โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จากกรณ์ถึงธนาธร จากพรรคสีฟ้าถึง #พ่อของฟ้า

The MATTER

อัพเดต 23 มี.ค. 2562 เวลา 12.01 น. • เผยแพร่ 21 มี.ค. 2562 เวลา 13.43 น. • Pulse

ครั้งหนึ่ง ชื่อของ 'กรณ์ จาติกวณิช' นักธุรกิจหนุ่มวัยสี่สิบปี เคยเป็นความหวังของสังคมไทย ว่าจะมีนักบริหารมืออาชีพ ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของตัวเอง เข้ามาช่วยทำการเมืองของประเทศให้ดีขึ้น และบริหารประเทศให้พัฒนาชนิดก้าวกระโดด

ผ่านมา 15 ปีแล้ว จากหนุ่มหน้าใหม่กลายเป็นหนุ่มใหญ่ ในวันนี้ก็มีคนที่โปรไฟล์คล้ายๆ กัน เดินเข้ามาบนเส้นทางเดียวกันกับเขา - ชายคนนั้นมีชื่อว่า 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผู้ที่ชาวเน็ตต่างเรียกกันว่า #พ่อของฟ้า

ในระหว่างที่วิวาทะเรื่อง blind trust ยังคุกรุ่น The MATTER มีโอกาสไปนั่งคุยกับเจ้าของฉายา 'หล่อโย่ง' ผู้มีความสูง 193 เซนติเมตรในหลายๆ เรื่อง ทั้งจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในการเลือกตั้ง ความเป็นไปได้ต่างๆ หลังวันหย่อนบัตร นโยบายที่จะผลักดันหาก ปชป.ได้เป็นรัฐบาล เป้าหมายสูงสุดในชีวิตการเมือง รวมถึงประสบการณ์การทำงานร่วมกับเพื่อนสนิทตั้งแต่วัยเด็ก - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.คนปัจจุบัน

แต่หนึ่งในประเด็นที่แหลมคม และน่าสนใจ (จนเราหยิบมาเป็นชื่อบทสัมภาษณ์) นั่นคือสิ่งที่กรณ์พูดถึงธนาธร ที่ราวกับเป็นคำกล่าวที่ 'รุ่นพี่' สอน 'รุ่นน้อง' ผู้ข้ามจากแวดวงธุรกิจมาสู่แวดวงการเมือง ด้วยหวังจะใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้น

ลองติดตามกันดูว่า เราพูดคุยอะไรกับกรณ์บ้าง - และรองหัวหน้าพรรค ปชป.รายนี้ พูดถึงประเด็นต่างๆ ทั้งการเมือง 3 ก๊ก โอกาสได้เป็นหัวหน้าพรรคสีฟ้า และชายชื่อธนาธรกับพรรคสีส้มของเขา อย่างไร?

The MATTER: การเลือกตั้งครั้งนี้ จะแพ้ชนะกันด้วยนโยบายหรือไม่ หรือจริงๆ ปัจจัยอื่นสำคัญกว่า เช่น วาทกรรมต่างๆ

ผมว่ามี 2 ปัจจัย คือจากที่เราออกไปพบพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะชาวบ้าน สำคัญที่สุดสำหรับเขาก็คือปากท้อง และการลงพื้นที่หาเสียงเที่ยวนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้เลยก็คือ การไปภาคอีสานของ ปชป.ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ชาวบ้านเปิดใจให้เรามากขึ้น ไม่ได้มีความตึงเครียดทางการเมือง ชาวบ้านเขาต้องการรับฟังนโยบายว่ามีอะไรที่เราจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง ความยากจน ซึ่งไม่มีครั้งไหนที่ประชาชนทั่วประเทศมีอารมณ์ร่วมมากขนาดนี้ นโยบายเรื่องปากท้องจึงเป็นสิ่งที่หลายๆ พรรค รวมถึง ปชป.ใช้ในการนำร่อง

อีกประเด็นก็คือ การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ปกติตรงที่ทหารยึดอำนาจมา 5 ปี มันก็เลยเป็นการเลือกตั้งที่กำหนดระดับความเป็นประชาธิปไตยของสังคมด้วย ซึ่งประชาชนก็ตื่นตัวในประเด็นนี้ แล้วทางเลือกมันก็ค่อนข้างชัดเจนว่ามีอยู่ 3 ทาง

