โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

จับตาอียูยุคใหม่ เมื่อสองสุภาพสตรีขึ้นเป็นผู้นำ

Money2Know

เผยแพร่ 23 ก.ค. 2562 เวลา 04.25 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
จับตาอียูยุคใหม่ เมื่อสองสุภาพสตรีขึ้นเป็นผู้นำ

ท่านผู้อ่านที่ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองยุโรปอยู่เป็นประจำ คงพอจะจำได้ว่า เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เพิ่งมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปไปหมาด ๆ ซึ่งผลปรากฏว่า พรรคการเมืองขนาดเล็กทั้งแนวเสรีนิยม ชาตินิยม และสิ่งแวดล้อมนิยมอย่างพรรคกรีน ต่างได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ในสภาเพิ่มขึ้น

แม้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เป็นฝ่ายกลาง-ซ้ายและกลาง-ขวาจะยังคงครองเสียงส่วนใหญ่ได้เหมือนเดิม และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยุโรปก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกระลอก เมื่อรัฐสภายุโรปลงมติรับรองผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของสถาบันสำคัญต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป (EU top jobs) แทนที่ผู้บริหารระดับสูงชุดก่อนที่จะหมดวาระลง อาทิ ประธานคณะมนตรียุโรป (European Council) เจ้าหน้าที่การทูตสูงสุดแห่งสหภาพยุโรป (EU Foreign-Policy Chief)

นับได้ว่าปีนี้ถือเป็น “ฤดูเปลี่ยนผ่าน” ของสหภาพยุโรปก็ว่าได้ และถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่สุภาพสตรีถึง 2 ท่าน ได้ก้าวมาเป็นผู้นำในองค์กรสำคัญ บางขุนพรหมชวนคิดวันนี้จึงขอเชิญท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับสุภาพสตรีทั้ง 2 ท่านนี้กันครับ

ท่านแรกคือ นางคริสติน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นประธานธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank หรือ ECB) เป็นระยะเวลา 8 ปีต่อจากนายมาริโอ ดรากี (Mario Draghi) ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 31 ต.ค. นี้ ทั้งนี้ นางลาการ์ดเป็นสุภาพสตรีชาวฝรั่งเศสผู้มากความสามารถที่หลายท่านคุ้นหน้าคุ้นตาในฐานะผู้อำนวยการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) โดยถึงแม้ว่านางลาการ์ดจะไม่ได้จบการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์หรือการเงินโดยตรง แต่ด้วยประสบการณ์และความสามารถในการบริหารองค์กรสำคัญต่างๆ ที่ผ่านมา อาทิ การเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฝรั่งเศสในช่วงที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2551และการเป็นผู้นำ IMF ในระหว่างที่เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรปเมื่อปี 2555 ย่อมเป็นที่คาดหวังของผู้นำชาติยุโรปในการแก้ไขปัญหาและจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ที่ ECB กำลังเผชิญอยู่รอบด้าน เช่น เศรษฐกิจยูโรโซนที่ยังคงชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักให้ความเห็นว่า แนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินของนางลาการ์ดจะเป็นแบบผ่อนคลาย (dovish) เช่นเดียวกับนายดรากี และพร้อมทำทุกวิถีทางที่จะทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวเต็มศักยภาพ การจ้างงานเต็มที่ และทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย สะท้อนจากความเห็นบางส่วนที่นางลาการ์ดเคยสนับสนุน ECB ในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ (negative interest rates) ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2557 พร้อมกับความเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่นางลาการ์ดเห็นว่ามีแนวโน้มชะลอตัว โดยภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สุภาพสตรีท่านที่สองคือ นางเออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เป็นระยะเวลา 5 ปีต่อจากนายณ็อง-โคลท ยุงเคอร์ (Jean-Claude Juncker) ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 31 ต.ค. นี้เช่นกัน โดยคณะกรรมาธิการยุโรปเปรียบเสมือนกับฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป (คณะรัฐมนตรี) มีหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในระดับทั้งภูมิภาค ทั้งนี้ นางเออร์ซูลาเป็นสุภาพสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี มีพื้นฐานการศึกษาทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร์และแพทยศาสตร์ รวมทั้งมีแนวคิดโดยรวมไม่แตกต่างจากประธานคนก่อน ที่สำคัญเธอมีแนวคิดในการรวมสหภาพยุโรปให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยเฉพาะในประเด็นเบร็กซิต (สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป) ที่นางเออร์ซูลาเห็นว่าเป็นความเสียหายต่อทุกประเทศในภูมิภาค ดังนั้น จึงจำเป็นต้องติดตามการเจรจาต่อรองระหว่างสองฝ่ายต่อไปอย่างใกล้ชิดว่า สุดท้ายแล้ว สหราชอาณาจักรจะมีโอกาสมากขึ้นเพียงใดที่จะกลับมาเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป

การที่สุภาพสตรีทั้ง 2 ท่านได้รับการคัดเลือกมาดำรงตำแหน่งสูงสุดในองค์กรสำคัญของสหภาพยุโรปถือเป็นการส่งสัญญาณสำคัญ และทำให้เห็นว่า สุภาพสตรีจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเมืองโลกต่อไปอย่างแน่นอน

จากบทความ "เมื่อยุโรปถึงฤดูเปลี่ยนผ่าน" โดย นายสุพริศร์ สุวรรณิก ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0