐ ซึ่งรวบรวมจากผู้ต้องหาที่เคยถูกจับกุม เจ้าหน้าที่จึงพบว่า ฆาตกรต่อเนื่องรายนี้ยังไม่เคยมีประวัติถูกจับกุมมาก่อน หากเขายังไม่ตาย ก็แสดงว่าเขายังมีชีวิตข้างนอกนั่นเหมือนคนปกติสุขทั่วๆ ไป

ในเวลาต่อมา เกิดมีธุรกิจของเอกชนที่เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากประชาชนทั่วๆ ไปเพื่อต้องการจะค้นหาสาแหรกตระกูล หรือพ่อแม่เครือญาติ ซึ่งดีเอ็นเอที่ถูกเก็บไว้นั้น จะสามารถนำไปเทียบเคียงหาสาแหรกวงศ์ญาติได้อย่างแม่นยำ ที่ผ่านมามีคนจำนวนมากเข้าร่วมยินยอมให้บริษัทเอกชนเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ

เทคโนโลยีตัวนี้มีชื่อเรียกว่า 'Genetic genealogy'

ที่แปลได้ว่า ระบบพันธุกรรมสืบสาแหรก

นวัตกรรมนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ได้ลองนำดีเอ็นเอของนักฆ่าโกลเด้น สเตท ซึ่งประกอบไปด้วย เลือด ผิวหนัง เส้นผม และคราบอสุจิส่งไปให้บริษัทเอกชนเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ โดยได้สร้างประวัติของฆาตกรรายนี้ขึ้นมาแล้วนำไปเทียบเคียงกับตัวอย่างอื่นๆ เพื่อสร้างสาแหรกวงศ์ตระกูลดู เผื่อจะได้รู้ว่าใครเป็นญาติกับฆาตกรรายนี้บ้าง

จากฐานข้อมูลดีเอ็นเอที่บริษัทเอกชนหลายแห่งเก็บรวบรวมไว้นั้นก็ประมาณหลักล้านกว่าตัวอย่าง การมาจำแนกหาความเหมือนจึงต้องใช้เวลาเป็นอย่างยิ่ง แถมยังไม่อาจยืนยันได้ว่าจะพบความเหมือนของดีเอ็นเอคนร้ายกับดีเอ็นเอใครอื่นด้วย

ตามหลักการนั้น ดีเอ็นเอคนเราระหว่างสายเลือดใกล้ชิดพ่อแม่ลูกพี่น้องนั้น จะมีความใกล้เคียงกันถึง 50% และจะเหลือ 25% หากเป็นความสัมพันธ์ห่างกันไปอีกขั้น (เช่น ตา-หลาน) ถ้าเป็นลูกพี่ลูกน้องจะเหลือเพียง 12.5% ถ้าเป็นลูกพี่ลูกน้องแบบญาติห่างๆ จะเหลือเพียง 3.125% ถ้ายังเป็นลูกพี่ลูกน้องห่างกันอีกขั้นหนึ่งจะเหลือความเหมือนของดีเอ็เอน้อยกว่า 1%

ดังนั้นโอกาสจะพบวงศ์ญาติของฆาตกรรายนี้จึงถือว่ายากมาก เหล่านักสืบต่างบอกว่ามันเหมือนกับการงมเข็มในกองฟางเลยทีเดียว

แต่โชคดีที่พวกเขาค้นพบเข็มในกองฟางนั้นได้

จากระบบเก็บดีเอ็นเอพบว่าข้อมูลของฆาตกรต่อเนื่องรายนี้มีความเชื่อมโยงกับดีเอ็นเอคนอื่นๆ ในลักษณะความเหมือนที่ 3.125% ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ลูกพี่ลูกน้องแบบญาติห่าง ๆ

เมื่อเจอความเหมือนตรงนี้ จึงนำไปสู่การจัดวางความสัมพันธ์สาแหรกวงศ์ตระกูลทันที หลังจากนั้นทางบริษัทเอกชนที่ทำการตรวจสอบดีเอ็นเอนี้ ได้เอาประวัติการเกิด ทะเบียนสมรส ข้อมูลอื่นๆ รวมทั้งข่าวมรณกรรมในหนังสือพิมพ์มาเทียบเคียง รวมถึงการติดตามเฟซบุ๊กของเจ้าของดีเอ็นเอเหล่านี้ เพื่อสร้างสาแหรกตระกูลว่าใครเป็นใคร ชื่ออะไร สัมพันธ์ญาติกันแบบไหน เชื่อมโยงกันอย่างไร เป็นการสร้างสาแหรกวงศ์ตระกูลด้วยเทคโนโลยีนั่นเอง

เมื่อได้ผังตระกูลพร้อมชื่อของฆาตกรต่อเนื่องมาแล้ว ตำรวจจึงนำหลักฐานที่ได้จากการสอบปากคำมาพิจารณา ดูลักษณะทางร่างกาย แล้วเริ่มตัดคนในตระกูลฆาตกรต่อเนื่องไปทีละคน โดยมีคำให้การของเหยื่อหลายรายที่ระบุส่วนสูงของฆาตกรเอาไว้ พร้อมน้ำหนักที่กะเกณฑ์คร่าว ๆ ตำรวจจึงทำการตรวจสอบเทียบหลักฐาน ประวัติการทำงาน ช่วงอายุ เมื่อเห็นว่ามีโอกาสที่จะเป็นชายชราคนหนึ่ง เจ้าหน้าที่จึงทำการสืบสวน เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของชายชราวัย 72 ปีในตอนนั้นมาตรวจสอบ เมื่อพบว่าตรงกับดีเอ็นเอของฆาตกรต่อเนื่อง จึงนำไปสู่การจับกุมในที่สุด

ในที่สุดตำรวจก็ปิดคดีนี้ได้สำเร็จโดยใช้เวลาไป 32 ปี

นับตั้งแต่การก่อเหตุครั้งสุดท้ายของนักฆ่าแห่งโกลเด้น สเตท

4.

