โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จัดการอย่างไรดี? เมื่อเบบี๋เอาของเข้าปาก!

Mood of the Motherhood

เผยแพร่ 25 ก.พ. 2563 เวลา 10.49 น. • Features

เมื่อเบบี๋มีอายุเข้าสู่ช่วงวัย 9-10 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มใช้มือของตัวเองหยิบจับสิ่งของ และควานหาสิ่งรอบตัวมาเข้าปากได้มากขึ้น แม้นั่นจะเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่แสดงถึงพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเป็นกังวลใจ เพราะลูกยังไม่โตพอที่จะแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนเอาเข้าปากแล้วจะเป็นอันตรายหรือไม่อันตรายได้

เรามาทำความเข้าใจกันก่อนนะคะ เด็กในช่วงวัยตั้งแต่ 9-10 เดือน กำลังทำการสำรวจสิ่งต่างๆ ทั้งสิ่งของรอบตัว รวมถึงการใช้งานอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของตัวเอง ปากและฟันจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เด็กๆ อยากทำความรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นความตื่นเต้นที่ตัวเองสามารถขยับลิ้นได้ มีความรู้สึกเจ็บแปล๊บๆ บริเวณเหงือกเพราะฟันเริ่มขึ้น ดังนั้นการหาสิ่งรอบกายมาเข้าปากทดลองขบและเคี้ยวจึงเป็นเรื่องแสนปกติสำหรับเจ้าหนู

แต่เอ๊ะ… ถึงจะรู้ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาตามช่วงวัยของลูก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรมีวิธีป้องกันและลดความเสี่ยงที่ลูกจะหยิบสิ่งของที่เป็นอันตรายเข้าปากเสียอยู่ดี

1. ให้ลูกใช้ยางกัด

ในเมื่อห้ามไม่ได้ก็ควรหาของที่ปลอดภัยให้ลูกใช้กัดแทะซะเลยดีกว่า ยางกัดสำหรับเด็กที่มีคุณภาพก็เป็นตัวช่วยสำคัญที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคันของเหงือกที่คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกกัดแทะได้อย่างสบายใจ และยังช่วยลดความสนใจที่ลูกจะหาหยิบสิ่งของอื่นเข้าปากได้อีกด้วย

2. สอนให้ลูกรู้จักคำว่า ‘ไม่’

เมื่อลูกเริ่มหยิบของที่ไม่สมควรเอาเข้าปาก คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกรู้จักกับคำว่า ‘ไม่’ ได้จากภาษากายและการพูดประโยคสั้นๆ ที่ทำให้ลูกรู้ว่าไม่ควรทำต่อ หากลูกยังคงหยิบของเดิมซ้ำๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรยืนยันที่จะไม่อนุญาตให้เขาเอาสิ่งนั้นเข้าปากเหมือนเดิม น้ำเสียงที่เรียบเฉย เมื่อทำบ่อยๆ ลูกจะเข้าใจและไม่ทำอีก

3. ไม่ดุหรือตะโกนใส่ลูก

การดุหรือต่อว่าลูกอย่างรุนแรง จะเป็นการขัดขวางพัฒนาการของลูก ทำให้ลูกมีพัฒนาการหยุดชะงัก อาจทำให้เด็กเรียนรู้ช้า และส่งผลให้จิตใจของลูกไม่มั่นคงได้

4. เก็บสิ่งของที่เป็นอันตรายให้พ้นจากลูก

นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยจดจ้องว่าลูกจะนำสิ่งของแปลกปลอมเข้าปากหรือไม่ ทางที่ดีที่สุดคือการเก็บสิ่งของที่สามารถเป็นอันตราย เช่น แหลมคม หรือมีขนาดเล็กพอที่จะไหลลงคอลูกได้ออกจากบริเวณที่ลูกหยิบถึงให้หมด

5. ชมลูกบ้างก็ได้

เมื่อลูกเริ่มเข้าใจและเชื่อฟังเมื่อคุณพ่อคุณแม่บอกไม่ให้เอาสิ่งของชิ้นไหนเข้าปาก คุณพ่อคุณแม่ควรชื่นชมลูกด้วยการปรบมือหรือโอบกอดเบาๆ เพราะการกระทำที่เป็นบวกของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อลูก จะทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องมากขึ้น

อ้างอิง

yourkidstable

momjunction

parenting

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0