โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จัตวา กลิ่นสุนทร : สถานการณ์ / โอกาส / จังหวะก้าวเดิน

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 01 มิ.ย. 2563 เวลา 08.08 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2563 เวลา 08.08 น.
นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

ผมมีเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน เรียนหนังสือชั้นมัธยมของโรงเรียนประจำจังหวัดชายที่เดียวกัน หากต่างเวลา ก่อนจะผ่านก้าวเดินตามความฝันสู่กรุงเทพฯ

แต่เพิ่งจะมารู้จักคุ้นเคยกันทีหลังขณะต่างคนต่างมีการงานทำเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ที่เป็นอย่างนั้นเพราะเราแตกต่างกันด้วยวัยเฉียด 1 รอบ

ผมลืมตาดูโลกตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในบ้านเกิดต่างจังหวัดซึ่งส่วนมากจะมีอาคารบ้านเรือนเฉพาะในตลาด บริเวณรอบนอกแม้เป็นเขตอำเภอเมือง แต่ก็มีระยะทางห่างไกลพอสมควร นักเรียนจะเข้ามาเรียนชั้นมัธยมยังโรงเรียนประจำจังหวัดค่อนข้างยากลำบาก ส่วนใหญ่จึงต้องเข้ามาอาศัยบ้านญาติโยมในตัวเมือง

ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหาสถานที่เรียนตามความชอบพอ แต่ยังคงเหลือเพื่อนร่วมรุ่นตกหล่นค้างอยู่ที่โรงเรียนเก่าอีกหลายคน

กระทั่งรุ่นน้องที่กล่าวถึงซึ่งมีบ้านอยู่ตำบลต้องการมาเข้าโรงเรียนในตัวจังหวัด พ่อของเขาจึงได้พามาพักอาศัยที่บ้านเพื่อนเนื่องจากเป็นญาติข้างพ่อ ซึ่งได้เสียชีวิตตั้งแต่เขายังเล็กๆ

เพื่อนรุ่นน้องคนนี้หลังจากจบชั้นมัธยมได้เข้าเรียนต่อสายครูยังมหาวิทยาลัยราชภัฏฉะเชิงเทรา ซึ่งสมัยรุ่นผมยังเป็นวิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา ต่อมาเขาเรียนจบในสายนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ก่อนจะเข้าทำงานในสถานีโทรทัศน์หลายช่อง

 

ความจำที่ยังไม่เลือนจนผิดเพี้ยนไปบอกว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) ทำรัฐประหาร รัฐบาลของ (น้าชาติ) พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ถึงแก่อสัญกรรม) อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 18) ในปี พ.ศ.2534 โดยเรียกรัฐบาลดังกล่าวว่าเป็น “บุฟเฟ่ต์คาร์บิเนต”–เขาถูกกำหนดให้เป็นคนอ่านคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) แต่ด้วยเหตุผลส่วนตัวจะด้วยความรักประชาธิปไตย หรืออย่างไร? ไม่ทราบได้ เขาปฏิเสธ–

ปี พ.ศ.นั้นเรื่องของคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต โซเชียลมีเดียทั้งหลายยังไม่ก้าวหน้ารุ่งเรืองอย่างทุกวันนี้ การสื่อสารทางวิทยุ โทรทัศน์นับว่าเป็นสื่อที่เข้าไปถึงห้องนอนแทบทุกครัวเรือนอยู่แล้ว ฉะนั้น ข่าวจึงลอยแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปจนทั่วแบบไม่ทันข้ามคืน เท่ากับช่วยประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของผู้ประกาศข่าวหนุ่มให้โด่งดังติดระดับประเทศ

เมื่อชีวิตพลิกผันหักเห เขาตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ.2535 จึงได้รับคะแนนท่วมท้นในจังหวัดบ้านเกิดแซงหน้าทิ้งระยะห่างผู้แทนฯ ผูกขาดทั้งหลายในจังหวัด แบบไม่ต้องหาเสียงให้เหนื่อยมากสักเท่าไรนัก

ต่อมาในปี พ.ศ.2539 เขากลับได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฯ ของกรุงเทพฯ