ปชป. มีสโลแกนว่า ‘ประชาชนต้องเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต’ เพราะประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่เลือกตั้ง คุณได้อำนาจผ่านการเลือกตั้งแล้ว คุณต้องสุจริตต่อการใช้อำนาจนั้นด้วย ตัวอย่างง่ายๆ จากรัฐบาลชุดก่อนที่ผลักดันเรื่องที่เป็นผลประโยชน์พวกพ้อง จนทำให้เกิดวิกฤตสังคมนำไปสู่การรัฐประหาร เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยมันต้องสุจริตถึงจะไปรอด

เราเสนอตัวมาเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ เพราะถ้าคุณไปสุดขั้วทางใดทางหนึ่ง สังคมก็จะขัดแย้งต่อเนื่อง ถ้าไปซ้าย ฝ่ายขวาก็จะตั้งป้อม ถ้าไปขวา คุณก็จะขัดแย้งกับฝั่งซ้าย มี ส.ว.แต่งตั้งกับองค์กรอิสระที่จะทำให้สังคมกลับไปสู่เงื่อนไขความขัดแย้งต่อไป

ปชป.จึงน่าจะเป็นทางออกและทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศในจังหวะนี้

The MATTER: ถึง ปชป.จะพยายามเสนอตัวเป็นอีกทางเลือก มี 3 ก๊ก แต่คนบางกลุ่มก็ยังมองว่า จริงๆ แล้วมันมีแค่ 2 ก๊ก ซึ้งเดี๋ยว ปชป.ก็จะไปรวมกับก๊กหนึ่ง

มันมีความพยายามโดยทั้ง 2 ฝ่าย ที่จะบอกว่า ปชป.จะไปจับมือกับฝั่งซ้าย หรือไปจับมือกับฝั่งขวา อันนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทั้ง 2 ฝ่ายก็กังวลใจกับ ปชป.ที่เป็นทางเลือกต่างหาก ซึ่งหากเราเลือก มันก็เหมือนกับหลุดพ้นจากวาทกรรมทั้ง 2 ฝ่าย ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็น ‘3 ก๊ก’ จริงๆ

The MATTER: แต่คนก็คิดว่าสุดท้าย ปชป. ก็จะกลับไปจับมือกับทางพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อยู่ดี โดยอาจอ้างเหตุผลความจำเป็นต่างๆ เช่น จุดยืนหัวหน้าพรรคเป็นแบบนี้ แต่มติพรรคเป็นอีกแบบ

เราอย่าไปฟังว่าคนอื่นจะพูดยังไง อยากให้ฟังในสิ่งที่ ปชป. หรือคุณอภิสิทธิ์ พูดว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ในการสืบทอดอำนาจ ซึ่งความหมายก็ชัดคือถ้ารัฐบาลนั้นมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ จะไม่มี ปชป.ร่วมด้วย เช่นเดียวกับจะไม่ไปจับมือกับพรรคเพื่อไทย (พท.) และจริงๆ ส.ส.ของ ปชป. ก็ต้องโหวตให้หัวหน้าพรรค เราพูดมาตั้งนานแล้ว แต่ก็มีคนไม่เข้าใจจริงบ้าง แกล้งไม่เข้าใจบ้าง

ผมขอเปรียบเทียบนะครับว่า จุดยืนของเราชัดเจนกว่า พท. เยอะ ของเรามีแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว ของเขายังเหมือนขายพ่วงอยู่ ใครชอบคนหนึ่งก็หวังว่าอาจจะเป็นคนนี้นะ ใครชอบอีกคนก็คิดว่าน่าจะเป็นคนนี้ ซึ่งผมคิดว่าจุดเริ่มต้นมันก็ไม่ค่อยจะซื่อสัตย์กับแฟนคลับของเขา แต่ของ ปชป. ชัดเจนว่าต้องเป็นคุณอภิสิทธิ์เท่านั้น ฉะนั้นตรงนี้ไม่น่าจะเป็นประเด็น และผมก็ถือว่าเป็นจุดยืนสากลที่พรรคการเมืองต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรคของตัวเอง

เราไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ ไม่ใช่พรรคที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนใครบางคน เราเป็นพรรคที่เป็นสถาบันทางการเมือง ใครเป็นหัวหน้าก็สนับสนุนคนนั้น เป็นเช่นนี้มาตลอด”

The MATTER คุณกรณ์เองและ ปชป. มอง scenario หลังเลือกตั้งอย่างไรบ้าง ความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐบาลมีได้กี่ทาง

