โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จับชีพจรธุรกิจแฟชั่นไทย อ่อนแรงมากไหม ในยุคโควิด

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 07 เม.ย. 2563 เวลา 12.19 น. • เผยแพร่ 07 เม.ย. 2563 เวลา 12.19 น.
A woman wearing a protective face mask walks past the closed Dior shop on the Champs Elysees in Paris
REUTERS/Gonzalo Fuentes

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ส่งผลกระทบไปทั่วทุกหย่อมหญ้า นับนิ้วมือก็ยังได้ ว่ามีธุรกิจไหนบ้างที่มี “โอกาส” ในช่วงวิกฤตนี้ ส่วนที่เหลือคือโดนกันหมด ธุรกิจหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เราจับตามองอยู่ก็คือ ธุรกิจแฟชั่น ซึ่งได้รับผลกระทบหนักมากจากสถานการณ์นี้ และเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องยาวนานมากกว่าหลาย ๆ ธุรกิจ เริ่มจากที่ชาวจีนซึ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้อรายใหญ่ต้องหยุดเดินทางท่องเที่ยว และลด-หยุดการซื้อ ตามมาด้วยยุโรป แหล่งศูนย์กลางแฟชั่นโลกเกิดการระบาดหนัก

ถ้ามองภาพกว้างในระดับโลกก็จะเห็นความเสียหายมหาศาล ทั้งในภาคการผลิต การขาย ที่หยุดชะงักเกือบ 100% บรรดาผู้ค้าปลีกและแบรนด์แฟชั่นมากมายกำลังได้รับผลกระทบรุนแรง ทั้งปิดทำการ ปิดร้าน ปิดโรงงานผลิต ปลดพนักงาน ไปจนถึงขั้นยื่นล้มละลาย ยกตัวอย่างเช่น Chanel ประกาศหยุดการผลิตในโรงงานที่ประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ แต่ยังจ่ายเงินเดือนพนักงานอยู่ Bldwn แบรนด์จากลอสแองเจลิสยื่นล้มละลาย และเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด Gucci ปิดโรงงานผลิตจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น Macy’s ปลดพนักงานส่วนใหญ่ หลังจากผู้ค้าปลีกปิดร้านค้าทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้ยอดขายของบริษัทหายไปจำนวนมาก ฯลฯ

แล้วถ้าถอยกลับมามองธุรกิจแฟชั่นในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนเล็ก ๆ ในอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก ตอนนี้ธุรกิจแฟชั่นไทยเป็นอย่างไร เจ็บหนักมากหรือน้อยแค่ไหน ลองมาหาคำตอบกัน…

แบรนด์แฟชั่นไทยเป็นอย่างไรในยุคโควิด

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้คุยกับเจ้าของแบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทย 2 เจ้า ที่เป็นตัวแทนฉายภาพธุรกิจแฟชั่นให้เราเห็น ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากในระดับโลก คือเมื่อเปิดร้านไม่ได้ ก็มีรายได้จากการขายออนไลน์ทางเดียว ซึ่งยังเป็นสัดส่วนน้อยอยู่เมื่อเทียบกับยอดขายทั้งหมด

เริ่มจาก หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา แห่งอาซาว่า กรุ๊ป ที่มีแบรนด์แฟชั่น 3 แบรนด์ คือ ASAVA, ASV และ MOO บอกว่า ธุรกิจแฟชั่นก็ได้รับผลกระทบเหมือนกับธุรกิจอื่น คือเปิดร้านไม่ได้ ยอดขายส่วนใหญ่ก็หายไป เหลือแต่การขายทางออนไลน์

เขาเปิดเผยว่า ปี 2563 เป็นปีที่คาดการณ์อยู่แล้วว่า เศรษฐกิจจะไม่ดี การทำธุรกิจจะยาก แม้ไม่มีโควิด-19 ก็ตาม จึงเริ่มปรับลดค่าใช้จ่ายลงตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่น ตัดแฟชั่นโชว์ ตัดงบบางอย่างออกไป แล้วพอมาเจอโควิด-19 ก็ทำให้ยากขึ้นเป็นสองเท่าจากที่คิดไว้ จึงต้องทำทุกอย่างให้รัดกุมเข้มข้นมากขึ้น“ด้วยความที่เราทำใจมาแล้วประมาณหนึ่ง เราก็เลยรับมันได้ดีพอสมควร”