 

ด้วยความโด่งดังติดระดับจนได้กลายเป็นแบบอย่างของคนอยากดังเหมือนเขา อยากเป็นผู้แทนฯ จึงเดินตามก้นไปยังจังหวัดนั้น โดยเที่ยวไปวางแผนหลอกหลอนชาวบ้านว่าเป็นคนที่เกิดในจังหวัดดังกล่าว

ต่อมาได้ไปสัปดนฉ้อฉลกับเศรษฐีนีเฒ่ากวาดเงินเอาไปหว่านโปรยเนื่องจากต้องการเป็นผู้แทนฯ สุดท้ายทุกอย่างล้มเหลวจบสิ้น เรื่องทั้งหมดนี้นับว่าเป็นตำนานเล่าขานอย่างไม่น่าเชื่อ

แต่เรื่องเวรกรรมดูเหมือนจะตามทันคนเลวชั่วในชาตินี้ไปเรียบร้อย

ยังมีการพูดจาในสภากาแฟเกี่ยวกับเรื่อง ส.ส.ท่านนี้ต่อกันมาอีกยาวนาน รวมทั้งเรื่องที่เขาต้องเข้ามาเป็นผู้แทนระบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ.2544 เพราะเขาถูกการรวมตัวกันของขาใหญ่ ผู้แทนฯ ผูกขาดอันทรงอิทธิพลของจังหวัดลงขัน และร้องขอด้วยเม็ดเงินจำนวนหลักหลายล้านส่งกลับกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้น ถึงเขาจะเป็นผู้แทนฯ ถึง 3 สมัย แต่เป็นผู้แทนฯ จังหวัดบ้านเกิดเพียงสมัยเดียว

สถานการณ์สามารถสร้างโอกาสพลิกผันเปลี่ยนแปลงชีวิตของรุ่นน้องบ้านเดียวกันให้ต้องไปเดินบนถนนการเมืองร่วม 20 ปีก่อนคืนกลับสู่วงการธุรกิจ โดยที่นิสัยส่วนตัวของเขาไม่ได้แปรเปลี่ยน

แต่สภาพฐานะจะมั่งคั่งมั่นคงขึ้นหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง?

 

เมื่อโลกถูกรุกรานด้วยไวรัสที่มองไม่เห็นอย่างไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่งรวมถึงประเทศไทยของเราย่อมหนีไม่พ้นจากความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งยังคงไม่สามารถประเมินได้ขณะนี้ เพราะมันยังไม่ได้จากเราไป เพียงแต่ค่อยบรรเทาเบาบางลงบ้างเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุข แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ย่อมเป็นผู้ที่ต้องรับบทหนักเมื่อเกิดโรคระบาด โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการดูแลชีวิตทรัพย์สินของประชาชน

ทีมงานของกระทรวงสาธารณสุขในระแรกๆ ได้มีเหล่าแพทย์ พยาบาล ทีมงานบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลายออกมาดำเนินการรับมือ รักษาพยาบาลติดตามโรค พร้อมแถลงข่าวเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในทุกวันโดยในทีมงานแถลงข่าวประจำวัน มีนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิต และสังคม รวมอยู่ด้วยในฐานะโฆษกกระทรวงสาธารณสุข

ชื่อของนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ไม่ได้แปลกใหม่มากนัก เพราะท่านเป็นจิตแพทย์ ช่วงอยู่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ประมาณปี พ.ศ.2546-2547 ได้ดูแลงานด้านวิชาการตอบคำถามผ่านสื่อต่างๆ ให้กับกรมสุขภาพจิต

จึงปรากฏหน้าตาหล่อๆ เท่ๆ ยามหนุ่มแน่นผ่านจอโทรทัศน์เสมอๆ เมื่อกว่าสิบปีที่ผ่านเลย

 