สิ่งที่เรายืนยันมาตลอด คือพรรคการเมืองใดก็แล้วแต่รวมเสียง ส.ส.ได้เกินครึ่งก็มีสิทธิตั้งรัฐบาล เราไม่เห็นด้วยกับการที่มีพรรคหรือกลุ่มการเมืองใดมีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งแล้วไปอาศัยเสียง ส.ว. ฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนที่ได้ใช้สิทธิไปแล้ว แต่ที่สุดแล้วก็ต้องรอดูคะแนนว่าแต่ละพรรคการเมืองได้ ส.ส.กันเท่าไร

The MATTER การที่ ปชป. จะได้ ส.ส.เกินกว่า 100 คน หรือไม่ถึง 100 คน มีความสำคัญอย่างไรในการตั้งรัฐบาล

จริงๆ แล้วไม่เท่าไร มีแต่คุณอภิสิทธิ์ที่บอกว่า ถ้าได้ ส.ส.น้อยกว่า 100 คน จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่มันก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นว่าคุณอภิสิทธิ์ จะยังเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. อยู่หรือไม่หลังเลือกตั้ง เพราะถ้าดูสถิติการเลือกตั้งครั้งก่อน เราได้เสียงเกิน 30% ครั้งนี้มี ส.ส.ทั้งหมด 500 คน ถ้าจะได้เกินร้อย ก็อาศัยเสียงแค่ 20% เท่านั้น แปลว่าเราน่าจะได้ ส.ส.ร้อยบวก โดยยังมีคุณอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค

The MATTER: แล้วกรณีขั้ว พปชร.ได้เสียงแค่ 126 จนต้องดึง ส.ว.แต่งตั้งมาหนุน ให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ เป็นไปได้ไหม

ถ้าเป็นกรณีเช่นนี้ ก็ใช่ว่า ปชป.ต้องหัวชนฝาล้มเขาทันที เพราะเราก็ต้องทำหน้าที่โดยยึดประโยชน์ของประเทศ มันไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องไปค้านเขาทุกเรื่อง โหวตครั้งแรกก็ล้มเลย ไม่ใช่ ตราบใดสิ่งที่เขาเสนอ มันเป็นประโยชน์ แต่มันก็จะบังคับให้เขาต้องมาเจรจาพูดคุยให้สิ่งที่เขาจะเสนอต่อสภาเป็นที่ยอมรับโดย ส.ส.เสียงข้างมากให้ได้

The MATTER: ถ้า ปชป.ได้เป็นรัฐบาลจริงๆ นโยบายใดที่อยากผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมลำดับแรกๆ

ส่วนตัวคิดว่าการแก้ปัญหาความยากจนสำคัญที่สุด ถ้าเทียบกับนโยบายของพรรคอื่นๆ เรามั่นใจว่าของตัวเอง สมเหตุสมผลมากที่สุด ตรงจุดที่สุด เป็นภาระงบประมาณและเสี่ยงคอร์รัปชั่นน้อยที่สุด โดยเฉพาะเรื่องประกันรายได้ ที่น่าจะผลักดันสิ่งนี้ได้ นอกจากนี้ เราจะปรับเงื่อนไขการใช้บัตรสวัสดิการคนจนให้สามารถเบิกเงินสดออกมาใช้ได้ ที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของชุมชน ไม่ใช่ไปซื้อแค่ร้านค้าที่ลงทะเบียนไว้ แล้วสุดท้ายก็จะเข้าไปสู่บริษัทใหญ่ๆ

เรื่องอื่นๆ ก็มีเช่นการสร้างคนผ่านการศึกษา หรือการกระจายอำนาจ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะขัดแย้งกับแนวทางของ พปชร. ก็ถือเป็นประเด็นที่ต้องพูดคุย หากได้ร่วมรัฐบาลด้วยกัน

อีกเรื่องคือภาษี ซึ่งหลายพรรค เช่น พปชร.ก็เสนอนโยบายลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% ที่จะทำให้เงินภาษีหายไป 170,000 ล้านบาท แล้วเขาก็ไม่ได้บอกว่าจะเพิ่มรายได้จากตรงไหน แถมยังทำให้ฐานผู้เสียภาษีลดจาก 4 ล้านคนเหลือ 1 ล้านคน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการคลังของประเทศ แต่ของ ปชป.จะลดภาษีให้เฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ไม่เกิน 2 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ ให้ไปเก็บภาษีกับทุนใหญ่ผูกขาด

