โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

จับประเด็น...ก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

TNN ช่อง16

อัพเดต 25 มิ.ย. 2562 เวลา 14.34 น. • เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2562 เวลา 14.34 น. • TNN Thailand
จับประเด็น...ก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าชั่วโมงนี้กระแสยานยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง แต่ก็ยังมีหลายตัวแปรสำคัญ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่าชั่วโมงนี้กระแสยานยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง และเป็นที่จับตามองของผู้สนใจที่ต้องการรถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือก ในขณะที่บริษัทรถยนต์หลายๆ แบรนด์ ต่างทยอยเปิดตัวทำตลาดรถประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น นิสสัน, ฮุนได, บีวายดี, เกีย, อาวดี้ และล่าสุดคือ เอ็มจี

อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่ายังมีหลายตัวแปรสำคัญ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาตัวรถที่ค่อนข้างสูง (ทะลุเกิน 1 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เนื่องจากยังต้องนำเข้าจากประเทศ แม้ว่าภาครัฐได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการประกาศเป็นนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ผ่านการส่งเสริมการลงทุน แต่นั่นก็เป็นเรื่องระยะยาวที่จะเห็นผลได้อย่างชัดเจน 

มองต่อไปที่จำนวนสถานีชาร์จไฟ หากเทียบกับสถานีบริการน้ำมัน เห็นได้ชัดว่ายังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกจังหวัด ส่วนใหญ่จุดชาร์จไฟนั้นกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เขตปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ใกล้กรุงเทพฯ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น จึงเป็นประเด็นให้เกิดความลังเลสำหรับคนที่ต้องการจะซื้อรถไฟฟ้า

โดยเฉพาะคนที่อยู่ต่างจังหวัด หากจะอาศัยการชาร์จไฟจากในบ้านอย่างเดียว ก็ยังไม่วายกังวลว่า หากขับออกแล้วจะกลับบ้านถึงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามล่าสุด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ออกมาให้ข้อมูลแล้วว่า ในปี 2563 มีแผนจะติดตั้งจุดชาร์จไฟเพิ่มอีก 62 แห่งทั่วประเทศ ทุกระยะ 100 กม.บนถนนสายหลัก ซึ่งก็ต้องคอยดูว่าการดำเนินการจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนเมื่อไหร่ ในขณะที่ปัจจุบันมีสถานีชาร์จไฟสาธารณะ ทั้งของภาครัฐและเอกชนรวมแล้วอยู่ประมาณ 1,200 จุด ติดตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกภายในสิ้นปีนี้ 

ในส่วนของค่าใช้จ่าย เมื่อต้องชาร์จไฟที่สถานีชาร์จสาธารณะ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าหลายแห่ง และสถานีชาร์จทุกแห่งยังไม่เก็บค่าใช้จ่าย ยกเว้นของเครือข่าย EA Anywhere ที่เก็บค่าบริการต่อชั่วโมง (ขึ้นอยู่ละสถานที่) ทั้งนี้ลูกค้า จะต้องลงทะเบียนเพื่อรับบัตรสำหรับชาร์จประจุไฟฟ้า (RFID) หรือ QR code จากหน่วยงานที่ให้บริการก่อน 

โดยหน่วยงานภาครัฐอย่าง กฟภ. เดิมมีเปิดให้บริการจุดชาร์จฟรี 11 แห่ง แต่จะหยุดให้บริการฟรีในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ และคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการเชิงธุรกิจ ราคาค่าชาร์จไฟจะอยู่ที่ประมาณหน่วยละ 4-5 บาท  

สำหรับการติดตั้งเครื่องชาร์จที่บ้าน ส่วนใหญ่บริษัทรถจะแถมอุปกรณ์การชาร์จไฟมาให้ด้วย แต่ใช่ว่าจะเสียบปลั๊กกับไฟบ้านแล้วใช้งานได้เลยทันที ทั้งนี้ต้องผ่านการตรวจสอบ หรืออาจปรับปรุงระบบไฟฟ้าที่บ้าน ให้ผ่านมาตรฐานรองรับการชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เสียก่อน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ลูกค้าจะต้องเป็นผู้จ่ายเอง 

การชาร์จพลังงานไฟฟ้าแบ่งการชาร์จออกเป็น  3 ประเภท

การชาร์จไฟแบบธรรมดา (Normal Charge) ผ่านสายชาร์จไฟบ้าน (EVSE Cable) ชนิด Type 1 ด้วยไฟกระแสสลับ AC โดยสามารถชาร์จไฟในบ้านพักอาศัย จากปลั๊กไฟ ด้วยแรงดัน 220 โวลต์ ใช้เวลาชาร์จประมาณ 8-12 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ และสเปคของรถ 

การชาร์จไฟแบบธรรมดา (Normal Charge) ผ่านเครื่องชาร์จไฟฟ้า (Wall box) ด้วยกระแสสลับ AC สำหรับชาร์จไฟแบบ Double Speed Charge โดยสามารถชาร์จไฟในที่พักอาศัยจากเครื่องชาร์จไฟ ติดผนังที่ติดตั้งที่บ้านหรือเครื่องชาร์จสาธารณะที่ติดตั้งตามจุดบริการต่างๆ ด้วยแรงดัน 220 โวลต์ ใช้เวลาชาร์ตประมาณ 6-8 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับกำลังไฟของเครื่องชาร์จ Wall box, ขนาดของแบตเตอรี่ และสเปคของรถ ซึ่งเครื่องชาร์จไฟฟ้าจะมีระบบตัดไฟเมื่อแบตเตอรี่เต็ม