สื่อทั้งหลายได้นำเอาประวัติของคุณหมอมานำเสนอกันอีกครั้งสำหรับจิตแพทย์บุคลิกอันสง่ามีเอกลักษณ์ และหน้าตาดีว่าท่านเป็นชาวนครราชสีมา กำเนิดในครอบครัวไม่ได้มีฐานะร่ำรวย มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน คุณหมอเป็นลูกชายคนที่ 2 ในจำนวนทั้งหมด 4 คนโดยมีน้องสาวคนสุดท้องเป็นผู้หญิง น้องชายอีก 2 คนก็เรียนจบแพทย์ เป็นหมอแตกต่างกันออกไป คุณหมอทั้ง 3 คนของครอบครัวนี้ล้วนจบจากคณะแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

รัฐบาลสับสนวุ่นวายปัดเป๋เซไปมาอยู่ช่วงหนึ่งในระยะแรกเมื่อคนในประเทศเริ่มติดเชื้อจากการระบาดของไวรัสร้าย ก่อนการก่อตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” (ศบค.) ตามคำแนะนำของคณะแพทย์ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ คณะรัฐมนตรีเป็นกรรมการ ข้าราชการ ปลัดกระทรวง อธิบดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ ผู้ประสานงาน และเลขาธิการ

โดยแต่งตั้งนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เป็นโฆษก ศบค.เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.) ในเวลาถัดมา

การแถลงข่าวเกี่ยวกับโรคระบาดได้มีการรวมศูนย์อย่างชัดเจนเป็นเรื่องเป็นราว ไม่กระจัดกระจายพูดจากันไปต่างๆ นานา ซึ่งอาจผิดแผกแตกต่างผิดเพี้ยนไปบ้างแต่ต้น เมื่อได้ก่อตั้ง ศบค.แต่งตั้งโฆษกเป็นต้นมา กระทั่งถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาประมาณสิบเอ็ดโมงครึ่ง ประชาชนที่ถูกให้อยู่กับบ้านต่างเฝ้ารอตรงหน้าจอโทรทัศน์

มีรายงานข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แต่งตั้งนายแพทย์ทวีศิลป์เป็นโฆษก ศบค. ซึ่งถ้าเป็นไปตามรายงานข่าวก็ต้องบอกว่าอาจเป็นเรื่องหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่นายกรัฐมนตรี นักรัฐประหารท่านนี้ตัดสินใจจิ้มถูกคน

เนื่องจากคุณหมอทวีศิลป์ไม่ได้ทำให้ประชาชนผิดหวังในฐานะโฆษกที่หน้าตาหล่อๆ ยิ้มแย้มดูดีแล้ว ลีลาท่วงทำนองรวมกับน้ำเสียงยังชวนให้ติดตาม พร้อมด้วยข้อมูลอันถูกต้องตามหลักวิชาการ และแผนภูมิที่ทีมงานช่วยกันทำการบ้านนำมาเสนอทุกๆ วัน

ประชาชนที่เฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ในทุกๆ วันเพื่อติดตามตัวเลขของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสที่ลดลง และความเคลื่อนไหวของทางราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การปฏิบัติตัวระหว่างเวลาที่โรคร้ายระบาดจะต้องทำอย่างไรบ้าง รวมทั้งการปลดล็อกผ่อนคลายเพื่อทำให้เศรษฐกิจที่ฟุบ หรือล้มลงอย่างสิ้นเชิงได้มีโอกาสได้ขยับหายใจได้บ้าง

ทุกๆ วันนี้พยายามลุ้นกับข้อมูลข่าวสารจากจิตแพทย์ท่านนี้

 

สถานการณ์สามารถพลิกผันเปลี่ยนแปลงสร้างคนได้ และเราต้องยอมรับว่าชื่อเสียงความรู้ความสามารถของจิตแพทย์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษก “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” (ศบค.) เวลานี้ดังระเบิดเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

เชื่อเหลือเกินว่าคงต้องมีใครบางคน หรือหลายๆ คนคิดถึงเรื่อง “การเมือง” การรับใช้ประชาชน ประเทศชาติ การเดินหน้าสู่สนาม “เลือกตั้ง” เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์อย่างนี้ ไม่มีใครไม่เลือกนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. (ถ้าเสนอตัว)

แต่อยากบอกกับคุณหมอว่า “การ์ดอย่าตก” เป็นอันขาด

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0