The MATTER: จากที่ฟังมา แปลว่า ปชป.อาจจะต้องจองกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมดเพื่อผลักดันนโยบาย

ซึ่งต้องรวมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย เพราะกระทรวงนี้มีผลต่อเศรษฐกิจของประชาชน 40% ของประเทศ นอกจากนี้ เราจะผลักดันให้ใช้ดัชนี PITI มาวัดความกินดีอยู่ดีของประชาชนแทน GDP เพราะ GDP เป็นเรื่องมหภาค แต่มันไม่รวมความสุขสบายของประชาชน เช่น คุณภาพอากาศ ความเพียงพอทางสาธารณสุข หรือกระทั่งปัญหาคอร์รัปชั่น

The MATTER: ดูเหมือนการหาเสียงของ ปชป.ครั้งนี้จะใช้แนวทาง marketing มากขึ้น เช่น เกิดปั๊บรับ(สิทธิเงิน)แสน หรือประกันรายได้แรงงาน 120,000 บาท/ปี นี่คือการปรับตัวของ ปชป.หรือเปล่า จากที่สมัยก่อนมักพูดอะไรเชิงวิชาการ เข้าใจยาก

ส่วนหนึ่งมาจากบทเรียนในอดีต และการทำงานของทีมนโยบายอย่างต่อเนื่องร่วมกันระหว่างนักวิชาการกับ ส.ส. เพราะอดีตผู้แทนที่ทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้านหลายๆ คนก็จะมากระซิบบอกว่า นโยบายที่เราคิดต้องสื่อสารอย่างไรถึงจะโดนใจชาวบ้าน ให้เข้าถึงได้ง่าย เราไม่ได้ใช้วิธีการ marketing อะไรเลย แค่อาศัยความเข้าใจความต้องการของประชาชน อีกสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือครั้งนี้มีโซเชียลมีเดีย ที่หลายๆ เรื่องเราก็คิดเผื่อไว้สื่อสารผ่านช่องทางนี้ด้วย

The MATTER: คุณกรณ์เล่นการเมืองมา 15 ปี สัมผัสความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง และอะไรคือความเปลี่ยนแปลงที่คุณกรณ์เข้าไปมีส่วนร่วม

(หยุดคิด) มันเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าที่ผมคิด และหลายๆ ความเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้ดีขึ้น อันนี้ผมยอมรับ

อันดับแรก มันมีรัฐประหาร 2 ครั้งในช่วง 15 ปีที่ผมอยู่ในการเมือง หรือจริงๆ ผมก็หลุดจากการเป็นนักการเมืองโดยรวมอย่างน้อย 6 ปี แล้วระหว่างนั้นความขัดแย้งก็สูงมาก หรือจริงๆ ผมได้ทำงานการเมืองในภาวะปกติแค่ปีเดียวเท่านั้น คือในปี 2548 หลังจากนั้นก็แย่ลงเรื่อยๆ

มันก็ทำให้ผมต้องตั้งคำถามกับตัวเองด้วย แล้วก็ทบทวนบทบาทตัวเองมาโดยตลอด ว่าเราตั้งใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อมันไม่เกิดขึ้น เราก็น่าจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วยในฐานะนักการเมืองคนหนึ่ง

อีกสิ่งที่ผมสัมผัสก็คือสังคมไทยยังมีความเข้าใจในหลักพื้นฐานเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่แตกต่างกันพอสมควร จากที่ได้ไปหาเสียงทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มีความตื่นตัวสูงมาก การเห็นคุณค่าประชาธิปไตยของชาวบ้านสูงมาก อาจจะสูงกว่าคนในเมืองซะอีก จะเป็นคนในเมืองที่มีความกังวลใจกับสิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยมากกว่า ซึ่งตรงนี้ผมก็พอเข้าใจได้ เพราะคนในเมืองได้เห็นและอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด

