โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จับตา "บิ๊กทำเนียบฯ" จ่อเขี่ย "ประชาธิปัตย์" ดึง "เพื่อไทย" เสียบแทน แกนนำบินฮ่องกงขอไฟเขียว "ทักษิณ" แล้ว

สยามรัฐ

อัพเดต 09 ธ.ค. 2562 เวลา 02.30 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2562 เวลา 02.20 น. • สยามรัฐออนไลน์
จับตา

“บิ๊กทำเนียบฯ” เล็งเฉดหัว “ประชาธิปัตย์” พ้นรัฐบาล หลังปล่อย ส.ส.โหวตสวน-ด่า รบ.ไม่เลิก เผย “แกนนำ พท.” หอบดีลไปขอไฟเขียวกับ “นายใหญ่” ที่เกาะฮ่องกงแล้ว

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการใช้ศึกษาผลกระทบจากประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ไปเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมี 10 เสียง ส.ส.ฝ่ายค้าน มาช่วยเป็นองค์ประชุมแล้วนั้น แต่ในส่วนของ 6 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงมติเห็นด้วยให้ตั้ง กมธ.ดังกล่าว ยังคงลงมติยืนยันตามเดิม 4 ราย ประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย , นายเทพไท เสนพงศ์ , นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ และนายอันวาร์ สาและ ขณะที่ นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา และนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุม แต่ไม่ออกเสียงลงมติ สร้างความไม่พอใจให้กับแกนนำระดับสูงของรัฐบาลเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้มีการกำชับกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เพื่อให้ควบคุมการลงมติของลูกพรรค ทั้งในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และในช่วงงานเลี้ยงสังสรรค์พรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.แล้ว และมีการระบุด้วยว่าหากไม่สามารถควบคุมองค์ประชุมสภาฯ และควบคุม ส.ส.รัฐบาลได้ก็อาจจำเป็นต้องยุบสภา

แต่ผลปรากฏว่าทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่สามารถควบคุม ส.ส.ในสังกัดได้ และไม่มีทีท่าว่าจะมีมาตรการลงโทษใดๆ ออกมา อีกทั้งยังปล่อยให้ ส.ส.และผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นโจมตีรัฐบาลบ่อยครั้ง ที่สำคัญการทำงานของรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา ก็ไม่เข้าขาและมีปัญหากับพรรคร่วมรัฐบาลหลายกรณี ทั้งในส่วนของกระทรวงเศรษฐกิจ รวมไปถึงกรณีการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร จึงเริ่มมีความเห็นพ้องกันของแกนนำระดับสูงในรัฐบาล ในการที่จะปรับพรรคประชาธิปัตย์ ออกจากรัฐบาลในการปรับ ครม.ที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2563 หรือภายหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

"เชื่อว่าถ้าปรับพรรคประชาธิปัตย์ออกจากรัฐบาล ก็จะยังมี ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่ไม่ต่ำกว่า 30 คน ยังอยู่ร่วมรัฐบาล ส.ส.กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับ นายสุเทพ เทือกสุวรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตเลขาธิการ กปปส.ที่สนับสนุนให้ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่ต้น" แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุ

แหล่งข่าวยังได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาไม่ให้กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยด้วยว่า เสียงที่อาจจะหายไป 20 - 30 เสียงนั้น จะทดแทนด้วยเสียงของ ส.ส.บางส่วน ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ , พรรคอนาคตใหม่ , พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อชาติ รวมแล้วราว 10 เสียง จึงมีการประสานระหว่างแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ไปยังผู้บริหารระดับสูงของพรรคเพื่อไทย ที่มีความคุ้นเคยกัน เพื่อทาบทามให้นำ ส.ส.จำนวนหนึ่งราว 20 - 30 เสียง ทั้งที่มีการดูแล หรือฝากเลี้ยงไว้อยู่แล้ว รวมกับบางส่วนที่ไม่กังวลกระแสต่อต้านในพื้นที่ ให้เข้ามาแทนที่เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่ขาดหายไป โดยมีการเสนอตำแหน่งรัฐมนตรี และตำแหน่งอื่นในฝ่ายบริหารให้ตามสัดส่วนจำนวน ส.ส.ที่เข้ามาร่วมกับรัฐบาลด้วย นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยกันว่า ในอนาคตอาจจะดึง ส.ส.เพื่อไทย เข้ามาช่วยงานรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น หากยังประสบปัญหาความไม่เข้าขากันของ พรรคพลังประชารัฐ กับพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งพรรคภูมิใจไทย

ทั้งนี้ มีรายงานว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยได้นำประเด็นดังกล่าวไปหารือ และขอความเห็นชอบจาก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เกาะฮ่องกง เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0