โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จับตา! ศึก'สงครามนางฟ้า' ณ บ้านนรสิงห์ ระส่ำ!! ทีมเวิร์ก "โทรโข่งรัฐบาล"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 23 ก.ย 2562 เวลา 16.48 น. • เผยแพร่ 23 ก.ย 2562 เวลา 16.48 น.
สงคราม

ผ่านมา 1 เดือนในการทำงานของ “ทีมโฆษกรัฐบาล” หลัง ครม.ได้ตั้ง 2 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “ดร.กานต์” รัชดา ธนาดิเรก จากพรรคประชาธิปัตย์ หลังสอบตกจากการลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ และ “กวาง” ไตรศุลี ไตรสรณกุล จากพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. หลังลำดับบัญชีรายชื่อพรรคไปไม่ถึง โดยมี “ดร.แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็น “โฆษกรัฐบาล” อยู่ก่อนแล้ว

ในขณะนั้นถือเป็นที่ฮือฮาด้วยโปรไฟล์ของทั้ง 3 คน โดย “ดร.แหม่ม นฤมล” ดีกรีจบปริญญาโทและเอก ด้านเศรษฐศาสตร์-ไฟแนนซ์ จาก University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐ เคยผ่านงานด้านวิชาการเป็นอาจารย์ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน อดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง หนึ่งในทีมคิดนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการมารดาประชารัฐ

ทั้งนี้ “ดร.แหม่ม” เป็นอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ลำดับที่ 5 โดย 4 ลำดับแรกเป็นชายล้วนที่ต่างได้เก้าอี้รัฐมนตรีทั้งหมด ได้แก่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลฯ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม

โดยช่วงจัดตั้งรัฐบาล “ดร.แหม่ม” มีชื่อเป็นรัฐมนตรีด้วย จนทำให้เกิดการวิจารณ์หนาหูว่าตำแหน่ง “โฆษกรัฐบาล” เป็นเพียงตำแหน่งปลอบใจหรือไม่

ส่วน “ดร.กานต์ รัชดา” จบปริญญาเอกด้านธุรกิจระหว่างประเทศจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) เคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล อดีต ส.ส. 2 สมัย และเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

สำหรับ “กวาง ไตรศุลี” น้องเล็กสุด อายุเพียง 29 ปี จบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สิงห์แดง 60) บุตรสาวนายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ

ซึ่ง “ไตรศุลี” เคยเป็นประธานสโมสรฟุตบอลกันทรลักษ์ยูไนเต็ด การได้รับตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาล ถือเป็นการลงสู่ถนนการเมืองครั้งแรก

จึงต้องปรับตัวเยอะที่สุดในบรรดาทีมโฆษกรัฐบาล

หากจับทางดูบุคคลในพรรคภูมิใจไทยจะพบจุดอ่อนของพรรคที่มีคนรุ่นใหม่และผู้หญิงน้อย จุดนี้จึงเป็นแรงหนุนให้ “กวาง ไตรศุลี” ได้นั่งตำแหน่ง “รองโฆษกรัฐบาล”

ด้วยเป็นผู้หญิงทั้งหมด จึงได้ชื่อว่าเป็น “ทีมโฆษกหญิงล้วน” ของ “ครม.ประยุทธ์” ยุคการเมืองปกติ

โดยเฉพาะคู่ “ดร.แหม่ม นฤมล-ดร.กานต์ รัชดา” ที่มีวัยวุฒิและอายุที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ถูกจับตาและจับคู่เปรียบเทียบเป็นหลัก

ส่วน “กวาง ไตรศุลี” ถือเป็นน้องเล็กสุด หากดูจากประสบการณ์ทางการเมืองต้องยกให้ “ดร.กานต์” เพราะเป็นอดีต ส.ส.มาก่อน จึงเข้าใจภาพของการเป็นนักการเมืองมากที่สุด

ส่วน “ดร.แหม่ม” มีจุดแข็งในการเป็นนักวิชาการมาก่อน ทำให้มีเครือข่ายเฉพาะและมีศิษย์หลายคน อีกทั้งได้นำมาทำงานและศึกษางานที่ทำเนียบด้วย