ผลกระทบอีกด้านหนึ่งคือ การนำเข้าผ้า พลพัฒน์บอกว่า บริษัทของเขาใช้ผ้าจากยุโรปส่วนหนึ่ง ซึ่งการนำเข้าผ้าจากยุโรปมีปัญหามากในช่วงนี้ จึงต้องเลือกใช้ผ้าที่ตัวแทนจำหน่ายในไทยมีอยู่ในสต๊อกเท่านั้น และต้องมองหาทางเลือกใหม่ ๆ อย่างเช่นผ้าญี่ปุ่น แต่สถานการณ์ตอนนี้ก็ไม่ใช่แค่การนำเข้าผ้าจากอิตาลีที่ยาก การนำเข้าจากเกาหลี ญี่ปุ่นก็ไม่ง่าย จึงจำเป็นต้องหาส่วนผสมวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งเขามองว่าเป็นธรรมดาของการทำแฟชั่นที่ต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หมูมองว่า ผลประกอบการไม่ใช่สิ่งที่บริษัทของเขาให้ความสำคัญอันดับแรกในสถานกาณณ์ตอนนี้ แต่สิ่งที่สำคัญอันดับแรกคือ สุขภาพของพนักงาน และการมีส่วนช่วยลดการระบาด ในช่วงนี้บริษัทอาซาว่าจึงให้พนักงาน work from home ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อีกหนึ่งแบรนด์ที่มาแบ่งปันข้อมูลและความเห็นกับเรา คือLandmee (แลนด์มี่) ของมี่-เนตรดาว วัฒนะสิมากร ซึ่งเธอเปิดเผยว่า ได้รับผลกระทบเยอะ จากปกติเคยมียอดขายเดือนละ 2-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดขายจากหน้าร้านประมาณ 3 ใน 4 และจากทางออนไลน์ 1 ใน 4 ช่วงนี้เปิดร้านไม่ได้ รายได้ก็หายไปตามสัดส่วน ขณะที่รายจ่ายยังมี ยังจ้างลูกน้องไว้ทุกคน โดยจ่ายเงินเดือนเต็มสำหรับคนที่ยังต้องมาทำงานที่ออฟฟิศ ส่วนคนที่ทำงานที่บ้านก็มีการเจรจาลดเงินเดือนลง 25-30%

เนตรดาวเล่าว่า เมื่อรายได้หลักหายไป เธอพยายามผลักดันการขายทางออนไลน์ ก่อนหน้าจะมีการประกาศปิดห้างร้าน แบรนด์ของเธอเพิ่งลงคอลเล็กชั่นใหม่วางขายที่ร้าน และได้รับการตอบรับดี จึงคิดว่าพอร้านปิดลูกค้าก็น่าจะมาซื้อทางออนไลน์มากขึ้น แต่กลับไม่เยอะอย่างที่คาด เป็นเพราะการขายออนไลน์ยังไม่มีระบบรองรับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ต่างจากการขายที่ร้านที่รับบัตรเครดิต ซึ่งลูกค้าที่มาซื้อก็นิยมจ่ายด้วยบัตรเครดิต

นอกจากการขายในเมืองไทย แลนด์มี่ก็เจอปัญหาการนำสินค้าไปขายในโชว์รูมที่เซี่ยงไฮ้ด้วย จากปกติต้องนำสินค้าไปเอง ก็ต้องปรับเปลี่ยนเป็นการส่งของไปพร้อมกับวิดีโอแนะนำสินค้าไปให้ทางโชว์รูมจัดการให้ นอกจากที่จีนแล้ว ก่อนหน้านี้มีการไปขายในโชว์รูมที่ปารีสด้วย แต่ปีนี้ผลิตสินค้าไม่ทัน จึงไม่ได้ส่งไป ซึ่งเธอบอกว่า โชคดีที่ไม่ได้ส่งไป