การชาร์จไฟแบบเร็ว (Quick Charge) เป็นการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง DC Charging ผ่านสถานีอัดประจุไฟฟ้า ตามสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะ (EV Charging Station) โดยใช้เวลาชาร์จไฟ 30-40 นาที (จาก 0 จนถึง 80% ของความจุ) ซึ่งขึ้นอยู่กับความจุพลังงานแบตเตอรี่ กิโลวัตต์-ชั่วโมง 

ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความลังเลให้กับผู้สนใจ เนื่องจากรถไฟฟ้าเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย และจากราคาของตัวรถที่สูง จึงเกิดข้อสงสัยตามมาว่า หากชิ้นส่วนอุปกรณ์เกิดชำรุดเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนหรือซ่อมบำรุงนั้นจะสูงตามราคารถหรือไม่ โดยเฉพาะกับราคาแบตเตอรี่และระบบไฟฟ้า

ในประเด็นดังกล่าวนี้ บรรดาค่ายรถยนต์ต่างๆ ได้ออกมาสร้างความเชื่อมั่นและสร้างแรงจูงใจ ด้วยประกาศการรับประกันแบตเตอรี่และระบบไฟฟ้าให้กับผู้ซื้อรถ เช่น นิสสัน มีการรับประกันแบตเตอรี่ 8 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร รับประกันระบบไฟฟ้าถึง 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ในขณะที่เอ็มจีที่เพิ่งเปิดตัว แซดเอส อีวี ก็มีการรับประกันคุณภาพรถนาน 4 ปี หรือ 120,000 กม. แบตเตอรี่รับประกัน 8 ปี หรือ 180,000 กม. 

ด้านความปลอดภัยในการขับขี่ เป็นอีกหนึ่งเรื่องหลายคนไม่สบายใจ เมื่อต้องเจอกับสภาวะสภาพอากาศและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง อย่างเช่นในประเทศไทยที่อากาศร้อนจัด และมีฝนตกหนัก ทำให้เสี่ยงต่อการต้องขับรถผ่านจุดที่เกิดน้ำท่วมขัง รวมไปถึงหากเกิดการชนหรือเกิดอุบัติเหตุต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่หรือไม่

กรณีดังกล่าว บริษัทรถต่างนำเสนอข้อมูลประชาสัมพันธ์เพื่อความมั่นใจว่า ก่อนที่จะผลิตเพื่อจำหน่ายจริงนั้น รถยนต์ได้ผ่านการพิสูจน์ภายใต้สภาวะที่หลากหลายในด้านวิศวกรรม เช่น การทดสอบพายุ ฟ้าผ่า, การทดสอบลุยน้ำ, การทดสอบบนทางวิบาก, การทดสอบหล่นจากที่สูงรวมถึงการทดสอบการชน

จุดเด่นของรถยนต์ไฟฟ้า

ประหยัดค่าซ่อมบำรุง เนื่องจากการขับเคลื่อนมีเพียงมอเตอร์ไฟฟ้ากับแบตเตอรี่ มีชิ้นส่วนที่น้อยกว่ารถยนต์พลังงานเชื้อเพลิง ไม่มีกรองไอเสีย ไม่มีท่อไอเสีย ไม่ต้องถ่ายน้ำมันเครื่อง สามารถประหยัดค่าใช้ได้มากกว่าเดิม โดยเอ็มจีระบุว่า แซดเอส อีวี เสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาประมาณ 8,545 บาท เมื่อนำรถเข้าเช็คที่ระยะ 100,000 กม. แต่ต้องนำรถเข้าเช็คทุก 10,000 กม.เหมือนรถยนต์ปกติ

ค่าใช้จ่ายการชาร์จไฟต่อหน่วยถูกกว่าค่าน้ำมัน (เทียบกับราคาน้ำมัน) ตัวอย่างเช่น นิสสัน ลีฟ ชาร์จไฟเต็มแบตเตอรี่ขนาด 40 กิโลวัตต์/ชั่วโมง ต่อการชาร์จไฟหน่วยละ 5 บาท เท่ากับต้องจ่าย 200 บาท สามารถวิ่งได้ไกล 311 กม. หรือประมาณ 70 สตางค์ต่อ กม.

ไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ในการเผาไหม้ ไม่ใช้น้ำมัน ไม่มีท่อไอเสีย จึงปราศจากควันและเสียงรบกวน ช่วยลดมลพิษในการเดินทางโดยเฉพาะในเมือง 

ให้การขับขี่กระฉับกระเฉง เนื่องจากมอเตอร์ไฟฟ้าให้แรงบิดได้ทันที ทำให้รถพลังงานไฟฟ้ามีอัตราเร่งที่เรียบและรวดเร็ว ไม่ต้องรอรอบเหมือนเครื่องยนต์ทั่วไป

จากข้อมูลที่นำเสนอมา จึงสรุปได้ว่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต่างได้มุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ทั้งด้านประสิทธิภาพ ความคงทน และการรับประกัน แต่ที่ดูเหมือนว่ายังมีตัวแปรหลัก คือความกังวลใจกับจุดชาร์จไฟที่ยังมีไม่ครอบคลุม หรือยังติดกับคำว่ารถไฟฟ้าขับขี่ได้เฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น ในขณะที่ราคายังถือเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเมื่อเทียบกับรถทั่วไปที่ใช้น้ำมัน 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0