ทางการได้แถลงข่าวว่าตอนที่เอาดีเอ็นเอไปเทียบเคียงกับดีเอ็นเอของคนอื่นๆ เพื่อจัดหาสาแหรกวงศ์ตระกูลนั้น พวกเขาเพียงต้องการหาความเชื่อมโยงทางเครือญาติเท่านั้น ไม่ได้ต้องการเอาไประบุหาตัวคนร้ายแต่อย่างใด

ว่ากันว่าที่ทางการแถลงข่าวแบบนี้ก็เพราะว่า ในตอนดำเนินการนั้น พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าจะละเมิดความเป็นส่วนตัวของเจ้าของดีเอ็นเอ ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้นต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของก่อน ถึงจะสามารถเอาดีเอ็นเอไปใช้ได้ ดังนั้นตอนเริ่มตรวจสอบ ทางการจึงทำได้เพียงคัดดีเอ็นเอที่เจ้าของอนุญาตให้เอาไปใช้ตรวจสอบได้เท่านั้น มันจึงเป็นความโชคดีที่ทางการสามารถระบุตัวคนร้ายได้จากดีเอ็นเอที่เจ้าของอนุญาตแล้ว

อย่างไรก็ดีเหล่าบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจพันธุกรรมสืบสาแหรกได้เห็นช่องทางสร้างรายได้ พวกเขาจึงจับมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และเปลี่ยนเงื่อนไขของผู้บริจาคดีเอ็นเอให้ตกลงยินยอมมอบดีเอ็นไปใช้หาตัวเชื่อมโยงตรวจสอบคดีฆาตกรรมกับคดีข่มขืนได้ และนั่นจึงทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมคนร้ายโดยใช้เทคโนโลยีสืบสาแหรกนี้ได้เป็นจำนวนมาก แม้บางครั้งเจ้าของดีเอ็นเอจะมารู้ทีหลังว่า ข้อมูลดีเอ็นเอของเขาถูกนำไปใช้จับคนร้าย แต่หลายคนก็อนุญาตให้เอาไปใช้ได้

อย่างไรก็ดีหลายรัฐในอเมริกาได้ออกกฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ใช้วิธีการนี้ในการสืบคดีเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

แถมยังมีตัวอย่างว่า เจ้าหน้าที่มาขอข้อมูลดีเอ็นเอจากชายคนหนึ่งโดยอ้างว่าจะไปเชื่อมโยงกับคดีฆาตกรรมหาตัวผู้ต้องสงสัยรายหนึ่ง เมื่อเจ้าของให้ไป ปรากฏว่าตำรวจดันเอาไปใช้จับคนร้ายคดีลักทรัพย์แทน ซึ่งตรงนี้มีประชาชนท้วงมาว่า การเอาดีเอ็นเอของพวกเขาไปใช้สร้างแผนผังสาแหรกเพื่อเทียบเคียงกับดีเอ็นเอของคนร้าย นั้นเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง เพราะแม้ว่าจะนำไปสู่การระบุชื่อนามสกุลคนร้ายตัวจริงได้ แต่สุดท้ายมันก็เป็นใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ดี ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการมอบดีเอ็นเอ

ดังนั้นความสำเร็จของการจับคนร้ายหลายคดีจากเทคโนโลยีตัวนี้ ยิ่งนำไปสู่คำถามในสังคมว่า มันคุ้มค่าแล้วหรือกับการที่เรายอมแลกความเป็นส่วนตัวเพื่อส่วนรวม มันเลยกลายเป็นข้อถกเถียงที่สำคัญมากว่า เราควรมีขอบเขตตรงไหนที่จะแบ่งกั้นระหว่างดีเอ็นเอส่วนตัวกับการใช้ดีเอ็นเอเพื่อสังคมส่วนรวม เส้นแบ่งมันควรอยู่ตรงไหนในความก้าวหน้าของเทคโนโลยีตัวนี้

แต่สำหรับเหยื่อหลายคนของนักฆ่าแห่งโกลเด้น สเตทที่ยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาคงดีใจและขอบคุณเทคโนโลยีอันนี้ที่สามารถจับกุมคนร้ายรายนี้ได้ในที่สุด ยุติฝันร้ายที่หลอกหลอนมาหลายปี หญิงสาวที่เคยถูกฆาตกรต่อเนื่องรายนี้ข่มขืนเมื่อ 42 ปีก่อนได้มีโอกาสเข้าไปฟังการพิจารณาคดี เธอได้ยินตอนผู้ก่อเหตุยอมรับสารภาพผิด และได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า

“มันเหมือนได้รับการบรรเทาทุกข์ ตอนนี้เขาจะไม่ได้ออกไปไหนและจะไม่ได้รับการอุทธรณ์ใด ๆ อีกแล้ว เขาจะต้องตายในคุก ฉันอยากให้อายุของเขาน้อยลงกว่านี้อีกสักนิด เพื่อที่จะได้ติดคุกยาวนานกว่านี้”

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0