โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

จับโอกาสในวิกฤติของจีน

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 17 ก.พ. 2563 เวลา 23.00 น.

"ไวรัสโคโรน่า" เป็นประเด็นร้อนแรง ที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับลดลงแรงทั่วโลก แซงหน้าทุกๆ ปัจจัยเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตใน ปัจจุบันแซงหน้าโรค SARS เมื่อปี 2003 ไปเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังกังวลกันว่า ด้วยขนาดเศรษฐกิจของจีนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนต่อนานาชาติในปัจจุบัน ถือว่ามีผลกระทบมากกว่าอดีต ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนมียอดใช้จ่ายในต่างประเทศทั่วโลกกว่า 2.77 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าโรค SARS ปี 2003 ถึง 10 เท่า ทำให้ไวรัสโคโรน่าที่แพร่ระบาดรอบนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นวงกว้างมากกว่าอดีต

อย่างไรก็ตามด้วยบทเรียนในอดีต ในการควบคุมโรคระบาดของจีนอาจช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายรวดเร็วขึ้น เช่น การสั่งระงับธุรกิจนำเที่ยวในจีน สำหรับการเดินทางออกนอกประเทศจีนอย่างรวดเร็ว ระบบการจัดการคัดกรองผู้ป่วยอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 2-3% ซึ่งมีความรุนแรงต่อชีวิตน้อยกว่า SARS ที่มีอัตราการเสียชีวิตถึง 9% ด้วยสิ่งเหล่านี้ทำให้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในจีนอาจทำจุดสูงสุด หลังจากเริ่มแพร่ระบาดในวันที่ 17 ม.ค. เพียงประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยอาจเร็วกว่า SARS ที่ต้องใช้เวลาถึง 10 สัปดาห์

แต่ภายหลังที่จีนประกาศว่าสามารถควบคุมโรค SARS ได้ หรือจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ตลาดหุ้นเริ่มทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง เพราะฉะนั้นหากทางการจีนประกาศว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าได้ ตลาดหุ้นก็คงกลับมาทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้งเช่นเดียวกับในอดีต

*วันที่ทางการประกาศเรื่องโรคระบาดอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ (CSI 300 Index) ลดลงกว่า 8% ในวันทำการแรกหลังจากหยุดตรุษจีน แต่นอกเหนือจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ธนาคารกลางจีน (PBoC) ยังออกมาตรการกระตุ้นสภาพคล่องในตลาดเงินเพิ่มเติมสุทธิ 1.5 แสนล้านหยวน และระบุว่าจะเพิ่มโควตาการปล่อยเงินกู้ Re-lending มูลค่า 3 แสนล้านหยวน เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดนี้ อาจช่วยให้ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวจนสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ ในระยะเวลาที่ไม่นานนัก *

ซึ่งผ่านไปเพียง 1 สัปดาห์ CSI 300 Index ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 7% และคาดหวังว่าตลาดหุ้นจะขึ้นต่อไปได้ หากกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังสามารถเติบโตได้ดี หลังจากนี้หากสามารถควบคุมโรคระบาดได้

เพราะฉะนั้นประเทศจีนนั้นอาจเป็นประเทศที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ถึงแม้จะเป็นประเทศต้นกำเนิดไวรัสก็ตาม โดย Bloomberg ประเมินว่าการระบาดของไวรัสนี้ จะกดดันให้ GDP ปี 2020 ของจีนจะขยายตัว 5.7% YoY จาก 5.9% ที่เคยประเมินในเดือน ธ.ค. โดยการประเมินตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า*เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 2 ได้ เนื่องจากประชาชนในประเทศ ถูกจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศ อีกทั้งยังไม่อยากออกไปพื้นที่สาธารณะเพราะกลัวติดเชื้อ อาจทำให้ธุรกิจที่มีช่องทางออนไลน์ รวมถึงบริการ Delivery ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาด *

เช่น บริษัท JD.com ระบุว่าช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาด มียอดคำสั่งซื้อสินค้าชำ (Grocery) เพิ่มขึ้น จากช่วงเวลาเดียวกันราว 20% ซึ่งบริษัท Alibaba หรือ Meituan Dianping ก็ให้บริการ Delivery ที่คล้ายกัน และทั้ง 3 บริษัท ล้วนแต่ถูกจัดกลุ่มอยู่ในประเภทธุรกิจ Technology ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงความต้องการใช้งานแอพพลิเคชั่นบนมือถือมากขึ้น เพราะประชาชนถูกจำกัดให้ต้องพักอาศัยในบ้าน ซึ่งบริษัท Tencent ที่ให้บริการ Wechat และเป็นบริษัทสื่อบันเทิงออนไลน์ เช่น ภาพยนตร์ หรือเกมออนไลน์ ซึ่งช่วยลดบรรยากาศความตึงเครียดในภาวะความกังวลต่อโรคระบาดได้ดี

สำหรับเหตุการณ์โรคระบาดมักมาโดยไม่คาดคิด เช่นเดียวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งสามารถกระทบกับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นได้แน่นอนในระยะสั้น แต่ในวิกฤติ ย่อมมีโอกาสให้ธุรกิจที่อาจได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ เช่น ธุรกิจ Technology ที่สามารถให้บริการ Delivery ซึ่งตอบโจทย์ผู้ใช้งานในจีนไม่ต้องไปเข้าไปอยู่ในฝูงชนโดยไม่จำเป็น รวมทั้งธุรกิจ Social Media หรือ Entertainment อื่นๆ ที่ช่วยให้ลดความเครียดระหว่างที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดที่หวังว่าจะแก้ได้ในเร็ววัน ซึ่งในโลกของการลงทุน จังหวะที่ตลาดหุ้นปรับลดลง เป็นโอกาสที่ดีที่จะเลือกหุ้นที่ปรับลดลง ทั้งที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ และยังมีพื้นฐานที่ดี ซึ่งสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในอนาคตอีกด้วย

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ prtisco@tisco.co.th l บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ AFPTTM Wealth Manager

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0