โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

จับตาเศรษฐกิจมาเลเซีย ในมือ "มหาธีร์ โมฮัมหมัด"

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 23 พ.ค. 2561 เวลา 12.50 น.
for01240561p1

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซียกำลังเข้มข้นและชวนจับตามองอย่างยิ่ง ไม่เพียงเรื่องชัยชนะในการเลือกตั้งของ มหาธีร์ โมฮัมหมัด การได้รับพระราชทานอภัยโทษของ อันวาร์ อิบราฮิม และการเล่นงาน นาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในคดีคอร์รัปชั่นมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเท่านั้น ทุกฝ่ายกำลังจับตามองด้วยว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบนอกเหนือความคาดหมายเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างไรบ้าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นนี้ ดันมาเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่เศรษฐกิจของมาเลเซียกำลังขยายตัวในระดับช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016 อีกด้วย

ข้อมูลของแบงก์เนการา มาเลเซีย หรือแบงก์ชาติของมาเลเซีย แสดงให้เห็นว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 5.4 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าประมาณการโดยเฉลี่ยของนักสังเกตการณ์ที่คาดกันว่าน่าจะอยู่ที่ 5.6 เปอร์เซ็นต์ แต่ มูฮัมหมัด อิบราฮิม ผู้ว่าการธนาคารกลาง ยังคงยืนยันว่า โดยภาพรวมแล้วทุกอย่างยังเป็นไปในทางที่ดี เนื่องจากถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) จะโตช้าลง แต่ก็ยังคงเป็นตัวเลขการเติบโตที่เป็นบวก 1.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้านั้น

ในขณะที่ การส่งออก ตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศ เพราะมีสัดส่วนสูงถึง 2 ใน 3 ของจีดีพี ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถรองรับค่าแรงที่ปรับเพิ่มได้ ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดก็เพิ่มขึ้นเป็น 4.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านั้นยังไม่มีตัวแปรทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ มหาธีร์ ผู้นำวัย 92 ปี แสดงให้เห็นถึงความจริงจังกับนโยบายทั้งหลายที่หาเสียงเอาไว้ ว่าจะทำให้ได้ภายใน 100 วัน ด้วยการประกาศยกเลิกภาษีสินค้าและการขาย(จีเอสที) ในทันที โดยที่ยังไม่มีการประกาศมาตรการใด ๆ มารองรับหรือทดแทนรายได้มหาศาลที่หดหายไป

ในช่วงปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจมาเลเซียบูมไม่น้อย แถมตลาดเงินยังไม่ประสบปัญหาเหมือนประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ซึ่งสะท้อนออกมาชัดเจนผ่านระดับการจับจ่ายภายในประเทศที่แข็งแกร่ง การขาดดุลงบประมาณลดลง และภาวะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล แต่นักวิเคราะห์ยังคงเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายสำคัญ ๆ

โดยเร็วและหลาย ๆ ด้านอย่างน้อยก็จะส่งผลกระทบทำให้ทุกอย่างที่กำลังดำเนินไปต้องชะงักลง เพื่อดูแนวโน้มให้ชัดเจน กลายเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจขึ้นมา

จูเลีย โกะห์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารยูโอบี ในกัวลาลัมเปอร์ เชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในช่วงครึ่งปีหลังจะถูกฉุดด้วยเหตุดังกล่าวนี้สูงมาก ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลใหม่ของมาเลเซียจะสร้างความชัดเจนให้กับมาตรการปฏิรูปภายในหลาย ๆ อย่างได้มากน้อยเพียงใดและรวดเร็วแค่ไหน

รัฐบาลใหม่ของมาเลเซียประกาศแนวนโยบายไว้หลายอย่างในระหว่างการหาเสียง ซึ่งส่งผลกระทบต่องบประมาณรายได้ของรัฐ นอกเหนือจากเรื่องจีเอสทีแล้ว ยังมีเรื่องการใช้เงินงบประมาณอุดหนุนราคาน้ำตาลและราคาน้ำมัน ทั้งยังเตรียมประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิคส์ ตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงการคลังแสดงท่าทีว่าจะนำเอาระบบภาษี การขายและบริการซึ่งใช้อยู่แต่เดิมก่อนเปลี่ยนเป็นจีเอสทีกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เมื่อรวมกับการอุดหนุนของภาครัฐที่จะส่งผลให้น้ำตาลและน้ำมันลดราคาลง ก็สามารถช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศให้สูงขึ้นได้ราว 0.2-0.4 เปอร์เซนเทจพอยต์ นั่นหมายถึงการใช้จ่ายภาคครัวเรือนซึ่งแข็งแกร่งอยู่แล้ว มีแนวโน้มจะแข็งแกร่งมากขึ้น เช่นเดียวกับที่การลงทุนซึ่งเคยชะงักงัน ชะลอลงเพราะการเลือกตั้ง หากทุกอย่างชัดเจนโดยเร็วก็น่าจะกลับมาลงทุนเพิ่มได้โดยเร็ว แถมยังมีปัจจัยบวกเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ถีบตัวขึ้นสูงคอยหนุน ก็น่าเชื่อว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียจะเป็นไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ในทางลบ การที่รัฐบาลมีรายได้ลดลงแต่ในเวลาเดียวกันก็จำเป็นต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น น่าจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในด้านอื่น ๆ ถูกจำกัดลงโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้นการประกาศทบทวนโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ก็อาจส่งผลให้ภาคการก่อสร้างชะงัก ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน

แต่ความจริงจังในการปราบปรามคอร์รัปชั่นก็ส่งผลทางจิตวิทยาภายในประเทศไม่น้อย และคาดหวังกันว่า จะสามารถทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่สมควรต้องจ่ายได้ จนอาจทำให้ไม่กระทบต่อสมดุลงบประมาณของรัฐบาลมากนักและอาจทำให้มาเลเซียกลายเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากภายนอกได้มากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0