ผมคิดว่าคุณอภิสิทธิ์เห็นตรงจุดนี้ จึงแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในความเป็นประชาธิปไตย แม้ว่ามันจะยากก็ตาม เหมือนตอนประชามติรัฐธรรมนูญปี 2559 ที่คุณอภิสิทธิ์ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ทำให้ผู้สนับสนุนเราจำนวนไม่น้อยไม่พอใจ พอมาการเลือกตั้ง สถานการณ์ก็คล้ายๆ กัน คุณอภิสิทธิ์ก็แสดงท่าทีที่ชัดเจนกับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งทั้ง 2 คนไม่ได้มีปัญหาอะไรกันเป็นส่วนตัว แต่คุณอภิสิทธิ์มองว่า ถ้าเราไม่แสดงจุดยืนชัดเจนปกป้องอุดมการณ์สำคัญของพรรคที่จะต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ มันก็จะมีปัญหากับ ปชป.ในระยะยาว แล้วก็มีปํญหากับบ้านเมืองในระยะสั้นด้วย เพราะ ปชป. เชื่อว่าการสืบทอดอำนาจมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น แต่การแสดงจุดยืนครั้งนี้ก็เป้นอีกครั้งที่เราทำให้พวกเขาผิดใจ ก็ต้องพยายามชี้แจงหรืออธิบายว่า ปชป.เป็นแบบนี้ ซึ่งหลายคนก็เข้าใจ หลายคนก็บอกว่าครั้งนี้ขอไม่เลือก

แต่ผมมองว่า นี่คือการแสดงความรับผิดชอบต่อการสร้างระบบการเมือง ระบอบประชาธิปไตยที่ดีขึ้น และหวังว่ามันจะดีกว่า 15 ปีที่ผ่านมา

The MATTER: การทำงานการเมืองที่ผ่านมา คิดว่าตัวถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง วางเป้าหมายอะไรไว้หลังจากนี้ไหม

ผมพูดมาตลอดและก็ยืนยันในคำพูดของผม ก็คือทั้งชีวิตการเมืองของผมก็คือการทำงานโดยมีคุณอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้า ถ้าเป็นรัฐบาลก็เป็นนายกฯ และผมก็เคยไปทำงานในฐานะ รมว.คลังเคียงข้างนายกฯ อภิสิทธิ์ นั่นคือจุดที่ผมพอใจมากที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงความทะเยอทะยานในตำแหน่ง ถ้ามีโอกาสได้กลับไปทำงานกับคุณอภิสิทธิ์ ร่วมกันแก้ปัญหาความยากจน ก็ถือเป็นความฝันสูงสุดของผมแล้ว และก็หวังว่าจะได้มีโอกาสไปทำงานตามที่ฝันไว้ตั้งแต่สัปดาห์หน้า (ยิ้ม)

*The MATTER: ไม่เคยฝันไว้ว่าตัวเองจะได้เป็นถึงนายกฯ *

ไม่ครับ

 

The MATTER: ..หรือหัวหน้าพรรค ปชป.

คือก็คิดเผื่อไว้นะ ถ้าสมมุติว่าได้เป็น โอเค จะเป็นเราก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง

แต่การทำงานกับคุณอภิสิทธิ์ ระดับความสบายใจของผมสูงมาก คือท่านเป็นคนใจกว้างกับทีมงาน ท่านไม่ใช่หัวหน้าประเภทที่จะมามีความรู้สึกหวาดระแวงในตัวเอง แล้วท่านก็เป็นคนรอบคอบ ขณะทำงานในรัฐบาล พวกเราทุกคนในฐานะ ครม.จะมีความมั่นใจเสมอว่าคุณอภิสิทธิ์จะไม่นำพาประเทศไปสู่จุดเสี่ยง จะไม่ทำให้พวกเราต้องสุ่มเสี่ยงต่อการทำอะไรไม่เหมาะสม

ในอีกแง่ คุณอภิสิทธิ์เป็นนักเศรษฐกิจที่เก่งมาก ฉะนั้นสำหรับผมที่ทำงานด้านเศรษฐกิจ จึงมีเพื่อนร่วมคิด แชร์ไอเดียกันได้ สองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียวอยู่แล้ว และท่านก็ค่อนข้างไว เข้าใจในสิ่งที่เรานำเสนอ เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าทำงานกับคุณอภิสิทธิ์ สนุก สบายใจ ปลอดภัย

ในฐานะลูกของข้าราชการกระทรวงการคลัง การได้เข้าไปเป็น รมว.คลังก็ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของผมและครอบครัวแล้ว ถ้าต้องจบตรงนี้ แค่นี้ ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าได้มีโอกาสก็ถือเป็นเรื่องดี

The MATTER: การเลือกตั้งครั้งนี้ หลายคนพูดถึงคนรุ่นใหม่ ทั้งผู้มีสิทธิออกเสียงและนักการเมือง โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ คุณกรณ์มองคนกลุ่มนี้อย่างไร

