โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

จับตา FTA เวียดนาม-อียู อีก 5 ปีทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 23 พ.ค. 2562 เวลา 09.45 น.

10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้วางยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนที่สำคัญกับประเทศตนเองอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือการทำเขตการค้าเสรีเวียดนามกับสหภาพยุโรป  (European Union Vietnam Free Trade Agreement : EU-VN FTA) ซึ่งจะเป็น “ก้าวที่สำคัญและชาญฉลาด” ของเวียดนามอย่างมาก เหตุผลเพราะ 1.ช่วยเปิดตลาดสหภาพยุโรป(อียู)สำหรับสินค้าเวียดนามให้กว้างและได้เปรียบคู่แข่งขันมากยิ่งขึ้น 2.ช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ

 

หากพิจารณาเฉพาะการเปิดตลาดสินค้าเวียดนามแล้ว พบว่าเวียดนามอาจจะไม่จำเป็นต้องทำ FTA กับอียูก็ได้ เพราะปัจจุบันสินค้าเวียดนามก็มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนในตลาดยุโรปอยู่แล้ว ฉะนั้นเหตุผลข้อที่ 2 จึงเป็นเหตุผลที่สำคัญมากกว่าเหตุผลในข้อที่ 1

 

 นอกจากเวียดนามแล้ว สิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศของอาเซียนที่ทำ FTA กับอียู (บังคับใช้ปี 2562) ที่เรียกว่า “EUSFTA” สำหรับ “EU-VN FTA” ได้เริ่มเจรจากันตั้งแต่ปี 2550 ใช้เวลาในการเจรจาถึง 11 ปี (เสร็จปี 2561) และคาดว่ามีผลบังคับใช้ในไตรมาส 3 ของปี 2562

 

สาระสำคัญของ EVFTA ครอบคลุมด้านการค้าและการลงทุน แยกออกเป็น 10 ประเด็นคือ 1.การเปิดตลาด (ลดภาษีนำเข้า) ระหว่างกัน 99% ภายในเวลา 10 ปี โดยเมื่อมีผลบังคับ (ลงนามเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2561) ยุโรปต้องเปิดตลาดร้อยละ 71 และเวียดนามเปิดตลาด 65% 2.ลดมาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี 3.การปกป้อง “European Geographical  Indications” คือการยอมรับสินค้าเฉพาะจากทั้งสองประเทศ เช่น กาแฟเวียดนาม และไวน์กับแชมเปญ 4.เปิดโอกาสให้บริษัทจากสหภาพยุโรปเข้าร่วมประมูลงานและสัญญาภาครัฐ (public contracts)

 

5.ยกระดับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญามากกกว่ามาตรฐานข้อตกลง World Trade Organization (WTO) Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights (TRIPS) เพื่อส่งเสริมความโปร่งใส ความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน 6.การเปิดตลาดด้านการบริการ โดยผู้ประกอบการด้านการบริการจากอียู สามารถลงทุนธุรกิจบริการในเวียดนาม เช่น ไปรษณีย์ ธนาคาร ประกันภัย และการขนส่งทางทะเล 7.เวียดนามเปิดโอกาสการลงทุนในด้านการผลิตให้กับบริษัทจากอียูในอุตสาหกรรมต่อไปนี้ อาหารและเครื่องดื่ม ปุ๋ยและส่วนประกอบไนโตรเจนต่างๆ ยางรถและยางในรถ ถุงมือและผลิตภัณฑ์พลาสติก เซรามิ วัสดุก่อสร้าง และเครื่องจักรต่างๆ เครื่องใช้ในบ้านและจักรยาน

 

8.FTAนี้เป็นพื้นฐานของโครงสร้างการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม ที่จะมาจากการตีความหมายและการดำเนินการข้อตกลงดังกล่าว 9.การดำเนินการด้านมาตรฐานแรงงาน การบังคับใช้กฎหมายของแต่ละฝ่ายในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด การส่งเสริม Corporate Social Responsibility และความรับผิดชอบด้าน Climate Change และการมีส่วนร่วมของประชาชน และ 10.บังคับทางกฎหมาย EU-Vietnam Partnership and Cooperation Agreement (PCA) ที่เกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยธรรม ประชาธิปไตย และกฎหมายต่าง ๆ โดยระบุเป็นเนื้อหาสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย และได้ระบุถึงการมาตรการที่สามารถทำได้รวมทั้งการยกเลิกสัญญา FTA หากมีการละเมิดในด้านดังกล่าว

 

สำหรับข้อมูลทางการค้าระหว่างเวียดนามและยุโรป รวมถึงกับประเทศอาเซียนด้วยกันน่าสนใจมาก เพราะในช่วงระหว่างปี 2552 ถึง 2561 เวียดนามส่งออกไปยุโรปขยายตัว 270% ในขณะที่ไทย 30% เวีดยนามได้ดุลการค้ากับยุโรปเพิ่มจาก 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเป็น 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ไทยได้ดุลการค้า “ทรงตัว” อยู่ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ปี 2561 เวียดนามเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของอาเซียนที่ส่งไปขายในยุโรป ตามด้วยสิงคโปร์ และไทย สินค้าที่ยุโรปซื้อจากเวียดนามมากเป็นอันดับหนึ่งคือ “เครื่องใช้ไฟฟ้าและสมาร์ทโพน” และเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดและลำดับที่ของผู้ส่งออกไปยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เมื่อพิจารณา “ศักยภาพการแข่งขันสินค้าส่งออกระหว่างไทยกับเวียดนามในตลาดยุโรป” พบว่าเวียดนามมีศักยภาพการแข่งขันในสินค้าประมง เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าวขาว ลิ้นจี่และลำไย ในขณะที่ไทยมีศักยภาพในสินค้าข้าวหอมมะลิ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักร ทุเรียน และมังคุค เป็นต้น ผลของ “EU-VN FTA” ที่จะมีผลนัยยะและกระทบต่อไทยคือ 1.ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกในตลาดยุโรปให้กับเวียดนามมากยิ่งขึ้น ในปี 2561 เวียดนามส่งออกมากกว่าไทย 1.6 เท่า ซึ่งจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นมากกว่า 2 เท่าในระยะ 5 ปีข้างหน้า 2. ศักยภาพของแรงงานของเวียดนามจะถูกยกระดับสูงขึ้นผ่านความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมของเวียดนามโดยรวม 3.กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ยางและผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกล เวียดนามจะมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากข้อตกลง EU-VN FTA และจาก FDI จากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศจีน ซึ่งในอนาคตกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมาแย่งส่วนแบ่งตลาดไทย ทั้งในตลาดยุโรปและนอกยุโรป สิ่งที่ผมคิดว่าประเทศไทยรีบต้องรีบทำคือ “การเริ่มนับหนึ่งในการเจรจา FTA กับอียูโดยด่วน”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0