จึงทำให้การประสานงานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทั้ง 3 คนมีที่มาและภูมิหลังที่ต่างกัน ที่สำคัญมาจากต่างพรรคทั้งหมดด้วย

แม้ที่ผ่านมา “ดร.แหม่ม” ในฐานะ “แม่ทัพทีมโทรโข่ง” จะแบ่งงานในกรอบกว้างๆ ให้กับ 2 รองโฆษกรัฐบาล โดยแบ่งหน้าที่การชี้แจงตามกระทรวงที่พรรคนั้นๆ ดูแล

แต่ปัญหาอยู่ที่บางกระทรวงมีรัฐมนตรีหลายคนและมาจากต่างพรรคทั้งหมด ในเรื่องนี้เบื้องต้นได้มีแนวทางแก้ปัญหาคือ ให้ประสานกับ “โฆษกกระทรวง” เพื่อให้ทิศทางข้อมูลและการให้ข่าวเป็นเอกภาพ โดยเป็นข้อความที่ออกมาจากกระทรวงเป็นหลัก

ในส่วนของการแถลงข่าวต่างๆ เช่น หลังการประชุม ครม. “ดร.แหม่ม” จะแบ่งให้รองโฆษกแต่ละคนได้แถลงข่าว หากในกรณีกระทรวงที่รองโฆษกรับผิดชอบไม่มีเรื่องแถลงหลังการประชุม ครม. ก็จะให้แถลงข่าวเช่นกัน โดยมาแบ่งประเด็นก่อนแถลงข่าวอีกครั้ง

หากถามถึงตำแหน่ง “ผู้ช่วยโฆษกรัฐบาล” ไม่สามารถตั้งได้เพราะไม่มีระเบียบรองรับ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีชื่อ “ป้ำ-เดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์” อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. บุตรชายนายบุญทรง และ “อ้น-ทิพานันท์ ศิริชนะ” อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ พปชร.

อย่างไรก็ตาม “ดร.แหม่ม” ที่ถือว่าใหม่ในสนามนี้ ยังต้องทำการบ้านอย่างหนัก ทั้งการวางแผนงานและประสานงานกับทีมโฆษกให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่ามีการพูดคุยกับ “ทีมโฆษก” น้อยจนเกินไป ทำให้การสื่อสารไม่เป็นเอกภาพ จึงทำให้เกิดความลักลั่นในการทำงาน ทำให้ภาพการทำงานของทีมไม่มีความชัดเจนว่าประเด็นใดจะต้องไปตามที่ใคร รวมทั้งการส่งข่าวให้สื่อว่าสุดท้ายแล้วแต่ละคนมีขอบข่ายอย่างไร

แต่อีกมุม “ดร.แหม่ม” ก็พยายามปรับตัวและคิดแนวทางการนำเสนอต่างๆ เช่น การไลฟ์สดผ่านเพจสาธารณะของตัวเองขณะนั่งรถในการชี้แจงปัญหาเศรษฐกิจสั้นๆ ซึ่งก็เป็นเพียงการปรับในส่วนของตัวเองเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลต่อภาพใหญ่ของทีมโฆษก

ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลต่อผลงานที่ออกมา ในขณะนี้ที่มีปัญหาอุทกภัยที่ต้องอาศัย “ทีมโฆษก” ที่เข้มแข็งและเป็นเอกภาพในการชี้แจงและสื่อสารกับประชาชน

จนมีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลอ่อนการประชาสัมพันธ์หรือไม่ แม้ทีมงานนายกฯ จะระบุว่า นายกฯ ได้สั่งการลงไปทั้งหมดแล้วก็ตาม

ท่ามกลางกระแสความไร้เอกภาพของ “ทีมโฆษกรัฐบาล” ที่มาจากต่างพรรค แม้จะมีการยืนยันจากบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดทีมโฆษกรัฐบาลว่า ไม่มี “เกาเหลา” กันก็ตาม

แต่ที่ผ่านมาอาจมีการพูดคุยกันไม่มากเท่าที่ควร เพราะต่างก็ติดภารกิจกัน การแบ่งงานที่ไม่ชัดเจนนี้ก็ทำให้แต่ละฝ่ายไม่กล้าขยับตัวเองเพราะเกรงจะ “ล้ำเส้น” กันด้วย

ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็ไปถึงหู “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม หลังมีกรณีข้าวกล่องพลาสติกของนายกฯ ที่เกิดดราม่าขึ้นมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า การทำงานระหว่างโฆษกกับตนไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งทีมงานโฆษก ตนรู้จักทุกคน

“วันนี้ต้องเห็นใจผมในฐานะนายกรัฐมนตรี ต้องทำงานทุกอย่างให้ไปด้วยกันให้ได้ ซึ่งทุกคนก็พร้อมร่วมกับผมในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากพรรคใดก็ตาม ในเมื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ทุกคนก็ต้องร่วมกับรัฐบาลในสิ่งที่ถูกที่ควร ในสิ่งที่สร้างสรรค์ ถ้ารัฐบาลทำไม่ดี รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้เอง ผมเองก็ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ทุกคนก็ต้องร่วมรับผิดชอบไปกับผมด้วยในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล อย่างนั้นไม่ใช่หรือ ไม่ใช่อะไรก็แตกไปหมด ไอ้นี่ก็ไม่เป็นเอกภาพ แล้วจะไม่มีเอกภาพได้อย่างไร ในเมื่อมีนายกฯ คนเดียวกัน”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

หากตามส่องโลกโซเชียลของทั้ง 3 คน จะพบว่า “ดร.แหม่ม” เพจเฟซบุ๊กมีผู้ติดตามราว 11,000 แอ็กเคาต์ โดยเปิดมาตั้งแต่ปลายปี 2561 ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีขึ้น ส่วนทวิตเตอร์เปิดเมื่อสิงหาคม 2562 มีผู้ติดตาม 4,200 แอ็กเคาต์

ส่วน “ดร.กานต์” เปิดใช้ทวิตเตอร์ตั้งแต่กรกฎาคม 2552 ถือว่าใช้มานานแล้ว มีผู้ติดตามราว 10,000 แอ็กเคาต์ และได้เปิดอีกแอ็กเคาต์เพิ่มขึ้นมาเมื่อสิงหาคม 2562 โดยเพิ่มคำว่า “รองโฆษกรัฐบาล” มีผู้ติดตาม 580 แอ็กเคาต์ ส่วนเพจบนเฟซบุ๊กมีผู้ติดตาม 900 แอ็กเคาต์ หลังเปิดช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และเฟซบุ๊กส่วนตัวมีผู้ติดตาม 3,900 แอ็กเคาต์

ในส่วนของ “กวาง ไตรศุลี” ได้เปิดเพจเฟซบุ๊กขึ้นมาช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้ติดตาม 460 แอ็กเคาต์ และใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวควบคู่ไปด้วย

เมื่อส่องโลกโซเชียลทั้ง 3 คน จะพบว่ามีการนำเสนอข่าวของกระทรวงในกำกับของแต่ละพรรคและรัฐมนตรีแต่ละพรรคอย่างชัดเจน แต่ก็มีการเสนอข่าว พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ “หัวหน้ารัฐบาล” ควบคู่ด้วย พร้อมตอบโต้ข่าวลือและเฟกนิวส์ต่างๆ สิ่งหนึ่งที่คล้ายกันคือการใช้โซเชียลสื่อสารด้วยภาษาเรียบง่าย และมีการถ่ายภาพมุมไลฟ์สไตล์ลงโซเชียลของตัวเองควบคู่

ซึ่งทั้ง 3 คนต่างทำหน้าที่ได้ดีในส่วนของตัวเอง หากดึงความเป็นเอกภาพกลับมาได้ ก็จะทำให้ “ทีมเวิร์ก” ดีมากขึ้น โดยเรื่องราวต่างๆ ที่ค้างคามานับเดือนและมีควันหลงอยู่ เป็นสิ่งที่จะต้องรีบเคลียร์ปัญหาทั้งหมด โดยต้องทำให้แผนงานและการแบ่งหน้าที่อย่างละเอียดชัดเจน เพื่อดึงศักยภาพของแต่ละคนได้เต็มที่

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อประชาชน ในการรับทราบข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาล เพราะตำแหน่ง “ทีมโฆษกรัฐบาล” เปรียบเป็นกระจกที่สะท้อนภาพรัฐบาลไปในตัว

สงครามนางฟ้า ณ บ้านนรสิงห์!!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0