ผมเห็นเลยนะ อย่าง New Dem ก็มาสร้างความเปลี่ยนภายใน ปชป.ได้มาก หลายๆ นโยบายถ้าเขาไม่เสนอ เราก็คงไมได้คิด เช่น การส่งเสริม eSports การยกเลิกเกณฑ์ทหาร ฯลฯ ซึ่งจริงๆ ปชป.ก็มีโครงการ internship ที่ผมเป็นประธานแล้วนับสิบปี ก็สะสมศิษย์เก่าไว้หลายร้อยคน ฉะนั้นพรรคเลยมีรูปแบบที่ทันสมัยชัดเจนให้คนรุ่นใหม่  ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคจำนวนมากก็เป็นคนหน้าใหม่ นี่คืออนาคตที่แจ่มใสของ ปชป.

ส่วน อนค. เวลาผมเจอคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ผมก็จะบอกว่า พวกคุณกระตุ้นให้เกิดการสนทนาในหลายๆ เรื่อง ทำให้คนอย่างผม สามารถเสนอนโยบายหลายๆ เรื่องได้ง่ายขึ้น บางเรื่องถ้าไม่มี อนค.มาเป็นคู่แข่ง มันอาจจะทำให้เราขาดแรงกระตุ้น แม้ผมรู้ว่า หลายๆ เรื่องที่เขาพูด มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่เขาก็พูดในเชิงใสๆ หรือบางเรื่อง ผมก็ไม่รู้ว่า เขาไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ก็ไม่ทราบ แต่อันนั้นเป็นเรื่องปกติว่า เมื่อเข้ามามีประสบการณ์ในสภาแล้ว เขาจะรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่

เพราะที่ผ่านมาผมจะมีข้อตำหนิแนวทางของ อนค. เรื่องแนวทางการหาเสียงที่อาศัยอารมณ์ความขัดแย้ง อารมณ์โกรธมากเกินไป

แต่สุดท้ายก็ต้องลองดูในทางปฏิบัติแหล่ะว่าเมื่อเขาเข้ามาทำงานจริง เขายังเป็นอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า หรือปรับตัวในบางเรื่องให้มันสมเหตุสมผลมากขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น

The MATTER: เป็นไปได้ไหมที่ อนค. จะโตขึ้นมา จนกลายเป็นคู่แข่งของ ปชป.ในอนาคต

(ส่ายหน้า และนิ่งคิดครู่หนึ่ง) มันก็เป็นไปได้.. แต่ผมคิดว่าข้อสำคัญของเขา ถ้าจะเรียนรู้จาก ปชป.ก็คือ เขาควรจะตั้งคำถามว่า ทำไม ปชป.ถึงอยู่มาได้ ยังมีสถานะเป็นพรรคใหญ่ เป็นทางเลือกให้ประชาชนเสมอต้นเสมอปลาย ในขณะที่พรรคอื่นที่เคยยิ่งใหญ่กว่าเรา หวือหวากว่าเรา ฟู่ฟ่ากว่าเรา ต่างล้มหายตายจากไป

เขาควรจะตั้งคำถาม แล้วเรียนรู้จากบทเรียนของเรา ซึ่งถ้าถามผม สาเหตุส่วนหนึ่งคือเรื่องความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค อนค.เป็นพรรคที่มีเจ้าของ เหมือน branding ของเขาผูกติดกับคนๆ เดียว ซึ่งเวลาเราถามว่า อนค.มีอนาคตอย่างไร มันก็เลยเป็นคำถามว่า คุณธนาธรมีอนาคตอย่างไร แล้วผมยังไม่เคยเห็นพรรคไหนที่ผูกติดอยู่กับคนใดคนหนึ่ง มีอนาคตที่ยาวนานได้

ก็ต้องลองดูสมมุติว่าเขาทำให้มีความเป็นพรรคมากขึ้น เช่น การเลือกตั้งครั้งนี้ เขามุ่งหาเสียงโดยอาศัย air war ใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ที่เขายังขาดโดยสิ้นเชิงคือการเชื่อมโยงกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งพรรคการเมืองขาดตรงนี้ไม่ได้

ถ้าตอบคำถามว่า เขาจะมีอนาคตใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะสร้างเครือข่ายนั้นขึ้นมาได้หรือไม่ ก็หวังว่าจะได้

Story by Pongpiphat Banchanont & Jithlada Donchai

Photo by  Adidet Chaiwattanakul

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0