ส่วนเรื่องการนำเข้าผ้า แลนด์มี่ก็มีปัญหาการนำเข้าผ้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ยังออกมาจากต้นทางไม่ได้ ส่วนผ้าจากยุโรปใช้วิธีซื้อจากตัวแทนจำหน่ายในเมืองไทยที่มีสต๊อกไว้ จึงไม่ค่อยมีปัญหา

ครั้งนี้หนักสุดของเจเนอเรชั่นนี้

ถามว่า วิกฤตครั้งนี้หนักที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมแฟชั่นหรือเปล่า พลพัฒน์บอกว่า “สำหรับเจเนอเรชั่นเราก็น่าจะใช่” แต่เขายกตัวอย่างด้วยความคิดบวกว่า วิกฤตครั้งก่อน ๆ ก็มีคนผ่านมาได้ อย่างเช่น Chanel ที่ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 ยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้

“มันค่อนข้างยากลำบากสำหรับคนที่สายป่านไม่ยาวที่อาจจะต้องปิดตัวเองไป แต่ไม่ใช่แค่ว่าสายป่านยาวหรือไม่ยาว ในบางกรณีคนที่สายป่านยาวอาจจะไม่อยากอยู่ด้วยซ้ำ เพราะอาจจะปรับตัวไม่ได้”

พลพัฒน์ ซึ่งอีกตำแหน่งหนึ่งคือ นายกสมาคมแฟชั่นดีไซน์เนอร์กรุงเทพฯ มองในแง่บวกว่า ธุรกิจแฟชั่นไม่ได้ชะงักเลย 100% เพียงแต่ว่าผู้บริโภคอาจจะมองหาสิ่งใหม่ อาจเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ผู้ประกอบการที่อยู่ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมกับสิ่งที่กำลังจะเป็นไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ของคนทั่วโลก

“มันเป็นคำถามใหญ่ของทุก ๆ ธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจแฟชั่นอย่างเดียว”

ส่วนเนตรดาวแสดงความเห็นว่า ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเจออย่างนี้มาก่อน คิดว่าครั้งนี้น่าจะเป็นวิกฤตใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมแฟชั่น เพราะว่าศูนย์กลางแฟชั่นทั้งฝรั่งเศสและอิตาลีประสบปัญหาหนักมาก

“แบรนด์หรูทางโน้นเขาต้องหนักหนากว่าเรามาก ๆ ตอนนี้เจ็บหมด เจ็บมากเจ็บน้อยแล้วแต่คน”

ในโชคร้ายก็ยังโชคดีที่มีออนไลน์ช่วย

รายได้ทางเดียวที่มีอยู่ของบรรดาแบรนด์เสื้อผ้าก็คือการขายออนไลน์ ทั้งการขายในช่องทางของตัวเอง หรือหาแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ แบรนด์เสื้อผ้าไทยระดับแถวหน้าอย่าง Milin, ASV, Vickteerut, TANDT, Patinya, Janesuda ปล่อยคอลเล็กชั่นใหม่วางขายในลาซาด้าเป็นครั้งแรก ซึ่งก็น่าจะช่วยได้ดีในสถานการณ์แบบนี้

พลพัฒน์ พูดรวม ๆ ว่า จริง ๆ แล้วหลายแบรนด์ก็ปรับตัวเริ่มไปขายออนไลน์มาหลายปีแล้ว ส่วนโครงการที่นำเข้าไปขายในลาซาด้านั้นไม่ใช่ว่าเพิ่งคิดขึ้นมาเพื่อรับกับสถานการณ์ แต่เป็นการคุยกันมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 เพราะทุกแบรนด์ก็มองเห็นว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

ในส่วนของอาซาว่า กรุ๊ป เขาบอกว่า ถือว่าโชคดีที่ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขายออนไลน์เอาไว้แล้ว มีการสร้างทีมขึ้นมาทำงานสำหรับการขายออนไลน์โดยเฉพาะ โดยทำมา 2 ปีแล้ว ปี 2563 นี้เป็นปีที่ตั้งใจจะให้ความสำคัญกับการขายออนไลน์มากขึ้นอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่มีเรื่องโรคระบาดก็ตาม

ขณะที่เนตรดาวบอกว่า ยังโชคดีที่มีการขายออนไลน์ ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดในยุคที่ไม่มีออนไลน์ จะไม่มีรายได้เข้าเลย ตอนนี้พยายามมองจุดที่โชคดีในเหตุการณ์แบบนี้ ก็คือการที่ยังสามารถขายออนไลน์ได้ ยังพอมีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงบริษัท

อนาคตอุตสาหกรรมแฟชั่น?

หลังจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย วงการแฟชั่นจะเป็นอย่างไร ? นี่คือคำถามที่น่าสนใจและลองคาดการณ์เหมือน ๆ กับวงการอื่น ๆ

เนตรดาวมองว่า ถ้าสถานการณ์จบคิดว่าคนจะช็อปปิ้งเลยทันที กลุ่มคนที่พอมีกำลังทรัพย์ ไม่ได้เดือดร้อนมาก น่าจะรู้สึกอยากจับจ่าย อยากระบายความเครียด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกค้าของแต่ละแบรนด์ว่าเป็นกลุ่มไหน เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้มากหรือน้อย

ส่วนว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าที่จะทำรายได้ทดแทนช่วงที่ขาดหายไปได้ เธอมองว่า ไม่ควรไปคิดตรงนั้น ควรคิดว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่จากศูนย์เลย เพราะถ้าคิดว่าจะทำรายได้ให้ครอบคลุมที่ขาดหายไป จะทำให้ไม่มีกำลังใจเดินหน้าต่อไป

เนตรดาวแสดงความคิดเห็นอีกว่า วิกฤตครั้งนี้จะมีส่วนเปลี่ยนอุตสาหกรรมแฟชั่นให้หันไปให้ความสำคัญกับการขายออนไลน์มากขึ้นกว่านี้

ด้านหมู พลพัฒน์คิดว่า สิ่งที่จะตามมาหลังจากที่สถานการณ์โรคระบาดจบลงก็คือจะเกิด depression (ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ) เหมือนกับทุกครั้งที่เกิดสงครามโลก อย่างหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เกิด great depression ซึ่งก็ใช้ระยะเวลาหลายปีกว่าที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้น ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าพอโรคระบาดหายไปแล้วทุกอย่างจะกลับคืนสู่สภาพเดิม ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะฟื้นฟูกลับมาได้ หมูแสดงความเห็นว่า ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เกิดภาวะวิกฤตแล้วคูณ 3 เท่า เช่น ภาวะโรคระบาดกินเวลา 1 ปี ก็จะต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปีในการค่อย ๆ ฟื้นตัว

เขาบอกว่า สิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดหลังจากวิกฤตครั้งนี้ก็คือ คนอาจจะหันกลับมามองย้อนดูตัวเองว่าอะไรที่มีความสำคัญกับชีวิตเรา เราต้องการอะไรมากมายขนาดไหน เราต้องการเสื้อผ้าเยอะขนาดนั้นไหม เราจำเป็นต้องวิ่งออกไปนอกบ้านใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งต่าง ๆ มากมายขนาดนั้นไหม จะมีวิธีคิดหลากหลายอย่างเกิดขึ้นมา แล้วมีผลกระทบต่อวิธีการคิด วิธีการกิน วิธีการแต่งตัวของคน

“ผมเชื่อว่า ในทุก ๆ วิกฤตคนจะเกิด enlighten จะเกิดวิธีคิดแบบใหม่ จะเกิดการบริโภคแบบใหม่ พอมันฟื้นตัวก็จะมีคลื่นเศรษฐกิจแบบใหม่ แนวทางการดำเนินธุรกิจแบบใหม่เกิดขึ้น”

“หน้าที่ของคนทำงานแฟชั่นอย่างหนึ่งคือ การเติมสุขให้คน เพราะฉะนั้นต้องสร้างสรรค์ผลงานที่มีความ joyful เราก็อยากทำหน้าที่ของเรา ให้คนรู้สึกว่าเห็นเสื้อผ้าแล้วชีวิตมันน่ารื่นรมย์มากขึ้น” หมู อาซาว่ามองไปข้างหน้าด้วยใจที่คิดบวก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0