โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

จัดพอร์ต "เศรษฐี" หนีโควิด กำเงินสด ลดสินทรัพย์เสี่ยง

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 10 เม.ย. 2563 เวลา 06.16 น. • เผยแพร่ 10 เม.ย. 2563 เวลา 06.16 น.
เงินบาท

ด้วยภาวะตลาดเงินตลาดทุนปีหนูที่เต็มไปด้วยความผันผวน นักลงทุนจึงต้องติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม และบริหารจัดการความเสี่ยง โดย ธนาคารพาณิชย์ก็พยายามดูแลกลุ่มลูกค้ากลุ่มมั่งคั่ง (เวลท์) ที่ถือว่าเป็นลูกค้ากลุ่มสำคัญ เพราะมีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก

“จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์” Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์การลงทุนในปีนี้ค่อนข้างผันผวนและคาดเดาค่อนข้างยาก ดังนั้น เป้าหมายของธุรกิจ private banking ที่จะทำให้พอร์ตปีนี้ได้ผลตอบแทน (yield) เป็นบวก จึงไม่ง่ายนัก แต่ก็จำเป็นต้องจัดพอร์ตการลงทุนไม่ให้ติดลบมาก หลังจากตั้งแต่ต้นปีมา พอร์ตปัจจุบันมีอัตราผลตอบแทนติดลบไป 10% แต่ยังดีกว่าดัชนีหุ้นโลกที่ติดลบมากกว่า 20% ทำให้ธนาคารต้องปรับกลยุทธ์การลงทุน ภายใต้การจำลองเหตุการณ์ 3 รูปแบบ ได้แก่

1.การระบาดของไวรัสโควิด-19 จบภายใน 3 เดือน ซึ่งจะกระทบต่อตลาดแค่ช่วงสั้น จึงแนะนำให้ลูกค้าคงพอร์ตลงทุนเดิมไว้ก่อน 2.โควิดระบาดกินเวลานาน 6 เดือน อาจจะขาดทุน ต้องปรับพอร์ต โดยขายสินทรัพย์เสี่ยงออกประมาณ 50% และถือเงินสดไว้ 50% และ 3.โควิดระบาดลากยาวนานเกิน 9 เดือน อาจจะต้องเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกหมด แล้วถือเงินสดยาว

อย่างไรก็ดี แบงก์มีการจัดพอร์ตแบบกระจายความเสี่ยง (asset allocation) ผ่านกองทุน K-SGM ซึ่งจะแบ่งพอร์ตลงทุนเป็น 2 ส่วน คือ ประมาณ 60% เป็น “แกนกลาง” ที่สามารถปรับพอร์ตได้อัตโนมัติเมื่อสินทรัพย์ที่ลงทุนมีความเสี่ยง

โดยจะลงทุนหุ้นไม่เกิน 20% ของพอร์ต ส่วนอีก 40% เป็น “วงรอบ” ที่จะจัดสรรการลงทุน ทั้งในกองทุน ตราสารหนี้ และทองคำ แต่ละสินทรัพย์จะลงทุนเท่ากันเฉลี่ยประมาณ 12.5% ของพอร์ต

“ช่วงนี้ถือเป็นการประคับประคองพอร์ต ก็หวังว่าผลตอบแทนน่าจะออกมาติดลบบาง ๆ เพราะเป็นบวกอาจจะยาก เพราะมุมมองเศรษฐกิจที่ออกมาค่อนข้างแย่ ทุกดัชนีกระทบจากโควิด-19 หมด และเหตุการณ์พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงต้องตั้งสมมุติฐานต่าง ๆ เพื่อปรับการลงทุน และลูกค้าเองก็ปรับตัว จากเดิมจะมองผลตอบแทนเป็นที่ตั้ง แต่ตอนนี้ก็เริ่มมาดูความเสี่ยงด้วย เช่น กองทุนไหนที่มีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและสินทรัพย์ ก็หันมาลงทุนในกองทุนพื้นฐานมากขึ้น และโชคดีที่พอร์ตกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือกอง REIT ของเราไม่มีโรงแรม จึงกระทบน้อย”

ขณะที่ “ดุษณี เกลียวปฏินนท์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารผลิตภัณฑ์การออม ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับเป้าหมายการเติบโตธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) ในปีนี้ จากปัจจัยความท้าทายการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากเดิมตั้งเป้าลูกค้ารายใหม่ (preferred) อยู่ที่ 4 หมื่นราย ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1 หมื่นราย จากฐานลูกค้าปัจจุบันมีอยู่ 8.2 หมื่นราย คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีฐานลูกค้าทั้งสิ้นราว 9 หมื่นราย ซึ่งมีเงินฝากโดยเฉลี่ย และมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) เฉลี่ยอยู่ที่ 3-5 ล้านบาทต่อราย

โดยได้ปรับกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุน ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ คนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ และมีเงินเย็นไม่รีบร้อนขายทิ้ง ซึ่งจะแนะนำให้ถือหุ้นต่อไประยะยาว 3-5 ปี เนื่องจากคาดว่าโควิดจะเริ่มคลี่คลายได้ภายในไตรมาส 3 จากนั้นไตรมาส 4 จะมีเวลาทำส่วนต่างกำไรได้

และ 2.กลุ่มที่รับความเสี่ยงได้น้อย เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น เงินฝากที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง หุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ (fixed income) และพันธบัตรรัฐบาล โดยแนะนำจัดพอร์ต แบ่งเป็น สินทรัพย์ปลอดภัยประมาณ 70% และสินทรัพย์เสี่ยง 30% โดยใน 70% ควรถือเงินสดประมาณ 20% ที่เหลือ 50% ลงทุนในเงินฝากดอกเบี้ยดี หุ้นกู้ และพันธบัตร เป็นต้น ส่วนสินทรัพย์เสี่ยง 30% ควรลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการในอนาคตยังพอไปได้ และดูหุ้นในอุตสาหกรรมที่ขึ้นและลงตามภาวะโลก แต่ต้องถืออย่างน้อย 3 ปี เพื่อไม่ให้ขาดทุน

“คาดว่าหากจัดสรรพอร์ตตามดังกล่าว จะส่งผลให้มีผลตอบแทนทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 3-5% ได้ แต่ตอนนี้เรียกกันว่าปรับแผนกันทุกอาทิตย์ มอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด เพราะสถานการณ์ไม่นิ่ง โดยในแง่การลงทุน ไม่อยากให้ลูกค้าตื่นตกใจกลัวเกินไป อยากให้มีสติ เวลาลงทุนต้องศึกษาให้ดี และมองว่าการถือหุ้นควรถือระยะยาว หรือพันธบัตรควรถือให้ครบกำหนด น่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้”

ฟาก “สารัชต์ รัตนาภรณ์” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารจะให้ความสำคัญและหันมามุ่งเน้นการเติบโตในธุรกิจ wealth management ในเรื่องการลงทุนและสุขภาพมากขึ้น สอดคล้องกับภาวะตลาดและธุรกิจในปัจจุบัน เนื่องจากจะเห็นว่าการเติบโตสินเชื่อเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ประกอบกับคนหันมาสนใจเรื่องการลงทุนและดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งธนาคารมีจุดแข็งผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้ง “จูเลียส แบร์” และ “เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต”

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด ภาวะตลาดเงินตลาดทุนทั่วทั้งโลกก็คงยังเต็มไปด้วยความผันผวน นักลงทุนเองก็คงต้องติดตามสถานการณ์และลงทุนอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0